×

สหรัฐฯ-EU เรียกร้องเร่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เตือนโลกมีเวลาไม่เกิน 10 ปี ก่อนเผชิญวิกฤตสภาพอากาศแปรปรวน

15.09.2021
  • LOADING...
Climate Change

ภาวะสภาพอากาศแปรปรวน หรือ Climate Change เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกแสดงความกังวล และหวั่นวิตกว่าอาจกลายมาเป็นวิกฤตหลักของผู้คนทั่วโลกในอีกไม่กี่ปีหรือไม่กี่สิบปีข้างหน้า 

 

โดยล่าสุดทางฝั่งชาติตะวันตก ทั้ง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ ฟรานซ์ ทิมเมอร์มันส์ รองประธานบริหารของคณะกรรมาธิการยุโรป ผู้ดูแลข้อตกลงลดโลกร้อนของสหภาพยุโรป หรือ European Green Deal ต่างออกมาแสดงท่าทีเรียกร้องให้มีการเร่งดำเนินการรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศแปรปรวน ด้วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด และลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ อย่างจริงจัง เพื่อลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อน

 

เตือนโลกมีเวลาไม่เกิน 10 ปี ก่อนเผชิญ Climate Change

 

  • ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินสายในหลายรัฐทางตะวันตก ทั้งโคโลราโด ไอดาโฮ และแคลิฟอร์เนีย เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ไฟป่า และผลักดันแผนงบประมาณด้านพลังงานสะอาดและมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ประกาศเตือนชาวอเมริกันว่า มีเวลาเหลืออีกเพียงไม่เกิน 10 ปี ก่อนที่โลกจะเผชิญกับอันตรายจากวิกฤตสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งเป็นต้นเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย 

 

  • การเดินสายของไบเดนมีขึ้นท่ามกลางความพยายามผลักดันและขอเสียงสนับสนุนจากประชาชนและสมาชิกสภาคองเกรสของพรรคเดโมแครต เพื่อผ่านแผนใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการรับมือภาวะสภาพอากาศแปรปรวน ที่ครอบคลุมทั้งมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และผลักดันโครงการด้านพลังงานสะอาด ซึ่งรวมถึงนโยบายสร้างแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับพลังงานสะอาดและยานพาหนะไฟฟ้า ตลอดจนการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจให้พ้นจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและพลังงานแสงอาทิตย์ และสร้างหน่วยงานจัดการด้านสภาพภูมิอากาศของพลเรือน

 

  • ไบเดนเตือนผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว หรือ Extreme Weather Event ในปีนี้ ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

  • เป้าหมายสำคัญในการรับมือภาวะสภาพอากาศแปรปรวนของรัฐบาลไบเดนคือ การลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และมุ่งพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด โดยมั่นใจว่าจะเป็นคำตอบสำหรับอนาคตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯ ขณะที่ตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยปราศจากการก่อมลภาวะคาร์บอน 100% ในปี 2035 และลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเหลือ 0 หรือ Net-Zero Emissions ภายในปี 2050 

 

  • ไบเดนเชื่อมั่นว่าแนวทางทั้งหมดนี้สามารถทำได้แบบวิน-วิน โดยโครงการด้านพลังงานสะอาดสามารถสร้างงานที่มีรายได้ดีให้ชาวอเมริกัน ในขณะที่ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ อีกทั้งยังทำให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกในด้านนี้

 

  • อย่างไรก็ตาม การร่างแผนใช้จ่ายงบประมาณวงเงิน 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานสะอาดและการรับมือวิกฤตอากาศแปรปรวนของไบเดนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากฝ่ายที่คัดค้านมีทั้งล็อบบี้ยิสต์ของบริษัทพลังงาน และสมาชิกอาวุโสของพรรคเดโมแครตบางคน ที่มองว่าการใช้จ่ายงบประมาณไปกับเรื่องนี้ ‘แพงเกินไป’

 

  • ในการเยือนสำนักงานกู้ภัยที่เมืองซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันจันทร์ ไบเดนเผยว่า เขาไม่สามารถผลักดันข้อเสนอการลงทุนเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ให้รวมอยู่ในข้อตกลงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่บรรลุข้อตกลงไปเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา

 

  • ซึ่งตอนนี้เขาพยายามที่จะผลักดันแผนดำเนินงานด้านพลังงานสะอาดและการรับมือสภาพอากาศแปรปรวน ในแพ็กเกจงบประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยอมรับว่าอาจไม่ได้ตามที่ตั้งใจ 

 

“ผ่านหรือไม่ผ่าน เท่าไรไม่รู้ แต่เราจะทำให้มันผ่านให้ได้” ไบเดนกล่าวอย่างเชื่อมั่น

 

เรียกร้อง EU เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดทันที

 

  • ด้านสหภาพยุโรปก็มีความพยายามผลักดันนโยบายรับมือกับภาวะสภาพอากาศแปรปรวนอย่างต่อเนื่อง โดยฟรานซ์ ทิมเมอร์มันส์ รองประธานบริหารของคณะกรรมาธิการยุโรป ผู้ดูแลข้อตกลงลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสหภาพยุโรป หรือ European Green Deal กล่าวในที่ประชุมรัฐสภายุโรป ที่เมืองสตราสบูร์กของฝรั่งเศส เมื่อวานนี้ (14 กันยายน) ว่า EU ต้องดำเนินการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในทันที 

 

“เราต้องแบกรับความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวง เพราะหากเราล้มเหลวในการดำเนินการตอนนี้ และผมหมายความว่าในทันที ลูกหลานของเราจะไม่มีวันให้อภัยเรา” ทิมเมอร์มันส์กล่าว

 

  • ข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ระบุว่า หากไม่เร่งดำเนินการเพื่อลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในตอนนี้ จุดเปลี่ยนของวิกฤตสภาพอากาศแปรปรวนจะมาถึงเร็วกว่าที่คิด ซึ่งเราไม่มีทางเลือก และต้องดำเนินการในทันที 

 

  • ทิมเมอร์มันส์ยังปกป้องชุดมาตรการของ EU ที่เรียกว่า Fit for 55 Package ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2030

 

  • แต่การพูดนั้นง่ายกว่าลงมือทำ โดยสมาชิก EU หลายประเทศยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการกำหนดกฎหมายเพื่อบังคับใช้มาตรการเหล่านี้ 

 

  • สกา เคลเลอร์ สมาชิกรัฐสภายุโรปจากเยอรมนี มองว่า EU ควรยุติการอุดหนุนงบประมาณสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิล และเร่งเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียน ขณะที่ แอนนา ซาเลฟสกา สมาชิกรัฐสภายุโรปจากโปแลนด์ เผยว่า ประชาชนกำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น และมองว่าพวกเขาเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับภาระจากความตั้งใจในการรับมือ Climate Change ของ EU ซึ่งที่จริงแล้วควรเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษคาร์บอนที่ต้องแบกรับภาระจากเรื่องนี้ 

 

ภาพ: Photo by Helen H. Richardson/MediaNews Group/The Denver Post via Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising