×

ทำความเข้าใจวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา ในวันที่ทุกอย่างเลวร้ายถึงขั้นไร้น้ำมันขายให้ประชาชน อะไรทำให้มาถึงจุดนี้?

โดย THE STANDARD TEAM
06.07.2022
  • LOADING...
วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศรีลังกาเปิดเผยความจริงที่น่าตกใจว่า มีน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือในคลังสำรองเพียงพอสำหรับรองรับความต้องการใช้งานปกติของประชาชนแค่ไม่เกิน 1 วัน ในขณะที่ไม่มีเงินสำรองต่างประเทศมากพอที่จะนำเข้าน้ำมันได้อีก

 

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 70 ปี และภาวะขาดแคลนน้ำมันที่เลวร้ายลงต่อเนื่อง ทำให้ศรีลังกาต้องสั่งระงับการขายน้ำมันเบนซินและดีเซลสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

ขณะที่รัฐบาลโคลัมโบพยายามดิ้นรนหาทางออกด้วยการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เพื่อขอเงินกู้นำมาพยุงสถานการณ์

 

แต่ทางออกของวิกฤตนั้นอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? คงต้องย้อนไปดูที่มาที่ไปที่ทำให้สถานการณ์ของศรีลังกาก้าวมาถึงจุดนี้

 

สาเหตุที่การขายน้ำมันถูกระงับ

 

  • ศรีลังกาไม่มีเงินสำรองต่างประเทศมากเพียงพอที่จะจ่ายเพื่อนำเข้าน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลได้อีก 

 

  • สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้เพื่อลดผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำมันที่รุนแรงคือ การประกาศระงับการขายน้ำมันให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศที่ตัดสินใจใช้วิธีนี้ นับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970

 

  • ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทางการศรีลังกาเผยว่า สถานการณ์นั้นเลวร้ายลง โดยมีน้ำมันเหลือใช้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ สำหรับบริการสาธารณะที่จำเป็น เช่น รถโดยสาร รถไฟ และรถพยาบาล 

 

  • วิกฤตขาดแคลนน้ำมันนั้นรุนแรงขนาดที่โรงเรียนทั่วประเทศต้องปิดการเรียนการสอน และรัฐบาลต้องขอให้ประชาชนกว่า 22 ล้านคนทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดการเดินทางและใช้น้ำมัน

 

ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?

 

  • การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ พุ่งสูงขึ้นมาก อัตราเงินเฟ้อตอนนี้เพิ่มขึ้นกว่า 30% 

 

  • มีการตัดไฟฟ้าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และภาวะขาดแคลนลุกลามถึงยารักษาโรค จนส่งผลให้ระบบสาธารณสุขใกล้จะ ‘ล่มสลาย’

 

  • ความไม่พอใจจากภาวะขาดแคลนและสินค้าแพงที่เกิดขึ้นทำให้มีการประท้วงเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ทำไมเศรษฐกิจศรีลังกาตกอยู่ในวิกฤต?

 

  • คำตอบของวิกฤตเศรษฐกิจที่ศรีลังกาเผชิญในตอนนี้ หลักๆ เกิดจากการบริหารจัดการทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ล้มเหลว จนทำให้แทบจะไม่มีเหลือพอสำหรับการใช้จ่ายที่จำเป็น

 

  • ในเดือนพฤษภาคมรัฐบาลศรีลังกาล้มเหลวในการชำระหนี้ต่างประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

  • ขณะที่รัฐบาลโทษต้นตอวิกฤตว่าเป็นผลจากการระบาดรุนแรงของโควิด ซึ่งกระทบต่อการค้าและท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในแหล่งรายได้สกุลเงินต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด พร้อมโยงไปถึงผลกระทบจากเหตุการณ์วางระเบิดโจมตีโบสถ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในศรีลังกาช่วงปี 2019 ว่าทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหวาดกลัวและไม่กล้าเข้าไปเที่ยว

 

  • อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ถึงต้นตอวิกฤตที่แท้จริงว่า เกิดจาก ‘ความผิดพลาดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ’ ของรัฐบาลโคลัมโบ

 

  • หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี 2009 ศรีลังกาเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการจัดหาสินค้าแก่ตลาดภายในประเทศ แทนที่จะพยายามบุกไปเปิดตลาดและทำการค้าในต่างประเทศ ดังนั้นรายได้จากการส่งออกจึงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่การจ่ายเงินสกุลต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้ายังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

  • ปัจจุบันศรีลังกามีอัตราการนำเข้าสินค้ามูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าตัวเลขการส่งออกในทุกๆ ปีที่ผ่านมา และนั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศร่อยหรอลง

 

  • ข้อมูล ณ สิ้นปี 2019 ช่วงที่วิกฤตโควิดยังไม่ลุกลามไปถึง ศรีลังกามีทุนสำรองเงินสกุลต่างประเทศอยู่ที่ 7.6 พันล้านดอลลาร์ 

 

  • แต่หลังจากนั้นไม่นาน ช่วงเดือนมีนาคม 2020 หลังเกิดวิกฤตโควิด ตัวเลขนี้ลดลงเหลือเพียง 1.9 พันล้านดอลลาร์ และปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 50 ล้านดอลลาร์

 

  • ขณะที่รัฐบาลยังก่อหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาลกับหลายประเทศ รวมถึงจีน เพื่อนำเงินมาใช้กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ‘ไม่มีความจำเป็น’

 

  • ความโกรธแค้นของประชาชนต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพุ่งตรงไปที่ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) และ มหินทา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) พี่ชายของเขา ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังเผชิญแรงกดดันจากผู้ประท้วง

 

  • ประธานาธิบดีราชปักษาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องนโยบายลดภาษีครั้งใหญ่ที่เขาผลักดันในปี 2019 ซึ่งรัฐมนตรีคลังของเขาชี้ว่า ผลกระทบจากนโยบายทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปมากกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

 

  • และเมื่อภาวะขาดแคลนทุนสำรองเงินสกุลต่างประเทศกลายเป็นปัญหาร้ายแรงในช่วงต้นปี 2021 รัฐบาลศรีลังกายังพยายามจำกัดการใช้สกุลเงินต่างประเทศด้วยการห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมี และให้เกษตรกรทั่วประเทศหันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในท้องถิ่นแทน

 

  • สิ่งที่ตามมาคือ ทำให้การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรล้มเหลวเป็นวงกว้าง และศรีลังกาต้องหันไปนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้สกุลเงินต่างประเทศที่มีน้อยยิ่งร่อยหรอลงไปอีก

 

  • ท้ายที่สุดมาตรการแบนนำเข้าปุ๋ยเคมีก็ถูกยกเลิกไปในเดือนพฤศจิกายน 2021 หลังเกิดการประท้วงรุนแรง ขณะที่ IMF ชี้ถึงผลกระทบจากมาตรการนี้ในรายงานเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งพบว่าการแบนนำเข้าปุ๋ยเคมีกระทบต่อการส่งออกชาและยาง และทำให้ทั้ง 2 อุตสาหกรรมสูญเสียรายได้จำนวนมาก

 

รัฐบาลมีแผนแก้ไขวิกฤตอย่างไร?

 

  • รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งแทนมหินทา กล่าวว่า รัฐบาลศรีลังกาในตอนนี้ขาดแคลนงบประมาณมากถึงขั้นต้องพิมพ์เงินเพื่อจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างรัฐ

 

  • เขาเตือนว่า ผลที่ตามมาจากการดำเนินการดังกล่าวจะยิ่งทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูง และตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งไปถึง 40% 

 

  • ขณะที่สายการบินแห่งชาติที่รัฐบาลเป็นเจ้าของอย่าง SriLankan Airlines นั้นอาจจำเป็นต้องแปรรูปไปเป็นรัฐวิสาหกิจ

 

  • สำหรับวิกฤตขาดแคลนน้ำมันนั้น รัฐบาลโคลัมโบกำลังพยายามขอร้องให้รัสเซียและกาตาร์ยอมขายน้ำมันให้ในราคาต่ำ แต่ยังไม่มีวี่แววจะประสบผลสำเร็จ

 

ศรีลังกาต้องจ่ายหนี้ต่างชาติเท่าไร?

 

  • รัฐบาลศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศสูงถึง 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.8 แสนล้านบาท)

 

  • ในปีนี้ศรีลังกาจำเป็นต้องชำระหนี้ต่างประเทศจำนวน 7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนใกล้เคียงกับที่ต้องจ่ายในอีกหลายปีหลังจากนี้ ขณะที่รัฐบาลพยายามเจรจาขอกู้ยืมเงินฉุกเฉินจาก IMF เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้

 

  • แต่ IMF ชี้ว่า รัฐบาลศรีลังกาต้องยอมปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายและภาษี ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญเพื่อแลกกับการปล่อยกู้

 

  • ขณะที่ธนาคารโลกนั้นตอบรับที่จะให้ศรีลังกากู้ยืมเงินจำนวน 600 ล้านดอลลาร์

 

  • ส่วนอินเดีย ซึ่งศรีลังกาติดหนี้อยู่แล้วกว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ เผยว่าอาจจะให้ยืมเงินเพิ่มเติม เพื่อการนำเข้าสินค้ามูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์

 

  • กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เผยว่าจะให้ความช่วยเหลือศรีลังกาในการบรรเทาหนี้

 

  • นอกจากนี้ศรีลังกายังเป็นหนี้จีนจำนวนกว่า 6.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้งสองประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้

 

ภาพ: Photo by NurPhoto / Contributor / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X