×

การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ สหรัฐฯ-จีน สรุปบทวิเคราะห์ชัยชนะของตาลีบันและอนาคตอัฟกานิสถานที่น่าจับตา โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

21.08.2021
  • LOADING...
taliban-victory

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในอัฟกานิสถานขณะนี้ เราได้เห็นการประกาศถอนทหารของสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน และท่าทีการพบปะระหว่างจีนกับกลุ่มตาลีบัน ตลอดจนข้อมูลส่วนหนึ่งว่า อัฟกานิสถานเป็นแหล่งแร่ในกลุ่ม Rare Earth ที่มีมูลค่าในการนำไปใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไฮเทคต่างๆ น่าสนใจว่าเราจะวิเคราะห์อัฟกานิสถานในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นที่สนใจของมหาอำนาจของโลกอย่างไร

 

รายการ THE STANDARD NOW ได้เชิญ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาวิเคราะห์ในประเด็นเหล่านี้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา และนี่คือการสรุปสาระสำคัญส่วนหนึ่งจากการวิเคราะห์ในรายการ

 

  • ศ.สุรชาติ เท้าความว่า อัฟกานิสถานเป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นจุดของการแข่งขันใหญ่มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม โดยหากย้อนไปดูจะพบว่า อังกฤษ (British India) ในขณะนั้นพยายามรุกเข้าไปในอัฟกานิสถานซึ่งก็ไม่ชนะ ขณะกองทัพรัสเซียเองพยายามรุกลงด้านล่างก็ไม่ชนะ ยุคอาณานิคมอัฟกานิสถานเป็นบัฟเฟอร์ หรือ ‘พื้นที่กันชน’ ระหว่างอังกฤษกับรัสเซีย เขายกตัวอย่างกรณีช่องทางผ่านที่เรียกว่า ‘ไคเบอร์​พาส’ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมระหว่างอัฟกานิสถานกับรัสเซีย แต่ในความหมายคือเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอิทธิพลของจักรวรรดิอังกฤษที่อยู่ในเอเชียกลางกับตัวรัสเซีย และเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เราได้เห็นอัฟกานิสถานในยุคสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่พัวพันกับเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 จนมาถึงอัฟกานิสถานในยุคที่อาจต้องใช้คำว่า ‘อเมริกันแพ้’ เนื่องจากแต่เดิมมีการคาดกันว่าสหรัฐฯ จะประคองอัฟกานิสถานได้ยาวกว่านี้ แต่สถานการณ์มาถึงจุดพลิกและทำให้กลับมาสู่โจทย์เดิม

 

  • อย่างไรก็ตาม ศ.สุรชาติ วิเคราะห์ว่า โจทย์วันนี้ต่างกับยุคอาณานิคม โดยยุคอาณานิคมเป็นการแข่งขันระหว่างจักรวรรดิอังกฤษกับจักรวรรดิรัสเซีย แต่ปัจจุบันเราเห็นภาพว่า วันนี้ถ้าจะเป็นการแข่งขันก็อาจจะไม่ง่าย เพราะว่าสหรัฐฯ ถูกดันออกมา เป็นอิทธิพลจีนกำลังกลับเข้าไปแทน แปลได้ว่าเอเชียกลางโดยพื้นที่ในทางยุทธศาสตร์ก็ไม่หนีจากยุคอาณานิคม เพียงแต่มีความต่างของตัวแสดงหรือตัวละครใหม่ เพราะเอเชียกลางในอดีตห่างจากอิทธิพลของจีนพอสมควร แต่ปัจจุบันกลายเป็นอิทธิพลจีนกำลังรุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน ศ.สุรชาติ ระบุว่าน่าสนใจ เพราะในบริบทเช่นนี้สิ่งที่เป็นประเด็นอย่างมากก็คือ แล้วในอนาคตการแข่งขันชุดนี้จะพัฒนา จะเปลี่ยนแปลง จะคลี่คลายอย่างไร

 

  • กรณีภาพที่บุคคลระดับสูงของตาลีบันยืนร่วมกับบุคคลระดับสูงของจีน ศ.สุรชาติ ระบุว่า คิดว่าภาพนั้นหลุดออกมาก่อนที่คาบูลจะแตก ซึ่งแปลว่าสัญญาณทางการเมืองจากปักกิ่งมาแล้ว อาจแปลความได้ว่า ‘ถ้าอเมริกันออก จีนจะเข้า’

 

  • ศ.สุรชาติ ยังวิเคราะห์ว่า สถานะความเป็นรัฐกันชนของรัฐมหาอำนาจของอัฟกานิสถานเปลี่ยนไป เพราะเมื่อเกิดสงครามที่สหรัฐฯ ตัดสินใจเข้าไปโค่นรัฐบาลตาลีบัน ทำให้ไม่มีความเป็นพื้นที่กันชนอย่างเก่า พอมาถึงวันนี้ที่อิทธิพลจีนเข้าไปก็ตอบชัดว่าวันนี้อัฟกานิสถานกำลังเป็นจุดของการแข่งขัน และเป็นพื้นที่ที่ต้องจับตามองของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจในศตวรรษที่ 21

 

  • สำหรับความคลี่คลายในอนาคต ศ.สุรชาติ วิเคราะห์ว่า วันนี้จีนพยายามจะขยายอิทธิพลออกนอกประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลของการแสวงหา ‘สินแร่ทางยุทธศาสตร์’ ซึ่งในกรณีของอัฟกานิสถานก็คือสินแร่กลุ่ม Rare Earth เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในระบบเครื่องมือสมัยใหม่ แล้วคำตอบที่ชัดก็คือ สินแร่นี้อยู่ที่อัฟกานิสถาน ดังนั้นนับจากนี้ไปเขาเชื่อว่าอัฟกานิสถานจะมีความน่าสนใจมากกว่ามิติของคำถามชุดเดิม ซึ่งถามไว้ว่าเมื่อตาลีบันเข้ามา อัฟกานิสถานจะเป็นสวรรค์ของผู้ก่อการร้ายเหมือนเดิมหรือไม่ รัฐบาลตาลีบันจะทำหน้าที่เป็นโฮสต์หรือเป็นฐานที่มั่นให้กับบรรดานักรบจีฮัดที่ต้องการสู้กับตะวันตกสู้กับอะไรเหมือนเดิมหรือไม่ อย่างไรก็ดี เขาบอกว่าคำถามนี้ยังอยู่และเชื่อว่าไม่เปลี่ยนแปลง แต่คำถามที่อยู่ในกรอบการเมืองระหว่างประเทศอีกชุดหนึ่งคือ อัฟกานิสถานกำลังจะเป็นพื้นที่ของการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐมหาอำนาจในศตวรรษที่ 21 ใช่หรือไม่ ซึ่งหากใช่ นับจากนี้อัฟกานิสถานจะเป็นจุดสนใจที่น่าติดตามอย่างมาก เพราะจะแสดงให้เห็นว่า เรากำลังเห็นภาพการแข่งขันในพื้นที่เอเชียกลางที่ไม่ใช่ในยุคอาณานิคม แต่เป็นในยุคศตวรรษที่ 21 ได้

 

  • หากถามว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองแล้ว ประชาคมระหว่างประเทศจะให้การรับรองทางการเมืองต่อรัฐบาลตาลีบันหรือไม่ ศ.สุรชาติ เชื่อมั่นว่า จีนจะรับรองแน่นอน เช่นเดียวกับรัสเซีย และการรับรองดังกล่าวอาจจะมาจากทั้งอิหร่านและกาตาร์ด้วย ศ.สุรชาติ ระบุว่า การรับรองดังกล่าวไม่ใช่ปัญหา เพราะส่วนหนึ่งคือการได้อำนาจในครั้งนี้มาจากมิติของสงคราม ไม่ใช่การทำรัฐประหาร และในอีกหนึ่งฝั่งของคู่สงครามก็มีรัฐมหาอำนาจอยู่ข้างหลัง

 

  • แต่โจทย์ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลสหรัฐฯ ของ โจ ไบเดน จะจัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลตาลีบันในอนาคตอย่างไร เพราะจากการเปรียบเทียบของ ศ.สุรชาติ สหรัฐฯ แพ้ในอัฟกานิสถานไม่ต่างกับรัสเซีย (โซเวียต) ที่แพ้ในอัฟกานิสถานเมื่อปี 1989 และสงครามของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานก็ถือเป็นเป็นสงครามชุดที่ยาวที่สุดของสังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องจับตากันต่อ นอกจากนี้โจทย์ยังอาจขยายออกไปถึงระดับสหภาพยุโรปได้จากการที่มีคำวิจารณ์ในซีกของสหภาพยุโรปบางส่วนว่านี่ไม่ใช่เพียงปัญหาของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังสะท้อนความพ่ายแพ้ของตัวสหภาพยุโรปด้วย

 

  • ศ.สุรชาติ มองการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องปกติ โดยหลังจากกรุงคาบูลแตก เขาวิเคราะห์ว่า สิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ อาจจะต้องทำคือ อาจจะต้องเปิดการพูดคุยระหว่างสหรัฐฯ กับจีน, สหรัฐฯ กับรัสเซีย และสหรัฐฯ กับปากีสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีกส่วนหนึ่ง สหรัฐฯ คงต้องคุยกับบรรดาประเทศที่อยู่ในอ่าวที่มีส่วนในการสนับสนุนรัฐบาลตาลีบันมาก่อน และการเปิดการเชื่อมต่ออาจจะไม่ใช่การเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ กับรัฐบาลตาลีบัน ทั้งนี้ สหรัฐฯ เองก็ไม่คงไม่ปล่อยให้จีนรุกเข้าไปเพียงฝ่ายเดียว และก็คงต้องคิดเช่นกัน เพราะว่าโจทย์เอเชียกลางไม่ใช่โจทย์เฉพาะอัฟกานิสถาน แต่มีโจทย์ที่เชื่อมโยงเข้าไปถึงอิหร่าน

 

  • ศ.สุรชาติ มองว่า ประเด็นอัฟกานิสถานเป็นประเด็นที่น่าสนใจที่จะติดตาม เพราะโยงกับเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างประเทศหลายประการ แต่เงื่อนไขหลักก็คือ การขยายอิทธิพลของจีนเข้าสู่เอเชียกลาง เขาวิเคราะห์ว่า หากจีนขยายอิทธิพลเข้าสู่เอเชียกลาง นอกจากเรื่องของการทำเหมือง เรื่องในทางเศรษฐกิจแล้ว อีกสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้คือ การขยายความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) เข้าสู่พื้นที่ที่จีนแผ่อิทธิพลเข้าไป ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตเราอาจจะเห็น BRI ที่จีนอาจจะขยายเข้าไปสู่พื้นที่ของอัฟกานิสถาน อาจจะเชื่อมกับปากีสถาน ซึ่งจีนพยายามเชื่อมผ่านปากีสถานมานานแล้ว

 

  • สำหรับประเด็นความมั่นคงซีกตะวันออกกลางเมื่อดุลอำนาจของอัฟกานิสถานเปลี่ยนไปนั้น อัฟกานิสถานมีพื้นที่ติดกับทั้งปากีสถานและอิหร่าน และจากการวิเคราะห์ของเขา ในกรณีของอัฟกานิสถานและอิหร่านก็คง ‘ไม่เอาอเมริกา’ ดังนั้นสิ่งที่เป็นคำถามหลังจากนี้คือ ผลกระทบของอัฟกานิสถานเนี่ยจะเป็นโดมิโนกับอิรักหรือไม่ และจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตกับอิรักหรือไม่ ซึ่งต้องจับตาต่อเช่นกัน โดยหากการเมืองจากอัฟกานิสถานขยายเป็น ‘โดมิโนเอฟเฟกต์’ ไปยังตะวันออกกลางและมีผลกระทบกับอิรักจนเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอิรัก และทำให้อิรักกลายเป็นสายที่ไม่เอาตะวันตกด้วย เขาระบุว่า การเมืองตะวันออกกลางจะคลี่คลายไปอีกแบบหนึ่ง จีนอาจจะรุกเข้าไปในตะวันออกกลางได้มากกว่าที่เราคิด และความริเริ่ม BRI ของจีนก็อาจจะทะลุเข้าไปในตะวันออกกลางมากขึ้น ซึ่งก็อยู่ในชุดความคิดที่จีนอยากจะผลักดันมาโดยตลอด

 

  • ศ.สุรชาติ ระบุว่า จีนเชื่อว่าวันนี้เส้นทางสายไหมจะเป็นเหมือน ‘หัวหอก’ ที่ด้านหนึ่งคือ การแผ่อิทธิพลจีนเข้าไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลก กับอีกด้านหนึ่งคือ การดึงพื้นที่ส่วนต่างๆ เข้าไปเชื่อมทั้งกับระบบเศรษฐกิจจีนและกับระบบการผลิตจีน และเราก็คงเห็นการขยับตัวของบรรดาเส้นทางสายไหมเข้าสู่พื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ต่างกัน

 

  • ต่อคำถามที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอัฟกานิสถานกับจีนในเวลานี้หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร ศ.สุรชาติ ตอบว่า ก็คงเหมือนกับภาพที่เราเห็นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจกับประเทศเล็ก จีนคงขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ซึ่งวันนี้รูปธรรมที่ชัดคือ ความต้องการสินแร่ทางยุทธศาสตร์ ซึ่งแปลว่า ในอนาคตสิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ต่างกับการขยายอิทธิพลของจีนเข้าไปในพื้นที่ของทวีปแอฟริกา ซึ่งจุดนี้เขาอธิบายว่า จีนขยายเข้าไปพร้อมกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและมาพร้อมกับโครงการก่อสร้างพื้นฐาน และในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานก็มาด้วยเรื่องใหญ่ที่สุดคือเงินกู้ ซึ่งทำให้เห็นปรากฏการณ์ในบรรดารัฐที่เป็นผู้รับสินเชื่อจากจีนก็คือปรากฏการณ์ ‘กับดักหนี้’ คือกู้แล้วถึงจุดหนึ่งประเทศเล็กหรือประเทศยากจนในแอฟริกาไม่มีขีดความสามารถทางเศรษฐกิจที่จะจ่าย ก็จะกู้เงินจีนมาจ่ายดอกเบี้ยจีน จนสุดท้ายการกู้เงินจีนมาจ่ายดอกเบี้ยจีนดังกล่าวขยายตัวไปถึงจุดที่ไม่มีขีดความสามารถทางเศรษฐกิจเหลือ แล้วสุดท้ายจำเป็นจะต้องโอนสัมปทานหลายอย่างให้กับจีน ศ.สุรชาติ ยกตัวอย่างกรณีประเทศจิบูตีและศรีลังกา และระบุว่า ในกรณีของอัฟกานิสถานน่าสนใจว่าการจัดความสัมพันธ์ ถ้าจีนขยายอิทธิพลเข้ามาจะเป็นอย่างไร

 

  • ศ.สุรชาติ ยังกล่าวต่อไปถึงกรณีของเมียนมาที่มีการเผาโรงงานของทุนจีนอยู่ในพื้นที่ย่างกุ้งหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งเขาคิดว่าภาพนี้สะท้อนความรู้สึกของคนในเมียนมาที่มีต่อการขยายอิทธิพลของจีน โดยคนเมียนมามองจีนด้านหนึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ต่อการมีอำนาจของรัฐบาลทหาร และอีกด้านหนึ่งก็มีความรู้สึกมากว่าการสนับสนุนระบอบเผด็จการทหารสำหรับจีนคือการเอาผลประโยชน์จากเมียนมากลับไปสู่จีน อย่างเช่นในกรณีเหมือง ซึ่งสินแร่ทางยุทธศาสตร์ในเมียนมาเป็นพวกหยก อัญมณี รวมถึงในความหมายของอุตสาหกรรมป่าไม้ด้วย และคนท้องถิ่นมองว่าพวกเขาไม่ได้อะไร

 

  • เขายังกล่าวต่อไปถึงในกรณีของแอฟริกา ซึ่งเราไม่ค่อยเคยเห็น เพราะภาพไม่ปรากฏในสื่อบางสื่อ แต่ปรากฏภาพของความรู้สึกของคนในพื้นที่หรือคนพื้นเมืองที่ไม่รับกับการขยายอิทธิพลของจีน เพราะมองว่าจีนมาเอาประโยชน์มากเกินไป ซึ่งคนหลายส่วนบอกว่า หากจีนบอกว่าขมขื่นกับยุคอาณานิคม ก็ไม่ควรสร้างความขมขื่นเหมือนกับที่จีนเคยได้รับให้กับประเทศเล็กๆ เหมือนกับที่เราเห็นในเมียนมา เหมือนกับในหลายกรณีในทวีปแอฟริกา แม้กระทั่งในกรณีของศรีลังกา และเขายังตั้งคำถามต่อไปถึงมิติของยุทธศาสตร์​ทางการทหารด้วย

 

  • “แม้กระทั่งในกรณีของศรีลังกากู้เงินเสร็จแล้ว สุดท้ายท่าเรือในศรีลังกาก็ตกไปเป็นท่าเรือของจีน แล้วสุดท้ายสิ่งที่เรามีคำถามใหญ่คือไม่ว่าจะเป็นท่าเรือในจิบูตี ท่าเรือในศรีลังกา หรือสิ่งที่เป็นคำถามใหญ่ใกล้ประเทศไทยที่สุดท่าเรือที่สีหนุวิลล์ ตกลงท่าเรือเหล่านี้สุดท้ายจะกลายเป็นฐานทัพเรือหรือไม่” นี่คือคำถามของ ศ.สุรชาติ ซึ่งเขาบอกว่า หากท่าเรือเหล่านี้สุดท้ายกลายเป็นฐานทัพเรือ ก็จะกลับไปสู่โจทย์ที่ว่าการแข่งขันก็ยังมีบริบทของมิติของยุทธศาสตร์ทางทหารซ้อนอยู่ “เพราะถ้าท่านนั่งเปิดแผนที่ แล้วเชื่อมระหว่างสีหนุวิลล์ ถ้าในอนาคตสีหนุวิลล์กลายเป็นฐานทัพเรือจริง มองฐานทัพเรือของจีนที่ศรีลังกาแล้วมองเลยขึ้นไปถึงจีบูติในแอฟริกา จีนอาจจะบีบให้ไทยต้องตัดคอคอดกระเพื่อเป็นเส้นทางผ่านของเรือรบจีนก็เป็นไปได้” เขาระบุ

 

  • เมื่อขอให้ ศ.สุรชาติ วิเคราะห์ความพยายามขยาย BRI กับท่าทีของยุโรปหรือนาโต เขาวิเคราะห์ว่า เมื่อจีนเริ่มใช้คำว่า ‘เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21’ ขณะนั้นอาจยังไม่เห็นภาพ เพราะมีเฉพาะการปักหมุดที่ซีอาน แต่รูปธรรมยังไม่เกิด อย่างไรก็ตาม เมื่อเส้นทางเกิดการขยายตัวและเห็นความเป็นรูปธรรม เขาบอกว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าจีนสามารถใช้เงื่อนไขของโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบรางและระบบถนน และอาจรวมถึงเส้นทางทางเรือ เพื่อขยายอิทธิพลจีนทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงออกไป ในแบบที่ต้องยอมรับว่า ไม่มีใครที่จะสามารถหยุด BRI ของจีนได้ แม้กระทั่งในกรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะเห็นได้ว่า BRI ของจีนลงมาเชื่อม อย่างในกรณีของกัมพูชาหรือแม้กระทั่ง EEC ของไทยเองก็ตาม

 

  • เขายังนำเข้ามาสู่บริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบอกว่า คำถามสำหรับประเทศเล็กเป็นคำถามใหญ่ เมื่อการรุกของรัฐมหาอำนาจในอีกด้านหนึ่งเป็นการรุกผ่านเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและรุกผ่านเงื่อนไขของการใช้โครงสร้างพื้นฐานเป็นหัวหอก รัฐเล็กๆ จะรับมืออย่างไร เขาบอกว่าเราเรียนรู้บทบาทของจีนในทวีปแอฟริกาไม่มาก และพอเราอาจจะรู้สึกมันอาจจะไกลตัวเรา แต่วันนี้เรากำลังเริ่มเห็นจีนขยายอิทธิพลของจริงในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในลาว กัมพูชา เมียนมา เพียงแต่เราไม่ค่อยกล้าถกกันตรงไปตรงมาว่า แล้วตกลงจีนขยายอิทธิพลในไทยหรือไม่ และในแง่ของการเชื่อมโยงกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity) ด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไปเชื่อมกับจีนโดยเงื่อนไขของระบบคมนาคม แต่ในขณะเดียวกัน หากเชื่อมก็คงต้องมีคำถามเช่นกันว่า การเชื่อมนี้จะเปลี่ยนสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของพื้นที่หรือไม่ โดยเฉพาะมุมมองความที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปรียบเหมือนภาคใต้ของจีนและจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากกลับไปยังเอเชียกลาง เขาตั้งข้อสังเกตว่า หากจีนทะลวงเข้าสู่อัฟกานิสถานได้แล้วมี BRI เข้าไปเชื่อม และหากในอนาคตจีนสามารถขยาย BRI จากอัฟกานิสถานทะลุเข้าไปในตะวันออกกลางอีกส่วนหนึ่งจะน่าสนใจมากเช่นกัน

 

  • ศ.สุรชาติ ประเมินว่า สหรัฐฯ มีปัญหาในรอบนี้อยู่คือ ข้อแรก ปัญหาการประเมินฝั่งตรงข้าม สงครามในอัฟกานิสถานหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 นั้นตาลีบันถูกโค่นเร็ว เมื่อตาลีบันถูกโค่นเร็วกลุ่มอัลกออิดะห์ก็แตก แต่กลุ่มไม่ได้สลายในความหมายของกระบวนติดอาวุธ ศ.สุรชาติ วิเคราะห์ว่า ทำเนียบขาวรวมทั้งนักวิเคราะห์ตะวันตกไม่เห็นปัญหาในมติหนึ่งคือ รัฐบาลตาลีบันรวมถึงกลุ่มอัลกออิดะห์เองก็ตามมีความหมายในทางรัฐศาสตร์คือ เป็นขบวนการทางการเมือง ซึ่งการเป็นขบวนการทางการเมืองนั้น การสิ้นสุดไม่ได้มีนัยอย่างที่ฝั่งตะวันตกคิดคือ แพ้สงคราม ซึ่งหลังจากกรุงคาบูลแตก เมื่อทหารอเมริกันเข้าไปยึดอัฟกานิสถานได้ กลุ่มนี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวแบบจรยุทธ์และเคลื่อนไหวในหลายพื้นที่ ดังนั้นประมาณ 10 วันสุดท้ายก่อนวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา จะเริ่มเห็นว่าเมืองแตกทีละเมือง ซึ่งก็เป็นคำตอบว่า กลุ่มเหล่านี้เคลื่อนไหวต่อเนื่องและสามารถดึงคนมาอยู่ในมือได้ตลอด

 

  • ข้อต่อมาที่เขาประเมินว่า สหรัฐฯ ผิดพลาดคือ การประเมินขีดความสามารถของกองทัพอัฟกานิสถาน โดยก่อนหน้าที่จะเข้าประเด็นปัญหาของสหรัฐอเมริกาในรอบนี้ ศ.สุรชาติ อธิบายมุมมองของเขาซึ่งเฝ้าดูการล่มสลายของ ‘รัฐนิยมตะวันตกในไซง่อน’ โดยเปรียบเทียบว่า สิ่งที่เราเห็นอัฟกานิสถานวันนี้ อดีตคือเวียดนามใต้

 

  • เขาอธิบายว่า อเมริกันสนับสนุนกองทัพอัฟกานิสถานไม่ต่างกับการสนับสนุนกองทัพเวียดนามใต้ในอดีต ดังนั้นสหรัฐฯ อาจละเลยปัญหาเดิมที่เคยเกิดกับกองทัพในไซง่อน “วันที่อเมริกันถอนตัวออกจากความตกลงของสนธิสัญญาปารีส กองทัพเวียดนามใต้ถูกปล่อยให้รบเอง คำตอบคือรบไม่ได้ เพราะที่ผ่านมารบด้วยการยืนอยู่บนการสนับสนุนของกองทัพสหรัฐฯ สอง รบไม่ได้เพราะทหารอีกส่วนหนึ่งไม่อยากรบ เพราะมีความรู้สึกว่าผู้นำทหารส่วนหนึ่งที่เป็นผู้บังคับบัญชาพวกเขาร่ำรวยจากสงคราม มีเงินมีทองจากสงคราม พูดง่ายๆ ผู้นำร่ำรวย แต่ทหารระดับต่ำลงไปเสียชีวิตในสนามรบ แล้วก็ยากจน คำถามก็คือแล้วใครอยากรบ” เขาสรุปว่า สิ่งที่ตามมาก็คือทหารไม่อยากรบ ซึ่งไม่ต่างกันระหว่างเวียดนามใต้ในอดีตกับปัญหากองทัพอัฟกานิสถานปัจจุบัน ซึ่งแปลว่า การประเมินขีดความสามารถทางทหารคล้ายกันมาก

 

  • นอกจากนี้การประเมินสหรัฐฯ ที่ประเมินว่ากองทัพอัฟกานิสถานมีศักยภาพในการรั้งสถานการณ์ภายในประเทศในหลัก ‘2-3 ปี’ ก็คล้ายกับที่เคยประเมินกองทัพเวียดนามใต้ แต่สุดท้ายระยะเวลาจริงก็สั้นกว่านั้น

 

  • และข้อสุดท้ายที่เขาประเมินว่า สหรัฐฯ ผิดพลาดคือ รัฐบาลอัฟกานิสถานที่คาบูลไม่มีขีดความสามารถของความเป็นรัฐบาล คนไม่มีความเชื่อถือและเห็นรัฐบาลเป็นแหล่งของการคอร์รัปชัน แต่ประเทศกลับถูกทิ้งให้เผชิญปัญหา เช่น โควิดและความยากจน ขณะเดียวกันคนก็ไม่ได้มีความหวังกับตาลีบันเช่นกัน แต่กลับไปคาดหวังว่าสหรัฐฯ จะอยู่ต่อไปได้หรือไม่เพื่อช่วยประคับประคอง ซึ่งสุดท้ายสิ่งที่เห็นคือสหรัฐฯ ก็ประคองไม่ได้

 

  • เขาย้ำว่า สุดท้ายรัฐบาลอัฟกานิสถานไม่ต่างประเทศรัฐบาลเวียดนามใต้ ที่ผู้นำคอร์รัปชัน และการคอร์รัปชันเป็นจุดใหญ่ของการล่มสลาย ซึ่งถือเป็นเครื่องเตือนสติสำหรับผู้นำทั่วโลก ในความหมายของผู้นำประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังมีปัญหาทางการเมือง “ฟังก์ชันหรือประสิทธิภาพของรัฐบาลมีนัยสำคัญ เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลไม่ฟังก์ชันและไม่สามารถสร้างประสิทธิภาพของความเป็นรัฐให้เกิดขึ้นได้ สุดท้ายใครก็ไม่เอา แต่พอใครก็ไม่เอาในอัฟกานิสถาน มันก็มีคนที่ไม่เอาและถือปืนด้วยคือกลุ่มตาลีบัน” ศ.สุรชาติ ระบุ

 

  • นอกจากคำถามที่ว่า ถ้าจีนเข้าไปแล้วอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไร โจทย์ที่รัฐในโลกตะวันตกเป็นห่วงอีกก็คือ ปัญหาเช่นการเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิในการศึกษาของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นคำถามที่ยังคงตอบยากในระยะเพียง 4 วันหลังกรุงคาบูลแตก แต่หลายฝ่ายยังคงมีความเชื่อว่า รัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานจะไม่เอาตัวเข้าไปเป็นฐานที่มั่นให้กับกลุ่มจีฮัดเพื่อก่อการร้าย เพราะทราบว่าถ้าทำเช่นนั้นรัฐบาลอัฟกันก็จะเผชิญกับแรงกดดันทั้งกับสหรัฐฯ กับรัสเซีย และกับจีนเอง นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตาลีบันและกลุ่มรัฐอิสลามที่ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วก็ยังเป็นคำถามที่ถูกทิ้งค้างไว้ และความสัมพันธ์ระหว่างตาลีบันและกลุ่มอัลกออิดะห์จะเป็นอย่างไร

 

  • ส่วนในมุมความสัมพันธ์กับจีน ศ.สุรชาติ ระบุว่า จากข้อมูลของโลกตะวันตกที่เห็นความพยายามควบคุมชาวอุยกูร์อย่างค่อนข้างเข้มงวดและมีบรรยากาศที่เป็นปัญหาอยู่พอสมควร ท่ามกลางการปฏิเสธของจีนว่า ภาพที่ปรากฏไม่ใช่สถานกักกัน เขาทิ้งคำถามไว้ว่า เนื่องจากเขามองกลุ่มตาลีบันเป็นกลุ่มจารีตในกลุ่มของโลกอิสลาม แล้วความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลคอมมิวนิสต์ปักกิ่ง กับรัฐบาลอิสลามจารีตนิยมที่คาบูล จะสานต่อกันอย่างไรในทางอุดมการณ์ทางการเมือง หรือรัฐบาลจีนจะเลือกแขวนอุดมการณ์เอาไว้ก่อน เพราะผลประโยชน์จากสินแร่ทั้งหลาย

 

  • ศ.สุรชาติ ปิดท้ายด้วยคำสำคัญทั้งสิ้น 2 คำ คำแรกคือ ‘ไซอิ๋วแห่งศตวรรษที่ 21’ คือการเชื่อมต่อระหว่างเมืองซีอานกับอัฟกานิสถานเหมือนครั้งพระถังซัมจั๋งจาริกเดินทางแสวงบุญ และเหมือนเมื่อครั้งบรรดาพระภิกษุอาวุโสที่เดินทางจากจีนไปแสวงบุญในอินเดียและต้องผ่านอัฟกานิสถาน เขาหยิบสิ่งเหล่านี้มาพูดถึงการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของซีอานให้เป็นจุดของการเชื่อมต่อกับโลกภายนอกผ่านบริบททางประวัติศาสตร์ชุดใหญ่ ซึ่งแม้ไซอิ๋วจะเป็นนิยายปรัมปรา แต่ก็เปรียบเสมือนว่าไซอิ๋วเกิดขึ้นจริงเป็น BRI ในศตวรรษที่ 21 และอีกคำหนึ่งคือ ‘การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในศตวรรษที่ 21 (Great Power Competition in the 21st Century)’ ซึ่งเขาอธิบายว่าจากสิ่งที่เห็น เรากำลังกลับสู่ยุคของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ ต่างกันแต่เพียงในบริบทของเวลาซึ่งไม่ใช่ต้นศตวรรษที่ 20 เหมือนในอดีต แต่เป็นต้นศตวรรษที่ 21 นั่นเอง

 

สามารถติดตามรับชมบทวิเคราะห์ฉบับเต็มที่ออกอากาศไปแล้วในรายการ THE STANDARD NOW ได้ที่นี่:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X