กรณี PM2.5 ในไทย โดยเฉพาะพื้นที่หลายจังหวัดภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ ทวีความรุนแรงจนติดอันดับเลวร้ายที่สุดของโลก ส่งผลให้สื่อต่างประเทศหลายสำนัก เช่น Reuters, CNN, Al Jazeera, The Straits Times พากันนำเสนอข่าวและตอกย้ำภาพความเลวร้ายของวิกฤตฝุ่นพิษที่กำลังเกิดขึ้น
พร้อมกันนี้ยังหยิบยกความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ชี้ให้เห็นถึงต้นตอและรากเหง้าของวิกฤต ตลอดจนท่าทีและการจัดการของรัฐบาลไทยที่ยังเป็น ‘ปัญหา’ และไม่อาจรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ต้องการเพียง ‘อากาศบริสุทธิ์’ สำหรับหายใจ ยังคงไม่ได้รับการตอบสนอง
และนี่คือบางส่วนของรายงานจากสื่อระดับโลก ที่ตีแผ่สถานการณ์ความเลวร้ายของ PM2.5 ที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่
📍 Reuters
- Reuters ชี้ผลกระทบจาก PM2.5 ที่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือในระดับสูง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวประสบปัญหาหนัก นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเดินทางไปจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างเชียงใหม่และจังหวัดโดยรอบ เพราะกังวลต่อมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตราย
- สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ยอดจองโรงแรมในเชียงใหม่ช่วงสงกรานต์ลดลงเหลือเพียงประมาณ 45% จากเดิมที่คาดหวังไว้ 80-90% โดยทางการท้องถิ่นและรัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเรียกร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน
📍 CNN
- CNN พาดหัวข่าวว่า ควันจากไฟป่าทำให้เกิดมลพิษหนาปกคลุมภาคเหนือของไทย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงสาเหตุสำคัญของสถานการณ์ PM2.5 ในช่วงนี้ว่ามีปัจจัยมาจากไฟป่าและการเผาชีวมวล หรือการเผาเพื่อแผ้วถางพื้นที่สำหรับทำการเกษตรที่มักจะมีขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน
- รายงานของ CNN ยังหยิบยกข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ที่แสดงให้เห็นว่า ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีจุดความร้อนจากไฟไหม้จำนวน 5,572 จุด ซึ่ง ‘สูงสุดในรอบ 5 ปี’
- นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาในการรับมือกับผู้ป่วยจากโรคต่างๆ ที่เป็นผลจากมลพิษทางอากาศ เช่น หอบหืด การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ และถุงลมโป่งพอง ซึ่งมีจำนวนมากจนล้นโรงพยาบาล โดยในเชียงใหม่มีผู้ป่วยมากกว่า 12,000 คนที่ต้องการรักษาอาการป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจช่วงระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม
📍 Al Jazeera
- Al Jazeera ตีข่าวปัญหา PM2.5 ในไทย ด้วยการตั้งคำถามว่า เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลกได้อย่างไร? พร้อมรายงานปัญหา โดยหยิบยกคำสัมภาษณ์ของ วีณรินทร์ ลุลิตานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Thailand Clean Air Network และอดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ซึ่งชี้ให้เห็นปมปัญหาฝุ่นพิษและการรับมือของไทยว่า “อากาศที่หายใจอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยทำให้อายุสั้นลง 3-4 ปี ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาอื่นๆ ได้ แต่แทบจะไม่มีใครลงมือจัดการกับต้นเหตุและต่างเฉยเมยกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาก”
- รายงานของ Al Jazeera เองก็ชี้ความร้ายแรงของสถานการณ์ที่ทำให้ผู้คนนับหมื่นล้มป่วยจากโรคทางเดินหายใจ ขณะที่การแก้ไขปัญหาของทางการไทยตอนนี้มีทั้งฉีดพ่นน้ำขึ้นไปในอากาศบริเวณพื้นที่ใจกลางเมืองและทำฝนเทียมด้วยเครื่องบินทหาร โดยหวังว่าฝนจะชะล้างมลพิษออกไป ซึ่งเรื่องตลกที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ก็คือ นโยบายรับมือ PM2.5 นั้นดูเหมือนจะเป็นการ ‘รอวันสงกรานต์กันเถอะ’ เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์มักจะมีขึ้นในช่วงเริ่มต้นของฤดูฝน
- นอกจากนี้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังชี้ว่า การจัดการกับต้นตอที่แท้จริงของปัญหา PM2.5 ในไทยนั้น รัฐบาลไทยจะต้องกล้าเผชิญหน้ากับหนึ่งในผู้สนับสนุนทางการเมืองรายใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจในภาคการเกษตร ซึ่งวีณรินทร์กล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่แม้แต่จะพยายามแตะต้องด้วยซ้ำ
- แดนนี มาร์กส์ ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและการเมืองสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยเมืองดับลิน กล่าวกับ Al Jazeera ว่า “ครอบครัวมหาเศรษฐีที่อยู่ด้านบนสุดของเศรษฐกิจ รวมถึงกลุ่มธุรกิจการเกษตร มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลมาก พวกเขาบริจาคให้กับทุกพรรคใหญ่และมีความใกล้ชิดกับกองทัพ
“สาเหตุหลักของวิกฤตคือ วิธีการดำเนินการทางการเมืองในประเทศไทย” เขากล่าว
- สำหรับปัจจัยของปัญหา PM2.5 ทางภาคเหนือ ที่เกิดจากการเผาเศษชีวมวลนั้น ราว 1 ใน 3 มาจากแหล่งกำเนิดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาและ สปป.ลาว แต่วีณรินทร์ชี้ว่า “การโยนความผิดไปที่เกษตรกร ชาวเขา หรือประเทศเพื่อนบ้าน ในทางการเมืองถือเป็นแพะรับบาปที่สะดวกและง่ายดี”
- โดยเธอย้ำว่า รากเหง้าของปัญหามลพิษนั้นเกิดมาจากในไทยเอง แม้ว่าจะมีการเผาเกิดขึ้นในต่างประเทศก็ตาม และชี้ว่าปัญหาที่แท้จริงคือการทำเกษตรพันธสัญญา หรือการที่เกษตรกรรายย่อยทำสัญญากับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งขายเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยให้กับพวกเขา โดยมีข้อตกลงรับซื้อผลผลิต ซึ่งเป็นแรงกดดันให้เกษตรกรยิ่งต้องเพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด และเนื่องจากไม่มีเงินในการลงทุนกับเครื่องมือเก็บเกี่ยวที่ทันสมัย การเผาจึงเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการเพิ่มผลผลิต
- อย่างไรก็ตาม วีณรินทร์ยังเชื่อว่า พระราชบัญญัติอากาศสะอาด ซึ่งเป็นข้อเสนอทางกฎหมายของประชาชนที่ยื่นต่อรัฐสภาไปแล้ว สามารถช่วยแก้ไขต้นตอปัญหา PM2.5 ได้
- แต่ยังมีปัญหาอีกหนึ่งประการคือ ในตอนนี้คนไทยจำนวนมากดูเหมือนจะไม่ใส่ใจมากพอที่จะผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งประชาชนรู้สึกมึนงงกับประเด็นนี้ ในขณะที่เรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่สำหรับการประท้วง
- เนื้อหารายงานของ Al Jazeera ยังทิ้งท้ายถึงการเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมว่า แม้วิกฤตฝุ่นพิษจะทำให้ชาวเชียงใหม่ขาดอากาศบริสุทธิ์หายใจ แต่ไม่มีพรรคการเมืองหลักพรรคใดรณรงค์หาเสียงในประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
- โดยวีณรินทร์ชี้ว่า เพราะนักการเมืองไม่สนใจคนเหนือ เนื่องจากเป็นแค่ 10% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่สิ่งนี้ไม่ควรหยุดเราจากการพยายามทำบางสิ่งเพื่อแก้ปัญหา โดยเธอเชื่อว่า “ทุกคนนั้นรู้ดีว่าใครเป็นผู้ที่รับผิดชอบปัญหานี้ แต่กลับเงียบ”
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2023/4/12/how-chiang-mai-became-the-worlds-most-polluted-city
- https://edition.cnn.com/2023/04/05/asia/chiang-mai-air-pollution-thailand-intl-hnk/index.html
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/pollution-choking-thailands-north-hits-tourism-worries-public-2023-04-10/
- https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/work-from-home-order-issued-as-thailand-s-chiang-mai-chokes-on-pollution