×

‘โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2’ เรารู้อะไรแล้วบ้าง

03.02.2022
  • LOADING...
โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2

หากเปรียบเทียบการกลายพันธุ์ของโควิดเป็นต้นไม้ที่เติบโตมาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม 

 

แตกกิ่งก้านเป็นสายพันธุ์อัลฟาเมื่อกันยายน 2563 เบตาเมื่อตุลาคม 2563 และเดลตาเมื่อกุมภาพันธ์ 2564 กิ่งที่แยกออกมาเป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดทั่วโลกอยู่ในปัจจุบันกลับย้อนกลับไปถึงราวกลางปี 2563 ประเด็นนี้ยังคงเป็นปริศนาที่รอนักไวรัสวิทยาค้นหาคำตอบ ส่วนปลายกิ่งของโอมิครอนในขณะนี้แยกออกเป็นอีก 3 กิ่งคือสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.2 และ BA.3

 

BA.1 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในแอฟริกาใต้และประเทศส่วนใหญ่ (ปัจจุบันมีกิ่งย่อยเป็น BA.1.1)

BA.3 ไม่ถูกพูดถึงมากนักเพราะยังมีข้อมูลน้อยมาก

BA.2 เป็นสายพันธุ์ที่ถูกพูดถึงมากขึ้น เพราะเริ่มพบการระบาดแทนที่สายพันธุ์หลักในบางประเทศ

 

เรารู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 บ้าง?

 

การกลายพันธุ์:

พูดถึงกิ่งก้านของโอมิครอนค้างไว้ โอมิครอนสายพันธุ์หลักมีการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามมากกว่า 30 ตำแหน่ง ทำให้แยกจากเดลตาชัดเจน ในขณะที่ BA.2 น่าจะแยกออกจาก BA.1 มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพราะมีกรดอะมิโนที่แตกต่างกันมากกว่า 40 ตำแหน่ง ซึ่งมีทั้งบริเวณโปรตีนหนามและส่วนอื่น ตำแหน่งหนึ่งทำให้ 2 สายพันธุ์นี้มีผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ต่างกันคือ 69-70 deletion

 

หรือการขาดหายไปของกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 69-70 ทำให้ตรวจไม่พบยีน S (S-gene target failure: SGTF) ซึ่งเป็นคุณสมบัติของ BA.1 และสามารถใช้แยกสายพันธุ์เบื้องต้นระหว่างโอมิครอนกับเดลตาได้ เพราะเดลตายังตรวจพบยีน S อยู่ ในขณะที่ BA.2 ไม่พบการกลายพันธุ์ตรงตำแหน่งนี้ จึงยังตรวจพบยีน S อยู่เช่นกัน ทำให้แยกกับสายพันธุ์เดลตาได้ลำบากหรือที่เรียกว่า ‘สายพันธุ์ล่องหน’

 

อย่างไรก็ตามในการตรวจ RT-PCR ต้องตรวจหายีน (ตำแหน่งสารพันธุกรรมที่ควบคุมลักษณะของไวรัส) อย่างน้อย 2 ยีนขึ้นไป ทำให้วิธีนี้ยังตรวจพบเชื้อได้ทุกสายพันธุ์ ส่วนชุดตรวจ ATK เป็นการตรวจหาโปรตีนส่วนอื่นที่มีการกลายพันธุ์น้อย ทำให้ยังตรวจพบผลบวกได้เช่นกัน ดังนั้นในแง่ของการวินิจฉัยโรค สายพันธุ์ BA.2 รวมถึงสายพันธุ์ย่อยอื่น จึงไม่น่ากังวลแต่อย่างใด 

 

การแพร่กระจาย:

ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ BA.2 คิดเป็น 126% และอัตราการติดเชื้อในผู้สัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับ BA.1 (13.4% vs. 10.3%) หากมองย้อนกลับไปที่อัลฟา เดลตา และโอมิครอน สายพันธุ์หลักที่เคยระบาดแทนที่สายพันธุ์ก่อนหน้าต่างมีคุณสมบัติที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือแพร่กระจายเร็วขึ้น

 

ทำให้ BA.2 มีโอกาสแทนที่ BA.1 ในที่สุด ยกตัวอย่างสถานการณ์ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่พบการระบาดของ BA.1 ตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 ทว่าตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา BA.2 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคิดเป็น 35% เดนมาร์ก BA.1 เริ่มระบาดเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2564 ต่อมาประมาณ 2 สัปดาห์ก็เริ่มพบ BA.2 ระบาดซ้อนจนปัจจุบันกลายเป็นสายพันธุ์หลักแล้ว (70%) 

 

ความรุนแรง:

ข้อมูลจากเดนมาร์กเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 พบว่า อัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ติดเชื้อ BA.2 ไม่แตกต่างจาก BA.1 และคาดว่าวัคซีนสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้เหมือนกัน

 

ประสิทธิผลของวัคซีน:

วัคซีนป้องกันอาการป่วยจากโอมิครอนลดลงเมื่อเทียบกับเดลตา เพราะไวรัสหลบหลีกภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดิมได้มากขึ้น แต่ประสิทธิผลระหว่าง BA.1 และ BA.2 ไม่แตกต่างกัน โดยข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบว่า การได้รับวัคซีน 2 เข็มนานเกิน 6 เดือนป้องกันอาการป่วยได้ 9% และ 13% ตามลำดับ แต่หลังจากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 2 สัปดาห์ขึ้นไปสามารถป้องกันได้เพิ่มขึ้นเป็น 63% และ 70% 

 

นอกจากปัจจัยด้านไวรัสที่หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่งขึ้นแล้ว ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนยังลดลงตามระยะเวลาด้วย (Waning Immunity) ประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยของวัคซีน AstraZeneca 2 เข็มต่อ BA.1 เริ่มต้นที่ 45-50% ลดลงจนไม่สามารถป้องกันได้ที่ 5 เดือนหลังฉีดเข็มที่ 2 ส่วนวัคซีนชนิด mRNA 2 เข็มเริ่มต้นที่ 60-75% ลดลงเหลือประมาณ 10% ที่ 6 เดือน ดังนั้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงสำคัญ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 บริษัท Pfizer และ BioNTech แถลงข่าวว่าได้เริ่มต้นทดลองวัคซีนรุ่นใหม่ที่เฉพาะเจาะจงกับสายพันธุ์โอมิครอนในอาสาสมัครอายุ 18-55 ปี จำนวน 1,420 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนรุ่นใหม่เป็นเข็มที่ 3-4 กลุ่มที่จะได้รับวัคซีนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่เป็นเข็มที่ 5 และกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนรุ่นใหม่เป็นเข็มที่ 1-3 ซึ่งต้องติดตามผลการศึกษาต่อไป

 

การระบาดทั่วโลก:

ปัจจุบันตรวจพบ BA.2 ใน 57 ประเทศทั่วโลก และกลายเป็นสายพันธุ์หลักในบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ (87%) เดนมาร์ก (70%) สิงคโปร์ (54%) และในภาพรวมของทวีปเอเชีย BA.1 มีแนวโน้มลดลง สวนทางกับ BA.2 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะนี้คิดเป็น 24% สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อการระบาดยังคงดำเนินต่อไป ไวรัสยังคงกลายพันธุ์ต่อเนื่อง และการแตกแขนงเป็นโอมิครอนน่าจะไม่ใช่กิ่งก้านสุดท้าย

 

แต่ด้วยความรุนแรงของโอมิครอนที่น้อยกว่าเดลตา (‘น้อยกว่า’ ไม่ได้หมายความว่า ‘ไม่รุนแรง’) และความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนมากขึ้น หลายประเทศจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการ เช่น สหราชอาณาจักรที่กลับไปใช้แผน A ซึ่งไม่บังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ เดนมาร์กยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดภายในประเทศทั้งหมด แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

 

โดยสรุปถึงแม้โอมิครอนจะสามารถระบาดแทนที่เดลตาได้ แต่โอมิครอนก็ยังกลายพันธุ์ต่อเป็น BA.2 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ และอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักใน 1-2 เดือน เพราะสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่า BA.1 ทว่าจากข้อมูลที่มี ณ ขณะนี้ความรุนแรงของโรคไม่ต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์หลัก และวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงสามารถป้องกันอาการป่วยและอาการรุนแรงได้

 

การผ่อนคลายมาตรการควรคำนึงถึงความครอบคลุมของวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และระยะเวลาหลังจากได้รับวัคซีน ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนควรได้รับวัคซีน 2 เข็มแรก ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 3-6 เดือนควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับเด็ก วัคซีนสามารถลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน เช่น กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (MIS-C) ได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X