การจัดเวทีแถลงผลงานและเวทีมหกรรมนโยบายของ 2 พรรคการเมืองขนาดใหญ่ในเวลาไล่เลี่ยกัน สามารถมองได้หลายมุม ทั้งการช่วงชิงโอกาสทางการเมือง หรือเป็นสนามประลองวิสัยทัศน์
ทว่าหากมองให้ลึกถึงรายละเอียด ยังมีมุมให้ชวนวิเคราะห์ว่า เนื้อหาสาระของนโยบายจากสองขั้วการเมือง มีจุดเด่น จุดด้อย จุดเหมือน และจุดต่างกันอย่างไร นำมาสู่การสะท้อนมุมมองต่ออนาคตของประเทศไทยที่แตกต่างกัน ระหว่างพรรคแกนนำของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
THE STANDARD ชวนร่วมวิเคราะห์และหาคำตอบไปพร้อมกันว่า ‘ระเบิดเวลา 6 ลูก’ ของพรรคก้าวไกล และวิสัยทัศน์ ‘IGNITE THAILAND’ ที่ไม่ต้องรอ 10 เดือน ของพรรคเพื่อไทย ทำให้เรารู้จักทั้ง 2 พรรคนี้มากขึ้นอย่างไรบ้าง
ก้าวไกลถอดชนวน กระบวนท่าฝ่ายค้าน
ภายในงาน ‘ก้าวไกล Policy Fest ครั้งที่ 1’ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากการเสวนาและปราศรัยบนเวที รวมถึงกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากมายในตลาดนโยบาย ไฮไลต์อีกประการคือหนังสือบันทึกร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566-2567 ที่มีความหนากว่า 700 หน้า และมีข้อมูลว่าถูกแจกไปจนหมดอย่างรวดเร็ว
ในหน้าแรกของหนังสือดังกล่าวมีถ้อยคำที่ระบุชื่อพร้อมลายเซ็นของ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ระบุไว้ว่า
“สถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การต่อสู้ระหว่างการเมืองของชนชั้นนำเพื่อชนชั้นนำและการเมืองของประชาชนเพื่อประชาชน”
จากนั้นเป็นการแบ่งแยกวาระทางนโยบายของพรรคก้าวไกลออกเป็น 6 กลุ่ม ตามเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลยื่นต่อสภา
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล ได้อธิบายบนเวทีช่วงหนึ่งว่า วิธีการออกแบบนโยบายของพรรคก้าวไกลคือเอาวาระเป็นตัวนำ ขณะนี้มีวาระทางการเมือง 6 ด้าน ที่หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นระเบิดเวลาของประเทศ ประกอบด้วย
- เศรษฐกิจปิดโอกาส
- ร่าง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า
- ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์
- ฯลฯ
- ภาคเกษตรถูกแช่แข็ง
- ร่าง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน
- ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
- ร่าง พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม
- รัฐเจ้าคนนายคน
- ร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
- ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560
- ฯลฯ
- เผด็จการซ่อนรูป
- ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม
- ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
- ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- ฯลฯ
- คุณภาพชีวิตโลกที่สาม
- ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
- ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก
- ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า
- การศึกษาตกยุค
- ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จะเห็นได้ว่าหลักสำคัญของพรรคก้าวไกลคือนโยบายที่เน้นนำเสนอความหวัง และฉายภาพให้เห็นความเป็นไปได้ แต่ด้วยความที่พรรคก้าวไกลยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศ นโยบายแต่ละประการจึงสะท้อนผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ที่ยื่นเข้าสู่สภา ซึ่งเปรียบเสมือน ‘พิมพ์เขียว’ เท่านั้น และยังเป็นช่องทางเดียวที่ฝ่ายค้านมีอำนาจกว่า คือกระบวนการนิติบัญญัตินั่นเอง
วิสัยทัศน์แบบมีเงื่อนไข คิดใหญ่ ค่อยๆ ทำ
ส่วนการมองนโยบายของฝั่งรัฐบาลนั้นจำเป็นต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ นโยบายในนามของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายของรัฐบาลที่เป็นข้อตกลงให้พรรคร่วมรัฐบาลขับเคลื่อนร่วมกัน ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น นโยบายที่แถลงบนเวทีของพรรคเพื่อไทยจะมีความชัดตรงประเด็น และเป็นการสานต่อนโยบายที่เคยหาเสียงไว้มากกว่า แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตเฉพาะกระทรวงที่ตนเองได้กำกับดูแลเท่านั้น เช่น
1. กระทรวงสาธารณสุข
- โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ครบทั้ง 77 จังหวัด ภายในปี 2570
2. กระทรวงวัฒนธรรม
- โครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เปิดลงทะเบียนเดือนมิถุนายนนี้
- พ.ร.บ.THACCA คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2568
- เปิดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC เพิ่ม
- สถานีโทรทัศน์ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์
3. กระทรวงคมนาคม
- พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เพื่อรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสาย ภายในปี 2568
- โครงการแลนด์บริดจ์
4. ประเด็นอื่นๆ
- การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- การปราบปรามยาเสพติด
ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือนโยบายในนามรัฐบาลที่แถลงโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และได้เน้นย้ำหลายครั้งผ่านแนวคิด ‘IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง’ ซึ่งวางเป้าหมายให้ไทยเป็นอันดับ 1 ในทั้งหมด 8 ด้าน ประกอบด้วย
- ไทยเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว
- ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ
- ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร
- ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน
- ไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค
- ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต
- ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล
- ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน
จะเห็นได้ว่านโยบายในนามรัฐบาลจะเป็นการนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อประเทศในภาพรวม และเน้นให้ทุกองคาพยพ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างชาติ รู้สึกมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เข้าถึงเป้าหมายได้ และอีกจุดแตกต่างที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่แล้วเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เวลายาวนาน และมักจะนานกว่าวาระของรัฐบาลด้วยซ้ำ จึงไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนได้เหมือนนโยบายในนามพรรค
ยังไม่นับรวมปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้ความร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะบางพรรคการเมืองที่กำกับดูแลกระทรวงสำคัญก็เป็นตัวแปรสำคัญส่วนหนึ่งที่จะชี้วัดว่านโยบายจะสำเร็จหรือไม่
ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ ทั้งพรรคเพื่อไทย รวมถึงนายกรัฐมนตรีเอง จำเป็นต้องวางตัวให้เหมาะสมท่ามกลางแรงกดดันภายใน คือเสถียรภาพระหว่างพรรคร่วม และแรงกดดันภายนอก คือคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ที่ต้องทำให้สำเร็จ จึงนำมาสู่การออกแบบนโยบายในลักษณะนี้
และหากมองในมุมการเมือง นโยบายต่างๆ สะท้อนถึงก้าวย่างและยุทธศาสตร์ทางการเมืองของทั้ง 2 พรรคอย่างไรบ้าง
‘ความเชื่อมั่น’ ปัจจัยสำคัญของนโยบาย
THE STANDARD พูดคุยกับ ชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ช่วยฉายภาพตัวตนของทั้งสองพรรคการเมืองต่างขั้วที่สะท้อนผ่านการนำเสนอนโยบาย
ชาลินีเริ่มต้นด้วยการอธิบายสภาพปัญหาของระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกต่างประสบปัญหานี้ คือตัวแทนของประชาชน ไม่ว่าจะในรัฐบาล หรือในรัฐสภา ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เท่าที่ควร
“สังคมไทยเริ่มมองเห็นและยอมรับความแตกต่างหลากหลายกันได้เป็นเรื่องปกติแล้ว ทุกคนแสดงออกได้ชัดเจน ยิ่งส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลและรัฐสภายากขึ้น เพราะคนในสังคมมี Common Agreement (ข้อตกลงร่วมกัน) น้อยลง”
ชาลินีมองว่า พรรคก้าวไกลน่าจะตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวดี ชุดนโยบายและร่างกฎหมายจึงมีความหลากหลาย ตอบโจทย์ประชาชนได้หลายกลุ่ม ซึ่งเป็นบทบาทที่ดีของพรรคฝ่ายค้าน อันมีหน้าที่หลักคือชี้ให้เห็นความต้องการอันหลากหลายของประชาชน พร้อมกับส่งเสียงไปยังรัฐบาลในเวลาเดียวกันด้วย
ส่วนนโยบายของฝั่งรัฐบาล ชาลินีให้ความเห็นว่า ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์แบบใดมาก่อน เมื่อมาเป็นรัฐบาลแล้วก็จำเป็นต้องประคับประคองความคาดหวังของคนที่หลากหลาย แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลปัจจุบันยังไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขนาดนั้น นำมาสู่ข้อจำกัดที่ทำให้การผลักดันนโยบายไปได้ ‘ไม่สุด’ เท่าช่วงหาเสียง
“เมื่อหาเสียง เราก็หาเสียงจากฐานเสียงของตัวเอง และแย่งชิงฐานเสียงของคนอื่น แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาลแล้ว ต้องทำงานให้ทุกคน”
เราขอให้ยกความแตกต่างระหว่างนโยบายของรัฐบาลและพรรคก้าวไกล ชาลินีชี้ว่า นโยบายพรรคก้าวไกลสามารถอุดช่องว่างของพรรคเองได้ดี กล่าวคือ เมื่อพรรคให้สัญญากับประชาชนแล้ว สิ่งที่ตามมาจะมีทั้งความหวัง และความกลัว โดยเฉพาะกับพรรคก้าวไกลที่ไม่เคยมีประสบการณ์บริหารประเทศมาก่อน
ดังนั้น สิ่งที่พิธาพูดบนเวทีของงาน Policy Fest คือการสร้าง Trust (ความไว้เนื้อเชื่อใจ) ระหว่างประชาชนและพรรคการเมือง เพื่อทำให้คนจำนวนหนึ่งเลิกลังเล และกล้าเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน
ด้านพรรคเพื่อไทยเองสูญเสีย Trust ไปเป็นจำนวนมากหลังการเลือกตั้ง แม้แต่กับคนที่เลือกเพื่อไทยเองก็ตาม พรรคก้าวไกลจึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อให้พรรคสามารถทำงานร่วมกับผู้คนได้
ชาลินีฉายภาพให้เห็นต่อไปว่า แม้รัฐบาลเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็จริง แต่บางสิ่งก็ยังต้องอาศัยการ ‘ขออนุญาต’ การทำงานต่างๆ จึงต้องมีความประนีประนอมและระมัดระวังตัวสูง ยิ่งพอเสียคะแนนนิยมจากการเลือกตั้ง ตกจากการเป็นที่ 1 ยิ่งทำให้ฐานรากที่เคยสร้างความมั่นใจลดน้อยถอยลงไป นโยบายของพรรคเพื่อไทยจึงเน้นไปที่ด้านเศรษฐกิจ เพื่อหลบเลี่ยงประเด็นการเมืองที่อาจนำมาสู่ความขัดแย้งหรือสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล
“บริบททางการเมืองย่อมส่งผลต่อการเสนอนโยบาย” ชาลินีสรุป
ก้าวต่อไป ก้าวอย่างระวัง ก้าวตามสังคม?
กลับมาที่พรรคก้าวไกล นโยบายมากมายที่สร้างความหวังให้ผู้คน แต่เมื่อมองในมุมปฏิบัติเล่า จะทำได้จริงมากน้อยเพียงใด เพราะแม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ได้คะแนนเสียงล้นหลามก็ยังไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ หรือต้องให้ได้ 270 เสียง หรือ 300 เสียง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เหมือนที่พิธากล่าวติดตลกบนเวที
ชาลินีมองในสภาพความเป็นจริงว่า ยากมากที่จะมีพรรคไหนได้คะแนนเสียงมากขนาดนั้น เพราะสภาพของสังคมไทยมีความแบ่งแยกต่างจากในอดีต ส่วนตัวจึงเชื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคก้าวไกลอาจชนะเลือกตั้งได้ แต่คะแนนเสียงจะไม่ขาด จึงยังต้องทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆ อยู่ดี นั่นคือมีโอกาสที่เราจะได้เห็นการทำงานในรัฐบาลผสมแบบก้าวไกล
ในขณะเดียวกัน ชาลินียังมองพัฒนาการของพรรคก้าวไกลในมุมที่อาจต่างจากหลายๆ คน เช่นกรณีการยุบพรรคการเมืองที่หลายคนมั่นใจว่า ‘ยิ่งยุบยิ่งโต’ นั้น ชาลินีมองเห็นตรงกันข้าม
“เพราะการยุบพรรคแต่ละครั้งไม่ได้เพื่อทำให้พรรคก้าวไกลหายไป แต่เพื่อขีดเส้นให้รู้ว่า ทำอะไรได้แค่ไหน รู้ว่าสังคมมีข้อจำกัดแค่ไหน นี่คือสิ่งที่ชนชั้นนำต้องการ ไม่ได้ยุบเพื่อให้หายไป แต่เพื่อให้รู้ที่ทางของตนเอง”
ชาลินีอธิบายว่า หากเหตุการณ์เช่นการยุบพรรคเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ตัวแสดงทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลเกิดการเรียนรู้ และไม่กระทำแบบเดิมซ้ำ
เมื่อเราถามต่อไปว่า หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้จุดแข็งของพรรคก้าวไกลที่มีมาโดยตลอด ทั้งความกล้าท้าชนกับระบบ ลุยรื้อโครงสร้าง หายไปหรือไม่?
ชาลินีบอกกับเราว่า ท้ายสุดแล้ว เส้นของสังคมจะค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า แน่นอนอาจมีประชาชนบางกลุ่มที่ไม่พอใจว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ทำตามที่หาเสียงไว้ แต่ขณะเดียวกันก็จะมีบางกลุ่มที่เข้าใจว่าพรรคก้าวไกลกำลังพยายามทำอะไรอยู่
ชาลินีพยายามบอกกับพวกเราว่า ท่าทีและย่างก้าวของพรรคก้าวไกลย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและบริบทของสังคมในเวลานั้น ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งการได้รับ ‘อนุญาต’ และจากกระบวนความคิดของคนในสังคมเอง
“เมื่อเวลาผ่านไป คนในสังคมจะคาดหวังกับความเปลี่ยนแปลงน้อยลง และคุ้นชินกับความผิดหวังมากขึ้น” ชาลินีทิ้งท้าย