วันนี้ (31 มีนาคม) ถือเป็นวันกำหนดเส้นตายที่รัฐบาลรัสเซียประกาศไว้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่าจะเริ่มต้นดำเนินการเพื่อให้ประเทศ ‘ไม่เป็นมิตร’ ต้องจ่ายเงินซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียด้วยสกุลเงินรูเบิล ถึงแม้ว่าล่าสุด ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลเครมลิน จะยืนยันว่าการดำเนินการในวันนี้ไม่ใช่การบังคับให้ผู้ซื้อต้องจ่ายค่านำเข้าก๊าซจากรัสเซียด้วยเงินรูเบิลในทันที แต่เป็นการเริ่มต้นของกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ทั้งรูปแบบชำระเงินและการจัดส่งก๊าซที่ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่
โดยประเทศไม่เป็นมิตรที่ตกเป็นเป้านั้น ได้แก่ ชาติตะวันตกและพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่มีส่วนร่วมในการคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงสหภาพยุโรปหรือ EU ที่เป็นผู้นำเข้าก๊าซรายใหญ่
หนึ่งในชาติ EU ที่ถูกจับตามองคือสมาชิกหัวแถวอย่างเยอรมนี ที่มีอัตรานำเข้าก๊าซจากรัสเซียในปี 2021 สูงถึง 55% โดยท่าทีของเยอรมนีค่อนข้างชัดเจนว่าจะไม่ยอมเดินตามเกมที่รัสเซียวางไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ประกาศจุดยืนร่วมกับกลุ่ม G7 ปฏิเสธข้อเรียกร้องของมอสโก และชี้ว่าเป็นการละเมิดสัญญาซื้อขายก๊าซที่มีอยู่
ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลเบอร์ลินยังได้เริ่มใช้แผนฉุกเฉินระดับแรก เพื่อบริหารจัดการซัพพลายก๊าซและเตรียมพร้อมรับมือต่อผลกระทบ หากรัสเซียตัดสินใจระงับการส่งก๊าซให้แก่เยอรมนี
อย่างไรก็ตาม การที่เยอรมนีจะ ‘ปลดแอก’ ไม่ต้องพึ่งพิงก๊าซจากรัสเซียนั้น ยังเป็นสิ่งที่ยากลำบากในตอนนี้ โดยฮาเบคเผยว่าเยอรมนีจะยังไม่สามารถเป็นอิสระจากก๊าซของรัสเซียได้อย่างสมบูรณ์ก่อนกลางปี 2024
เยอรมนีมีแผนอะไร?
สำหรับแผนฉุกเฉินในการบริหารจัดการก๊าซของเยอรมนี มีด้วยกัน 3 ระดับ ได้แก่
ระดับแรก – เป็นการเตือนล่วงหน้าเมื่อมีสัญญาณว่าภาวะฉุกเฉินด้านซัพพลายก๊าซอาจเกิดขึ้น
ระดับสอง – คือการส่งสัญญาณเตือนเมื่อเกิดการหยุดชะงักของซัพพลายก๊าซ หรือความต้องการใช้ก๊าซสูงเป็นพิเศษ ที่กระทบต่อสมดุลซัพพลายก๊าซตามปกติแต่ยังสามารถแก้ไขได้โดยรัฐบาลไม่ต้องเข้าแทรกแซง
ระดับสาม – คือภาวะฉุกเฉิน เมื่อมาตรการพื้นฐานของตลาดไม่สามารถแก้ไขภาวะขาดแคลนก๊าซได้ ในขั้นตอนนี้ Bundesnetzagentur ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการแจกจ่ายก๊าซที่เหลือไปยังทั่วประเทศอย่างไร
ฮาเบคเผยว่า ในการใช้แผนฉุกเฉินระดับแรก ทีมรับมือวิกฤตการณ์จากกระทรวงเศรษฐกิจ ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลและภาคเอกชน จะดำเนินการติดตามตรวจสอบการนำเข้าและการจัดเก็บก๊าซ
ขณะที่รัฐบาลเบอร์ลินยังให้การรับรองว่าซัพพลายก๊าซยังมีเพียงพอในตอนนี้ แต่เรียกร้องผู้บริโภคและบริษัทต่างๆ ให้ลดการใช้ก๊าซลง โดยเน้นย้ำว่า “ปริมาณใช้ก๊าซทุกกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงนั้นมีค่า”
การตัดสินใจใช้แผนฉุกเฉินของเยอรมนียังเป็นสัญญาณชัดเจนว่า EU กำลังเตรียมพร้อมเพื่อรับมือการตัดลดการจัดส่งก๊าซของมอสโก ซึ่งนอกจากนี้อิตาลีและลัตเวียก็ได้เริ่มเตือนผลกระทบจากภาวะขาดแคลนก๊าซที่อาจเกิดขึ้นแล้ว
ใครจะได้รับผลกระทบก่อน
หากเยอรมนีมีก๊าซไม่เพียงพอ อุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีสัดส่วนความต้องการใช้ก๊าซคิดเป็น 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก ตามด้วยครัวเรือนส่วนบุคคล โรงพยาบาล สถานพยาบาล และสถาบันภาครัฐอื่นๆ ที่มีความต้องการพิเศษในการใช้ก๊าซ
Leonhard Birnbaum ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มพลังงานเยอรมนี E.ON (EONGn.DE) เปิดเผยต่อสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นว่า ผลกระทบจากภาวะขาดแคลนก๊าซจะทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ สูญหาย และห่วงโซ่อุปทานก็สูญหายไปด้วย ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่รุนแรงมาก
สำหรับการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนใช้ก๊าซในปีที่แล้วประมาณ 13% ในทางทฤษฎีอาจเปลี่ยนไปใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ แต่อาจส่งผลให้โครงการทางออกถ่านหินที่กำลังดำเนินอยู่อาจต้องเปลี่ยนแปลงภายใต้กฎหมายฉุกเฉิน เพื่อให้แน่ใจว่ากำลังการผลิตไฟฟ้านั้นมีเพียงพอ
นอกจากผู้ให้บริการด้านพลังงานแล้ว อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความกังวลมากที่สุดต่อภาวะขาดแคลนก๊าซ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสารเคมี ซึ่งใช้ก๊าซในการผลิตทุกอย่าง ตั้งแต่พลาสติก ปุ๋ย ไปจนถึงเส้นใยและตัวทำละลาย ในทางกลับกัน ผู้ผลิตรถยนต์เองก็ต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์เคมีสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ และแล็กเกอร์ที่ใช้เคลือบเงา
ด้านบริษัทเยอรมนีรายใหญ่ที่มีสัญญานำเข้าก๊าซจากรัสเซียในระยะยาว เช่น Uniper (UN01.DE), RWE (RWEG.DE), EnBW’s (EBKG.DE) และ VNG (VNG.UL) ยังไม่มีความเคลื่อนไหวหรือแสดงท่าทีใดๆ ต่อแผนบังคับซื้อก๊าซด้วยสกุลเงินรูเบิล หรือการเตรียมพร้อมรับมือสำหรับการระงับการจัดส่งก๊าซของรัสเซีย
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าจะไม่มีภัยคุกคามจากภาวะการขาดแคลนก๊าซ แต่เยอรมนีก็อาจเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบีบบังคับให้บริษัทต่างๆ รวมถึงผู้ผลิตเหล็กและเคมีภัณฑ์ต้องลดการผลิตลง
โดยผลกระทบที่เกิดกับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ทำให้สมาคมอุตสาหกรรมเยอรมนี (BDI) ต้องขอการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งรวมถึงมาตรการปล่อยสินเชื่อและการมีส่วนร่วมของรัฐ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ ล้มละลาย
ผลกระทบด้านราคาพลังงานและวิกฤตสู้รบในยูเครน ทำให้ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลเบอร์ลินปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ โดยประเมินการขยายตัวของ GDP ในปีนี้อยู่ที่ 1.8% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 4.6%
ภาพ: Photo by Hendrik Schmidt/picture alliance via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/business/energy/what-happens-if-russia-turns-off-gas-flows-germany-2022-03-29/
- https://www.reuters.com/business/energy/germany-declares-early-warning-potential-gas-supply-disruptions-2022-03-30/
- https://globalnews.ca/news/8718163/russias-gas-supply-europe-ruble-deadline/
- https://apnews.com/article/russia-ukraine-business-europe-germany-global-trade-96dbe1ef3a1e1c61431b9a78149ac62c