เปิดกลยุทธ์ KFC เจ้าตลาดไก่ทอด หลังจากประกาศความสำเร็จเปิดร้านครบ 1,000 สาขา ทำยอดขายเติบโตสูงสุดในรอบ 4 ปี เดินหน้าขยายสาขาเพิ่ม 80 แห่ง โฟกัสทำเลศักยภาพ เจาะลูกค้ากรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พร้อมเสริมทัพดิจิทัลให้บริการลูกค้า
เศกชัย ชูหมื่นไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มกลับมาคึกคัก และนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารของบริษัทเติบโต 12-13%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- CRG ทุ่มขยายร้าน KFC อีก 30 แห่ง รองรับธุรกิจฟื้นตัว แย้มปี 66 เตรียมจำหน่ายแอลกอฮอล์ในสาขาทัวริสต์
- ผู้บริหารระดับสูง KFC ร่อนหนังสือถึงบริษัทแม่ ขอเกษียณอายุก่อนกำหนด หลังดอกเบี้ยพุ่งดันภาระเงินบำนาญองค์กร
- ไม่มีแล้ว KFC ในรัสเซีย! Yum! ประกาศขายให้บริษัทท้องถิ่นที่จะต้อง ‘รีแบรนด์ใหม่’ ถึงจะกลับมาเปิดขายได้
เช่นเดียวกับตลาดร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant) แม้ยังไม่กลับมาเท่ากับปีก่อนเกิดโควิด แต่ก็มีการเติบโตราวๆ 12.9% ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาล และหากจีนเปิดประเทศก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น
สำหรับ KFC ในปี 2565 ถือว่ามีความสำเร็จอย่างมาก เพราะเป็นปีที่มีสาขาในประเทศไทยครบ 1,000 สาขา จากทั่วโลกที่มีอยู่ 28,000 สาขา ซึ่งความสำเร็จของแบรนด์ล้วนมาจากการบริหารงานที่ประสบความสำเร็จของยัมฯ และพันธมิตรแฟรนไชส์ทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) มีจำนวน 320 สาขา ตามด้วยบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (บริษัทในเครือไทยเบฟ) มีจำนวน 430 สาขา และบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) มีจำนวน 250 สาขา
ที่ผ่านมาได้ทำการตลาดอย่างหนักและหลากหลายรูปแบบเพื่อสร้างการรับรู้และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และขับเคลื่อนการเติบโต ทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก และยังเป็นแบรนด์ร้านอาหารที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย
เศกชัยกล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าขยายร้านเพิ่มอีก 80 สาขา โดยแบ่งเป็นร้านรูปแบบปกติและร้านไดรฟ์-ทรู โฟกัสในทำเลที่มีศักยภาพทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เน้นใกล้กับกลุ่มเป้าหมายในรัศมีที่ลูกค้าเข้าถึงได้ภายใน 10-15 นาที พร้อมเตรียมนำระบบดิจิทัลมาใช้สนับสนุนด้านการให้บริการลูกค้า ให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
อีกทั้งหน้าที่สำคัญของยัมฯ ยังคงให้การสนับสนุนแฟรนไชส์และพันธมิตรในธุรกิจให้สามารถรักษามาตรฐานของแบรนด์ได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาสินค้าเมนูพร้อมจัดแคมเปญใหม่อยู่เป็นระยะๆ
รวมถึงมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร โดยเตรียมจะให้ทุนการศึกษาพนักงานที่มีอยู่ทั้งหมด 20,000 คน จำนวน 1,000 ทุน มูลค่ารวมกว่า 10 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสให้กับพนักงานในการศึกษาเล่าเรียน
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่เจอสถานการณ์โควิด ทำให้การดำเนินงานค่อนข้างลำบาก จึงได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ หันมาให้บริการเดลิเวอรีมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายช่องทางเดลิเวอรีเติบโตขึ้น 2-3 เท่า ส่วนช่องทางการนั่งกินในร้านยังคงมียอดเติบโต โดยมียอดขายเติบโตขึ้น 24% นับว่าสูงสุดในรอบ 4 ปี