×

เหตุใดที่ประชุมรัฐสภาจึงล่มเป็นครั้งแรกตั้งแต่ยังไม่เริ่มพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

13.02.2025
  • LOADING...

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 ที่มีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสนอโดยพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย มีสาระสำคัญที่การแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญ และเพิ่มหมวด 15/1 จัดทำฉบับใหม่ ที่ชื่อว่าเป็นฉบับของประชาชน ทั้ง 2 พรรคเห็นตรงกันในหลักการเบื้องต้น แต่มีบางรายละเอียดที่ต่างกัน

 

หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สำเร็จจะมีผลให้อำนาจของ สว. ถูกตัดลงไป จากเดิมที่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจาก สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของรัฐสภา ให้ใช้เสียงเห็นชอบจาก สส. เป็นหลัก นำมาสู่ความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย

 

อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมกันของรัฐสภาหนนี้เป็นอันต้องสะดุดลงหลังดำเนินการประชุมไปได้เพียง 2 ชั่วโมงกว่า โดยยังไม่ได้เข้าสู่เนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ THE STANDARD เรียงลำดับข้อเท็จจริงและจุดยืนที่นำมาสู่ ‘ที่ประชุมรัฐสภาล่ม’ ครั้งแรกในรัฐบาลนี้

 

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเดินเท้ากว่า 2 กิโลเมตร พร้อมนำกล้วยหลายหวีมามอบให้ สว. เฝ้าติดตามการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตั้งแต่ช่วงเช้า

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเดินเท้ากว่า 2 กิโลเมตร พร้อมนำกล้วยหลายหวีมามอบให้ สว. เฝ้าติดตามการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตั้งแต่ช่วงเช้า

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ไม่ขอสังฆกรรมด้วย ปกป้องครอบครัวภูมิใจไทย

 

ตั้งแต่ช่วงเช้า พรรคภูมิใจไทยนำโดย แนน บุณย์ธิดา สมชัย โฆษกพรรค และ ไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรค แถลงข่าวหลังขออนุญาตวอล์กเอาต์จากการประชุม โดยยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทยสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมายและกระบวนการที่ชอบธรรม ซึ่งการแก้ไขครั้งนี้อาจขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 พรรคจึงตัดสินใจไม่ขอมีส่วนร่วมในกระบวนการ

 

ไชยชนกเน้นว่า พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและไม่เกิดข้อสงสัย พร้อมย้ำว่า การตัดสินใจนี้เป็นจุดยืนของพรรคเอง ไม่เกี่ยวข้องกับความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล

 

“หากยังคลุมเครือ เราขอใช้เวลาให้มีช่องทางที่ชัดเจน ไม่ขัดกฎหมาย และไม่มีข้อสงสัยดีกว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะช็อตคัตหรือทำให้ง่ายๆ ผมต้องปกป้องครอบครัวภูมิใจไทยเท่านั้นเอง”

 

ทั้งนี้ ไชยชนกระบุด้วยว่า เพียง 70 เสียงของพรรคภูมิใจไทยไม่ถึงกับทำให้กระบวนการเดินต่อไม่ได้

 

สส. ภูมิใจไทย ที่พร้อมใจกันใส่เสื้อสีน้ำเงินพากันลุกออกจากที่นั่ง หลัง ไชยชนก ชิดชอบ ขออนุญาตวอล์กเอาต์

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

สว. สีขาว เสนอยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน

 

เมื่อเริ่มการประชุมไม่นาน นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. นำโดยกลุ่ม สว. สีขาว หรือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็น สว. อิสระ เสนอญัตติด่วนขอให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่

 

นพ.เปรมศักดิ์ ย้ำว่า กลุ่ม สว. สีขาว ไม่ได้คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง อยากให้ทุกขั้นตอนเข้าตามตรอกออกตามประตู เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง พร้อมโต้กลับ สว. สีน้ำเงิน ที่กดดันให้กลุ่มของตนเองถอนชื่อจากญัตติ

 

“การพยายามโยงพวกเราให้กับเข้ากับพรรคการเมืองเป็นการกระทำเก่าๆ เลิกทำเสียเถอะ ลูกไม้ทางการเมืองแบบนี้เด็กอนุบาลเขาก้าวตามทันแล้ว ใครคิดไม่ตรงกับตัวเองก็หาว่ามีเบื้องหลังอย่างนั้นอย่างนี้ คนที่กล่าวว่าการประชุมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่อาจหมิ่นเหม่ สุ่มเสี่ยง นั่นแหละคือการกระทำที่น่าละอายมากกว่า เพราะเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดต่อสาธารณชน” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว

 

ขณะที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. พรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนให้เลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อความชัดเจนว่าการแก้ไขมาตรา 256 และการตั้ง สสร. ต้องมีการทำประชามติก่อนหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า พรรคไม่ได้ต้องการถ่วงเวลา แต่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้จริงโดยไม่เสียของและ “ไม่ไปตายตอนจบ”

 

นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ระหว่างเสนอญัตติด่วนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมรัฐสภามีมติ 275 ต่อ 247 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ส่งผลให้การพิจารณาดำเนินไปตามระเบียบวาระเดิม คือการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย

 

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรเร่งรัดให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งปี 2570 เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

 

“การกำหนดกรอบเวลาแบบนั้นเป็นความคิดแบบเผด็จการ … หากกระบวนการไม่ถูกต้องอาจนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายในภายหลัง และทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มเหลวในที่สุด” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว

 

สว. สีน้ำเงิน ประกาศวอล์กเอาต์ ท้ายสุดที่ประชุมล่ม

 

จากนั้นปรากฏว่า พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. แจ้งต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาว่า ไม่เห็นด้วยกับการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในวันนี้ ก่อนจะขออนุญาตออกจากห้องประชุมทันที โดยมีกลุ่ม สว. สีน้ำเงินลุกออกจากห้องประชุม ไม่เว้นแต่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ด้วย ขณะที่กลุ่ม สส. พรรคเพื่อไทย จากที่นั่งประชุมก็ลุกขึ้นมาจับกลุ่มหารือกลางห้องประชุมด้วยท่าทีเคร่งเครียด

 

ต่อมา นันทนา นันทวโรภาส สว. แสดงความเห็นว่า บรรยากาศที่ห้องประชุมสะท้อนภาพลักษณ์ของวุฒิสภาว่าเราทำอะไรกันอยู่ เมื่อโหวตลงมติแล้วเป็นเช่นไรทำไมไม่ยอมรับมตินั้น ทำไมจึงบอกว่าถ้าแพ้มติจะวอล์กเอาต์ นี่เป็นมติของสมาชิกรัฐสภา และก่อนลงมติก็อภิปรายอย่างกว้างขวาง จบสิ้นกระบวนความแล้ว เหตุใดผลไม่ถูกใจจึงวอล์กเอาต์

 

“ดิฉันมองว่าสิ่งนี้เป็นภาพลักษณ์ที่พินาศของรัฐสภาแห่งนี้ นี่คือสถานที่ที่เป็นที่รวมของผู้แทนปวงชน และทำไมเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่ยอมรับกติกานี้ ทำไมไม่ให้เดินไปตามกระบวนการ เป็นไปอย่างศักดิ์สิทธิ์ตามที่ประธานรัฐสภาบรรจุด้วยมือของท่านเอง และทุกคนก็มาอภิปรายให้เหตุผลว่าแก้รัฐธรรมนูญไปทำไม” นันทนากล่าว

 

สส. จากหลากหลายพรรคพากันลุกออกจากห้องประชุม ภายหลังการนับองค์ประชุมมีผู้แสดงตนไม่ครบและไม่สามารถประชุมต่อไปได้

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ท้ายที่สุดเมื่อมีสมาชิกเสนอให้นับองค์ประชุม มีผู้แสดงตนเพียง 204 คนจากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 692 คน มี สส. แสดงตน 172 คน และ สว. แสดงตนเพียง 32 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ประธานรัฐสภาจึงปิดการประชุมทันทีในเวลา 12.03 น. ก่อนนัดให้มาประชุมอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (14 กุมภาพันธ์)

 

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบผลการแสดงตนพบว่า พรรคเพื่อไทยแสดงตนเพียง 22 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทย, พรรคกล้าธรรม, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ ไม่แสดงตนทั้งพรรค

 

เพื่อไทยยอมเดินทางโค้ง เลี่ยงอุปสรรค

 

หลังที่ประชุมรัฐสภาล่ม พรรคประชาชนแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทันที ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ กล่าววิจารณ์ความรับผิดชอบของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยว่า เซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ทำให้การประชุมล่ม ทั้งที่ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเคยประกาศสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงภาวะผู้นำในการควบคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลให้เข้าร่วมประชุม

 

ณัฐพงษ์ยืนยันด้วยว่า การแก้ไขมาตรา 256 สามารถเดินหน้าได้ทันทีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก โดยเชื่อว่าหากเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายก่อนจะเป็นผลดีต่อประชาชนมากกว่า พร้อมทั้งแสดงความกังวลว่า ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

สส. พรรคเพื่อไทย จับกลุ่มปรึกษากันระหว่างการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ต่อมาพรรคเพื่อไทยนำโดย สุทิน คลังแสง และ ชูศักดิ์ ศิรินิล แถลงข่าวทันทีเช่นกัน พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เตะถ่วงการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องการหาทางออกที่แน่นอน โดยเสนอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเดินหน้าได้จริง

 

“สมาชิกบางท่านอาจมองว่าเรามีเจตนาอะไรแน่ เราจึงต้องบอกให้ชัดเจนในการผลักดันให้สำเร็จ ถ้าเดินทางตรงไม่ได้ก็ขอเดินทางโค้ง หากทางโค้งแล้วมันไม่สำเร็จก็ขอหยุดการเดินทางไว้ก่อนดีกว่า ดีกว่าเดินไปแล้วตกเหว” สุทินกล่าว

 

สุทินพยายามอธิบายต่อไปว่า หากเสนอพิจารณาแล้วถูกโหวตให้ตกไป ถ้าทำแบบนี้ก็รู้แล้วว่าความล้มเหลวรออยู่ เราจึงแสวงหาความเป็นไปได้ คือการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายนี้ก่อน ซึ่งร่างยังคงอยู่ในสภาต่อไป หากคำวินิจฉัยเป็นคุณก็หมายความว่าเรามีโอกาสชนะเกินครึ่ง แต่ถ้าไม่เป็นคุณก็จะได้ชัดเจนสักทีว่ามันแก้ไม่ได้ เพราะตอนนี้สมาชิกหลายคนกังวลว่าต้องทำประชามติกี่รอบ หากพิจารณาแล้วจะถูกตัดสิทธิหรือไม่

 

“ทางดีที่สุดคือยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ความหวังเรายังมี” สุทินกล่าว

 

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พร้อม สส. พรรคประชาชน แถลงข่าวภายหลังที่ประชุมรัฐสภาล่ม

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ทางแพร่งที่คลุมเครือของคำวินิจฉัย

 

ความคลุมเครือของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มเข้าสู่จุดเปลี่ยน ภายหลังประธานรัฐสภาตัดสินใจบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ตามข้อเสนอของคณะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของประธานสภา ซึ่งได้รับข้อมูลใหม่จาก พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่มีความมั่นใจหลังเข้าหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญว่า การทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ โดยไม่จำเป็นต้องทำประชามติก่อนบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม

 

ประเด็นที่หลายฝ่ายยังคงกังวลคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ชี้ชัดว่าจำเป็นต้องทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง และก่อนหรือหลังบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ ทำให้กังวลถึง ‘ความเสี่ยง’ ว่าหากเดินหน้าประชุมวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไปอาจส่งผลกระทบทางกฎหมายตามมาภายหลัง

 

สำหรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ระบุว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่หากต้องการแก้ไขทั้งฉบับต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านกระบวนการที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนก่อน โดยต้องมีการทำประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก่อนเริ่มยกร่างใหม่ และต้องทำประชามติอีกครั้งหลังร่างเสร็จ เพื่อให้ประชาชนให้ความเห็นชอบ

 

กลุ่มมวลชนที่ปักหลักรอหน้าอาคารรัฐสภาสาดสีและโยนกล้วย เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ภายหลังที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่ม

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising