×

ย้อนรอย Zipmex กับเส้นทางเติบโต ก่อนกลายเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ Black Swan ในตลาดคริปโต

21.07.2022
  • LOADING...
Zipmex

ปัญหาการขาดสภาพคล่องในโลกของคริปโตเคอร์เรนซีเกิดขึ้นต่อเนื่องกับ Zipmex และหลายต่อหลายบริษัทในช่วงตลอดทั้งปี 2565 ที่ผ่านมา หลังจากตลาดคริปโตได้ถูกเทขายอย่างหนักเช่นเดียวกับสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ จนราคาของเหรียญส่วนใหญ่ดิ่งลงกว่า 50% จากปีก่อน 

 

ไม่เพียงแค่นั้น ตลาดคริปโตยังถูกซ้ำเติมจากการล่มสลายของ TerraUSD (UST) และ LUNA เหรียญคริปโตที่มีมูลค่าสูงสุดติด 2 ใน 10 อันดับแรกของโลก ส่งผลให้ความเสียหายแผ่กระจายไปยังผู้ลงทุนและบริษัทคริปโตจำนวนมาก จนล่าสุดดูเหมือนว่า Zipmex Thailand ศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ได้กลายเป็นเหยี่อรายล่าสุดจากเหตุการณ์ Black Swan ที่เกิดขึ้นในตลาดคริปโต

 

Zipmex ระดมทุนไป 2.2 พันล้านบาท ภายใน 4 ปี 

Zipmex ก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง 2 ราย คือ มาร์คัส ลิม และ เอกลาภ ยิ้มวิไล ก่อนที่จะขยายการให้บริการไปยัง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย 

 

ในเดือนธันวาคม 2561 Zipmex เริ่มระดมทุนก้อนแรกด้วยมูลค่า 1.9 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่จะระดมทุนเพิ่มอีก 4 ครั้ง รวมมูลค่าเงินระดมทุนทั้งสิ้น 62.9 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.2 พันล้านบาท โดยการระดมทุนรอบใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้นำการลงทุน (Lead Investor) อย่าง กรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทร่วมลงทุนในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจดทะเบียนไทยอย่าง บมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) และ บมจ.มาสเตอร์ แอด (MACO) ที่ร่วมใส่เงินลงทุนใน Zipmex เช่นกัน 

 

ล่าสุด ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีกระแสข่าวออกมาว่า Coinbase ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าลงทุนเป็นพันธมิตรกับ Zipmex โดยคาดว่าจะได้รับเงินลงทุนราว 40 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของบริษัทพุ่งขึ้นแตะ 400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.4 หมื่นล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม CoinDesk รายงานออกมาว่า ได้รับการยืนยันจาก Coinbase เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 กรกฎาคม) ว่าดีลดังกล่าวไม่เกิดขึ้นแล้ว

 

ต้นตอปัญหาสภาพคล่องของ Zipmex

หนึ่งในกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Zipmex คล้ายๆ กับแพลตฟอร์มด้านคริปโตรายอื่นในอุตสาหกรรม คือการการันตีผลตอบแทนจากการที่ลูกค้านำสินทรัพย์ดิจิทัลมาฝากไว้กับบริษัท ซึ่งในกรณีของ Zipmex คือผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ZipUp 

 

Zipmex นิยามผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นลักษณะของการออมเงิน โดยที่นักลงทุนสามารถได้ผลตอบแทนสูงสุดถึง 10% ต่อปี เพียงแค่ฝากเหรียญไว้กับบริษัท 

 

ด้วยผลตอบแทนที่บริษัทจำเป็นจะต้องจ่ายคืนให้กับผู้ลงทุน ส่งผลให้บริษัทจำเป็นจะต้องนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปลงทุนผู้รับตอบแทนส่วนเพิ่มเช่นกัน ซึ่ง Zipmex Thailand ได้นำสินทรัพย์ที่รับฝากจากลูกค้ามาไปลงทุนกับ Zipmex Global ที่สิงคโปร์ ซึ่งได้นำสินทรัพย์เหล่านี้ไปลงทุนต่อกับแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Babel Finance รวมทั้ง Celsius ที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องล้มละลายไปแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม ทั้ง Babel Finance และ Celsius ต่างประสบปัญหาสภาพคล่องอันมีต้นตอจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน ทำให้ Zipmex ที่ฝากสินทรัพย์ไว้กับทั้งสองบริษัทได้รับผลกระทบไปโดยปริยาย 

 

ความเสียหายของ Zipmex Thailand อาจไม่ต่ำกว่า 1.8 พันล้านบาท

จากงบการเงินของ Zipmex ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 178.6 ล้านบาท มีหนี้สิน 89.6 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 88.9 ล้านบาท โดยมีรายได้ 86.8 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 9.6 ล้านบาท 

 

ล่าสุด Zipmex Thailand ได้เปิดเผยตัวเลขการฝากเงินกับ Babel Finance และ Celsius อยู่ที่ 48 ล้านดอลลาร์ และ 5 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1.8 พันล้านบาท 

 

จากความเสียหายที่เกิดขึ้นบริษัทได้หารือกับ Babel อย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการประเมินทางเลือกตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนการลงทุนกับ Celsius บริษัทชี้แจงว่าได้รับผลกระทบเพียงส่วนน้อย และบริษัทมีความตั้งใจที่จะนำเงินลงทุนของบริษัทมาใช้จัดการความเสียหายนี้

 

6 แพลตฟอร์มคริปโต ที่กำลังเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก

ปัญหาสภาพคล่องในโลกคริปโตลุกลามอย่างต่อเนื่องหลังจากตลาดคริปโตเข้าสู่ขาลงเต็มตัว ปรากฏว่ามีแพลตฟอร์มคริปโต 6 ราย ที่ประกาศออกมาแล้วว่ากำลังเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก 

 

  1. Celsius Network แพลตฟอร์มให้บริการซื้อขายและกู้ยืมคริปโต ประกาศระงับการถอน 12 มิถุนายน 2565

 

  1. Babel Finance แพลตฟอร์มให้กู้ยืมคริปโต ประกาศระงับการถอน 17 มิถุนายน 2565

 

  1. CoinFLEX แพลตฟอร์มให้บริการซื้อขายคริปโตแบบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ประกาศระงับการถอน 23 มิถุนายน 2565

 

  1. Voyager Digital แพลตฟอร์มให้บริการซื้อขายและกู้ยืมคริปโต ประกาศระงับการถอน 1 กรกฎาคม 2565

 

  1. Vauld ให้บริการซื้อขายและกู้ยืมคริปโต ประกาศระงับการถอน 4 กรกฎาคม 2565

 

  1. Zipmex แพลตฟอร์มให้บริการศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ประกาศระงับการถอน 20 กรกฎาคม 2565

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X