×

ทำไมไทยติด Top 10 ประเทศที่มีมหาเศรษฐีจากทุนนิยมพวกพ้องมากที่สุด

04.04.2022
  • LOADING...
ทุนนิยมพวกพ้อง

วิกฤตโควิดส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ในทุกมิติ แต่ดูเหมือนว่ามันจะไม่ส่งผลอะไรเลยต่อความร่ำรวยของ ‘มหาเศรษฐีทั่วโลก’ โดยนิตยสาร Forbes ที่จัดอันดับอภิมหาเศรษฐีทุกปี เปิดเผยข้อมูลเมื่อปี 2021 ว่า โควิดไม่ใช่แค่ไม่กระทบต่อความรวยของมหาเศรษฐี แต่ยังพบว่ามหาเศรษฐีเดิมก็มั่งคั่งขึ้น ส่วนมหาเศรษฐีหน้าใหม่ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย Forbes ระบุว่า ในทุกๆ 17 ชั่วโมง จะมีเศรษฐีใหม่ที่ติดโผเข้ามาในดัชนีของ Forbes โดยจากข้อมูลระบุว่า มหาเศรษฐีหน้าใหม่ถึง 493 ราย ร่ำรวยจากการลงทุนที่หลากหลาย เช่น คริปโตเคอร์เรนซี การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงธุรกิจเฮลท์แคร์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด

 

ความรวยแม้จะน่าอิจฉาอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าเขาขยัน ทุ่มเท มองเห็นโอกาส และฉลาดในการสร้างนวัตกรรม แต่ในโลกทุนนิยมมีความรวยแบบหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามอย่างมาก สิ่งนั้นเรียกว่า ‘ทุนนิยมพวกพ้อง’ หรือ The Crony-Capitalism

 

ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสื่อชื่อดังระดับโลกอย่าง The Economist เปิดเผยการจัดอันดับประเทศที่มีอภิมหาเศรษฐีจากทุนนิยมพวกพ้องมากที่สุด ซึ่งพบว่า รัสเซียยังคงครองอันดับ 1 ตามมาด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และยูเครน ส่วน ‘ไทย’ ซึ่งติดอันดับที่ 9 ของโลก ขยับเพิ่มขึ้น 3 อันดับจากอันดับที่ 12 เมื่อปี 2016

 

THE STANDARD จะพาทุกท่านไปรู้จักกับทุนนิยมพวกพ้องในประเทศไทยว่ามันคืออะไร เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร และทำไมมันถึงน่ากลัว

  • ทุนนิยมพวกพ้องคืออะไร

ระบบทุนนิยมแบบพวกพ้อง หมายถึง ระบบที่นักธุรกิจบางกลุ่มบางพวกสามารถหาทางเข้าถึงอำนาจรัฐผ่านความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อประโยชน์ส่วนตนได้ ทำให้ความสำเร็จของนักธุรกิจกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดจากการแข่งขันกันในระบบตลาดเสรีภายใต้หลักนิติธรรมอย่างเต็มที่ เพราะบางกลุ่มบางพวกสามารถได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นพิเศษ

 

ถ้าในรัสเซีย เราจะได้ยินคำว่า ‘โอลิการ์ช’ (Oligarch) คือนักธุรกิจรัสเซียที่สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากการแปรรูปทรัพย์สินของรัฐภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โอลิการ์ชจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของทุนนิยมพวกพ้อง ซึ่งรัสเซียติดอันดับ 1 มาตลอดในการจัดอันดับของ The Economist 

  • กำเนิดทุนนิยมพวกพ้องในไทย

ส่วนทุนนิยมพวกพ้องในประเทศไทย ในทางวิชาการสรุปตรงกันว่า เริ่มต้นขึ้นในช่วง พ.ศ. 2500-2516 ในช่วงรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึง จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นช่วงที่ทุนนิยมพวกพ้องเกิดขึ้น โดยมีข้าราชการระดับสูงทั้งผู้นำกองทัพและนายตำรวจเข้าไปมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างชัดเจนคือ การเชื้อเชิญให้เหล่านายพล ผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือผู้ใกล้ชิด จอมพล สฤษดิ์ เข้ามานั่งเก้าอี้บอร์ดบริหาร 

 

  • ธนาคารกรุงเทพ: จอมพล ประภาส จารุเสถียร เป็นประธานกรรมการของธนาคาร
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา: จอมพล ประภาส จารุเสถียร, พล.อ. กฤษณ์ สีวะรา, พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์ และ พ.ต. ประยุทธ จารุเสถียร (ลูกชายแท้ๆ ของ จอมพล ประภาส จารุเสถียร) เป็นกรรมการของธนาคาร 
  • ธนาคารกสิกรไทย: จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นกรรมการ

 

หรือรัฐบาลยุคนั้นกำหนดให้รถแท็กซี่ต้องเป็นยี่ห้อนิสสันเท่านั้น ก็ช่วยส่งเสริมให้ตระกูลหนึ่งร่ำรวยขึ้นมาได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของระบบทุนนิยมพวกพ้องในประเทศไทยที่ก็ยังเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน

 

ทีนี้กลับมาดูที่ดัชนีการจัดอันดับประเทศที่มีอภิมหาเศรษฐีจากทุนนิยมพวกพ้องของ The Economist ซึ่งมันก็มีจุดอ่อนอยู่ เพราะการจัดอันดับนี้วัดจากความร่ำรวยส่วนบุคคล ไม่ได้วัดจากความร่ำรวยของบริษัท จึงอาจมีการโต้แย้งว่าเกาหลีใต้ก็มีแนวโน้มระบบทุนนิยมพวกพ้องสูงเหมือนกัน แต่ทำไมได้รับการจัดอันดับต่ำ ก็เพราะว่าเกาหลีใต้มีลักษณะเป็นกลุ่มทุนหรือบริษัทซึ่งมีผู้ถือหุ้นหลายคน อันนี้ก็เป็นจุดอ่อนหนึ่งของดัชนีนี้ แต่ในบริบทของประเทศไทยความรวยของบริษัทอาจจะเท่ากับความรวยส่วนบุคคล

  • ทำไมเศรษฐีรวยขึ้นและรวยเร็วกว่าคนทั่วไป

ถ้าดูจากดัชนีล่าสุดของ The Economist จะมีอภิมหาเศรษฐีส่วนที่ไม่ได้เป็นทุนนิยมพวกพ้องและส่วนที่เป็นทุนนิยมพวกพ้อง ซึ่งก็จะเห็นว่าอภิมหาเศรษฐีโดยภาพรวมรวยมากขึ้นในทุกปี มีงานศึกษาพบว่า มหาเศรษฐีรวยมากขึ้นและรวยเร็วกว่าคนทั่วไป เพราะว่ารายได้หลักของเขามาจากการถือหุ้นซึ่งเติบโตมาก ในบริบทของเมืองไทยรายได้จากการขายหุ้นไม่เสียภาษีเงินได้ แต่รายได้ของพวกเราส่วนใหญ่มาจากเงินเดือนซึ่งเติบโตช้าแต่ต้องเสียภาษี

 

ดังนั้นเศรษฐีก็คือเศรษฐี ในเมื่อภาพรวมของเศรษฐีรวยขึ้นหมดก็ทำให้ความร่ำรวยของอภิมหาเศรษฐีที่เป็นทุนนิยมพวกพ้องรวยขึ้นเช่นกัน ที่ย้ำตรงนี้เพราะอยากให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าอันดับที่ขยับขึ้นของเศรษฐีทุนนิยมพวกพ้องในไทยอาจไม่ได้หมายความว่าในเมืองไทยมีการคอร์รัปชันหรือการเอื้อประโยชน์ผูกขาดมากขึ้น

  • ทุนนิยมพวกพ้องกับไม่พวกพ้องแบ่งอย่างไร

แต่ถ้าถามว่าดัชนีทุนนิยมพวกพ้องของ The Economist แบ่งทุนนิยมพวกพ้องกับไม่พวกพ้องอย่างไร อาจสรุปง่ายๆ ว่า นิยามทุนนิยมพวกพ้องของเขาคือ มหาเศรษฐีที่ทำธุรกิจที่ต้องขอสัมปทาน ขายทรัพยากรธรรมชาติ ก่อสร้าง หรือธุรกิจที่ต้องขอใบอนุญาตจากรัฐ ถึงมีแนวโน้มจะเป็นทุนนิยมพวกพ้อง ส่วนพวกขายเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะไม่เป็นเป็นทุนนิยมพวกพ้อง เพราะมีการแข่งขันสูง

 

แต่นิยามสำคัญของทุนนิยมพวกพ้องคือ คนที่ร่ำรวยด้วยเส้นสาย แต่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ ฝรั่งเรียกว่า ‘The Parasite Economy’ หรือเศรษฐกิจปรสิต ซึ่งจะทำให้สังคมนั้นมีแต่กลุ่มคนที่รวยขึ้น แต่เศรษฐกิจโดยรวมไม่เติบโต

 

ทุนนิยมพวกพ้องมีอีกนิยามหนึ่งที่ใช้ในภาษาเศรษฐศาสตร์คือ Rent Seekers คือคนที่เห็นโอกาสและเข้าไปคว้ามันไว้โดยต้องจ่ายค่าเช่า อันที่จริง Rent Seekers นิยามของมันมีทั้งที่ดีและไม่ดี เช่น คนที่เห็นโอกาสในโลก Web 2.0 และสร้างนวัตกรรมขึ้นมา เช่น Facebook แต่โดยมากแล้วถ้าพูดถึง Rent Seekers จะเข้าใจตรงกันในความหมายลบ ซึ่งมีค่าเท่ากับทุนนิยมพวกพ้องนั่นเอง

 

การจ่ายค่าเช่า หรือ Rent ก็มีหลายหลายวิธี โดย บรรยง พงษ์พานิช นักการเงินแถวหน้าของเมืองไทยเคยอธิบายว่า บางครั้งรัฐก็เป็นฝ่ายเรียกเงิน บางครั้งนักธุรกิจก็เป็นฝ่ายเสนอ แล้วแต่จังหวะของการเมือง

 

โดยสรุป มหาเศรษฐีทุกคนไม่ใช่ทุนนิยมพวกพ้อง แต่เงื่อนไขสำคัญของการเป็นทุนนิยมพวกพ้องอยู่ที่ว่า มหาเศรษฐีผู้นั้นทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชาติหรือผลประโยชน์อะไรที่เกี่ยวข้องกับรัฐหรือเปล่า ซึ่งมันเป็นเส้นเบลอๆ ที่ขีดให้ชัดได้ยาก เพราะเวลาที่เราบอกว่ามหาเศรษฐีคนใดเป็นทุนนิยมพวกพ้อง เขาก็จะยืนยันได้เสมอว่าธุรกิจของเขามีการแข่งขัน หรือไม่ก็จะบอกว่าเขาจ่ายผลตอบแทนให้กับรัฐอย่างคุ้มค่า

  • ธุรกิจเสี่ยงจะเป็นทุนนิยมพวกพ้องในไทย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยทำวิจัยและยกตัวอย่างของรูปแบบ Rent ในประเทศไทย เช่น การเข้าหาผู้มีอำนาจเพื่อแลกผลประโยชน์ การจ่ายสินบนหรือใต้โต๊ะเพื่อแลกสัมปทาน ซึ่งมักจะออกมาในรูปแบบของการล็อกสเปกต่างๆ ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า มีมูลค่าสูงถึงหลักแสนล้านบาทต่อปี รวมถึงการครอบงำหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งบ้านเรามีหน่วยงานกำกับดูแลหลายหน่วยงานที่ถูกวิจารณ์ว่าอ่อนแอมาก เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) 

 

ทีนี้ลองมาดูข้อมูลจากนิตยสาร Forbes ว่า ธุรกิจที่เสี่ยงจะเป็น ‘Rent Heavy’ หรือธุรกิจที่เสี่ยงจะหาผลประโยชน์จากพวกพ้องในประเทศไทยมีอะไรบ้าง ย้ำว่าไม่ได้บอกว่าเขาหาประโยชน์จากพวกพ้อง แค่บอกว่ามีความเสี่ยง

 

อย่างกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรในเมืองไทยมีลักษณะกึ่งผูกขาดธุรกิจต้นน้ำ รวมถึงเรามีโควตานำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร โควตานำเข้าอาหารสัตว์ ซึ่งทำให้ธุรกิจเกษตรบ้านเรามีความเสี่ยงที่จะต้องจ่าย Rent 

 

ธุรกิจเครื่องดื่มและสุรา ซึ่งในเมืองไทยต้องมีใบอนุญาต กำหนดเกณฑ์เอื้อให้ผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้นถึงจะสามารถผลิตขายได้ โดยล่าสุดร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุราก้าวหน้า ที่มีสาระสำคัญคือ การเปิดเสรีให้ประชาชนที่ไม่ได้ผลิตสุราเพื่อการค้าได้มีโอกาสดำเนินการผลิตสุราด้วยตัวเอง คณะรัฐมนตรีก็ไม่เห็นชอบ โดยระบุว่า กังวลเรื่องของมาตรฐานคุณภาพและสิ่งแวดล้อมในการผลิต 

 

ธุรกิจพลังงานซึ่งต้องพึ่งพาสัมปทานรัฐ และในเมืองไทยเราก็มีมหาเศรษฐีด้านพลังงานที่พุ่งขึ้นมารวยติดอันดับมหาเศรษฐีไทยอย่างรวดเร็ว

 

อสังหาริมทรัพย์ที่ต้องมีใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งถ้าไปแกะดูพอร์ตมหาเศรษฐีเมืองไทยจะพบว่าหลายท่านจะมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รวมอยู่ด้วย

  • ทำไมทุนนิยมพวกพ้องถึงน่ากลัว

ประการแรก มันทำให้เศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพ ฝรั่งจึงเรียกว่า ‘ปรสิต’ หรือ Parasite Economy เนื่องจากทรัพยากรของชาติแทนที่จะไปอยู่ในมือของคนที่สร้างนวัตกรรม แต่กลับไปอยู่ในมือของคนที่ใช้เส้นสาย ขณะที่รัฐก็จะจัดเก็บรายได้ได้น้อย

 

ขณะที่เวลามีข่าวระดับโลก เช่น Panama Paper เราจะเห็นว่ามีมหาเศรษฐีในเมืองไทยมีบัญชีออฟชอร์หรือบัญชีธนาคารในต่างประเทศที่ไม่สามารถขอดูข้อมูลได้ ซึ่งมันยิ่งเพิ่มความซับซ้อนของการตรวจสอบต่างๆ ทั้งทรัพย์สินของเขา รวมถึงการจ่ายเงินสินบนต่างๆ ที่สามารถทำได้ผ่านบัญชีต่างประเทศ 

 

ส่วนในแง่ผู้บริโภคอย่างเรา ทุนนิยมพวกพ้องทำให้เราถูกเอาเปรียบ เช่น สัมปทานโทรคมนาคม หรือดิวตี้ฟรีที่ผูกขาด ซึ่งในทางทฤษฎี ธุรกิจกลุ่มนี้ก็จะไม่มีแรงจูงใจในการปรับปรุงสินค้าและบริการ เพราะไม่มีใครมาแข่งขัน ดังนั้นจากข้อมูลทั้งหมดไม่ใช่ว่าเห็นคนรวยแล้วอิจฉาเขา แต่ทุนนิยมพวกพ้องมันกระทบถึงผู้บริโภคอย่างเราด้วย

  • วิธีแก้ปัญหาทุนนิยมพวกพ้อง

ส่วนวิธีแก้ปัญหาก็ต้องทำหลายอย่าง แต่ที่ทำได้เลยคือ การปรับปรุงระบบภาษีให้เป็นธรรม และการทำให้เศรษฐกิจเกิดการแข่งขัน รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสในภาครัฐ และทำให้การเมืองเป็นประชาธิปไตย แม้ว่าประเทศประชาธิปไตยก็มีทุนนิยมพวกพ้อง แต่แนวโน้มของประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากเท่าไรก็มีแนวโน้มที่จะเป็นทุนนิยมพวกพ้องมากขึ้นเท่านั้น

 

แต่ที่สำคัญที่สุด เราจะไปฝากความหวังให้กับกลุ่มทุนหรือนักธุรกิจไม่ได้ เพราะเขามีหน้าที่ต้องแสวงหาโอกาสและความได้เปรียบโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องกำชับคือ โครงสร้างของรัฐที่ต้องทำหน้าที่กำกับกติกาให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม การปรับปรุงระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพ หน่วยงานกำกับดูแลทั้งหลาย หรือ Regulator ก็ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้ 

 

เพราะความได้เปรียบของคนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่เกิดจากความสัมพันธ์กับผู้ที่อยู่ในอำนาจ หมายความถึงความเสียเปรียบของคนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งก็คือคนส่วนใหญ่ของสังคมนี้

 

ติดตามชมคลิปรายการ KEY MESSAGES: ทำไมไทยติด Top 10 ประเทศที่มีมหาเศรษฐีจากทุนนิยมพวกพ้องมากที่สุด ได้ที่ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X