×

ต่อไป KFC ในประเทศไทย จะมี ‘ชาเขียวโออิชิ’ เป็นเครื่องดื่มชนิดใหม่

12.10.2021
  • LOADING...
KFC

ต่อไปนี้นอกจากน้ำแร่ช้าง น้ำอัดลม ทั้งเป๊ปซี่ มิรินด้า และเซเว่นอัพ ภายในร้าน KFC ในประเทศไทย กำลังจะมีเครื่องดื่มชนิดใหม่ นั่นคือ ‘ชาเขียวโออิชิ’

 

“เรื่องนี้เป็นโจทย์ของ KFC ที่ต้องการเครื่องดื่มชนิดใหม่ให้กับลูกค้า ที่เป็นตัวเลือกเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จึงให้โจทย์เรื่องนี้กับซัพพลายเออร์มา 2-3 ราย ทางเราจึงได้ผลิตสินค้าและทดสอบสินค้ามาหลายเดือน ซึ่งปรากฏว่าโออิชิได้รับสิทธิ์ในครั้งนี้ และเซ็นสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว” นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และอีกตำแหน่งคือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ในระหว่างการแถลงข่าวประจำปีของไทยเบฟ

 

KFC

 

ที่ผ่านมาความท้าทายของ ‘ชาพร้อมดื่ม’ คือตลาดไม่ได้ ‘หวือหวา’ เหมือนก่อนหน้านี้ที่โหมอัดโปรโมชันจนสร้าง ‘ดีมานด์เทียม’ ดังนั้น เมื่อไม่มีการอัดโปรโมชัน ยอดขายก็ไม่เกิด แถมการเข้ามาของภาษีน้ำตาลทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีก ผู้เล่นหลักอย่าง ‘โออิชิ’ และ ‘อิชิตัน’ จึงเพลาๆ เรื่องนี้ลง เพราะยิ่งทำหมายถึงกำไรที่จะลดลง

 

ตัวโออิชิเองก็พูดย้ำเสมอถึงการจะไม่อัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างหนักหน่วงเหมือนช่วงที่ผ่านมา แต่จะใช้การเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาดึงกลุ่มลูกค้าแทน เช่นปลายปีที่ผ่านมาก็ได้เปิดตัว ‘โออิชิ พลัส ซี’ ซึ่งได้ผสมวิตามินซีและโออิชิชาคูลล์ซ่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้ 9 เดือน (เดือนตุลาคม 2563 – มิถุนายน 2564) ของธุรกิจเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 54 ล้านบาท หรือ 1.2% ด้วยตัวเลข 4,711 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลอดจนหันไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อขยายช่องทางขาย

 

ขณะที่ตลาดภายในไทยโออิชิก็ยังเป็น ‘เจ้าตลาด’ ด้วยส่วนแบ่งกว่า 48.4% จากมูลค่าตลาดรวม 10,620 ล้านบาท (ข้อมูลจาก Nielsen Thailand เดือนกุมภาพันธ์ 2563 – มกราคม 2564) ดังนั้น ตลาดในไทยจึงเป็นตลาดหลักที่ทิ้งไม่ได้ แต่โออิชิก็ต้องหาทางขยายช่องทางขายของตัวเองให้เข้าถึงกลุ่มคนไทยให้มากที่สุด ซึ่งการสามารถคว้าสิทธิ์เครื่องดื่มชนิดใหม่ได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้โออิชิเพิ่มยอดขายได้

 

“เบื้องต้นจะเพิ่มในร้านของเราก่อน (KFC ในไทยมี 3 แฟรนไชส์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีร้านทั้งสิ้น 378 สาขา ที่เป็นของไทยเบฟ) โดยจะมี 2 รสชาติให้เลือก ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นรสชาติยอดฮิตอย่างฮันนี่เลมอน”

 

Starbucks จะเข้าไปด้วยหรือไม่?

สิ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากน้ำแร่ที่ตีตราด้วยโลโก้ ‘ช้าง’ และยังมีโออิชิเป็นเครื่องดื่มชนิดใหม่ ‘ไทยเบฟ’ จะสามารถนำเครื่องดื่มของตัวเองเข้าไปแทรกตัวได้หรือไม่ เพราะในวันที่ไทยเบฟใช้เงินกว่า 1.14 หมื่นล้านบาทเข้าซื้อแฟรนไชส์ KFC ล็อตสุดท้าย จำนวน 252 สาขา ก็ทำให้เกิดการจับตามองว่าน้ำอัดลมภายในร้านจะถูกเปลี่ยนมาเป็น ‘เอส’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มภายในเครือของไทยเบฟเองหรือไม่

 

แต่ที่สุดก็ไม่เป็นความจริง เพราะบริษัทแม่ของ KFC อย่าง ‘ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)’ ก็ออกมาให้ข่าวว่าได้เซ็นสัญญาต่อไปอีก 5 ปี (2560-2564) เพื่อให้บริการเครื่องดื่มน้ำอัดลมในเครือ ทั้งเป๊ปซี่ มิรินด้า และเซเว่นอัพในร้าน ซึ่งล่าสุดได้มีการต่อสัญญาออกไปอีกเรียบร้อยแล้ว

 

KFC

 

ขณะเดียวกัน ภายใต้เครือไทยเบฟเองก็ยังเป็นเจ้าของสิทธิ์ในการบริหารจัดการร้าน Starbucks ในประเทศไทย หลังจากใช้เงินหลัก ‘หมื่นล้าน’ เข้าซื้อในปี 2562 ที่ผ่านมา ดังนั้น การที่โออิชิเจาะเข้าไปใน KFC ได้แล้ว หาก Starbucks จะเข้าไปบ้างก็อาจไม่ได้เรื่องแปลกอะไร เพราะถือเป็นการ Synergy ในเครือเอง

 

แต่เรื่องนี้นั้น นงนุชได้ตอบว่า “ฐานลูกค้าของ KFC และ Starbucks เป็นคนละกลุ่มกัน ถ้าเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกันก็มีโอกาส แต่ ณ ตอนนี้อาจจะยังไม่ใช่ ส่วนอนาคตยังไม่สามารถตอบได้ แต่ทุกอย่างก็มีสิทธิ์เป็นไปได้หมด ซึ่งตอนนี้ทุกคนมีเรื่องหน้าบ้านที่ต้องจัดการกันอยู่”

 

แม้ Starbucks อาจเป็นเรื่องของอนาคต แต่ที่แน่ๆ วันนี้ ‘เบียร์ช้าง’ ได้เริ่มเข้าไปวางขายให้ลูกค้าของ KFC ได้กินคู่กับไก่ทอดแล้ว โดยในกรุงเทพนั้นเริ่มที่ The PARQ ซึ่งเป็นมิกซ์ยูสที่อยู่ใต้เครือของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เช่นกัน โดยที่สาขานี้จะเสิร์ฟเป็นเบียร์สด ส่วนที่อื่นๆ ก็มีเช่นเดียวกัน

 

“นโยบายของเราไม่ได้ใส่เบียร์ในทุกสาขา แต่จะเลือกจาก 2 ปัจจัยคือ 1. เป็นสาขาที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนอย่าง The PARQ และ 2. เป็นสาขาที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เรียกร้องอยากให้เราขายเบียร์”

 

KFC Food Truck มี 2 คันแล้ว

นอกจากการเติมเมนูใหม่ๆ เข้าสู่ร้านในเครือแล้ว ซึ่งไม่นานมานี้ก็เพิ่งทดลองขายเมนูอาหารจากแพลนต์เบส (Plant Based) ใช้วัตถุดิบจากแบรนด์ Meat Zero ของ CPF และวางขายในร้าน KFC Green Store 2 สาขา คือ สาขาอาคารแสงโสม และสาขาดีโป บาย วนชัย จ.ฉะเชิงเทรา ตัว KFC ที่อยู่ภายใต้ไทยเบฟยังได้ทดลองรูปแบบร้านใหม่ๆ นั่นคือ ‘KFC Food Truck’

 

KFC

 

เรื่องนี้นอกจากนงนุชแล้ว ศสัย ตังเดชะหิรัญ กรรมการผู้จัดการ The QSR of Asia ซึ่งเป็นผู้ดูแลร้าน KFC ของเครือไทยเบฟ ได้ร่วมให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ในช่วงกลางปี 2564 ไว้ว่า Food Truck นั้นเกิดขึ้นมาด้วยโจทย์คือ การเข้าถึงลูกค้าในทุกจังหวัด หรือพื้นที่ที่ KFC ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ 

 

“Food Truck เป็นหนึ่งในการทดลองการตลาดว่าลูกค้าจะให้ความสนใจในโมเดลแบบนี้หรือไม่ ตลอดจนเข้าไปเรียนรู้ถึงพฤติกรรมผู้บริโภคโดยตรงที่ KFC ยังไม่สามารถเข้าถึงได้”

 

KFC Food Truck ที่ไทยเบฟทำนั้นถือเป็นครั้งแรกของเอเชีย โดยเริ่มต้นขายมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 หรือราว 1 ปีมาแล้ว โดยในแง่ของยอดขายนั้น “ทำได้ใกล้เคียงกับร้านที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งเมนูที่ขายใน Food Truck นั้นจะเป็นราคาเดียวกับที่ขายในร้านทั่วไป”

 

แม้ KFC Food Truck คันแรกจะไปได้ดี แต่ยังมีเพนพอยต์อยู่คือ รถมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ไม่สามารถเข้าไปบางพื้นที่ได้ ดังนั้น ล่าสุดจึงได้มีการพัฒนา KFC Food Truck คันที่ 2 ออกมา ซึ่งเล็กกว่าคันแรกพอสมควร ทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น

 

“ภายในทีมก็มีการวางแผนที่จะเพิ่ม KFC Food Truck ขึ้นมาอีก แต่คงจะไม่ใช่ภายในปีนี้แน่ๆ คงได้เห็นอีกทีปีหน้า” นงนุชกล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X