×

ต่อจิ๊กซอว์-วิเคราะห์ท่าทีจีน กรณีคุมเข้มบริษัทเทคฯ ปราบติวเตอร์ ฟันเหล้า-บุหรี่ ชูแนวคิด ‘คนรวยต้องช่วยคนจน’

27.08.2021
  • LOADING...
Strict control of tech companies in China

ความเคลื่อนไหวสำคัญอย่างหนึ่งของจีนในช่วงที่ผ่านมาคือ การแทรกแซงธุรกิจกลุ่มต่างๆ ของทางการจีน ประกอบด้วย บริษัทจีนที่ลงทุนในตลาดหุ้นของสหรัฐฯ บริษัทกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ลามไปจนถึงธุรกิจติวเตอร์ เหล้า บุหรี่ อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงเกมออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ตลอดจนปฏิกิริยาของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่เอ่ยแนวคิด ‘Common Prosperity’ หรือ ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ แล้วบอกว่าคนรวยต้องช่วยคนจน

 

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนภาพอะไร สามารถต่อจิ๊กซอว์เข้าหากัน และสะท้อนเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรได้บ้าง ในพอดแคสต์ The Secret Sauce Executive Espresso EP. 257 เคน นครินทร์ คุยกับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์เบื้องหลังของการแทรกแซงและคาดการณ์แนวโน้มข้างหน้าของหนึ่งในประเทศมหาอำนาจอย่างจีน และนี่คือประเด็นสำคัญจากรายการ

 

  • เคน นครินทร์ เริ่มต้นจากการสรุปเส้นเวลาที่สำคัญที่จีนออกมาตรการต่างๆ ซึ่งรวบรวมโดย SCB EIC เช่น การออกกฎ Anti-monopoly ‘Picking One from Two’, การคุมเข้ม Micro-lending License และห้าม Ant Group เข้า IPO ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ไล่มาจนถึงการปรับบริษัทเทคโนโลยีในข้อหาต่างๆ เช่น ไม่รายงาน Market Concentration, Monopoly, Misleading Price และ False Marketing เป็นต้น, การสั่งธนาคารที่เป็น Payment Company ให้ยุติการปล่อยสินเชื่อสกุล Cryptocurrency, การสั่งห้ามควบรวมกิจการ การประกาศใช้กฎระเบียบด้านเงินทุนสถาบันการเงินกับธุรกิจ FinTech ทุกธุรกิจเช่นเดียวกับ Ant ไปจนถึงการถอดแอปฯ DiDi ออกจาก App Store หลังจาก IPO ในต่างประเทศ และประกาศให้ธุรกิจสอนพิเศษออนไลน์เป็นกิจการที่ไม่แสวงหากำไร

 

  • ขณะที่อาร์มเริ่มจากการกล่าวถึงการจัดการกับ ‘Big Tech’ หรือบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งแบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการป้องกันการผูกขาดและกฎหมายแข่งขันทางการค้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีการพูดถึงกันทั้งในจีน สหรัฐฯ และในยุโรป, เรื่องข้อมูล เช่น กรณีของ DiDi ที่เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ถูกถอดออกจาก App Store ของจีน อาร์มอธิบายว่า DiDi มีข้อมูลแผนที่ที่ละเอียดมาก ซึ่งรวมถึงพื้นที่ทางการทหารหรือพื้นที่ละเอียดอ่อน สิ่งที่รัฐบาลจีนไม่แน่ใจคือ ข้อมูลจะมีความปลอดภัยเพียงใด หรือจะสามารถรั่วไหลไปอยู่ในมือต่างชาติได้หรือไม่ บวกกับความกังวลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงนับเป็นเรื่องของ ‘ความปลอดภัยของข้อมูลที่กระทบความมั่นคง’ และเรื่องที่ 3 คือ เรื่องเสถียรภาพทางการเงินจากกรณีแตะเบรก Ant Financial ในการเข้า IPO ที่ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ เพราะขนาดของบริษัทที่ใหญ่จนอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ ซึ่งกระทบต่อธุรกิจธนาคารหรือการปล่อยสินเชื่อต่างๆ ทั้งนี้ หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลจีนคือ ต้องรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน หรือ ความหมายที่ง่ายกว่านั้นคือ ห้ามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงต้องมั่นใจว่ารัฐบาลจะควบคุมได้ ดังนั้นการเข้ามาควบคุมจัดการ Ant Financial จึงเป็นไปเพื่อลดความเสี่ยงในจุดนี้

 

  • ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล อาร์มบอกว่า นอกจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมที่บอกว่า ปัจจัยการผลิตมี 4 ประการ ปัจจุบันคนจีนถือว่า ‘ข้อมูล’ ได้เข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตอย่างที่ 5 ซึ่งเป็นเหมือนทองคำ เป็นเหมือนน้ำมันของโลกยุคใหม่ที่นี่ นอกจากนี้การควบคุมปัจจัยการผลิตของรัฐบาล (ตามระบบสังคมนิยม) ยังจะต้องครอบคลุมมาถึงเทคโนโลยีและข้อมูลด้วย

 

  • เมื่อถามต่อไปถึงการควบคุมที่ลามไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ อาร์มกล่าวถึงธีมที่ใช้เป็นสโลแกนของรัฐบาลนั่นคือ ทำอย่างไรที่จะป้องกันการขยายของทุนที่ควบคุมไม่ได้หรือทุนที่ไม่เป็นระบบระเบียบ ซึ่งเป็นข้อวิพากษ์ทุนนิยมในหมู่ของฝ่ายวิชาการหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้ายของจีน ที่ก็ยังจะส่งเสริมค่านิยมที่เป็นลักษณะของสังคมนิยม การควบคุมการกำกับดูแล แต่ไม่ใช่การย้อนกลับไปสมัย เหมาเจ๋อตุง ซึ่งแนวคิดหนึ่งก็คือ ‘การขยายของทุนที่กระทบกับประโยชน์สาธารณะ’ เช่น เหล้า บุหรี่ และเกมออนไลน์ ฯลฯ

 

  • แต่อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีความตื่นตกใจเกิดขึ้นก็คือ ‘ธุรกิจการศึกษา’ อาร์มระบุถึงความไม่พอใจของคนจีน ซึ่งมีทั้งเรื่องปัญหาเชิงระบบที่หนักที่สุดของจีนคือ ปัญหาโครงสร้างประชากร เพราะคนจีนไม่ยอมมีลูกและเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการออกนโยบายลูก 2 หรือ 3 คน แต่ก็ปรากฏว่ามันได้ผลเพียงแต่ในชนบท แต่คนในเมืองแทบจะเรียกว่าไม่มีลูกแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก และอีกเรื่องคือความกดดันในสังคม การศึกษา และการแข่งขัน ซึ่งมีสถิติว่า โดยเฉลี่ยครัวเรือนของจีนเสียเงินรายได้ราว 10 เปอร์เซ็นต์กับค่าติวเตอร์ แต่หากเป็นครอบครัวในเมืองใหญ่และมีฐานะดีก็อาจสูงได้ถึง 2 ใน 3 ของรายได้ การแข่งขันดังกล่าวดุเดือดจนเด็กเรียนหนักมาก และทำให้เกิดปัญหาว่าคนรุ่นใหม่จีนขาดความคิดสร้างสรรค์อ่ะ เพราะทำงานหนัก แข่งขันหนักมากเกินไป จนกระทั่งล่าสุดมีกระแสต่อต้านวัฒนธรรม ‘9-9-6 (Nine-Nine-Six)’ ซึ่งก็คือวัฒนธรรมของการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนถึง 9 โมงในช่วงกลางคืน (21.00 น.) เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีกระแสที่เน้นการใช้ชีวิตสบายๆ ไม่แข่งขันกับใครเกิดขึ้นในจีนด้วย ซึ่งก็ดูเหมือนว่าธุรกิจการศึกษาในจีนจะรับรู้เรื่องนี้มาพักหนึ่งแล้ว และเริ่มไปบุกเบิกในธุรกิจใหม่ เช่น การฝึกทักษะใหม่แก่ผู้สูงอายุ การเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก หรือการเล่นกีฬา ดนตรี ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าได้ใจคนจีนและไปตอบโจทย์เรื่องความไม่อยากมีบุตร

 

  • อย่างไรก็ตาม อาร์มบอกว่า นโยบายนี้อาจจะมองไม่ออกว่าจะ ‘Make Sense’ อย่างไร เพราะประการแรกคือ นโยบายนี้คงไม่ทำให้คนจีนมีลูก 2-3 คนในทันที ซึ่งยังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อให้ได้ผลเช่นนั้น เช่น การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล สิทธิ์ในการลาคลอด ดูแลบุตร เรื่องอสังหาริมทรัพย์และค่าครองชีพ ซึ่งเสมือนว่าต้องแก้เป็น ‘แพ็กเกจ’ และถึงจะทำได้ผลก็ทำได้เพียงแค่ชะลอไม่ให้การเดินไปสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นเป็นไปอย่างไม่รุนแรง ทว่าไม่อาจหยุดยั้งการเป็นสังคมผู้สูงอายุได้อีกแล้ว รวมถึงอาจจะต้องทำให้ได้ผลกับประชากรในเมืองด้วย ส่วนประการต่อมาคือ การมีตัวอย่างจากเกาหลีใต้ที่รัฐบาลเผด็จการยุคหนึ่งเคยออกมาบอกให้เลิกการกวดวิชา แต่ผลที่ได้คือการกวดวิชากลับเปลี่ยนไปอยู่ใต้ดินและทำให้ค่าติวพุ่งไม่หยุด กระนั้น นักวิชาการที่สนับสนุนรัฐบาลก็ระบุว่า การดำเนินการเช่นนี้ตอบกระแสและชี้ทิศทางใหม่ กล่าวคือเรื่องนี้จำเป็นต้องไปพร้อมกับเรื่องอื่นๆ อาทิ การปฏิรูประบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งก็อาจเป็นเรื่องต่อไป และก็มีสัญญาณการปฏิรูปการสอบเกิดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้แล้ว เป็นต้น

 

  • นครินทร์ตั้งคำถามว่า รูปแบบในการพัฒนาประเทศของจีนถูกกำหนดมาให้เป็นเช่นนี้อยู่แล้ว หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการประเมินสถานการณ์จากสัญญาณล่าสุด อาร์มตอบด้วย 3 ประเด็นใหญ่ ประเด็นแรกคือการวิเคราะห์ของ เฉินหลี่ นักธุรกิจ นักวิเคราะห์นโยบายการลงทุนชื่อดังคนหนึ่งของจีน ที่ระบุว่า จีนไม่ได้เดินตามโมเดลของสหรัฐฯ แต่อาจจะเดินตามโมเดลเยอรมนี ความแตกต่างระหว่าง 2 โมเดลนี้คือ โมเดลสหรัฐฯ ประกอบด้วย 2 เครื่องจักรใหญ่ คือ ภาคการเงิน ระบบการเงิน ระบบทุน ซึ่งเป็นตัวที่พยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และอีกเครื่องจักรหนึ่งคือ Soft Tech ประเภท E-Commerce และ Social Media ซึ่งช่วยในเรื่องของข้อมูล ขณะที่โมเดลของเยอรมนียังเน้น Hard Tech และเน้นอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น การผลิต ซึ่งความคิดของ เฉินหลี่ คือการสื่อว่าอาจจะการเติบโตของ Soft Tech หรือภาคการเงินนั้นถึงจุดหนึ่งก็เพียงพอ แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเป็นความแข็งแกร่งใน Hard Tech เป็นสำคัญ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจีนทำจะทำให้เงินลงทุนไหลไปหา Hard Tech และภาคการผลิตมากขึ้น และไหลไปยัง Soft Tech ลดลง

 

  • ประเด็นต่อมาคือ การแยกกันระหว่างภาคการเงินจีนกับภาคการเงินสหรัฐฯ มากขึ้น ตามกฎที่ออกมาว่าหากบริษัทเทคโนโลยีมีข้อมูลของคนจีนมากกว่าล้านคน (ซึ่งสำหรับประเทศจีนถือว่าน้อยมาก) หากจะไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศก็ต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลจากกระบวนการ Cyber Security Review จึงเป็นทิศทางที่ค่อนข้างชัดเจนว่าต่อไปนี้บริษัทเทคโนโลยีจีน หากจะระดมทุนก็คงเลือกระดมทุนที่ตลาดหุ้นฮ่องกงแทนที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งก็จะตอบโจทย์การส่งเสริมฮ่องกงของรัฐบาลจีนด้วย

 

  • ประเด็นสุดท้ายสำหรับคำตอบของคำถามนี้คือ วลีที่ว่า Common Prosperity หรือความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ซึ่งเป็นทิศทางใหญ่ที่รัฐบาลจีนพยายามสื่อสาร อาร์มเล่าเบื้องหลังตั้งแต่สมัยที่จีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศซึ่งก็คือสมัยของ เติ้งเสี่ยวผิง การทำเช่นนี้ตามมาด้วยคำถามว่า แล้วสิ่งนี้เป็นสังคมนิยมอย่างไร ในเมื่อ “อยู่ๆ คนก็รวยเอาๆ อยู่ๆ พื้นที่หนึ่งก็รวยเอาๆ” ซึ่งคำตอบของ เติ้งเสี่ยวผิง มี 2 คำตอบ คำตอบแรกคือการที่บอกว่า คาร์ล มาร์กซ์ บอกไว้ว่า สังคมนิยมมี 2 ขั้นตอน ได้แก่ ‘ประเทศต้องรวย’ ตามด้วย ‘แบ่งเท่ากัน’ แต่ในขั้นตอนแรกว่าด้วย ‘ประเทศรวย’ นั้นยังไม่เกิดขึ้น (และอาร์มอธิบายว่า ประเทศที่รวยกับจนต่างกันที่อุตสาหกรรมการผลิต ประเทศที่รวยคือประเทศที่ปฏิวัติอุตสาหกรรม) ดังนั้นจุดหมายคือการปลดปล่อยกำลังการผลิตเป็นโรงงานโลก ซึ่งต้องเปิดให้คนต่างชาติมาลงทุน ต้องเปิดรับทุนจากต่างชาติ ต้องเปิดให้เอกชน

 

  • และคำตอบที่ 2 ที่เป็นวลีเด็ดของ เติ้งเสี่ยวผิง คือจะต้องปล่อยให้คนกลุ่มรวยหนึ่งขึ้นมาก่อน แล้วปล่อยให้คนพื้นที่หนึ่งรวยขึ้นมาก่อน เพื่อที่จะนำคนที่เหลือให้รวยขึ้นตามมา แล้วก็ให้รวยร่วมกัน และในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีนเรามักเข้าใจว่า การ ‘ปล่อยให้คนกลุ่มรวยหนึ่งขึ้นมาก่อน แล้วปล่อยให้คนพื้นที่หนึ่งรวยขึ้นมาก่อน’ คือ 30-40 ปีที่แล้วที่เปิดให้มีกำลังการผลิต ให้เป็นโรงงานโลก และคนที่อยากรวยก็รวยได้เต็มที่ ทว่า สีจิ้นผิง กำลังสื่อว่า วันนี้จีนยิ่งใหญ่พอแล้วที่มาถึงขั้นตอนการทำให้ ‘รวยร่วมกัน’ ไม่ได้มีคนรวยกลุ่มเดียวที่กระจุกตัวอีก ซึ่งเปลี่ยนจากการเน้นเชิงปริมาณมาเน้นเชิงคุณภาพ การที่จีนอาจจะไม่สนใจตัวเลขที่เติบโตช้าลงมาจาก 2 เหตุผล เหตุผลแรกคือ โควิดได้แสดงให้เห็นว่าจีนแข็งกว่าที่คนอื่นคิด แม้เศรษฐกิจจีนจะโต 1-2% ก็อยู่ได้และดีกว่าประเทศอื่น และอีกเหตุผลคือ ปีนี้ความกดดันเรื่องการเติบโตน้อยมาก เพราะปีที่แล้วการเติบโตอยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้จีนมีพลังงานในการมาเน้นการเติบโตในเชิงคุณภาพได้

 

  • ส่วนคำว่า Common Prosperity ก็ไม่ใช่การปล้นคนรวยไปแจกคนจน แต่ สีจิ้นผิง ระบุไว้ว่า เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมจีนภายในกรอบเวลา 15 ปี จากโครงสร้างพีระมิดที่มีผู้มีรายได้น้อยมากที่สุดเปรียบเสมือนฐาน ตามด้วยชนชั้นกลางและผู้มีรายได้สูง มาเป็นโครงสร้างลูกรักบี้ ที่เพิ่มจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวจาก 400 เป็น 800 ล้านคน และกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ พึ่งพาการบริโภคหรือตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ลดการพึ่งตลาดตะวันตก ซึ่งนโยบายป้องกันการผูกขาดหรือการจัดการกับธุรกิจใหญ่นั้น นอกจากจะกระจายประโยชน์ให้กับธุรกิจ SMEs หรือคนตัวเล็กๆ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ก็ยังส่งผลการขยายชนชั้นกลางภายในประเทศด้วย

 

  • นครินทร์ถามต่อไปว่า ใครเสียผลประโยชน์จากการแทรกแซงของจีนมากที่สุด และจะส่งผลกระทบต่อไปอย่างไร และในระยะยาวจีนจะโตอย่างไร อาร์มตอบด้วยอีกหนึ่งทฤษฎีที่เรียกว่า ‘การแบ่งสรรประโยชน์รอบที่ 3’ หรือ Redistribution รอบที่ 3 มาจากหลักการที่ว่า รอบแรกคือการทำให้รวย ให้เติบโต ให้เปรียบเสมือนเค้กก้อนใหญ่ที่สุด รอบที่ 2 คือการเก็บภาษีนำมาสร้างสวัสดิการหรือช่วยเหลือคนจน และที่จีนบอกว่ามีรอบที่ 3 นั้นหมายความถึงความตั้งใจของเศรษฐี นายทุน ธุรกิจใหญ่ที่จะช่วยสังคม ซึ่ง สีจิ้นผิง มีการพูดถึงแนวคิด ‘นักธุรกิจที่รักชาติ’ ว่าหากเป็นเศรษฐี เป็นนักธุรกิจ จะต้องมาร่วมมือกับรัฐบาลในการมีโครงการช่วยสังคมต่างๆ หรืออาจเปรียบได้กับ CSR สไตล์จีน ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็จะมีภาระความรับผิดชอบและการให้กลับคืนสังคม ส่วนในระยะยาว อาร์มบอกว่า จำเป็นต้องเข้าใจวิธีคิดของคนจีน ซึ่งฝรั่งอาจคิดว่าจีนกำลังเดินไปในทิศทางทิศทางหนึ่งอย่างรัดกุมเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่แท้จริงแล้ว ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ลักษณะของจีนเหมือน ‘ลูกตุ้มนาฬิกา’ ที่เมื่อหมุนไปข้างใดสุดทางก็จะหมุนกลับมาอีกข้างหนึ่ง แล้วก็หมุนกลับไปใหม่ ซึ่งเขายกตัวอย่างวิธีคิดของคนจีนสมัยที่เขายังเรียนอยู่ ซึ่งพูดถึงเรื่องของการปฏิรูปว่ามักจะเหมือนกับการเดินไปข้างหน้า 2 ก้าว แล้วก็เดินถอยหลังกลับมา 1 ก้าว ซึ่งสุดท้ายแล้วก็คือการเดินไปข้างหน้า แต่เมื่อเดินไปถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดการตั้งคำถาม การรั้ง การหยุด หรือการถอยกลับ หรือการกำกับดูแลอีกครั้ง แต่เมื่อกำกับดูแลแล้วไม่เติบโต ไม่มีนวัตกรรม ก็อาจจะมีการ ‘ปล่อย’ อีกรอบหนึ่ง และสิ่งสำคัญคือความสมดุลระหว่างการปล่อยแบบ ‘ฟรีสไตล์’ กับการควบคุมแบบเข้มข้นนั่นเอง

 

  • อาร์มยังชี้ให้เห็นถึงบางภาคธุรกิจ (Sector) ที่รัฐบาลจีนยัง ‘ไม่แตะ’ เลย อาทิ ภาคธุรกิจด้านสุขภาพ ที่เปิดอยู่มาก เพราะคนจีนอยากให้มีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เติบโตมากขึ้นก่อน หรือภาคธุรกิจด้านพลังงานสะอาด เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ยังไม่มีการควบคุมมากนัก

 

  • ดังนั้นอาร์มระบุว่า ชัดเจนว่าจีนเน้นการเติบโตในเชิงคุณภาพ ซึ่งเป็นการตอบกระแสสังคม ตอบต่อเสียงกังวลของประชาชน แต่ในระยะยาวนั้นเพื่อจะเอาชนะสหรัฐฯ จีนก็ยังต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินลงทุนอยู่ เพียงแต่นโยบายในขณะนี้อาจทำให้เงินลงทุนไหลไปในบางภาคธุรกิจที่รัฐบาลจีนอาจจะต้องการมากกว่า ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่การย้อนกลับไปในยุค เหมาเจ๋อตุง หรือการกลับไปเป็นสังคมนิยมที่ทุกคนจนเท่ากันอีกต่อไปแล้ว ขณะที่การเติบโตในเชิงปริมาณก็ยังจำเป็นอยู่ แต่เป้าหมายก็อาจไม่ใช่ 10% และอยู่ที่เพียง 6% ซึ่งหากมีการเติบโต 6% ได้ 15 ปี (และไม่ใช่การเติบโตเพียง 2-3 ปีแล้วตามด้วยวิกฤต) ก็มีแนวโน้มว่า ในปี 2035 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าสหรัฐฯ ซึ่งจีนก็ต้องพยายามรักษาสมดุลเอาไว้ให้ได้

 

  • และเมื่อถามถึงโมเดลการพัฒนาของจีนว่าเป็นโมเดลใดกันแน่ อาร์มระบุว่า จีนพยายามจะแสดงว่าสามารถสร้างตัวอย่างให้กับประเทศกำลังพัฒนาได้ในเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการทำสิ่งที่ยากได้ เช่น การจัดการกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ตลอดจนการเติบโตที่รอบด้านและกระจายมากขึ้น และการทำเรื่องยากได้ ทนแรงกดดันได้นี้เองเป็นสิ่งที่ให้เหตุผลต่ออำนาจแบบ ‘รวบอำนาจ’ แต่ก็มีคำถามว่า บางสิ่งทำแล้วเหมาะสมจริงหรือ เช่น เรื่องการจัดการกับการกวดวิชา เป็นต้น แต่อาร์มก็บอกว่า ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องการเมือง คือการรวบอำนาจเช่นกัน ซึ่งในหมู่ผู้ที่มีความกังวลก็จะกังวลว่าลูกตุ้มนาฬิกาจะไม่หมุนกลับ หรือว่ามันไม่สมดุล หรือกลัวว่าจะหมุนไปในทิศทางเดียวทิศทางหนึ่งแรงเกินไป แล้วถ้าเกิดมีอะไรผิดพลาด สีจิ้นผิง ก็จะไม่ยอมรับแล้วก็ไม่หมุนกลับมา เขาเปรียบเทียบว่า ในอดีตเราได้เห็นรัฐบาลจีนหมุนไปหมุนมาโดยตลอด แต่การรวบอำนาจของ สีจิ้นผิง จะส่งผลกระทบให้การแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดความผิดพลาดทางนโยบายนั้นยากขึ้นหรือไม่ เช่น ไม่มีคนกล้าทัดทานจนลูกตุ้มนาฬิกาแกว่งแรงไป ไม่สมดุล เขายกตัวอย่างในอดีตซึ่งมีเรื่องที่จีนทำได้ดี เช่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตลอดจนการเรียนรู้จากความผิดพลาดของนโยบายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็มาจากระบบจีนที่เปิดกว้างมากขึ้นและรวบอำนาจน้อยลง

 

  • เขายังเสริมว่า จริงๆ แล้วคำว่า Common Prosperity เป็นการออกมาพูดภายหลังที่มีการประชุมกลุ่มผู้นำจีน ซึ่งเป็นการประชุมลับประจำปีที่เข้าไปพักผ่อนกันที่รีสอร์ตริมทะเลสาบ และเมื่อออกมา สีจิ้นผิง ก็เดินหน้าโปรโมตแนวคิดนี้ ซึ่งก็มีผู้มองว่า เป็นการหาเสียงของ สีจิ้นผิง ที่จะให้เหตุผลว่าทำไมจะต้องเลือกเขาเป็นผู้นำจีนต่อในสมัยที่ 3 หลังจากที่จีนมีการแก้รัฐธรรมนูญจากเดิมที่ผู้นำอยู่ได้แค่ 10 ปีไปเรียบร้อยแล้ว และ สีจิ้นผิง ก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าเขาเตรียมที่จะผลัดอำนาจให้กับคนอื่น แต่ก็ต้องมีคำอธิบายว่าทำไมจึงต้องเป็นผู้นำต่อไป คำอธิบายเหล่านี้ ได้แก่ ความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ที่ยังดำเนินอยู่และต้องการผู้นำที่มีความ ‘แข็ง’, การต้องดูแลการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมจีนในกรอบเวลา 15 ปี ให้เป็น ‘Common Prosperity’ ซึ่งนักนักวิเคราะห์จีนศึกษาก็จะบอกว่า นี่ก็คือการหาเสียงของ สีจิ้นผิง ด้วย และนโยบายต่างๆ ที่พยายามจะตอบกระแสประชาชนก็คือ นโยบายหาเสียงแบบหนึ่งในสไตล์ของจีน

 

  • นครินทร์ปิดท้ายด้วยการให้อาร์มสรุปว่า ถ้าเป็นผู้ที่วางนโยบายด้านต่างประเทศหรือคนที่มีธุรกิจการค้ากับประเทศจีน หลังจากนี้ควรจะติดตามข่าวสารจีน ทำมาค้าขายกับจีน หรือถอดบทเรียนวิธีคิดของจีนมาใช้อย่างไร และนักลงทุนที่มีการลงทุนที่เกี่ยวกับจีนต้องวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร อาร์มย้ำว่า จีนคงไม่ได้พยายามที่จะทำลายตัวเอง ไม่ได้พยายามจะทำลายบริษัทเทคโนโลยีที่แต่เดิมเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศอย่าง Alibaba หรือ Tencent และไม่ได้พยายามที่จะบอกว่าไม่เอา Soft Tech, Finance หรือไม่เอาเงินต่างชาติแล้ว และไม่ได้เป็นการย้อนกลับไปในยุค เหมาเจ๋อตุง เรื่องต่อมาคือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตอบโจทย์เฉพาะเรื่องพอสมควร เช่น ตอบโจทย์เรื่องการแข่งขัน เรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน เรื่องข้อมูล นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างที่จะมีขอบเขตภาคธุรกิจชัดเจน เช่น Soft Tech หรือการศึกษา และต่อไปก็อาจขยายไปถึงเหล้า บุหรี่ หรือเกม แต่ถึงอย่างไรก็ดี ก็ยังมีโอกาสอยู่เสมออย่างที่กล่าวถึงภาคธุรกิจด้านสุขภาพ ด้าน Hard Tech เป็นต้น นี่จึงไม่ใช่นโยบายแบบ One Size Fit All หรือนโยบายที่เหมือนกันหมดแต่อย่างใด นอกจากนี้ในภาคธุรกิจที่ถูกผลกระทบหนัก แต่ก็อาจทำให้เกิดความแน่นอนมากขึ้นในระดับหนึ่ง ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายก็บอกว่า ตลาดสหรัฐฯ อาจจะมีความไม่แน่นอนในระยะยาวมากกว่า เพราะว่ายังไม่ได้กำกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ต่างจากจีนที่ออกกฎหมายเรื่องข้อมูลครบแล้ว ทั้งกฎหมายความปลอดภัยของข้อมูล ความปลอดภัยของข้อมูลของรัฐ และกฎหมายเรื่อง Cybersecurity และภาพสุดท้ายที่อาร์มต้องการสะท้อนคือ จีนไม่ได้เดินไปในทิศทางเดียว แต่เป็นลักษณะของลูกตุ้มนาฬิกา นี่ไม่ใช่การเลือกทางใดทางหนึ่ง ไม่ใช่การเลือกการเติบโตหรือการเลือกความเท่าเทียม แต่เป็นเรื่องของการรักษาสมดุล เป็นการพยายามเติบโตในเชิงปริมาณในระดับที่กำหนดในระยะยาว และลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับระบบการเงิน เช่นเดียวกับความพยายามแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากร เพิ่มความสามารถในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทิศทางที่ชัดเจนของรัฐบาลจีนทั้งสิ้น

 

และสามารถติดตามรับชมรายการ The Secret Sauce Executive Espresso ในเอพิโสดนี้แบบเต็มๆ ได้ที่ 

 

 

ภาพ: Gil Corzo via ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising