×

KEY SUCCESS: Live in the Moment

27.12.2024
  • LOADING...
KEY SUCCESS: Live in the Moment

ปี 2024 กำลังจะสิ้นสุดลง พร้อมกับความทรงจำมากมายในโลกกีฬาที่ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมสัมผัส โดยเฉพาะมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา 

 

จากประสบการณ์ตรงที่ได้ไปร่วมทำข่าวการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนมาแล้ว 3 สมัย ผมมองว่าโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ที่กรุงปารีสมีสิ่งที่น่าสนใจ และแง่คิดบางอย่างที่ผมมองเห็นจากนักกีฬาทีมชาติไทยทั้งหมด 3 คน ซึ่งทั้ง 3 คนอาจเป็นความบังเอิญว่าเขาอยู่ในจุดที่แตกต่างกันของอาชีพนักกีฬา แต่มาบรรจบกันที่สังเวียนในกรุงปารีส ที่เราสามารถถอดบทเรียนช่วงชีวิตของคนได้เป็นอย่างดี 

 

The Greatest of All Time โค้งสุดท้ายของอาชีพนักกีฬา 

 

ท่ามกลางการฝึกซ้อมของเทควันโดทีมชาติไทยในการเปิดให้สื่อเข้าไปถ่ายทำการเตรียมพร้อมไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 

 

มีนักกีฬาคนหนึ่งของทีมชาติไทยที่คนจับตามองมากที่สุดในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้คือ เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ 

 

เพราะเธอประกาศแล้วว่านี่จะเป็นการแข่งขันรายการสุดท้ายของเธอในอาชีพ 

 

แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากการเปิดให้สื่อสัมภาษณ์ถึงการไปโอลิมปิกเกมส์ 2 ครั้งก่อนคือ เทนนิสเลือกที่จะไม่ให้สัมภาษณ์ 

 

สีหน้าของเธอเต็มไปด้วยความจริงจัง และรอยยิ้มที่หลายคนคุ้นเคยกับเทนนิสก็ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา 

 

เทนนิสอยู่ในสภาวะที่กดดัน เธอยอมรับเองหลังจบการแข่งขัน เพราะเทนนิสเคยบอกกับผมว่า การเป็นที่ 1 คือการถูกจับจ้องตลอดเวลา ทุกคนอยากรู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะชนะเราได้ ล้มเราได้ ดังนั้นเราก็ต้องหาทางพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง 

 

ซึ่งความพยายามนั้นของเธอไม่ได้เป็นเพียงแค่การฝึกซ้อมอย่างหนัก แต่เป็นการรักษาระเบียบวินัย การกินที่เธอก็ยอมรับเหมือนกันว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เธอทรมานมากตลอดมา การเสียสละเวลาไปเที่ยวกับครอบครัว และใช้เวลาไปกับการเตรียมพร้อมแข่งขัน 

 

และที่สำคัญที่สุดคือร่างกายที่แน่นอนว่าการอยู่บนเวทีระดับสูงสุดตลอดเวลา ก็ย่อมมีความเสียหายที่ติดตัวเธอไปตลอดหลังจากนี้ 

 

แต่สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคือ เมื่อวันของการแข่งขันมาถึง ทั้งการไม่ให้สัมภาษณ์จนสื่อเองก็เริ่มกังวลว่าเธอกำลังกดดันตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า คำถามต่างๆ ได้รับคำตอบด้วยฟอร์มการเล่นที่แข็งแกร่ง 

 

เทนนิสเอาชนะได้ทุกคนที่เดินขึ้นมาเผชิญหน้าเธอ จนไปถึงรอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ ซึ่งรอบชิงชนะเลิศเธอก็ไปพบกับ กั๊วจิง คู่ชิงจากเอเชียนเกมส์ 2023 ที่เกิดดราม่า โดนนักกีฬาจีนเตะแล้วแต้มขึ้นทีเดียว 20 กว่าคะแนน 

 

มาครั้งนี้เทนนิสเอาชนะไปได้อย่างง่ายดายในยกแรก ก่อนจะพ่ายในยกที่ 2 เสมอกัน 1-1 และปิดท้ายด้วยการเอาชนะยกสุดท้ายไป ส่งผลให้เธอกลายเป็นนักกีฬาไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ป้องกันแชมป์โอลิมปิกเกมส์ได้สำเร็จ 

 

เทนนิสปิดฉากอาชีพของเธอด้วยการก้มลงกราบคนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในอาชีพนักกีฬา ซึ่งก็คือ โค้ชเช-ชัชชัย เช 

 

“หนูกลัวพวกพี่ไม่ตื่นเต้นกัน” เทนนิสแซวกลุ่มนักข่าวไทยหลังจบการแข่งขันในการพูดคุยกันอย่างผ่อนคลาย พร้อมกับการฉลองวันเกิดอายุครบ 27 ปี แสดงให้เห็นว่าเธอปลดปล่อยแรงกดดันทุกอย่างออกไปแล้วในสถานะนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่ประเทศไทยเคยมีมา 

 

เราได้เจอกันครั้งสุดท้ายในสถานทูตที่กรุงปารีส ผมจึงถามเทนนิสต่อว่า มีคำแนะนำอะไรสำหรับนักกีฬาไทยรุ่นต่อไปที่จะมาแข่งขันบนเวทีโอลิมปิกเกมส์ 

 

“เต็มที่ เวลาซ้อมทำให้เต็มที่ที่สุดที่คนคนหนึ่งจะทำได้ เพราะถ้าไม่เต็มที่ตอนซ้อมจะมาสู้เขาได้อย่างไร และเมื่อถึงเวลาแข่งขันก็เต็มที่ สนุกไปกับมัน ไม่ต้องกังวลกับผลการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น และที่สำคัญอยู่กับปัจจุบันเข้าไว้” 

 

The Future of Badminton จุดเริ่มต้นของแบดมินตันไทยบนโพเดียมโอลิมปิกเกมส์ 

 

“ขอแค่เวลาเท่านั้น เพราะเขาเป็นคนเก่ง คนทำงานหนัก และเป็นคนดีมาก มีทีมที่ดี อีก 4 ปีเขาจะยังคงเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขาม สิ่งที่เขาทำได้ในวัยแค่นี้เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก 

 

“เขาจะมีอนาคตที่สดใสมาก”

 

คือสิ่งที่ วิกเตอร์ แอ็กเซลเซน นักแบดมินตันเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2024 ประเภทชายเดี่ยว กล่าวถึง วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าเหรียญรางวัล และเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์มาครองได้สำเร็จ หลังจบการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศประเภทชายเดี่ยว 

 

ก่อนการแข่งขัน วิวอยู่ในสภาวะที่แตกต่างจากเทนนิสที่ไปโอลิมปิกเกมส์มาแล้ว 2 สมัยก่อนหน้านี้ แต่นี่คือครั้งแรกของวิว และผลการจับสลากแบ่งสายการแข่งขันออกมาไม่ง่ายเลย

 

โอลิมปิกเกมส์สมัยแรกของวิว เขาต้องไปเจอกับ ฉือหยู่ฉี นักกีฬาแบดมินตันมือ 1 ของโลกจากจีนในรอบ 8 คนสุดท้าย ทำให้ก่อนการแข่งขัน ความหวังของแฟนแบดมินตันไทยหลายๆ คนต้องยอมรับว่ารู้สึกลุ้นลำบาก 

 

แต่สำหรับวิว เขายืนยันกับผมตั้งแต่ก่อนบินไปปารีสว่า เป้าหมายในโอลิมปิกเกมส์สมัยแรกคือ “ไปทีละรอบครับ” 

 

มองผิวเผินอาจเป็นคำตอบทั่วไป แต่ความจริงวิวมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกับเทนนิสในการเตรียมพร้อมก่อนไปโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ นั่นคือการทำงานร่วมกับ ผศ. ดร.วิมลมาศ ประชากุล นักจิตวิทยาการกีฬา ที่สอนให้วิวและเทนนิสอยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด 

 

ให้มองไปทีละเกม ทีละรอบ ทีละแต้ม ไม่โฟกัสว่าเรานำหรือตามอยู่มากแค่ไหน หรือเรากำลังเจอกับใคร แต่โฟกัสให้เราทำให้ดีที่สุดในปัจจุบันและไม่คาดหวังกับผลที่จะออกมา มากกว่าความพยายามที่จะทำให้ดีที่สุดตลอดเวลา 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือวิวเดินทางเข้าไปถึงรอบ 8 คนสุดท้าย พบกับฉือหยู่ฉี ตามตัวเลขอันดับโลกแล้ว วิวควรจะเป็นฝ่ายที่หวาดกลัว กดดัน ในการพบกับมือ 1 ของโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลายเป็นฉือหยู่ฉีที่กดดันในสถานะมือ 1 ของโลกแทน 

 

สุดท้ายวิวเอาชนะไปได้ 2 เกมรวดอย่างง่ายดาย พร้อมกับรอยยิ้มระหว่างการแข่งขัน 

 

ซึ่งวิวยอมรับกับผมในการให้สัมภาษณ์หลังเกมว่า เป็นเพียงรอยยิ้มที่เขา ‘สนุกไปกับเกมเท่านั้น’

 

การอยู่กับปัจจุบันและก้าวไปทีละเกมของวิว ทำให้เขาผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ และเข้าไปเจอกับ วิกเตอร์ แอ็กเซลเซน นักแบดมินตันที่เป็นเหมือนกำแพงความสูงเกือบ 2 เมตร (วิกเตอร์สูง 194 เซนติเมตร) ที่กั้นวิวกับเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์

 

และรูปเกมในรอบชิงชนะเลิศ วิกเตอร์เล่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ความสูงของเขาได้เปรียบอยู่แล้ว แต่ทั้งเกมรับ ความแม่นยำ การรับและบุกลูกหยอดของเขาเด็ดขาดตลอดทั้งเกม จนสุดท้ายวิวก็พ่ายไป 2 เกมรวด 

 

แต่หลังจบเกม วิวยังเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เพราะเขารู้ว่านี่เป็นเพียงอีกหนึ่งหนทางสู่เป้าหมายใหญ่ของเขาในอนาคต ที่วิวเคยบอกไว้ว่าเขาอยากได้แชมป์โลก เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ และแชมป์รายการเก่าแก่อย่างออลอิงแลนด์ และเขาทำได้แล้ว 1 ใน 3 ด้วยวัยเพียง 23 ปีเท่านั้น 

 

และผมก็เชื่อเหมือนกับที่วิกเตอร์ตอบคำถามผมในห้องแถลงข่าวที่ปารีสว่าวิวน่าประทับใจแค่ไหน สำหรับโอลิมปิกเกมส์สมัยแรกของเขาที่ก้าวขึ้นมาถึงเหรียญเงิน “เขาจะมีอนาคตที่สดใสมาก” 

 

Dream Big ฝันของเด็กวัย 12 ปีที่ไปไกลกว่าใครหลายๆ คน 

 

อีกหนึ่งนักกีฬาที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้คือนักกีฬาไทยวัย 12 ปี (ณ ตอนนั้น) ที่มีชื่อว่า เอสที-วารีรยา สุขเกษม ที่กลายเป็นคนไทยคนแรกที่ไปแข่งขันกีฬาสเกตบอร์ดในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

ครั้งแรกที่มีโอกาสสัมภาษณ์เอสที เธอตอบคำถามที่ทำให้ผมตกใจในความคิดของคนที่มีอายุเพียง 12 ปี เพราะเอสทีบอกถึงทัศนคติที่เธอได้รับจากพ่อแม่ว่า 

 

“เราต้องไม่เหมือนคนอื่น พ่อบอกหนูตลอดว่าครอบครัวเราไม่ธรรมดา ครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่พิเศษกว่าคนอื่น 

 

“ตอนเด็กๆ หนูฟังแล้วหนูก็คิดว่า ‘ครอบครัวเราพิเศษตรงไหน’ ตอนนั้นหนูเด็ก หนูยังมองไม่เห็น จนมาถึงปัจจุบันหนูก็รู้ว่าความพิเศษตรงนี้มันเป็นอย่างไร คือเราเดินทางที่คนอื่นส่วนใหญ่ไม่เดินกัน คนอื่นอาจจะไปทางร้องเพลง เต้น อะไรที่บันเทิง นักแสดงอะไรอย่างนี้ ถ้าเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่จะเลือกไปทางนั้น

 

“แต่ว่าหนูดันเลือกที่มันเป็นกีฬาผาดโผน ท้าทาย เจ็บเยอะ มีเกณฑ์ที่จะบาดเจ็บได้เยอะมาก แล้วก็มีเกณฑ์การหมดไฟเยอะมากๆ

 

“หนูคิดว่าก็ดีใจนะที่เลือกทางนี้ เพราะหนูไม่อยากใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นธรรมดาที่เขาทำกัน เหมือนที่เขาใช้ชีวิตกัน อย่างเช่น เรียนแล้วพัก เล่นกับเพื่อน วิ่งไล่จับ ซ่อนแอบ 

 

“หนูเล่นแบบนี้ประมาณเด็กๆ ประถม 2-3 หนูลองผ่านมาแล้ว หนูคิดว่าหนูต้องไม่เหมือนคนอื่น หนูไม่อยากเหมือนคนอื่น มันเป็นคนส่วนใหญ่ที่เขาใช้ความคิดอย่างนี้กัน เด็กคนอื่นเล่นตุ๊กตา เล่นอะไรด้วยกัน แต่หนูเป็นคนอินโทรเวิร์ต หนูเป็นคนชอบทำอะไรคนเดียว อยู่คนเดียว พ่อหนูบอกว่าหนูเป็นคนที่ไม่เหมือนใครจริงๆ นะ”

 

ซึ่งพอเดินทางมาถึงสนามกีฬาสเกตบอร์ดในโอลิมปิกเกมส์ แม้ว่าเอสทีจะไม่ผ่านการแข่งขันรอบแรก แต่เธอพูดอย่างภูมิใจหลังจบการแข่งขันว่า เธอคือคนแรกที่เอาธงชาติไทยมาติดในสนามกีฬาสเกตบอร์ดของโอลิมปิกเกมส์ 

 

แต่มากกว่านั้นคือเอสทีบอกกับผมว่า ปี 2028 เธอจะเอาธงมาคลุมตัว เพราะโอลิมปิกเกมส์สมัยหน้าที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เอสทีบอกว่าเธอจะกลับมาคว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์ให้ได้ ตอกย้ำว่าเธอเป็นคนที่เชื่อมั่นว่าเธอได้เลือกทางเดินของตัวเอง และมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตที่ต้องการจะทำให้ได้ 

 

นักกีฬาทั้ง 3 คนเหมือนกับอยู่กันคนละจักรวาลในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์สมัยเดียวกัน 

 

เมื่อเทนนิสเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการแข่งขันในระดับสูงสุดอย่างโอลิมปิกเกมส์ 

 

วิวก้าวเข้าสู่สนามโอลิมปิกครั้งแรก แต่มาในฐานะที่เขาได้แชมป์โลกมาแล้ว 

 

และเอสทีกลายเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่พาธงชาติไทยไปสู่การแข่งขันกีฬาสเกตบอร์ดได้สำเร็จ 

 

แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ ทุกคนโฟกัสอยู่กับปัจจุบัน ทั้งเทนนิสที่ตอบคำถามเราว่า เคล็ดลับคือการอยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด ทั้งช่วงที่ทำคะแนนนำอยู่หรือตามหลังก็ตาม 

 

วิวแสดงให้เห็นว่าทำไมเขาถึงเลือกที่จะมองไปแค่คะแนนข้างหน้าที่เขาต้องทำให้ได้ดีที่สุดเท่านั้น และจะไม่คิดไปไกลถึงกับว่าอยากจะได้เหรียญทองแล้ว หรือถ้าแพ้จะเกิดอะไรขึ้น จนนำพาเขาไปสู่เหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์แรกในประวัติศาสตร์ของวงการแบดมินตันไทย 

 

เช่นเดียวกับเอสทีที่รู้ดีว่าในวัย 12 ปี เธอแค่เริ่มต้นเท่านั้น แม้ว่าจะไม่ผ่านรอบแรก แต่เธอก็ยังมั่นใจว่าอีก 4 ปีข้างหน้า เธอจะกลับมาแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ได้อีกครั้ง และตั้งเป้าจะนำธงชาติไทยมาคลุมตัวในฐานะเจ้าของเหรียญทองสเกตบอร์ดโอลิมปิกเกมส์คนแรกของไทยให้ได้ 

 

แต่คนที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุดคือการพูดคุยกับโค้ชเชเพียงไม่กี่นาที หลังจากที่พาเทนนิสมาสู่เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ได้เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันว่า หลังจากนี้วางแผนอย่างไรต่อไป โค้ชเชตอบสั้นๆ ว่า 

 

“ก็เริ่มต้นใหม่ หลังจบโอลิมปิกเกมส์ทุกครั้ง สหพันธ์จะทบทวนและเตรียมเปลี่ยนกฎใหม่ นั่นเท่ากับว่าเราต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เช่นเดียวกัน” 

 

ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่ จอห์น วูเดน โค้ชระดับตำนานของวงการบาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า 

 

“ความสำเร็จไม่ใช่จุดสิ้นสุด ความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายที่สุด แต่เป็นความกล้าหาญต่างหากที่สำคัญที่สุด”

 

ก่อนจะจบปี 2024 ผมจึงอยากยกโควตที่ผมชอบที่สุดจากการเดินทางเกาะติดการแข่งขันกีฬามาตลอดทั้งปีจากทีม Special Olympics องค์กรสนับสนุนนักกีฬาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาให้มีโอกาสได้ร่วมแข่งขันและฝึกซ้อมกีฬาว่า 

 

“Let me win. But if I cannot win, let me be brave in the attempt.”

 

“ขอให้ได้ลองสู้เพื่อชัยชนะ แต่ถ้าเราชนะไม่ได้ ขอแค่ให้ได้โอกาสที่จะแสดงความกล้าหาญด้วยความพยายามที่จะทำ”

 

ขอให้ปี 2025 ของทุกคนได้มีโอกาสที่จะทำตามเป้าหมายในชีวิต ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ อยู่กับปัจจุบัน และขอให้มีความกล้าหาญในการทำตามฝันที่ยิ่งใหญ่ดังเช่นนักกีฬาทั้ง 3 คน 

 

สวัสดีปีใหม่ครับ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising