หลังจากเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้เผยแพร่แถลงการณ์ระบุถึงการขับ หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส. พิษณุโลก เขต 1 ของพรรคออกจากการเป็นสมาชิกพรรค หลังปดิพัทธ์ยืนยันในการดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ขณะที่พรรคก้าวไกลยืนยันการได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งตามรัฐธรรมนูญพรรคที่ได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ไม่มี สส. ของพรรคดำรงตำแหน่งประธานสภา หรือรองประธานสภา หรือรัฐมนตรี จึงนำมาซึ่งการขับปดิพัทธ์ออกจากสมาชิกพรรค เพื่อเปิดทางให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
THE STANDARD เปิดใจ หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา ผ่านรายการ THE STANDARD NOW เมื่อวันที่ 29 กันยายน ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์
ถูกขับไล่พ้นสมาชิกก้าวไกล(ไม่)จริง
ชัยนนท์: ผมขออนุญาตย้อนถามก่อนที่มาถึงวันนี้ ว่าก่อนหน้านี้คุณปดิพัทธ์เอง และพรรคก้าวไกล ก็คุยกันมากับนักวิเคราะห์ว่า ตกลงแล้วคุณหมอกับก้าวไกลจะเอาอย่างไร
ปดิพัทธ์: ย้อนกลับไปตอนที่จะตั้งรัฐบาล ผมถูกเสนอชื่อเพื่อเป็นสมการให้พิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่ารอบแรกพิธาไม่ได้เป็น รอบสองก็ไม่ได้เป็น เราเริ่มรู้สัญญาณแล้วว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้าน และด้วยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญก็โผล่ขึ้นมาทันที เราไม่ได้พูดคุยแค่วันนี้ แต่เราพูดคุยกันมาก่อน มีการดูทั้งกฎหมาย เรื่องส่วนได้ส่วนเสียในแง่มุมต่างๆ จนมาถึงการตัดสินใจของพรรคก้าวไกลเมื่อวาน
ชัยนนท์: ผมคงต้องถามถึงดราม่าที่เกิดขึ้นหลังตัดสินใจ ฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วยได้ออกมาให้ความเห็นกันเรื่อยๆ ผมขออนุญาตเอ่ยถึงคนคนหนึ่งที่ออกมาค่อนข้างร้อนแรงเหมือนกันคือ อี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาว่า อย่าว่าเพื่อไทยการละคร ก้าวไกลก็การละคร เตรียมจะร้อง ป.ป.ช. สอบจริยธรรมร้ายแรง ประเด็นนี้คุณหมอว่าอย่างไร หลายคนบอก อ๋อง vs. เอ๋ (ปารีณา) หรือเปล่า
ปดิพัทธ์: คุณอี้เขาก็วิพากษ์วิจารณ์ผมเรื่อยๆ ถือว่าเป็นสิทธิของคุณอี้ตรงนี้ ก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง คิดว่าที่เขามาวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นสิ่งที่เรานำมาปรับใช้ได้ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ตรงนี้ก็อาจเป็นการเมืองในทางของคุณอี้เขา ผมไม่มีปัญหา
ชัยนนท์: นอกจากฝั่งของประชาธิปัตย์แล้ว แน่นอนมีมาจากฝั่งของ สว. หลักๆ มี 2 ท่าน น่าจะเห็นกันตามหน้าสื่อคือ (สว. วันชัย สอนสิริ และ สว. เสรี สุวรรณภานนท์) ซึ่ง สว. วันชัย ก็กล่าวหาแรงว่า ถึงเวลาอยากได้ตำแหน่ง อยากได้อำนาจก็ทำอะไรที่ไม่ต่างจากพรรคอื่น ทั้งๆ ที่ผ่านมาเคยโจมตีพรรคอื่น พฤติกรรมตรงนี้ถือเป็นนิติกรรมอำนาจ ทำทีไล่ออกหลอกๆ ไม่ใช่ของจริง
ปดิพัทธ์: ผมโดนไล่ออกจริงนะครับ ยังใจหายอยู่เลยตอนนี้ ผมคิดว่า สว. แน่นอนไม่เคยอยู่ฝั่งเดียวกันกับพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว ผมก็ไม่เคยคิดว่า สว. มีเจตนาเพื่อประชาธิปไตยอยู่แล้ว และการที่ สว. วิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์ แต่ถามว่าเป็นทั้งหมดของ สว. ไหม เป็นแค่บางท่าน เราเห็นบทบาทของท่านอยู่แล้ว ถ้าใช้คำว่านิติกรรมอำพราง เราต้องใช้กฎหมายปิดบังเจตนาที่แท้จริงของเรา นี่เราพูดถึงเจตนาชัดๆ ผมต้องการเป็นรองประธานสภา ชัดมาตลอด พรรคก้าวไกลต้องการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ผมต้องการเป็นรองประธานสภา ไม่ใช่ใช้กฎหมายเพื่ออำพรางเจตนาที่แท้จริงเลย
ชัยนนท์: แล้วถ้าเกิดว่าทาง สว. ถามว่าการที่คุณปดิพัทธ์ถูกขับออกจากพรรค มันต้องทำผิดอะไรสักอย่างหนึ่งจึงนำมาสู่การขับออกจากพรรค เหตุผลตรงนั้นจะอธิบายกับสังคมอย่างไร
ปดิพัทธ์: ผมว่าอันนี้ต้องถามก้าวไกล ก้าวไกลตัดสินใจแบบนี้ มติของพรรคกับเจตนารมณ์ของผมนั้นไม่ตรงกันในการเมืองของปีนี้ เพราะฉะนั้นการแยกย้ายกันเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้นะครับ เพราะถ้าผมยืนกรานจะเป็นประธานสภา ส่วนก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้าน มันไม่ได้อยู่แล้วเงื่อนไขอยู่ที่ผมคนเดียว แต่ถ้าก้าวไกลบอก อย่างไรผมจะเอาผู้นำฝ่ายค้าน ก็ต้องใช้มติพรรค เพราะผมเป็นคนของพรรค และผมก็ขัดมติพรรคไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้นตรงไปตรงมา ผมอยากได้อันนี้ ก้าวไกลอยากได้อันนี้ จำเป็นต้องแยกกัน เพราะกฎหมายบังคับเรา
ชัยนนท์: พอก้าวไกลได้แถลงออกมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน ขึ้นภาพว่า แยกกันเดิน เปลี่ยนประเทศ แล้วมีบางท่านบอกว่า จะพิสูจน์กันอย่างไร ว่าคุณหมอกับก้าวไกลจะไม่เกี่ยวกันแล้วจริงๆ หรืออย่างที่ สว. บอก รู้ร่วมกัน ทฤษฎีสมคบคิด หลังจากนี้คุณหมอกับก้าวไกลจะไม่เกี่ยวข้องกันแล้วจริงๆ หรืออาจจะเป็นเหมือนที่ สว. บอกรู้เห็นร่วมกัน สมคบคิด ถึงแม้ว่าคุณหมอจะไปอยู่กับพรรคอื่นก็ตามจะเป็นแบบนี้
ปดิพัทธ์: ก็ สว. เขาคงมีประสบการณ์กับนักการเมืองในอดีต ว่าการกระทำแบบนี้คงจะมีเงื่อนงำอำพรางอะไรซับซ้อน พวกเราไม่เคยอยู่ในการเมืองแบบนั้นมาก่อน เราก็ไม่เข้าใจว่าโลกของเขาเป็นอย่างไรนะครับ แต่ผมกับก้าวไกลเราไม่ได้เกี่ยวข้องในทางพฤตินัยมานานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม พอผมรับตำแหน่ง ผมไม่เคยเข้าประชุม ผมลาออกจากกรรมการบริหาร ประชุมวิสามัญล่าสุดยังไม่ได้ไปเลยนะครับ
เพราะฉะนั้นในทางพฤตินัยผมห่างมานานมากแล้ว แต่พอมันเพิ่มนิตินัยเข้ามาด้วย มันก็เลยยิ่งห่างเข้าไปอีก ถามว่าผมกับก้าวไกลไม่เกี่ยวข้องกันไหม ก็ไม่ใช่ เลือดเนื้อเชื้อไขของเราคืออนาคตใหม่ เราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหน ผมไม่ใช่แค่เป็นคนของใคร แต่ผมมีอุดมการณ์แบบไหนต่างหากครับ เพราะฉะนั้นถ้าผมสัญญากับประชาชนไว้แล้ว สัญญากับสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ว่าผมอยากเปลี่ยนแปลงสภาให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพเป็นของประชาชน ผมจะทำให้อุดมการณ์นี้สำเร็จ
ชัยนนท์: ต้องถามความรู้สึกหน่อยว่า ที่คุณหมอบอกว่าอยู่กับก้าวไกลมานาน จริงๆ อยู่มาตั้งแต่ Day 1 กับพรรคอนาคตใหม่เลยใช่ไหมครับ
ปดิพัทธ์: ก็อาจจะไม่ถึงขนาด Day 1 ก่อนจะมาเป็นอนาคตใหม่ก็ Approve เข้าไปคุยกันแล้ว
ชัยนนท์: พอมาถึงวันนี้ โอเค สิ่งที่มันเกิดขึ้น เราโดนพรรคขับออกเพื่อที่เราจะได้ทำตามสิ่งที่เราอยากหรือต้องการ รู้สึกอย่างไรครับที่จะต้องไปอยู่พรรคอื่นแล้ว จะไม่ได้อยู่ก้าวไกลแล้ว ทั้งที่เราอยู่กันมานาน
ปดิพัทธ์: ผมก็รักพรรคนี้มากครับ (พรรคก้าวไกล) ผมก็เป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครพรรคก้าวไกล เป็นคนทำแคมป์อคาเดมีให้ผู้สมัครสามารถทำแคมเปญเลือกตั้งได้ ฉะนั้นผมจึงผูกพันกับสมาชิกพรรค ทั้งทีมจังหวัดและ สส. ชุดปัจจุบันมาก ก็เลยเป็นความรู้สึกใจหาย แล้วก็เสียใจที่คงจะไม่ได้ใช้เวลาด้วยกัน รวมถึงไม่ได้ไปมีส่วนร่วมในสุขทุกข์ของเขานะครับ อีก 3 ปีข้างหน้า
ก็ใจหายนิดหน่อย แต่ถามว่าเราก็มีเพื่อนร่วมทางตอนอนาคตใหม่ที่ต้องแยกย้ายกันเดินหลายท่านนะครับ ถามว่ามันทำให้พวกเราดูต่างกันหรือเปล่า มันทำให้พวกเราแยกกันเดิน ทุกคนสูญเสียอุดมการณ์ไปหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ ทุกคนอยู่คนละถนน แต่กำลังมุ่งหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยซ้ำ
ชัยนนท์: ฟังจากคุณหมอ ทุกอย่างดำเนินการด้วยอุดมการณ์เดียวกัน ถ้าอย่างนั้น กว่าที่จะมาถึงการตัดสินใจอย่างเมื่อวานกับวันนี้ ผู้ใหญ่ในพรรค เพื่อน สส. สมาชิกพรรค มีใครส่งข้อความมาหาไหมครับ
ปดิพัทธ์: ก็ทุกอย่างมันจบตั้งแต่เมื่อวาน (28 กันยายน) แล้วครับ คือเราก็คุยหลายวง ทั้งวงเย็น วงกลางคืน ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากมากครับ เพราะแน่นอนเราไม่อยากทำอะไรที่มันดูมีเล่ห์เหลี่ยม หรือบางคนก็หาว่าที่ผมวิจารณ์เรื่องต่างๆ เพราะหาเรื่องให้โดนขับออกจากพรรค ซึ่งดราม่าที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ แล้วการตัดสินใจแบบไหนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และคนที่สนับสนุนพรรค สมาชิกของพรรคเรารับได้ที่สุด ตัวแทนจังหวัดคิดอย่างไร กรรมการชุดเก่า-ชุดใหม่คิดอย่างไร เราคิดกันมานานมากๆ ครับ แล้วก็เป็นบทสนทนาที่ลำบาก
ชัยนนท์: อีกประเด็นหนึ่งฝั่งของคนที่เขาอาจจะไม่ได้เชียร์อนาคตใหม่หรือก้าวไกลเนี่ย เขาก็บอกว่า เมื่อก่อนหน้านี้คุณหมอเคยบอกว่าจะทำตามมติพรรค มติพรรคว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น หลายๆ ท่านในพรรคก้าวไกลก็ออกมาบอกแบบนี้เหมือนกัน แต่ทำไมในแถลงการณ์กลับระบุว่า ปดิพัทธ์ประสงค์จะรักษาเก้าอี้รองประธานสภาต่อ เหมือนเขาก็เอามาจับผิดว่าไม่ตรงกันหรือเปล่า
ปดิพัทธ์: ก็เป็นสิทธิที่จะวิจารณ์ได้ เพราะเป็นสิ่งที่สัญญาไว้ในอดีตของทุกพรรคการเมืองนะครับ ถ้ามีการบิดพลิ้ว ไม่ทำตาม ก็จะถูกตรวจสอบ แน่นอนครับเป็นการตัดสินใจที่ลำบากของทั้งสองฝั่งของทั้งก้าวไกลและตัวผมเอง
ถ้าก้าวไกลตัดสินใจให้ผมรักษาตำแหน่งรองประธานสภาต่อ เขาก็จะเจอปัญหามหาศาลต่อกับการไม่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ปัญหาทางรัฐธรรมนูญ ปัญหาในพรรคร่วม และจะทำให้การเป็นฝ่ายค้านในรัฐสภานั้นขาดผู้นำ ทำให้การเป็นฝ่ายค้านเต็มตัวในแบบที่ก้าวไกลอยากเป็นนั้นทำไม่ได้ แต่ถ้าถามว่า ถ้าก้าวไกลมองมาที่ผม แล้วไม่มีผมเป็นรองประธานสภา ใครล่ะจะทำให้เกิดมิชชันต่างๆ
นักวิชาการหลายท่านบอกว่า ตั้งแต่มีประธานสภามาก็เพิ่งมาเห็นคนที่อยากเปลี่ยนสภาจริงๆ จังๆ นอกจากแค่อยากอยู่บนบัลลังก์ ทีนี้ผมก็มานั่งชั่งใจว่าจะเอาอย่างไรต่อ เป็นต่อก็ไม่มีตัวเลือกแล้ว
ชัยนนท์: มันเคยมีแวบหนึ่งไหม ในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่เอาแล้ว ไม่เป็น (รองประธานสภา) ดีกว่า
ปดิพัทธ์: ผมก็อยากไปยืนกับรัฐมนตรีทั้งหลายข้างล่างในฐานะ สส. มันก็มีมิชชันที่ท้าทายต่างกัน แต่ตอนนี้บทบาทในฐานะรองประธานสภาของผมท้าทายมากนะครับ นอกซีนในทีวี การตรวจรับสภาเป็นสิ่งที่ท้าทายผมมากนะครับ สภาโดนปรับ เราจะต้องเอาผิดใคร อย่างไร ยืดเยื้อมานาน ต้องจบปีนี้ จริงๆ ต้องจบเมื่อวันก่อน คือการส่งมอบสภาสุดท้ายมันเกิดขึ้นก่อนต้นสัปดาห์ที่แล้วครับ ถ้าเลขาธิการท่านนี้ยืนยันตามมติของเสียงข้างมากในการตรวจรับ สภาจะเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ วันที่ 30 กันยายน 2566
แยกกันเดินบนเส้นทางเดียวกัน
ชัยนนท์: ขอย้อนกลับมา สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลและคุณหมอ บางท่านบอกว่า อาจจะไม่เป็นผลดีในระยะยาวกับคุณหมอและพรรคก้าวไกล เป็นเกมฝากเลี้ยง เป็นแท็กติกของพรรคก้าวไกลหรือเปล่า
ปดิพัทธ์: ผมก็รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเลย และความเห็นต่างๆ เหล่านี้ จริงๆ เราปรึกษามาหลายท่านก่อนจะตัดสินใจนะครับ ซึ่งทุกคนพยายามจะดูฉากทัศน์ทั้งหมดว่าจะได้จะเสียอย่างไร ผมคิดว่าอาจจะเป็นผลต่อตัวผมเอง แต่ถ้าเราทำมิชชันแยกกันเดิน ประเทศสำเร็จ แล้วเปลี่ยนแปลงมันได้ ต่อให้เป็นฝ่ายค้านก็ตาม ดูแล้วได้กับเสีย ได้มันน่าจะคุ้มกว่า
ชัยนนท์: เราคิดมาแล้วใช่ไหมว่า ต่อให้ก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้านที่มีเสียงไม่ถึง 200 เสียง และคุณหมอเป็นรองประธานสภาคนที่ 1 ถ้าแยกกันไปแบบนี้ น่าจะสร้างอะไรได้มากกว่า ถ้าอย่างนั้น ณ ตอนนี้ ผมถามอย่างตรงไปตรงมาไป อยู่ (พรรค) ไหน
ปดิพัทธ์: ยังไม่ทราบจริงๆ ครับ เพราะจะไปอยู่พรรคไหน จำเป็นต้องคุยกับผู้บริหารพรรคนั้น ต้องคุยกับหัวหน้าพรรคที่เราจะไปสมัครอยู่ในพรรคเขา มีข้อกำหนดและค่านิยมอย่างไร ข้อบังคับพรรคเป็นอย่างไร ก่อนผมเข้าพรรคอนาคตใหม่ ผมเอามานั่งอ่านทุกอันเลยนะครับว่า พรรคนี้ชื่ออะไร เขาอยู่ร่วมกันอย่างไร กฎหมายที่เขาจะผลักดันเรื่องอะไรบ้าง ถ้าผมไปอยู่ในพรรคที่ผมไม่เห็นด้วยกับอะไรเลยก็คงไม่มีความสุข เป็นการทรยศพรรคใหม่ที่ไปอยู่ด้วย
เพราะฉะนั้นผมอยากให้เกียรติพรรคใหม่ที่ผมจะไปอยู่ด้วย แต่การให้เกียรตินั้นต้องเกิดจากการที่ผมเต็มใจที่จะไปอยู่ใต้วัฒนธรรมและกฎเกณฑ์นั้น ซึ่งก็ต้องใช้เวลาศึกษาภายใน 30 วัน
ชัยนนท์: เมื่อเช้าได้ยินคุณปดิพัทธ์แถลง จะไม่ได้เป็นนอมินีอยู่กับทางพรรคก้าวไกลด้วย ตรงนี้ผมสมมติไปล่วงหน้านิดหนึ่ง สมมติว่า ถ้าตามโผก็มีเป็นธรรมกับไทยสร้างไทย สมมติคุณหมอเลือกเป็นธรรมขึ้นมาแบบนี้ แต่ความรู้สึกคนก็คงห้ามยากที่ว่าพวกเดียวกัน ความรู้สึกคนคิดแบบนี้
ปดิพัทธ์: ก็พวกเดียวกันอยู่แล้ว พวกที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ปิดสวิตช์ สว. ปิดสวิตช์ 3 ป. แล้วปิดไม่สำเร็จด้วยกัน แล้วก็ไปเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน ถ้าถามว่า พวกเราเป็นพวกเดียวกันหรือไม่ อย่างไรนั้น ผมก็ไม่มีปัญหานะครับ แต่ไม่มีวันไปอยู่อีกข้างหนึ่งแน่นอน
ชัยนนท์: นั่นหมายความว่า ต่อให้เป็นพรรคที่มาจากอีกฝ่ายหนึ่งจะมาทาบทามอย่างไรก็ตาม
ปดิพัทธ์: จะมาบอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ครับ เพราะจุดยืนของผมในการเข้ามาสู่การเมือง คือเรื่องนี้เท่านั้นครับ
ชัยนนท์: แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า เขาก็สลายไปแล้ว ก้าวข้ามความขัดแย้งแล้ว ตอนนี้ผ่านการเลือกตั้ง 2 รอบแล้วนะ
ปดิพัทธ์: ผมทำงานกับเขาได้ แต่เป็นสมาชิกพรรคเขาไม่ได้ เพราะการเป็นสมาชิกพรรคจำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกันกับอุดมการณ์
ชัยนนท์: ถ้าพูดกันตามตรงมีเหลืออยู่แค่ไม่กี่พรรค มีแนวโน้มไหมครับ มีพรรคไหนที่ติดต่อมาแบบจริงจังแล้วไหมครับ
ปดิพัทธ์: ยังไม่มี อาจจะยังพอมีเวลาอยู่ แต่พรรครัฐบาลไม่ต้องเสียเวลา อันนี้สื่อสารได้เลย
ปดิพัทธ์ รองประธานสภา สายล่อฟ้า
ชัยนนท์: สิ่งที่เกิดขึ้น คงต้องย้อนถามคุณหมอที่พูดมาเหมือนกันว่า ดราม่า เป็นคนหนึ่งที่เจอดราม่าเยอะเหมือนกันนะครับ ขนาดผมทำข่าว หมออ๋องอีกแล้วเหรอ ที่สังคมพูดถึงเยอะ เช่น เลี้ยงหมูกระทะแม่บ้าน, ไปดูงานสิงคโปร์, เรื่องโพสต์คราฟต์เบียร์ ทั้งหมดทั้งมวล เคยคิดไหมครับ ทำไมเราโดน เราเป็นสายล่อฟ้าหรือว่าอย่างไร
ปดิพัทธ์: มันก็เป็นยุคสมัยของเรา ถ้าเราอยู่สมัยพรรคอนาคตใหม่ เราก็จะเห็นว่า การทำลายทางการเมือง การดิสเครดิตกันมันก็เกิดขึ้นจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นั่นแหละ นักการเมืองของพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลไม่เคยโดนเรื่องคอร์รัปชัน ไม่เคยโดนเรื่องซื้อ-ขายตำแหน่ง ไม่เคยโดนเรื่องเข้าไปใช้อำนาจบาตรใหญ่กับราชการ เราก็โดนเรื่องทำนองนี้ เพราะไลฟ์สไตล์เรามันไม่เหมือนนักการเมืองเก่าๆ
ตอนผมเลี้ยงหมูกระทะ ผมเช็กระเบียบแล้วทุกอย่างทำได้ แต่พอเลี้ยงปุ๊บ เจ้าหน้าที่บอกว่าระเบียบไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น สุดท้ายผมออกเองนะครับ
ชัยนนท์: ตกลงไม่ได้ใช้งบที่ให้ประธานสภา รองประธานสภาเหรอครับ
ปดิพัทธ์: เนื่องจากเจ้าหน้าที่อาจกังวลมากว่าจะมีคนร้องเรียน แล้วคนที่จะโดนไม่ใช่ผม แต่จะเป็นเจ้าหน้าที่ ผมก็เลยว่า ผมจัดการเองก็แล้วกัน แต่ถามว่า เวลาเคสอื่น ประธานท่านอื่น กรรมาธิการท่านอื่นไปใช้เลี้ยงรับรอง ไม่เคยมีใครตรวจสอบนะครับ
ผมก็ไม่ได้ตั้งใจจะบอกให้เป็นข่าว เราคิดจะเลี้ยงแม่บ้าน ถ้าอย่างนั้นเราเลี้ยงภายในก็แล้วกัน ให้เอาบริการรับจัดเตรียมอาหารให้กับแม่บ้านมา คำถามคือใครเก็บถูครับ ก็ต้องแม่บ้านที่มากินกันทำความสะอาด ผมเลยคิดว่า แม่บ้านอุตส่าห์มาเป็นแขกทั้งที จะมาเหนื่อยอีกทำไม แล้วผมก็นึกว่ามีแม่บ้านสภาสักร้อยคน แต่ในความเป็นจริง 370 คน แน่นอนว่าการเลี้ยงคนหมู่มากแบบนี้โดนตั้งคำถามอยู่แล้ว ก็พร้อมชี้แจง งบรับรองก็เขียนชัดเจนเลยครับ เป็นวิจารณญาณ ดุลพินิจของรองประธานสภา
ชัยนนท์: มีใครไปร้องไหม
ปดิพัทธ์: ก็มี ตัวละครเดิมๆ
ชัยนนท์: เนี่ย พอบอกว่าเราควักกระเป๋าเลี้ยงเอง เดี๋ยวจะมีปัญหาอีกไหมครับเนี่ย
ปดิพัทธ์: ทำอะไรก็มีปัญหาครับคุณอ๊อฟ ผมคิดว่าเรื่องนี้เราเอาอย่างนี้ ผมว่าถ้าเราคิดจะสร้างการเปลี่ยนแปลงคงจะไม่เกิดเรื่องพวกนี้
ผมทำตัวเหมือนนักการเมืองเดิมๆ ทำทุกอย่างลับๆ ทำทุกอย่างแบบเดิมๆ โดยที่ราชการที่รู้ว่าทำแบบนี้ก็ไม่มีปัญหาทางกฎหมาย แต่ประชาชนไม่มี ไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นหน่วยงานต่างๆ เดี๋ยวนี้สำคัญนะครับ คณะกรรมาธิการสภานี่แหละครับ งานเยอะที่สุดเลยนะครับ และไปดูงานแต่ละประเทศ ประชาชนเคยรู้หรือเปล่า ใช้งบไปเท่าไร อย่างไร ฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าผมจะโดนวิพากษ์วิจารณ์มากหน่อยเพื่อความโปร่งใสในอนาคตผมก็พร้อม
ชัยนนท์: อย่างการดูงาน เวลาผมเข้าไปปดูคอมเมนต์ ดูโซเชียล ผมพยายามจะดูของทั้งสองฝ่าย ที่นี้ฝ่ายที่เขาอาจไม่ค่อยชอบหมอ หรือไม่ชอบก้าวไกลเนี่ย เขาก็จะบอกว่า ก้าวไกลเคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก่อนไว้ เรื่องดูงาน แต่พอตัวเองมาเป็นก็ทำซะเอง มาตั้งงบตั้งล้านกว่าเพื่อไปดูงาน อย่างนี้จะตอบอย่างไรครับ
ปดิพัทธ์: ถ้าเกิดมาดูนโยบายของเรา เราจะบอกว่า เราจะดูงานเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า จะลดงบดูงานลง เพราะฉะนั้นการที่เราจะไปดูงาน เราก็ต้องดูว่ามันคุ้มค่ากับปริมาณงานและคุณภาพ ไม่ใช่ว่าเราต้องดูงานให้ได้ งบประมาณให้ได้ ไม่เคยอยู่ในความคิดแบบนี้นะครับ โอเค เราบอกว่าเราจะศึกษาไปแล้ว 2 เดือน เราเจอว่าสภาเรามีจุดบอดอะไร เช่น ตัวชี้วัดความโปร่งใสในสภา เราไม่มีนะครับ ตามมาตรฐานระดับ Gender Equality ของรัฐสภาก็ไม่มี เราจะมีได้อย่างไร
เราก็ต้องพาเจ้าหน้าที่สมาชิกที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปกับเรา ไปดูงานในประเทศนั้นๆ นะครับ จึงเป็นที่มาของการดูงาน อยากดูเรื่องเทคโนโลยี ดูที่ไหนดี เราก็มองว่าไต้หวันน่าจะดี แต่ติดนโยบาย One China ก็ไม่ได้ เราก็ดูว่าไปอินโดนีเซียดีไหม เป็นอย่างไร ในเรื่องกฎหมายการกระจายอำนาจทำให้อินโดนีเซียที่มีเป็นหมื่นๆ เกาะสามารถอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวได้ พวกนี้ก็น่าสนใจ เขามีกฎหมายรัฐธรรมนูญกี่ข้อ ออกอย่างไร แล้วบทบาทของสภาในการที่ทำให้หลายหมื่นความเห็นสามารถสะท้อนเสียงเข้ามายังสภาได้ อันนี้ก็น่าไปดู
ชัยนนท์: ถ้าเกิดบางคนบอกว่า ไม่เห็นจะต้องเสียเวลาบินไปดูเลย กดเสิร์ชทุกอย่างก็มีในอินเทอร์เน็ต
ปดิพัทธ์: อินเทอร์เน็ตก็เป็น Passive Voice เราก็รู้ตามที่เขานำเสนอ แต่เราไม่ได้เกิดการแลกเปลี่ยนหรือถกกัน ไม่ได้มีการถามคำถาม ชาเลนจ์กัน ซึ่งการไป (ดูงานสิงคโปร์) รอบนี้ผมได้เจอ สส. ฝ่ายรัฐบาลพรรค People’s Action Party (PAP) และฝ่ายค้าน พรรค Worker’Party (WP) ในมุมมองที่มีต่อเรื่องเดียวกันที่มองกันคนละเรื่องเลย
ชัยนนท์: วันก่อนคุณหมอแถลงแล้ว เรื่องที่ไปดูงาน แล้วบอกว่า จริงๆ งบไม่เป็นไปตามที่วางไว้ ทุกวันนี้มีอะไรที่อยากอธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมไหมครับ
ปดิพัทธ์: คิดว่าไม่มีแล้วครับ เดี๋ยวรอให้เราเปิดเผยรายงานการดูงาน ว่าเราดูอะไร บทเรียนที่เราใช้ได้ ใช้ไม่ได้ ในระยะสั้น กลาง ยาว เป็นอย่างไรบ้าง จะทำเป็นรายงานให้ดู ไม่ใช่รายงานเล่มหนาๆ เดี๋ยวดูไม่รู้เรื่อง จะเป็นรายงานที่เป็นประโยชน์ ใช้ได้จริง และจะมีบัญชีแนบท้ายด้วย
ชัยนนท์: ต้องรอติดตาม จริงๆ การดูงานถ้ามีการชี้แจงแบบนี้ก็จะดีมากใช่ไหมครับ คนจะได้รู้ว่าที่บอกไปดูงาน ไม่ต้องต่างประเทศ ที่ผมอ่านข่าว การดูงานในประเทศ ไปดูงานต่างจังหวัดนั้นนี้ ก็จะมีกิจกรรมต่างๆ พอดูงานกันเสร็จ แต่ไม่เคยเห็นว่าที่ไปดูได้อะไรกลับมาบ้าง
ปดิพัทธ์: ใช่ ดีมาก ดีแน่ๆ การดูงานในประเทศไทยที่เห็นกัน ส่วนใหญ่จะไปดูงานที่ทะเล
ชัยนนท์: ไหนๆ ก็พูดถึงดราม่าแล้ว ผมขออีกสักเรื่อง คราฟต์เบียร์ ตกลงไปจ่ายค่าปรับ 50,000 บาทหรือยังครับ
ปดิพัทธ์: จ่ายเรียบร้อยแล้วครับ ก็ทำผิดครับ แต่ตอนทำคิดว่าไม่ผิดนะครับ คิดว่าเราได้ทำอย่างสุจริตใจจริงนะครับ แต่พอทางเจ้าหน้าที่รัฐบอก เราก็คิดว่า โอเค ยอมรับได้ครับ
ชัยนนท์: คิดว่าเรื่องทั้งหมดทั้งมวลมันจะส่งผลกระทบต่อจริยธรรม ซึ่งคำว่าจริยธรรมสำหรับนักการเมืองโดนพูดถึงกันเยอะมาก แล้วกลายเป็นว่าถูกพิพากษาอย่างที่เห็นกันตามข่าว มันจะกระทบกับเราในตอนนี้และอนาคตไหมครับ
ปดิพัทธ์: คิดว่าตั้งแต่เราทำพรรคอนาคตใหม่ การที่คุณธนาธรตัดสินใจทำพรรค เราพูดถึงการติดคุกด้วยซ้ำ เราพูดถึงตายด้วยซ้ำครับ เพราะฉะนั้นการถูกโจมตีด้วยเรื่องจริยธรรม ความคิดเห็นอะไรแตกต่าง มาจับเราเรื่องคอร์รัปชันดีกว่า มาจับเราเรื่องการบิดเบือนกฎหมายดีกว่า มาจับเราเรื่องสมคบคิดกับการที่ทำให้ประเทศไทยถูกแช่แข็ง ผูกขาดด้วยการทำรัฐประหารดีกว่า ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องเบี้ยบ้ายรายทาง แต่ถามว่ารุนแรงไหม เรื่องของ คุณช่อ พรรณิการ์ เราเห็นชัดเจนแล้วว่ารุนแรงมากนะครับ แต่ถามว่ารุนแรงแล้วสังคมเรียนรู้อะไร สังคมไม่ได้เรียนรู้ว่าต่อไปนี้โพสต์คราฟต์เบียร์ไม่ได้ ไม่ได้บอกว่าต่อไปนี้สังคมบอกว่าการวิจารณ์ต่างๆ ทำไม่ได้ แต่จะเรียนรู้แล้วว่าระบบยุติธรรมของประเทศนี้มันเป็นอย่างไร แล้วผมก็คิดว่าอันตรายกว่า
ชัยนนท์: ณ วันนี้คุณหมอมาเป็นรองประธานสภาคนที่ 1 คิดถึงตัวเองในเวอร์ชันที่เป็น สส. อภิปรายไหมครับ แล้วความต่างของการเป็นรองประธานสภากับการเป็น สส. เนี่ย เท่าที่เราได้สัมผัสมาเหมือนหรือว่าแตกต่างกันอย่างไร
ปดิพัทธ์: ก็คิดถึงเหมือนกัน บทบาทการเป็นรองประธานสภา กับบทบาทการเป็น สส. แตกต่างคนละขั้วเลยครับ สส. มีหน้าที่พูด ผมมีหน้าที่ฟัง แล้วถ้าตอนเป็น สส.เราจะหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง คือเราเตรียมสคริปต์ตัวเอง ส่วนคนอื่นพูดเลย เพราะว่าเรามือใหม่ เราโฟกัสจนถึงวินาทีสุดท้ายเลย เราวิ่งประชุมขึ้นชกเลยอย่างนี้นะครับ แต่พอเราเป็นประธานสภา เราก็ต้องฟังความเห็นต่าง เราเห็นฝั่งนี้ฝั่งนั้น เราคิดว่าเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เพราะว่าตอนเป็น สส. เราก็คิดถึงแค่ตัวเองว่าจะได้ขึ้นอภิปรายเมื่อไร อย่างไร ประชาชนจะแฮปปี้ที่เราอภิปรายหรือเปล่า ทุกอย่างเป็นเรื่องตัวเอง
แต่พอมาเป็นรองประธานสภามันเป็นภาพใหญ่นะครับ ทำอย่างไรให้อำนวยความสะดวก อำนวยการประชุมให้ดีตามข้อบังคับให้ได้ สส. ที่เคยโดนผมเตือนน่าจะ 5 ท่านได้ ก้าวไกลล้วนๆ เลยนะครับ เพราะว่าไม่ค่อยแม่นเรื่องข้อบังคับ แล้วก็พูดจาเสียดสี ผมก็พยายามเรียนรู้ว่าจะเป็นกลางอย่างไรนะครับ
ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ว่ารักษากฎอย่างไรให้สิทธิในการอภิปรายมันดีด้วย เพราะเราก็เจอด้วยว่าตอนที่เราเป็น สส. เนี่ยเราถูกปิดไมค์ง่ายมากเลย หรือเซ็นเซอร์ภาพง่ายๆ เลย พอเรามาเป็นประธานสภาเราก็อยากทำให้เรื่องนี้ดีขึ้น ผมแทบจะไม่ปิดไมค์ใครด้วยซ้ำ จะมีแค่ครั้งเดียว
ชัยนนท์: ไหนๆ เราก็คุยถึงเรื่องนี้ มีคลิปสมัยคุณหมอเป็น สส. เผื่อว่าบางท่านลืมไปแล้วว่าลีลาการอภิปรายของหมออ๋องสมัยเป็น สส. เป็นอย่างไร ไปดูกัน จริงๆ ตอนนั้นก็มีหลายเรื่อง หลายประเด็นที่คุณหมออภิปรายเอาไว้ เรื่องไหนตอนเป็น สส. ที่คิดว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดง
ปดิพัทธ์: คิดว่ามี 2 เรื่อง เรื่องแรกน่าจะเป็นเรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องที่ผมทำได้ดีจะเป็นเรื่องพม่า และเรื่องกราดยิงโคราชนะครับ ที่คิดว่าทำได้ดีก็คือ หลักฐานที่ได้มามันซับซ้อนมาก และสามารถถ่ายทอดให้ประชาชนเข้าใจได้ และผมคิดว่าไม่ได้เป็นการกล่าวหาลอยๆ แต่เป็นการไม่ไว้วางใจจริงๆ นะครับ ที่ผมยอมให้คนพวกนี้นั่งบริหารประเทศไม่ได้
แต่อีกอันหนึ่งที่อาจจะไม่ได้โด่งดังนัก ที่ภาคภูมิใจมาก ตอนที่ประเทศไทยมีการชุมนุมใหญ่ๆ แล้วเริ่มมีข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ ผมเป็นคนอภิปรายว่าเราควรจะรับฟังข้อเรียกร้องเหล่านี้และนำกลับมาพูดในสภา ไม่ควรดำเนินคดีพวกเขา ไม่ควรจะจับกุม คุมขัง เพราะไม่ได้ทำให้ความรักของประชาชนที่มีต่อสถาบันฯ ดีขึ้นเลย อภิปรายรอบนั้น 40 นาที เป็นการอภิปรายที่ผมภูมิใจมากที่สุด
ชัยนนท์: ณ วันนี้เรามาเป็นรองประธานสภา คนที่ 1 คิดว่าเรื่องของการอภิปรายที่มันต้องมีเกิดขึ้นอยู่แล้วเนี่ยในอนาคตของบรรดานักการเมืองทั้งหลาย พอเรามานั่งเป็นประธานอยู่บนบัลลังก์ หลังจากนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรให้ประชาชนได้ติดตาม
ปดิพัทธ์: ผมคิดว่าสมาชิกทุกคนกำลังทำได้ดีขึ้น เพราะมีการผลัดรุ่นของนักการเมืองเป็นจำนวนมากด้วย ฉะนั้นเท่าที่เราดูประชุมสภาประมาณเดือนกว่าๆ เนี่ย คนมาด้วยข้อมูลที่ดีขึ้น ไม่ได้เป็นการสาดวาทกรรมขึ้นมาแบบนักการเมืองเดิมๆ แล้ว เริ่มใช้ข้อมูล เริ่มใช้ตัวเลข ใช้นโยบาย อย่างการอภิปรายรายงาน ผมว่ามันมีคุณภาพสูงขึ้นเยอะเลย เพราะแต่ละท่านทำการบ้านจริงๆ อันนี้ผมนั่งประชุมไปชื่นใจไป
ถ้าเราจะเห็นถึงการอภิปรายสำคัญที่กำลังจะมาแน่ๆ คือการอภิปรายงบประมาณนะครับ การอภิปรายงบประมาณ ผมอยากจะเชิญประชาชนมานั่งเป็น Witness (สักขีพยาน) จริงๆ ในสภาเลย เพราะเวลาที่คนไปเยี่ยมสภาจะได้ดูการประชุมสภาแค่ 5 นาทีก็ออกเลย จะกินป๊อปคอร์นไม่ได้ แต่พอเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมได้เรียนรู้จากสิงคโปร์ เขาไม่ได้เรียกว่าเป็นการ Visit เขาเรียก Witness เป็นสักขีพยานในการดีเบตเรื่องนี้ และผมคิดว่าประชาชนจะมีความสุขมาก เพราะว่ามันกว่าดูทีวี มาดูในที่จริง แล้วที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือเราจะถ่ายทอดทรานสคริปต์ หรือว่าชวเลขของการตอบกระทู้ของรัฐมนตรี
ปกติเวลาตอบกระทู้จะมีกระทู้ 3 ประเภท กระทู้ถามสด กระทู้ถามทั่วไป แล้วก็กระทู้ถามแยกเฉพาะในห้องแยกเฉพาะ ซึ่งเวลารัฐมนตรีตอบมันจะอยู่ในทีวี หลายท่านก็ดูแต่จำรายละเอียดไม่ได้ พอรัฐมนตรีตอบว่าจะทำเรื่องนี้ เมื่อไร อย่างไรกันแน่ เพราะฉะนั้นการเอาชวเลขมาเปิดเผยในเว็บไซต์ทำให้ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนั้นๆ สามารถติดตามคำตอบของรัฐมนตรีได้ดีด้วย มีหลายอย่างที่เรียนรู้จากสิงคโปร์
SMART Parliament
ชัยนนท์: ไหนๆ เราก็พูดถึงเรื่องของสภาแล้ว ผมขอถามต่อว่า เห็นความตั้งใจของคุณหมอที่จะประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าอยากปฏิรูปสภาให้เป็น SMART Parliament หรือรัฐสภาสามารถ ณ วันนี้ที่เราได้ทำหน้าที่มา 3 เดือน เวลาอาจจะไม่เยอะมาก ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คิดว่าเราได้ทำแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เราอยากบอกประชาชนบ้างไหมครับ
ปดิพัทธ์: การจะทำสภาโปร่งใส อันดับที่ 1 เลยเราต้องจัดการเรื่องของฐานข้อมูลให้ได้ก่อน เรามีฐานข้อมูลจำนวนมหาศาล แล้วเป็นชั้นความลับต่างๆ เพราะอย่างนั้นจึงกำลังทำเรื่องของ Data Governance Policy ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ที่ข้อมูลเปิดเผยโดยที่ไม่ต้องร้องขอ ข้อมูลที่เก็บไว้จำนวนกี่ปีที่จะหมดอายุ จะต้องเปิดเผย พวกนี้กลายเป็นข้อมูลที่ทุกคนเข้าใจตรงกันทั้งหมด
และเริ่มทำ Cloud Policy ที่สามารถอยู่ในระบบดิจิทัลต่างๆ ได้ทั้งหมดเลย แต่จะต้องใช้เวลา เพราะต้องเปลี่ยนแปลงระบบ Data Center ของเราเองไปสู่ระบบ Cloud นะครับ
ซึ่งเราต้องจัดการกับข้อมูลมหาศาลมาตั้งแต่ปี 2475 เพราะมันไม่เคยมีใครทำ แต่ถ้าถามว่า ตอนนี้ทำได้ง่ายหรือยากทำได้ง่ายๆ ถ้า Policy ชัดเจนนะครับ ตรงนี้เราเห็นเจ้าหน้าที่สภาพร้อมที่จะร่วมมือกันมากๆ
ชัยนนท์: มีเจ้าหน้าที่สภามาค้านไหมครับ
ปดิพัทธ์: เจ้าหน้าที่สภาตอนนี้มีไฟกันมากครับ ทุกคนอยากเปลี่ยนแปลงสภาให้ดี คือหลายท่านมีความสามารถแต่ไม่ถูกใช้ หลายท่านจบต่างประเทศ จบนั่นนี่มาก็มาทำงานรูทีน เขาอยากทำงานเชิงรุก อยากพัฒนาบ้าง และแต่ละท่านก็มีประสบการณ์จากสภาต่างประเทศมาเยอะ ก็อยากเห็นสิ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย
และอย่างระบบ Tracking กฎหมาย ผมไม่ได้คิดเองนะครับ เป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่เคยไปฝึกงานที่ระบบสภาฝรั่งเศสเป็นคนเสนอ ที่หน้าเว็บไซต์จะมีตัววิ่งเลยว่า กฎหมายนั้นอยู่ในวาระไหน อย่างไร มาจากไอเดียของเจ้าหน้าที่สภา
สมุดพก สส. นี่ก็เป็นไอเดียของเจ้าหน้าที่สภา ว่าพอเข้าไปดูหน้าโปรไฟล์ เว็บไซต์ เจอแต่เรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เรื่องประวัติการศึกษา แต่ไม่รู้ว่าเขาผ่านการเลือกตั้งมาแล้วกี่รอบ ชนะคะแนนเท่าไร ย้ายพรรคกี่รอบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกเขาในครั้งต่อไป แล้วไม่รู้สไตล์การทำงานในปัจจุบัน เข้าประชุมกี่ครั้ง ขาดกี่ครั้ง อยู่ในกรรมาธิการอะไรบ้าง เสนอญัตติอะไรบ้าง อันนี้เดี๋ยวจะมีสมุดพก สส. ปีหน้าเสร็จ พี่น้องประชาชนสามารถกดเข้าไปดูได้เลย
ชัยนนท์: พี่น้องประชาชนสามารถกดเข้าไปดูได้เลย นี่ละเอียดกว่าวิกิพีเดียเหรอครับ
ปดิพัทธ์: เป็นสมุดพกที่จะละเอียดกว่าวิกิพีเดีย เพราะคุณได้รับการเลือกตั้งมาเป็นผู้แทนของราษฎร และผู้แทนราษฎนั้นประชาชนไม่ควรจะประเมินเราได้แค่ 4 ปีครั้ง ควรจะประเมินได้ทุกวัน แล้วยิ่ง สส. ได้รับการประเมินจากประชาชนมากขึ้น ผมคิดว่า สส. ทุกคนจะตั้งใจทำงานให้ดีขึ้น และคนที่ได้ทำงานเยอะจะได้รางวัลด้วย
หลายครั้งมีคนมากมายที่ไม่ได้เด่นในสภา แต่ทำงานมากมายในคณะกรรมาธิการต่างๆ ผลักดันเรื่องข้อเสนอต่างๆ แล้วคนไม่รู้ เราต้องเอามาโชว์ให้ประชาชนเห็น ว่านี่คือ สส. ที่บ้านท่าน
ชัยนนท์: นั่นหมายความว่า สมมตินะครับ ถ้าสภานี้หรือรัฐบาลนี้อยู่ครบ 4 ปี เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงกับสภาแน่นอน
ปดิพัทธ์: แน่นอน ตอนนี้มีเรื่องสำเร็จแล้วคือ ห้องให้นมเด็ก ตอนนี้ห้องให้นมเด็กที่โดนยึดไปเป็นห้องเก็บของ เราเอาคืนมาได้แล้ว แล้วทำเสียงประกาศทุกเช้า เชิญคุณแม่ทุกท่านไปใช้บริการที่ห้องให้นมเด็กได้ คุณแม่ที่ตั้งท้อง คุณแม่ที่ต้องปั๊มนม คุณแม่ที่ต้องให้อาหารลูก ก็มีห้องรับรองหมดแล้ว แต่ว่าทำอย่างอื่นยังไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ส่งมอบสภา ลานประชาชนยังทำไม่ได้ Interactive Museum (พิพิธภัณฑ์นิทรรศการด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง) ที่ให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้ประชาธิปไตยยังทำไมได้ อะไรที่ถาวรยังทำไม่ได้ ทำได้แต่เรื่องชั่วคราวก่อน
ชัยนนท์: โอเค ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คุณหมอเป็นรองประธานสภา คนที่ 1 แต่ว่าเรื่องทั้งหมดต้องผ่าน ต้องถามประธานสภาอย่างอาจารย์วันนอร์ไหมครับ
ปดิพัทธ์: ก็คุยกัน แต่ตอนที่เราคุยกัน อาจารย์วันนอร์เขาเห็นด้วยกับเรื่องพวกนี้หมดแล้ว ตั้งแต่แรกอาจารย์วันนอร์ก็อยากเห็น SMART และ Open Parliament (รัฐสภาแบบเปิด) เหมือนกัน ผมเลยได้รับการมอบหมายให้ทำงานเรื่องนี้ครับ
ชัยนนท์: เคยคิดเสียดายไหมครับว่าวันนั้นเราก็จะได้เป็นประธานสภาอยู่แล้ว อีกนิดเดียว
ปดิพัทธ์: อ้อ ไม่เสียดายเลยครับ มันเกิดขึ้นแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ไม่ต้องไปคิดแล้ว ตอนนี้เดินหน้า ทำตามที่เราทำได้ก็พอแล้วครับ