×

สว. เกศกมล ปมวุฒิการศึกษา ต้องเลิกหนี กล้าเผชิญความจริง เปิดข้อกฎหมาย อาจจบไม่สวย

โดย THE STANDARD TEAM
16.07.2024
  • LOADING...
สว. เกศกมล

สมาชิกวุฒิสภา ‘สว.’ ชุดที่ 13 จำนวน 200 คน จากจำนวนผู้สมัคร 48,117 คน เข้าสภาและรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดการที่จะประชุมนัดแรกในวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม โดยมีวาระที่สำคัญคือ การเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา

 

ขณะที่การทำหน้าที่ สว. ชุดใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น แต่กลับไม่ใช่สิ่งที่สังคมโฟกัสมากที่สุด เนื่องจากโฟกัสของคนส่วนใหญ่ไปอยู่ตกที่ ‘เกศกมล เปลี่ยนสมัย’ เพราะเธอคือบุคคลที่ได้คะแนนจากการเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13 สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศด้วยคะ 79 เสียง และมีโปรไฟล์ชีวิตที่เขียนระบุไว้ในเอกสารแนะนำตัวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่าง ‘เวอร์วัง’ ที่เป็นทั้งศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ และแพทย์หญิง จนถูกสังคมจับตามองถึงความเป็นได้

 

เกศกมลเขียนโปรไฟล์ของตนเองไว้ในใบ สว. 3 ว่า ปัจจุบันอายุ 45 ปี ประกอบอาชีพแพทย์และนักธุรกิจ มีวุฒิการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวนหลายใบ ทั้งจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ รวมถึงมีตำแหน่งทางวิชาการที่เป็นถึง ‘ศาสตราจารย์’

 


 

เอกสารแนะนำตัวในการลงสมัคร สว. ของเกศกมล ที่ส่งให้ กกต.

มีการระบุรายละเอียดอย่างชัดเจนว่า มีวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวนหลายใบ

ทั้งจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ รวมถึงมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นถึง ‘ศาสตราจารย์’

 


 

ปริญญาตรี

  • หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (วิทยาลัยแพทยศาสตร์) มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ปริญญาโท

  • หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการองค์การ มหาวิทยาลัยเกริก

 

ปริญญาเอก

  • สาขาวิชาการจัดการและพัฒนาทรัพยากร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  • บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Philosophy (PhD) Associate Professor in Business Administration) California University
  • รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Political Science) California University
  • ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ UIPM University International

 

จากโปรไฟล์ข้างต้นนั้น ทำให้ ‘เกศกมล’ ถูกสังคมจับตามอง โดยเฉพาะการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก California University เนื่องจากสถาบันดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพียงสถาบันออกใบเทียบวุฒิเท่านั้น

 

รวมถึงการใช้ตำแหน่ง ‘ศาสตราจารย์’ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางวิชาการที่ได้จากต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทย จนมีนักวิชาการหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ตำแหน่งศาสตราจารย์ที่เธอได้มาจากต่างประเทศนั้น ไม่สามารถใช้ในประเทศไทยได้

 

เนื่องจากตำแหน่ง ‘ศาสตราจารย์’ ถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติที่แสดงถึงความเป็นผู้มีความรู้สูง และมีผลงานด้านการศึกษา ซึ่งต้องผ่านการกลั่นกรองและประเมินผลงานอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดในความถูกต้องของวิชา

 

ทำให้การแต่งตั้งตำแหน่ง ‘ศาสตราจารย์’ ในประเทศไทยต้องผ่านกระบวนการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) และทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ จากนั้นนำการแต่งตั้งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อผ่านไปโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์

 

แม้จะถูกสังคมโจมตีอย่างหนัก แต่ ‘เกศกมล’ ให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการกับสื่อมวลชนครั้งแรก และครั้งเดียวในวันที่เธอเข้าไปรับเอกสารรับรองการเป็น สว. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม เกี่ยวกับวุฒิการศึกษาของเธอว่า เรื่องดังกล่าวนี้เธอถูกตรวจสอบตั้งแต่การเลือกตั้งรอบการเลือกในระดับอำเภอ รวมถึงได้ชี้แจงเป็นเอกสารทั้งหมดแล้ว

 

ขณะเดียวกันปริญญาที่ได้จาก California University นั้นล้วนเป็นของจริงทั้งสิ้น เป็นมหาวิทยาลัยที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่มหาวิทยาลัยห้องแถว และเตรียมให้ทีมทนายดำเนินคดีกลุ่มหมิ่นประมาทเธอทุกคน

 


 

เกศกมล เปลี่ยนสมัย สวมชุดสีเหลือง เข้ารายงานตัวเป็น สว.

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

จากนั้น 1 วัน หลังการรายงานตัว ‘เกศกมล’ ยังแจ้งหมายข่าวกับสื่อมวลชนว่า เธอพร้อมด้วยทนายความส่วนตัวและอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองคน จะร่วมแถลงข่าวชี้แจงประเด็นวุฒิการศึกษาที่สำนักงานกฎหมายทนายเดชาย่านรามอินทรา ในช่วงคำ่ของเย็นวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม แต่เมื่อถึงเวลาพบว่า เกศกมลไม่ได้ร่วมวงแถลงข่าวครั้งนี้ โดยได้รับแจ้งว่ามีอาการป่วย และออกจากสำนักงานกฎหมายทนายเดชาหลังการแถลงได้ไม่นาน นับเป็นการหนีหน้าสื่อมวลชนครั้งแรก

 

สำหรับสาระสำคัญในการแถลงของทีมทนายและอาจารย์ที่ปรึกษาของเกศกมลนั้น ยืนยันว่าเอกสารวุฒิการศึกษาของเกศกมลเป็นของจริงทั้งหมด ถูกต้องตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ส่วนตำแหน่งทางวิชาการ คำว่า ‘ศาสตราจารย์’ ก็สามารถใช้ในประเทศไทยได้ แม้ California University จะไม่ได้รับรองจาก ก.พ. หรือกระทรวง อว. ก็ตาม และตำแหน่งศาสตราจารย์ที่จบจากต่างประเทศไม่จำเป็นต้องขอโปรดเกล้าฯ

 


 

เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภา

เพื่อยื่นเอกสารเกี่ยวกับการรายงานตัว สว. เพิ่มเติมอีกครั้ง

แต่ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 


 

จากนั้นในวันที่ 15 กรกฎาคม ‘เกศกมล’ ปรากฏตัวที่อาคารรัฐสภา ในการรายงานตัวต่อเลขาธิการสำนักงานวุฒิสภาเป็นวันสุดท้ายเพื่อยื่นเอกสารเพิ่มเติม รวมถึงได้รับบัตรประจำตัว สว. เป็นครั้งแรก โดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน รวมถึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้ออกจากพื้นที่ จากนั้นไม่นานเธอก็เดินทางกลับออกจากรัฐสภาไป ซึ่งนับเป็นการหลบหน้าสื่อมวลชนเป็นครั้งที่ 2

 

ประสานเสียง ‘ไม่เคยรับรอง’ California University

 

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม มีรายงานข่าวว่า หน้าแรกของเว็บไซต์ California University เขียนระบุว่า รัฐสภาไทยยอมรับปริญญาบัตรของ California University ว่ามีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าปริญญาบัตรที่ออกโดยมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทยทุกประการ

 

พร้อมระบุอีกว่า ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จบปริญญาเอกด้านรัฐประศาสนศาสตร์ โดยเทียบเท่าปริญญาของ California University เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2014 โดยได้รับการยืนยันรับรองจากรัฐสภาไทย หลังจากผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์และสืบสวนสอบสวนแล้วเช่นกัน

 


 

หน้าแรกบนเว็บไซต์ California University

เขียนระบุว่า รัฐสภาไทยยอมรับปริญญาบัตรของ California University ว่ามีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าปริญญาบัตรที่ออกโดยมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทยทุกประการ

 


 

ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐสภาไทย, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักงาน ก.พ. ต่างก็ชี้แจงว่า ไม่เคยรับรองวุฒิการศึกษา รวมถึงรับรองสถาบัน California University แห่งนี้

 

ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะกระทรวงที่กำกับดูแลการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยกล่าวว่า จากการตรวจสอบ ยังไม่มีผู้มายื่นขอเทียบคุณวุฒิจาก California University

 

ส่วนตำแหน่งศาสตราจารย์ก็จะต้องทำเรื่องขอตำแหน่งทางวิชาการ เริ่มตั้งแต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ มาเป็นศาสตราจารย์ ซึ่งจะมีขั้นตอนการยื่นผ่านมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แล้วจะต้องส่งเรื่องมายังกระทรวง อว. เพื่อขอโปรดเกล้าฯ

 

ศุภมาสกล่าวต่อว่า ตำแหน่งนี้กระทรวงจะมีคณะกรรมการและขั้นตอนอยู่แล้ว สำหรับ Professor ที่ต้องการเข้ามาสอนหรือว่าบรรยายในประเทศไทย ผู้ที่ต้องทำการตรวจสอบจะเป็นมหาวิทยาลัยนั้นๆ ไม่ใช่ทางกระทรวง

 

ฉะนั้นในกรณีเกศกมล เรื่องจะไม่มาถึงกระทรวง อว. แต่เมื่อเห็นกรณีศึกษาเช่นนี้ น่าจะต้องกลับไปทบทวนบทบาทของกระทรวง กรณี Professor ที่รับรองจากต่างประเทศ และต้องการมาทำงานในประเทศไทย อาจต้องส่งมาให้กระทรวง อว. รับทราบและช่วยตรวจสอบ เพราะถือเป็นปัญหาสังคมและเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส

 

ขณะที่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรุ่นพี่กล่าวว่า เกศกมลไม่ควรออกมาโต้ อาจารย์ผู้รับผิดชอบที่เป็นเจ้าของโครงการควรรับผิดชอบลูกศิษย์ และเชื่อว่าลูกศิษย์ที่เข้าใจเองว่า California University คือ สถาบันที่ได้รับการรับรองถือเป็นผู้ถูกกระทำ เพราะอาจารย์รับค่าหน่วยกิต แล้วมาตั้งโครงการที่ไม่ได้มาตรฐานให้ลูกศิษย์เดือดร้อน จึงควรออกมารับผิดชอบเรื่องนี้ 

 

เจาะลึก ‘วุฒิการศึกษา’ วุฒิสภาชุดที่ 13

 

สำหรับคุณสมบัติการลงสมัคร สว. ชุดที่ 13 นี้ ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว.) ซึ่งมีคุณสมบัติพื้นฐาน เช่น ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด, อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี, มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า สว. ต้องจบการศึกษาระดับใด

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของบีบีซีไทยที่เจาะลึกข้อมูลของ สว. ทั้ง 200 คน รายงานว่า สว. ชุดนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสัดส่วนมากที่สุด 71 คน (คิดเป็น 35.5%) รองลงมาคือ ปริญญาตรี 67 คน (คิดเป็น 33.5%), ปริญญาเอก 35 คน (คิดเป็น 17.5%), มัธยมศึกษาและเทียบเท่า 14 คน (คิดเป็น 7%) และประถมศึกษา 4 คน (คิดเป็น 2%)

 

ส่วนที่เหลือเป็นวุฒิการศึกษาอื่นๆ อีกประมาณ 4.5% มีวุฒิการศึกษาตามใบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.), วิทยาลัยครู, วิทยาลัยเทคนิค/วิทยาลัยเทคโน, การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เป็นต้น

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แม้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือก สว. จะไม่ได้มีการระบุถึงการศึกษาขั้นต่ำไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นบุคคลที่ลงสมัครเลือก สว. ไม่ว่าจะเรียนจบหรือไม่จบ หากมีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายระบุก็สามารถดำรงตำแหน่งได้ เป็นเหตุให้คนในสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีโปรไฟล์สูงลิ่ว จนทำให้เกิดคำครหาซื้อวุฒิการศึกษา

 


 

เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภา

เพื่อยื่นเอกสารเกี่ยวกับการรายงานตัว สว. เพิ่มเติมอีกครั้ง แต่ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 


 

เปิดกฎหมาย ‘เกศกมล’ อาจจบไม่สวย

 

อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. บัญญัติว่า หากเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการสมัครรับเลือก สว. ผู้ที่รับรองหรือลงลายมือชื่อเป็นพยานที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี

 

มากไปกว่านั้น หากการเลือก สว. ครั้งที่ผ่านมา ‘เกศกมล’ ใช้วุฒิการศึกษาที่ระบุว่าจบจากมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา รวมถึงมีตำแหน่งทางวิชาการนำมาประกอบในใบ สว. 3 เพื่อจูงใจโน้มน้าวให้ผู้สมัคร สว. เลือกตนเอง

 

ตามมาตรา 62 ในกฎหมายดังกล่าว เมื่อ กกต. ประกาศผลการเลือกตามมาตรา 42 วรรคสองแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริต หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม

 

ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น และเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ผู้นั้นก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าศาลมีคำสั่งพิพากษาว่ามีความผิดก็จะพ้นความเป็น สว.

 


 

เกศกมล เปลี่ยนสมัย นั่งอยู่บนรถยนต์ส่วนตัว หลังนัดแถลงข่าวใหญ่

แต่ไม่ร่วมการแถลงข่าว ที่สำนักงานกฎหมายทนายเดชา

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

เลิกหนี กล้าเผชิญความจริง

 

กระนั้น กว่าที่กระบวนการร้องเรียนจะเดินทางไปถึงศาลฎีกา เพื่อให้พิจารณากรณีดังกล่าวนี้ ‘เกศกมล’ ในฐานะบุคคลที่ได้รับคะแนนจากการเลือก สว. มาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 79 คะแนน จะเข้ามาทำหน้าที่เป็น สว. ผู้ทรงเกียรติเข้าไปทำหน้าที่ในสภาสูง ต้องเลิกหนีและกล้าที่จะเผชิญความเป็นจริง

 

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 สว. ชุดใหม่มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ต่อให้วันนี้หรือพรุ่งนี้ ‘เกศกมล’ ก็ยังเลือกไม่ออกมาชี้แจงเปิดความเป็นจริงให้สังคมทราบ ทำความจริงให้ปรากฏ ไม่แสดงความจริงใจ และความโปร่งใส ยังเลือกที่จะหนีสื่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายเกศกมลจะเป็นเพียง สว. ผู้กลายเป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ ที่ไม่มีใครโฟกัสการทำงาน แต่สนใจแค่เรื่องราวดราม่าไปวันๆ ซึ่งไม่ได้สร้างประโยชน์ใดๆ ให้กับประชาชนและประเทศชาติเสียเลย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X