ปกติแล้วช่องทางการขาย KFC จะมี 3 ช่องทางหลักๆ ได้แก่ นั่งกินในร้าน ซื้อกลับบ้าน และเดลิเวอรี แต่วันนี้ KFC ได้มีช่องทางขายใหม่เพิ่มขึ้นมาแล้วนั่นคือ ‘ฟู้ดทรัก’
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า รถฟู้ดทรัก KFC คันดังกล่าวเป็นโมเดลทดลองที่ บริษัท เดอะคิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด หรือ QSA ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเบฟ และเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ของ KFC ได้พัฒนาร่วมกับ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ KFC
(ปัจจุบัน KFC ในประเทศไทยบริหารโดยแฟรนไชส์ 3 รายคือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เดอะคิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด)
เป้าหมายของการพัฒนาดังกล่าวเกิดจากความต้องการหาโอกาสเข้าไปสู่ผู้บริโภคที่มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาไทยเบฟซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้เป็นสปอนเซอร์ให้กับงานอีเวนต์มากมาย QSA จึงมองเห็นอีเวนต์เป็นอีกช่องทางในการเข้าสู่ลูกค้า จึงได้มีการทดลองจำหน่ายบ้างแล้ว แต่เป็นการทอดจากสาขา ทำให้ประสบการณ์การทานจะไม่เหมือนในร้านที่ลูกค้าได้ทานหลังทอดเสร็จใหม่ๆ
ดังนั้น QSA จึงปรึกษากับ ยัม เรสเทอรองตส์ ว่าจะมีโมเดลไหมที่เพราะสม เพราะหากทำเป็นคีออสก็ไม่เหมาะสม ด้วยอีเวนต์จัดไม่นาน และคีออสไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงมองหาบทเรียนจากธุรกิจในประเทศอื่นๆ ที่สุดจึงมาลงตัวที่ ‘ฟู้ดทรัก’ ซึ่งเป็นโมเดลที่เหมาะสม เพราะสามารถเคลื่อนย้ายไปตามอีเวนต์ต่างๆ ได้ โดยได้ศึกษามาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้ว
“รถฟู้ดทรักคันดังกล่าวถือเป็นคันแรกในเอเชีย และปัจจุบันยังมีแค่ 1 คัน” นงนุช กล่าว พร้อมกับเสริมว่า เมนูที่ขายในรถฟู้ดทรักจะไม่เหมือนกับเมนูที่ขายในร้าน โดยจะมีจำนวนเมนูที่น้อยกว่า เพราะเลือกแต่เมนูที่เป็นซิกเนเจอร์และผู้บริโภคชอบขึ้นมาขาย เช่น ไก่ทอด หรือ นักเก็ต สำหรับราคาจะมี 2 รูปแบบ โดยหากขายในอีเวนต์จะมีราคาที่ปรับขึ้นเล็กน้อย ส่วนในแง่ของการลงทุนนั้น ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าร้านปกติ 50%
เบื้องต้นในวันนี้ (1 ตุลาคม) รถฟู้ดทรัก KFC ได้นำมาจอดเพื่อทดลองขายที่หน้าตึกสาทรสแควร์ ในเวลา 10.00-20.00 น. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ทดลองขายในพื้นที่ของโรงงานภายในเครือ โดยทดสอบระบบการขายต่างๆ เพราะความท้าทายของการทำรถฟู้ดทรัก คือ KFC จะสามารถรักษาคุณภาพไก่ทอดได้เหมือนกับที่ขายในร้านได้หรือไม่ และในแง่ของพนักงานที่ต้องเปลี่ยนสถานที่ขายไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน อีกทั้งยังต้องมีพนักงานที่สามารถขับรถบรรทุกและมีใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งเรื่องนี้ QSA ได้รับความร่วมมือกับไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติกส์ ในการจัดหาพนักงาน
“เป้าหมายของการทำรถฟู้ดทรัก KFC เราต้องการขยายเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น เรามองว่านี่คือโอกาส คนอื่นอาจจะไม่อยากลงทุนเพราะไม่สามารถขายได้ 365 วัน เราเชื่อว่ากำไรเป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจก็จริง แต่เราก็เชื่อว่าเมื่อไรก็ตามที่เราทำตามโจทย์เดี๋ยวกำไรจะตามมาเอง ช่วงแรกอาจจะขาดทุน แต่เราต้องอดทน เรียนรู้ เดี๋ยวก็มีกำไรเอง”
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ร้าน KFC ของ QSA ได้ทดลองขายเบียร์สดคู่กับไก่ทอดในสาขา The PARQ (เดอะ ปาร์ค) ซึ่งเป็นมิกซ์ยูสที่ตั้งอยู่บริเวณถนนพระราม 4 ซึ่งจริงๆ แล้ว QSA ได้เริ่มทดลองขายเบียร์ในร้าน KFC บ้างแล้ว แต่เป็นต่างจังหวัดและขายในรูปแบบกระป๋อง แต่การทดลองขายในสาขา The PARQ นั้นจะทำให้ KFC สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยทำงานได้มากขึ้น จากปกติจะเป็นกลุ่มครอบครัว
สำหรับในช่วงโควิด-19 นั้น นงนุชยอมรับว่า ร้าน KFC ในเครือ QSA ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะยอดขายลดลง แต่ต้นทุนคงที่ทั้งค่าเช่าและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน แม้ว่ายอดขายในเดลิเวอรีจะเติบโตจนวันนี้สัดส่วนเพิ่มมาเป็น 15-20% แต่ก็แลกมากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และกระทบกับกำไรเช่นกัน
ปัจจุบันร้าน KFC ในเครือ QSA มีสาขาทั้งสิ้น 339 สาขา ในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-กันยายน 2564) วางแผนจะขยายสาขาทั้งสิ้น 30 สาขา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์