×

Pandemic Endgame โอมิครอนจะเผด็จศึกจริงหรือไม่

28.01.2022
  • LOADING...
Pandemic Endgame

“มีความเป็นไปได้ที่ภูมิภาคนี้กำลังเดินหน้าไปสู่จุดสิ้นสุดของการระบาดใหญ่ (Pandemic Endgame)” 

 

ดร.ฮันส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป (WHO/Europe) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 แต่หลังจากนั้นเพียง 1 วัน ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมคณะกรรมการบริหารว่า “มันอันตรายที่จะสรุปว่าโอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์สุดท้าย หรือว่าเราถึงจุดสิ้นสุด (Endgame)” 

 

ถึงแม้ ดร.ทีโดรสจะไม่ได้กล่าวถึงใครโดยตรง แต่คำว่า ‘Endgame’ ที่ได้ยินจากข่าวสองวันติดกันทำให้เห็นว่า ในระดับผู้เชี่ยวชาญเองยังมองสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนต่างกันออกไป 

 

Endgame ขึ้นกับว่าเป็นเกมที่ไหน

 

นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ WHO ประกาศให้สายพันธุ์ B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล และตั้งชื่อเป็นตัวอักษรกรีกว่า ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์นี้แพร่ระบาดและแทนที่สายพันธุ์เดลตาจนกลายเป็นพันธุ์หลักทั่วโลกภายในระยะเวลาไม่ถึงสองเดือน แต่ในหลายประเทศที่พบโอมิครอนระบาดก่อนกลับพบว่าถึงจุดสูงสุดอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันสัดส่วนผู้เสียชีวิตไม่มากเท่ากับสายพันธุ์ก่อนหน้า

 

ทำให้ผู้เชี่ยวชาญฝั่งหนึ่งมองว่าการระบาดใหญ่กำลังจะถึงจุดสิ้นสุด อย่าง ดร.ฮันส์ ที่รับผิดชอบเฉพาะภูมิภาคยุโรปคาดว่าชาวยุโรป 60% จะติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนภายในเดือนมีนาคม และเมื่อการระบาดในยุโรปชะลอตัวลงจะมีช่วงที่ภูมิคุ้มกันระดับโลก (Global Immunity) จากทั้งการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติ เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน 

 

“เราหวังว่าจะมีช่วงที่การระบาดสงบลงก่อนที่โควิดจะกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายปี แต่ไม่จำเป็นว่าจะเป็นการกลับมาของการระบาดใหญ่” ดร.ฮันส์กล่าว 

 

‘ภูมิคุ้มกันระดับโลก’ ที่เขาพูดถึงน่าจะเป็นหลักการเดียวกับ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) คือสัดส่วนของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันที่สามารถหยุดการระบาดของโรค แต่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เมื่อภูมิคุ้มกันตกลงโควิดก็จะกลับมาระบาดตามฤดูกาลอีกครั้ง

 

แต่สำหรับ ดร.ทีโดรส ที่รับผิดชอบทุกภูมิภาคทั่วโลกให้กล่าวว่า “ในทางตรงกันข้าม สภาวะทั่วโลกนั้นเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการอุบัติของสายพันธุ์ใหม่” โอมิครอนจึงไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้าย แต่หากประเทศต่างๆ ใช้ยุทธศาสตร์และเครื่องมือทั้งหมดอย่างครอบคลุม จะสามารถยุติระยะเฉียบพลันของการระบาดใหญ่ และยุติโควิดที่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกได้ในปีนี้

 

สังเกตว่า ดร.ทีโดรส พูดถึงการยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก (แทนที่จะพูดว่า การกลายเป็นโรคประจำถิ่น) ซึ่งหมายถึง ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ’ (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) ที่ WHO ประกาศให้โควิดเป็นภัยคุกคามระดับโลก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563

 

ส่วนยุทธศาสตร์และเครื่องมือที่ว่าคือ 

  • การฉีดวัคซีน 70% ของประชากรในทุกประเทศ โดยเน้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง 
  • การลดอัตราตายด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง เริ่มต้นจากการบริการสุขภาพปฐมภูมิ การเข้าถึงการวินิจฉัย ออกซิเจน และยาต้านไวรัส ณ จุดบริการอย่างเป็นธรรม 
  • การเพิ่มการตรวจและถอดรหัสพันธุกรรมทั่วโลกเพื่อติดตามไวรัสอย่างใกล้ชิด และการอุบัติของสายพันธุ์ใหม่
  • การปรับใช้มาตรการทางสาธารณสุขและสังคมเมื่อจำเป็น 
  • การฟื้นฟูและคงไว้ซึ่งบริการสุขภาพที่จำเป็น 
  • การเรียนรู้บทเรียนที่สำคัญและกำหนดทางออกใหม่ในปัจจุบัน โดยไม่รอให้การระบาดใหญ่สิ้นสุดลง 

 

“วัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่ใช่กุญแจสำคัญของการสิ้นสุดการระบาดใหญ่ แต่ไม่มีทางออกอื่นเว้นแต่เราจะบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการฉีดวัคซีน 70% ของประชากรทุกประเทศภายในกลางปีนี้” ดร.ทีโดรสกล่าว

 

ด้วยความเป็นการระบาดใหญ่ของโควิด หากยังมีการระบาดเกิดขึ้นอยู่ในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ก็จะส่งผลต่อภูมิภาคที่เหลืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนสายพันธุ์เดลตาจากอินเดีย หรือสายพันธุ์โอมิครอนจากแอฟริกาใต้ที่ผ่านมา และด้วยตำแหน่งของ ดร.ทีโดรส ทำให้เขาต้องเน้นการกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรมในทุกภูมิภาคเพื่อที่จะยุติภาวะฉุกเฉินระดับโลกได้อย่างมั่นใจ

 

ถ้าการระบาดใหญ่ถึงจุด Endgame

 

ประเด็นหนึ่งที่ผู้อำนวยการทั้งสองท่านน่าจะเห็นตรงกันคือ ยังเร็วเกินไปที่จะพิจารณาโควิดเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) โดย ดร.ฮันส์กล่าวว่า “มีการพูดคุยกันมากมายเกี่ยวกับโรคประจำถิ่น แต่โรคประจำถิ่นนั้นหมายความว่าเราสามารถคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขณะที่ไวรัสตัวนี้ทำให้เราประหลาดใจมากกว่าหนึ่งครั้ง ดังนั้นเราจึงยังต้องระวังให้มาก” (ในมุมมองของ ดร.ฮันส์ Endgame ยังไม่เท่ากับ Endemic)

 

ส่วน ดร.ทีโดรสแทบไม่พูดถึงเลย แต่เคยพูดถึงการระบาดใหญ่กับสื่อมวลชนว่า “ยังไม่มีที่ใดใกล้สิ้นสุด” เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 และอธิบายว่าถึงแม้สายพันธุ์โอมิครอนจะพิสูจน์ได้ว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าโดยเฉลี่ย แต่การกล่าวว่าเป็นโรคที่ไม่รุนแรงทำให้เข้าใจผิด เพราะโอมิครอนยังทำให้ผู้ติดเชื้อต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิต และแม้แต่ผู้ติดเชื้อที่รุนแรงน้อยกว่าก็ยังล้นโรงพยาบาล

 

ในขณะที่ ดร.ไมเคิล ไรอัน หัวหน้าฝ่ายภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ องค์การอนามัยโลก ที่มักจะแถลงข่าวร่วมกับ ดร.ทีโดรสเป็นประจำ ได้กล่าวในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ว่า 

 

“เราไม่สามารถยุติไวรัสได้ในปีนี้ และไม่สามารถยุติไวรัสได้ตลอด แต่สิ่งที่เราสามารถยุติได้คือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” 

 

แสดงว่า WHO มองว่าไวรัสจะยังคงระบาดอยู่ แต่อาจลดระดับความเสี่ยงลงมาอยู่ในระดับปกติ ส่วนจะเรียกว่าโรคประจำถิ่นหรือไม่ยังไม่ชัดเจน แต่ ‘โรคประจำถิ่น’ ในมุมมองของ ดร.ไมเคิล “ไม่ได้หมายความว่าดี (Good) แต่หมายถึงคงอยู่ตลอดไป (Here Forever)” พร้อมกับยกตัวอย่างโรคประจำถิ่นอย่างมาลาเรียและไวรัสเอชไอวีที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่าแสนรายต่อปี

 

ดังนั้นฉากสิ้นสุดการระบาดใหญ่ของโควิดที่ค่อนข้างชัดเจนในขณะนี้คือ ‘โรคประจำถิ่น’ ซึ่งไม่สามารถกำจัดโรคให้หมดไป เพียงแต่ฉากที่ว่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไรเท่านั้น และผู้เชี่ยวชาญบางท่านคงเห็นว่าการจะเรียกว่าอย่างนั้นได้ต้องรอให้อัตราป่วยของโรคคงที่และคาดการณ์ได้ก่อน ยังไม่สามารถเรียกล่วงหน้าได้ ก็อาจเรียก ‘ระยะหลังการระบาดใหญ่’ (Post-pandemic) แทน เหมือนการแบ่งระยะของไข้หวัดใหญ่

 

Endgame ที่ยังระบาดต่อตามฤดูกาล

 

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะทำให้การระบาดใหญ่สิ้นสุดลงด้วยเหตุผลคือ โอมิครอนแพร่กระจายเร็วกว่าเดลตา ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เมื่อหายดีแล้วจึงมีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อโควิดเพิ่มขึ้นในระยะเวลาสั้น ประกอบกับการฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมมากขึ้น เมื่อโอมิครอนแทนที่เดลตาได้สำเร็จก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือน 4 สายพันธุ์ก่อนหน้า

 

การกลายพันธุ์ของโอมิครอนสอดคล้องกับหลักการคัดเลือกตามธรรมชาติ (Natural Selection) คือ สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ดีจะมีชีวิตอยู่รอดได้มากกว่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัวได้ โดยโอมิครอนหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี และแบ่งตัวในหลอดลมได้เร็ว ทำให้สามารถแพร่กระจายได้ง่าย และไม่ก่อโรครุนแรง ผู้ติดเชื้อไม่ป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลทำให้สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้

 

แต่ผู้เชี่ยวชาญอีกฝั่งหนึ่งเห็นว่าไวรัสยังคงกลายพันธุ์ตลอดเวลา ดังนั้นโอมิครอนจึงไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้าย และสามารถกลายพันธุ์แล้วก่อโรครุนแรงขึ้น เท่าเดิม หรือน้อยลงก็ได้ เพราะการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นแบบสุ่ม ไวรัสคิดเองไม่ได้ว่าต้องทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงน้อยลง ตัวอย่างที่ชัดเจนคืออัลฟา และเดลตาที่กลายพันธุ์แล้วสามารถแพร่กระจายเร็วขึ้นและรุนแรงมากขึ้นด้วย

 

ดร.มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ นักระบาดวิทยาโรคติดเชื้อ หัวหน้าทีมเทคนิค องค์การอนามัยโลก ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กของ WHO เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ว่าโอมิครอนจะไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้าย โดยสายพันธุ์ที่น่ากังวลถัดไปจะมีความเหมาะสมมากขึ้นคือสามารถแพร่กระจายได้เร็วขึ้น เพราะจะต้องเอาชนะสายพันธุ์ก่อนหน้า 

 

แต่คำถามที่สำคัญคือสายพันธุ์ในอนาคตจะรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลง

 

สิ่งหนึ่งเราคาดการณ์คือไวรัสอาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันมากขึ้น นั่นหมายความว่าเครื่องมือที่เรามีอย่างวัคซีนอาจมีประสิทธิผลลดลง เราไม่อยากให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น สถานการณ์ในอนาคตที่เราคาดหวังคือการแพร่เชื้ออยู่ในระดับต่ำ แต่ในระดับนี้อาจมีการระบาด (Outbreak) เกิดขึ้นในกลุ่มที่ไม่ได้มีการป้องกันทั้งที่ไม่ได้รับ เข้าไม่ถึง หรือปฏิเสธวัคซีน หรือเคยติดเชื้อแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันลดลงตามเวลา 

 

เราอาจเห็นการระบาดตามฤดูกาล เนื่องจากเป็นไวรัสทางเดินหายใจ ซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้มักจะพบการระบาดในฤดูหนาว ส่วนเขตร้อนอาจพบการระบาดที่ต่างออกไป แต่ยังคงเกิดตามฤดูกาลอยู่

 

สายพันธุ์ใหม่เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย เรายังไม่รู้เกี่ยวกับไวรัสนี้ทั้งหมด แต่สิ่งที่เรารู้คือมาตรการใดที่ใช้ได้ผล วัคซีนป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต การเว้นระยะห่างทางกายภาพ การระบายอากาศ การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดลดการแพร่เชื้อ การสวมหน้ากากป้องกันการแพร่เชื้อไปจากคนสู่คน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายถึงการล็อกดาวน์ แต่เป็นการใช้หลายมาตรการร่วมกัน (Layered approach)

 

โดยสรุปสำหรับประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง ภูมิคุ้มกันจากทั้งการติดเชื้อโอมิครอนและวัคซีนอาจทำให้การแพร่ระบาดลดลงเป็นระยะเวลาหนึ่ง (Endgame ในมุมมองของ ดร.ฮันส์) 

 

แต่ในระดับโลก การระบาดของโอมิครอนอาจเป็นปัญหาในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ และ WHO ตั้งเป้าหมายความครอบคลุมของวัคซีนในทุกประเทศอย่างน้อย 70% ภายในกลางปีนี้ 

 

ในขณะที่ไวรัสจะยังคงกลายพันธุ์ สายพันธุ์ถัดไปน่าจะแพร่กระจายเร็วขึ้น และระบาดตามฤดูกาล ส่วนความรุนแรงที่เกิดจากไวรัสเองเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ สุดท้ายหากสายพันธุ์ใหม่หลบภูมิคุ้มกันเก่งขึ้นก็มีความเป็นไปได้ที่การระบาดจะยืดเยื้อหรือเริ่มต้นเกมใหม่ หวังว่าภูมิคุ้มกันจะยังป้องกันอาการหนัก และเมื่อถึงเวลานั้นความอ่อนล้าจากการระบาดใหญ่อาจบังคับให้มนุษย์เป็นฝ่ายปิดเกมเองแทนที่จะเป็นไวรัส

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising