×

WHO มองบวก ยุโรปอาจ ‘ปิดเกม’ โควิด หลังโอมิครอน

โดย THE STANDARD TEAM
25.01.2022
  • LOADING...
WHO

ฮันส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวว่า ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ทำให้การระบาดของโควิดเข้าสู่ระยะใหม่ และอาจนำไปสู่ ‘จุดจบ’ ของการระบาดใหญ่ในยุโรป 

 

คลูเกอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ว่า “มีเหตุผลเป็นไปได้ที่ภูมิภาคนี้กำลังจะเดินหน้าไปสู่จุดสิ้นสุดของการระบาดใหญ่” 

 

– 60% อาจติดเชื้อโอมิครอน และโอกาสเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

ผู้อำนวยการ WHO ประจำยุโรป กล่าวว่า ชาวยุโรป 60% อาจติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนภายในเดือนมีนาคม และเมื่อยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนเริ่มชะลอตัวลง จะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์และหลายเดือนจึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเพราะการฉีดวัคซีน หรือเพราะประชาชนมีภูมิคุ้มกันเนื่องจากเคยติดเชื้อก็ตาม 

 

นอกจากนี้การระบาดยังจะเริ่มชะลอตัวตามฤดูกาลอีกด้วย โดย “เราคาดว่าจะมีช่วงเวลาที่สงบก่อนที่โควิดอาจกลับมาในช่วงปลายปี แต่ไม่จำเป็นว่าจะเป็นการระบาดใหญ่” คลูเกอกล่าว

 

ดร.แอนโทนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน แสดงมุมมองบวกต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน

 

เฟาชีกล่าวกับรายการ This Week ของสถานีข่าว ABC News ว่า สถานการณ์ในสหรัฐฯ นั้น ‘ดูดี’ ด้วยจำนวนผู้ป่วยโควิดที่ลดลง ‘ค่อนข้างเร็ว’ ในหลายพื้นที่ของประเทศ เขากล่าวว่า หากตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ยังคงลดลงต่อไป “ผมเชื่อว่าคุณจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวทั่วทั้งประเทศ”

 

ขณะที่สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำแอฟริกากล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จำนวนผู้ติดโควิดในแอฟริกาลดลงอย่างมาก และผู้เสียชีวิตลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การระบาดของโควิดระลอกที่ 4 ในภูมิภาคพุ่งถึงจุดสูงสุด โดยมีโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักในระลอกนี้ 

 

– ความหวังที่โควิดจะเปลี่ยนจากโรคระบาดใหญ่เป็นโรคประจำถิ่น

การศึกษาต่างๆ แสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์โอมิครอนติดง่ายกว่าเดลตา แต่โดยทั่วไปแล้วมีอาการรุนแรงน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ติดเชื้อเคยได้รับวัคซีนมาแล้ว โดยโอมิครอนทำให้เกิดความหวังที่รอคอยมานานว่าโควิดจะเริ่มเปลี่ยนจากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) ไปเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ที่สามารถควบคุมได้เหมือนเช่นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 

 

อย่างไรก็ดีคลูเกอเตือนว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพิจารณาว่าโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

 

“มีการพูดคุยกันมากมายเกี่ยวกับโรคประจำถิ่น แต่โรคประจำถิ่นนั้นหมายความว่าเราสามารถคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขณะที่ไวรัสตัวนี้ทำให้เราประหลาดใจมากกว่าหนึ่งครั้ง ดังนั้นเราจึงยังต้องระวังให้มาก” คลูเกอกล่าว

 

เขาเตือนว่า แม้โอมิครอนแพร่กระจายอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นสายพันธุ์หลัก แต่สายพันธุ์อื่นๆ ก็ยังคงเกิดขึ้นได้ 

 

เทียร์รี บรีตัน กรรมาธิการยุโรปด้านตลาดภายในภูมิภาค กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะประยุกต์ใช้วัคซีนที่มีอยู่กับสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

 

“เราจะสามารถต้านทานได้ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ใหม่ๆ” เขากล่าวกับสถานีโทรทัศน์ LCI ของฝรั่งเศส “เราจะประยุกต์ใช้วัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง mRNA หากจำเป็น เพื่อให้เข้ากับสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น”

 

ทั้งนี้ ประเทศที่อยู่ในความดูแลขององค์การอนามัยโลกประจำยุโรปนั้นประกอบด้วย 53 ประเทศ ซึ่งรวมถึงหลายประเทศในเอเชียกลาง โดยพบว่า โอมิครอนคิดเป็น 15% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในภูมิภาค ณ วันที่ 18 มกราคม เทียบกับ 6.3% ในสัปดาห์ก่อนหน้า

 

ศูนย์ควบคุมและป้องการโรคแห่งยุโรป (ECDC) เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ปัจจุบันโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักในสหภาพยุโรป (EU) และเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) (ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก EU นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) 

 

คลูเกอกล่าวว่า เนื่องจากโอมิครอนแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วยุโรปแล้ว แทนที่จะใช้มาตรการเพื่อหยุดการแพร่กระจาย เราจึงควรหันไปมุ่งเน้นให้โรงพยาบาล โรงเรียน และเศรษฐกิจ เดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็ปกป้องกลุ่มเปราะบาง 

 

ในขณะเดียวกัน ผอ.องค์การอนามัยโลกประจำยุโรป เรียกร้องให้ประชาชนรับผิดชอบตัวเอง “ถ้าคุณรู้สึกไม่สบาย ขอให้อยู่บ้าน ตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง และกักตัวหากผลตรวจออกมาเป็นบวก” เขากล่าว

 

คลูเกอกล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญลำดับแรกคือ การทำให้สถานการณ์ในยุโรปมีเสถียรภาพ ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคยังแตกต่างกันมาก โดยมีตั้งแต่ 25% ไปจนถึง 95% ของประชากร นำไปสู่ภาวะตึงตัวที่แตกต่างกันในโรงพยาบาลและระบบบริการสุขภาพ

 

“การทำให้มีเสถียรภาพหมายความว่า ระบบบริการสุขภาพจะไม่ล้นด้วยจำนวนผู้ป่วยโควิดอีกต่อไป และสามารถให้บริการที่จำเป็นต่อไปได้” หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้านี้การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด ได้รับผลกระทบ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโควิดที่ล้นโรงพยาบาล

 

ทั้งนี้ เมื่อถูกถามว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 เพื่อยุติการแพร่ระบาดหรือไม่ คลูเกอระมัดระวังในการตอบคำถามนี้ โดยกล่าวเพียงว่า “เรารู้ว่าภูมิคุ้มกันจะพุ่งขึ้นหลังจากการฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง”

 

ภาพ: Aytug Can Sencar / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising