ถึงจะรู้ว่าความหวังที่จะป้องกันเหรียญทองโอลิมปิกได้เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกันเป็นคนแรกในรอบ 94 ปี แต่ ฮานิว ยูซุรุ ยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่ต้องการจะทำให้ได้ในการแข่งขัน ‘ปักกิ่งเกมส์’ ครั้งนี้
เป้าหมายดังกล่าวคือการทำท่ากระโดดที่เรียกว่า Quad Axel หรือ ‘4A’ ให้ได้เป็นคนแรกของโลก
สำหรับการแข่งขันสเกตลีลา หรือฟิกเกอร์สเกต นักกีฬาจะมีท่าให้แสดงมากมายหลายท่า แต่ที่เป็นไฮไลต์คือการทำท่ากระโดดซึ่งมีทั้งหมด 6 ท่าหลักด้วยกัน ได้แก่ โทลูป (Toe loop), ฟลิป (Flip), ลุตซ์ (Lutz), ซาลคาว (Salchow), ริตต์เบอร์เกอร์ (Rittberger) และแอกเซิล (Axel)
การกระโดดท่าแอกเซิลนั้นเป็นท่าการกระโดดเดียวที่กระโดดจากการไถลตัวไปข้างหน้า ซึ่งเพราะการกระโดดเริ่มจากการไถลไปข้างหน้าจึงต้องมีการหมุนตัวเพิ่มอีกครึ่งรอบจึงจะนับว่าครบ 1 รอบ เช่น ถ้าจะกระโดด 1 รอบแอกเซิล นักกีฬาจะต้องหมุนตัวกลางอากาศ 1 รอบครึ่ง
ปัจจุบันนักกีฬาชายในระดับท็อปของโลกสามารถกระโดดแอกเซิลได้ 3 รอบ แต่ไม่เคยมีใครกระโดดได้ถึง 4 รอบ (หรือหมายถึงการหมุนตัวกลางอากาศ 4 รอบครึ่ง) มาก่อน ซึ่งความยากระดับนี้เป็นเป้าหมายของยูซุรุที่ตั้งใจจะทำให้ได้ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ดาวเด่นวัย 27 ปีเคยแสดงมาแล้วครั้งหนึ่งในการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา เพียงแต่เป็นการกระโดด 4A ที่ไม่สมบูรณ์เนื่องจากในจังหวะลงนั้นใช้ขาลงสองข้าง ซึ่งจริงๆ จะต้องลงเพียงข้างเดียวเท่านั้น
เรียกได้ว่าเป็นท่าไม้ตายที่ยังขาดความสมบูรณ์
อย่างไรก็ดี ด้วยอุปนิสัยของยูซุรุที่เป็นคนมีจิตใจกล้าหาญ ทุ่มเทอย่างถึงที่สุดในทุกสิ่งที่ทำ นั่นทำให้เขาไม่ลังเลที่จะทำในสิ่งที่เขาได้ลั่นวาจากับทุกคนไว้ว่าเขาจะทำท่านี้ให้ดู
ความกล้าหาญและความตั้งใจนี้คือสิ่งที่เด็กหนุ่มจากเมืองเซนไดเอาชนะใจผู้คนทั่วโลก
ชื่อเสียงของ ฮานิว ยูซุรุ เริ่มโด่งดังตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ตอนอายุเพียงแค่ 11 ขวบ เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดถึงความฝันอันยิ่งใหญ่
“สักวันผมจะต้องคว้าเหรียญทองโอลิมปิก แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าผมจะไปถึงหรือเปล่านะ” หนุ่มน้อยประกาศความฝันในการแข่งขันสเกตน้ำแข็งของตัวเอง
ฮานิว – ซึ่งมีความหมายถึง ‘เชือกธนูที่ถูกขึงให้ตึง’ ตามความตั้งใจของพ่อที่อยากให้ลูกชายคนนี้เป็นคนทำงานหนักและมีจิตใจที่เข้มแข็ง และเป็นคนมีเกียรติ ทรงพลังและงดงามในเวลาเดียวกัน – ฝึกฝนตัวเองอย่างหนักหลังจากนั้น
ในวัย 15 ปีเขาคว้าแชมป์โลกการแข่งขันสเกตลีลาประเภทเยาวชน
ก่อนที่จะทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงด้วยวัยเพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น เมื่อเขาสามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย มาครองได้เมื่อปี 2014
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาคว้าเหรียญทองได้ในครั้งนั้นคือการกระโดดท่า Quad หรือการหมุนตัวกลางอากาศ 4 รอบที่เขาพยายามซุ่มฝึกซ้อมอย่างหนักนั่นเอง เพียงแต่สิ่งที่ติดค้างในใจของเด็กหนุ่มในเวลานั้นคือการที่เขายังมีความผิดพลาดในการแข่งอยู่
เพื่อลบสิ่งที่ติดค้างในใจ สิ่งที่ฮานิวทำคือการพยายามต่อไป ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของสายเลือดซามูไรโดยแท้ และนั่นทำให้เขาค่อยๆ ก้าวขึ้นสูงไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งในการแข่งขันสเกตลีลาอาชีพฤดูกาล 2015-16 ฮานิวได้กลายเป็นปรากฏการณ์เมื่อเขาใช้แรงบันดาลใจจากตัวละคร Abe no Seimei และ Seimei เพลงประกอบจากภาพยนตร์ Onmyoji และ Onmyoji 2 ซึ่งเป็นเรื่องราวของจอมขมังเวทย์มาใช้ในการแข่งขัน
ท่วงท่าลีลาที่อ่อนช้อย สง่างาม แต่ก็แข็งแรง พลิ้วไหว ลื่นไหล บวกกับใบหน้าที่ได้รูปราวกับถอดแบบมาจากภาพจิตรกรรมโบราณของญี่ปุ่น และสิ่งสำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรม Pop Culture กับการแข่งขันสเกตน้ำแข็งเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดกระแสความคลั่งไคล้ในตัวของฮานิว และทำให้สเกตลีลากลายเป็นการแข่งขันที่ได้รับความนิยมสูงแบบไม่เคยมีมาก่อน
และการแสดงชุด Seimei ของเขาก็กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวสืบมา โดยจุดสูงสุดคือการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในสมัยที่ 2 มาครองได้ในการแข่งขันที่เมืองพย็องชัง ในปี 2018 ซึ่งฮานิวเลือกโปรแกรม Seimei และทำได้อย่างยอดเยี่ยม กลายเป็นนักกีฬาคนแรกในรอบ 66 ปีที่ป้องกันแชมป์สเกตลีลาได้สำเร็จ
ฮานิวยังเป็นนักกีฬาที่มี Fandom เป็นของตัวเองในนาม Fanyus ที่พร้อมจะตามสนับสนุนทุกที่ที่ไป และไม่ว่าจะไปที่ใดหากเขาคว้าชัยชนะในการแข่งขันได้ ทุกคนจะได้เห็น ‘Winnie the Rain’ ฝนตกลงมาเป็นตุ๊กตาหมีพูห์ ตัวละครเอกจากวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกที่ทุกคนรักอย่าง Winnie the Pooh ซึ่งเป็นเหมือนตัวนำโชคของฮานิว
ยอดนักสเกตคนนี้ยังกลายเป็นตัวละครต้นแบบ Yuuri ของตัวเอกในมังงะเรื่อง ‘Yuri!!! on Ice’ ซึ่งเขานำมาใช้ในการแข่งขันด้วยเช่นกัน
สำหรับแฟนๆ ทุกคน ฮานิวคือ ‘เจ้าชายน้ำแข็ง’ ผู้ที่มีทั้งความน่ารัก เป็นกันเองกับทุกคน ขณะที่ยามอยู่ในสนามก็มีความสง่างาม เก่งกาจ และมีหัวใจที่เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคยากแค่ไหน กล่าวได้ว่าฮานิวคือเปลวเพลิงอันร้อนแรงที่ส่งแรงใจและไฟฝันให้แก่แฟนๆ ทุกคนทั่วโลก
ขณะที่สำหรับนักกีฬาสเกตด้วยกัน ฮานิวคือแรงบันดาลใจ คือต้นแบบ คือคนที่พวกเขาอยากจะก้าวข้ามไปให้ได้
การกระโดดท่า Quad ที่เคยเป็นไม้ตายของฮานิวกลายเป็นมาตรฐานที่นักกีฬาระดับท็อปทุกคนจะต้องทำให้ได้หากต้องการที่จะมีลุ้นประสบความสำเร็จ ซึ่งหนึ่งในรุ่นน้องที่พัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดดจนได้รับสมญาว่า ‘Quad King’ คือ นาธาน เฉิน คู่ปรับคนล่าสุด (ฮานิว มีคู่ปรับหลายคน) ที่กลายเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกคนใหม่
โดยทั้งสองต่างยอมรับซึ่งกันและกัน และต่างใช้คู่แข่งเป็นแรงบันดาลใจ เรียกได้ว่าหากไม่มีฮานิวเป็นเป้าหมาย บางทีนาธาน เฉินก็อาจจะมาไม่ถึงจุดนี้
น่าเสียดายที่ในการแข่งขัน Short Program เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ฮานิวโชคร้ายเมื่อติดหลุมบนลานน้ำแข็งจนทำให้พลาดโอกาสตั้งแต่การกระโดดครั้งแรกที่ตั้งใจจะทำท่า Quad Salchow และสุดท้ายทำคะแนนรวมได้เพียงแค่อันดับที่ 8
อย่างไรก็ดี ในการแข่งขันประเภท Free Program วันนี้ ฮานิวได้ทำตามคำพูดของเขาที่เคยประกาศไว้ว่า เขาจะทำท่า Quad Axel ในการแข่งขัน และเขาก็ทำจริงๆตั้งแต่การกระโดดครั้งแรกในบทเพลง ‘Heaven and Earth’
ฮานิวเทกก่อนกระโดดขึ้นและหมุนตัวกลางอากาศได้อย่างสวยงาม เพียงแต่ในจังหวะการลงเขาพลาด
‘4A’ จึงยังเป็นท่าที่ไม่มีใครทำได้สำเร็จ เพียงแต่เมื่อเทียบกับความพยายามครั้งที่แล้วในการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่นแล้วถือว่าเขาทำได้ดีขึ้น
“ผมพูดจากใจเลยว่าผมได้พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างในการแข่งแล้ว ผมไม่มีอะไรที่จะทำได้อีก” ฮานิวกล่าวทั้งน้ำตาในการให้สัมภาษณ์กับ olympics.com “ผมเร่งเต็มที่ตั้งแต่ต้น และผมก็คิดว่าผมทำท่า Axel ได้ดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้แล้ว ผมได้พยายามทำแล้ว และมันจะเป็นสิ่งที่ผมจะเก็บไว้ตลอดชีวิต”
โอลิมปิกครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ฮานิวจบด้วยการกลับบ้านมือเปล่า และไม่มีใครรู้ว่ามันจะเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเขาหรือไม่
แต่สำหรับนักกีฬาที่ทุกคนยกย่องว่าเป็น G.O.A.T. (Greatest of All Time) อย่างเขา ดูเหมือนจะยังมีเป้าหมายสำคัญที่เหลืออยู่
‘4A คนแรก’ ที่ Fanyus ทุกคนรู้ว่าฮานิวจะไม่ยอมแพ้จนกว่าจะทำได้สำเร็จแน่นอน
อ้างอิง:
- https://olympics.com/en/news/hanyu-yuzuru-beijing-2022-free
- https://www.globaltimes.cn/page/202202/1251728.shtml
- https://olympics.com/en/news/great-winter-olympic-rivalries-hanyu-yuzuru-and-nathan-chen
- https://olympics.com/en/news/hanyu-yuzuru-practice
- https://sportymags.wordpress.com/2015/06/27/yuzuru-hanyu-seimei-a-defining-program/
- https://www.japantimes.co.jp/sports/2022/02/06/olympics/winter-olympics/olympics-figure-skating/yuzuru-hanyu-fandom/