×

สถานการณ์โควิดเป็นช่วงขาขึ้นจริงหรือไม่ ภาครัฐต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง

12.07.2022
  • LOADING...
สถานการณ์โควิด

เห็นอินโฟกราฟิกสถานการณ์โควิดรายวันแล้วยอดผู้ป่วยรายใหม่คงที่ ตรงข้ามกับความรู้สึกที่คนรอบตัวติดเชื้อกันเยอะขึ้นในช่วงนี้ และแพทย์หน้างานหลายท่านก็ออกมาพูดถึงเตียงในโรงพยาบาลที่กลับมาแน่นอีกครั้ง สถานการณ์โควิดในช่วงนี้เป็นขาขึ้นจริงหรือไม่ แนวโน้มเป็นอย่างไร แล้วจะรุนแรงหรือเปล่า โควิดจะยังเป็นโรคประจำถิ่นอยู่อีกหรือเปล่า ภาครัฐต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง

 

สถานการณ์โควิดเป็นช่วงขาขึ้นจริงหรือไม่

สถานการณ์โควิดในเดือนกรกฎาคม 2565 ในภาพรวมของประเทศไทยเป็นช่วงขาขึ้นอย่างที่หลายคนรู้สึกว่าคนใกล้ตัวติดเชื้อมากขึ้น และแพทย์หน้างานหลายท่านออกมาเตือนให้ประชาชนระมัดระวังตัวมากขึ้นเพราะเตียงผู้ป่วยโควิดเริ่มกลับมาแน่นอีกครั้ง ตัวเลขที่ยืนยันคือยอด ‘ผู้ป่วยอาการหนัก’ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน 

 

ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ จาก 638 ราย เป็น 786 ราย (เพิ่มขึ้น 23%) หรือผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ จาก 290 ราย เป็น 349 ราย (เพิ่มขึ้น 20%)

 

แต่ที่น่าแปลกใจคือยอด ‘ผู้ป่วยรายใหม่’ ที่รายงานทุกวันกลับไม่รู้สึกว่าเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขเฉลี่ยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเท่ากับ 2,212 รายต่อวัน (ความจริงเพิ่มขึ้นจาก 2,082 ราย คิดเป็น 6%) ทั้งนี้ต้องหมายเหตุตามการแถลงข่าวของ ศบค. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ตัวเลขนี้นับเฉพาะ ‘ผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล’ เท่านั้น (ในสไลด์ของกรมควบคุมโรคจะวงเล็บว่า RT-PCR & ATK Positive with Admitted) 

 

แล้วจำนวนผู้ติดเชื้อจริงในขณะนี้เป็นเท่าไร? เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย

 

ตัวเลขที่น่าจะใกล้เคียงกว่าคือยอด ‘ผู้ป่วยที่รักษาแบบเจอ แจก จบ’ (Outpatient with Self Isolation: OPSI) ตัวเลขในสัปดาห์ที่ 26 (ปลายมิถุนายน-ต้นกรกฎาคม) จำนวน 207,643 ราย เทียบกับยอดผู้ป่วยรายใหม่ที่รักษาในโรงพยาบาลจำนวน 16,000 ราย ซึ่งน้อยกว่าถึง 13 เท่า แสดงว่าเวลาเห็นอินโฟกราฟิกสถานการณ์โควิดรายวันอย่างน้อยต้องเติมเลข 0 ต่อท้ายในใจ 

 

แต่จำนวนผู้ติดเชื้อจริงก็อาจไม่มีผลต่อการตัดสินใจปรับมาตรการทางสังคมมากนัก เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ แนวโน้มยอดผู้ป่วยที่รักษาแบบเจอ แจก จบ ลดลงจนค่อยๆ คงที่มานานกว่า 1 เดือนแล้ว โดยจุดสูงสุดอยู่ที่สัปดาห์ที่ 17 (ปลายเมษายน) ซึ่งเท่ากับ 761,937 ราย จึงน่าจะต้องมีการประเมินว่ายอดดังกล่าวนี้สะท้อนสถานการณ์จริงหรือไม่

 

ส่วนยอด ‘ผู้เสียชีวิต’ ก็น่าแปลกใจเช่นกัน เพราะตัวเลขเฉลี่ย 18 รายต่อวัน คงที่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขนี้นับเฉพาะผู้ป่วยเสียชีวิตจากโควิด (Died from COVID-19) ไม่รวมผู้ป่วยเสียชีวิตร่วมกับโควิด (Died with COVID-19) อาจมีความล่าช้า (Lag) ตามธรรมชาติของโรค และยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วย เช่น ยาต้านไวรัส เตียงไอซียู

 

อย่างไรก็ตามในระดับจังหวัด สถานการณ์โควิดในแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ศบค. ระบุว่ามี 54 จังหวัดอยู่ในช่วงขาลง (Declining) ในขณะที่อีก 23 จังหวัดอยู่ในช่วงขาขึ้นเป็นคลื่นลูกเล็ก (Post-declining with Small Wave) เช่น เชียงใหม่, ชัยนาท, สิงห์บุรี, ชลบุรี, ระยอง, ภูเก็ต, กระบี่, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, กรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

สถานการณ์โควิด

แนวโน้มค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนรับการรักษา รายจังหวัด

 

ดังนั้นประชาชนจึงควรติดตามสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ของตนเองด้วย และแต่ละจังหวัดควรสื่อสารกับประชาชนของตนเพิ่มเติมจาก ศบค.

 

การระบาดจะขึ้นไปถึงเมื่อไร และจะรุนแรงหรือไม่

กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์การระบาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ว่าจะพบ Small Wave ด้วยปัจจัย 4 ประการคือ

 

  • ภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลงหลังได้รับวัคซีนเกิน 6 เดือน
  • ประชาชนสวมหน้ากากลดลง และไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลในสถานที่/กิจกรรมเสี่ยง
  • พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ในสถานที่/กิจกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะหลังเทศกาล
  • การเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ทั่วโลกและทั่วประเทศ

 

จำนวนผู้ป่วยรายใหม่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดในช่วงปลายสิงหาคม กรณีที่ดีที่สุดจะพบผู้ป่วย 4,000-5,000 รายต่อวัน ส่วนกรณีที่แย่กว่า (ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ไม่กักตัวผู้ป่วย/ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ประชาชนไม่ป้องกันตัว สวมหน้ากากน้อยกว่า 50%) จะพบผู้ป่วย 7,000-8,000 รายต่อวัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต่ำกว่าการระบาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 

การคาดการณ์สถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่รักษาในโรงพยาบาล

 

แล้วค่อยๆ ลดลงมาอยู่ในระดับปัจจุบันไปจนถึงสิ้นปี ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่ารอบนี้เป็นการระบาดตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ เพราะปัจจัยสำคัญคือไวรัสที่กลายพันธุ์ต่างจากเดิมอย่างรวดเร็ว และระดับภูมิคุ้มกันของคนที่ลดลงตามระยะเวลา ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และปลายปีนี้ควรจะมีวัคซีนรุ่นใหม่ออกมา

 

นอกจากการคาดการณ์แล้ว กระทรวงสาธารณสุขยังกำหนดระดับความรุนแรงของการระบาดผ่านกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และถ่ายทอดเป้าหมายไปสู่การจัดการระดับจังหวัด แบ่งเป็น 4 ระดับคือ โรคประจำถิ่นที่ควบคุมได้ดี, รุนแรงน้อย/ปานกลาง/มาก โดยพิจารณาจากเกณฑ์ 4 ข้อ คล้ายกับระดับการแจ้งเตือนก่อนหน้านี้ ได้แก่

 

  • จำนวนผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ยต่อวัน (ปัจจุบัน 2,000 ราย)
  • อัตราป่วยตาย หรือจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยต่อวัน (ปัจจุบัน 0.07% หรือ 20 ราย)
  • อัตราการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก หรือจำนวนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ (ปัจจุบัน 10% หรือ 200-400 ราย)
  • การกระจายของโรคตามลักษณะทางระบาดวิทยา (ปัจจุบันระบาดในวงจำกัดเป็นคลัสเตอร์ขนาดเล็ก)

 

สถานการณ์โควิด

เกณฑ์การพิจารณาระดับความรุนแรงของการระบาดโควิด

 

โดยขีดเส้นสัญญาณเตือน (Trigger Point) เพื่อพิจารณาปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคเมื่อจำนวนผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล >4,000 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ >400 ราย หรือผู้เสียชีวิต >40 ราย ซึ่งจะเข้าเกณฑ์ ‘รุนแรงน้อย’ และถ้าเป็นไปตามการคาดการณ์ กรณีที่ดีที่สุดก็อาจไม่มีการปรับมาตรการเพิ่มเติม แต่ในระดับจังหวัด บางจังหวัดน่าจะต้องเริ่มเตือนแล้ว

 

สถานการณ์โควิด

จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบกำลังรักษาในโรงพยาบาล

 

จังหวัดที่มีอัตราครองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก >25% ได้แก่ นนทบุรี (42.6%), กรุงเทพฯ (38.2%), ชัยภูมิ (30.5%), สมุทรปราการ (29.8%), ปทุมธานี (29.3%) และนครสวรรค์ (26.0%) 

 

จังหวัดเหล่านี้ควรสื่อสารความเสี่ยง และกำชับมาตรการควบคุมและป้องกันโรคเดิม (ก่อนจะยกระดับมาตรการให้เข้มขึ้น) เช่น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น มาตรการเฉพาะสถานที่ (COVID-FREE Setting) การรักษาด้วยยาต้านไวรัส โดยกลุ่มเสี่ยงต้องเข้าถึงยาที่มีประสิทธิผล (ยาฟาวิพิราเวียร์มีงานวิจัยรองรับน้อยมาก) และทันเวลา รวมถึงมาตรการส่วนบุคคล อย่างการสวมหน้ากากในสถานที่เสี่ยง

 

ภาครัฐจะทำอะไร และต้องทำอะไรเพิ่มเติม

จากการแถลงข่าวของ ศบค. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ภายหลังจากประเมินสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 แล้ว สรุปคือยังเดินหน้าตามแผนการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดสู่โรคประจำถิ่น (Moving to COVID-19 Endemic) เดิม แต่ใช้คำว่าระยะ ‘หลังการระบาดใหญ่’ (Post-Pandemic) แทน (ทำให้เหมือนกันการเล่นคำมากกว่า) ประกอบด้วยมาตรการ 4 ด้าน ได้แก่

 

  1. ด้านสาธารณสุข เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ≥60%, ปรับระบบการเฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นคลัสเตอร์ และผู้ป่วยปอดอักเสบ (ไม่เน้นยอดผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK), ผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ และปรับแนวทางกักตัวผู้ป่วย/ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 
  2. ด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก และดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง/อาการรุนแรง/ภาวะ Long COVID
  3. ด้านกฎหมายและสังคม บริหารจัดการด้านกฎหมายในทุกหน่วยงานให้สอดคล้องกับการปรับตัวเข้าสู่ Post-Pandemic, ทุกภาคส่วนส่งเสริมมาตรการ UP (Universal Prevention), COVID-FREE Setting
  4. ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ทุกภาคส่วนร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจ และพฤติกรรมให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย (Living with COVID)

 

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือข้อ 3. กระทรวงสาธารณสุขเตรียมลดระดับจาก ‘โรคติดต่ออันตราย’ เป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ทำให้มีมาตรการควบคุมและป้องกันโรคเหมือนโรคติดต่ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และรัฐบาลก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งถ้าโควิดมีความรุนแรงลดลงจริงก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ควรเตรียมแผนรองรับหากไวรัสกลับมาระบาดรุนแรง

 

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster) เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำมาตลอดและตั้งเป้าหมายไว้ที่ 60% แต่อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นช้ามาก ปัจจุบันมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 30.1 ล้านคน (43.3%) และกลุ่มผู้สูงอายุได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 6.0 ล้านคน (47.5%) ย้อนกลับไปเทียบกับเมื่อ 3 เดือนก่อน (1 เมษายน 2565) มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 34.1% และกลุ่มผู้สูงอายุได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 36.2% 

 

รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการจูงใจให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนมากขึ้น นอกเหนือจากการสื่อสารความเสี่ยงอยู่เดิม ยิ่งไปกว่านั้นเข็มที่ 3 ก็อาจไม่เพียงพอ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (ECDC) เพิ่งออกคำแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 2 ซึ่งก็คือเข็มที่ 4 เพื่อรับมือกับการระบาดของ BA.4 และ BA.5 และฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

 

ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงขาขึ้น

การระบาดของโควิดเป็นระลอก มีช่วงขาขึ้นและขาลง หลายคนน่าจะเริ่มชินแล้ว คำแนะนำที่ตรงไปตรงมาสำหรับขาขึ้นคือ ‘ป้องกันการติดเชื้อ’ ด้วยการสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก, ลดการพบปะกับบุคคลอื่นนอกครอบครัว, ตรวจ ATK ก่อนร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก หากมีอาการไม่สบายควรแยกตัวจากผู้อื่น (ป้องกันคนอื่นติดเชื้อ)

 

และ ‘ป้องกันอาการรุนแรง’ ด้วยการฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกและเข็มกระตุ้นตามกำหนด คือเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน และเข็มที่ 4 ห่างจากเข็มสุดท้าย 4 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และไม่ควรรอวัคซีนรุ่นใหม่ เพราะยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอน หากกลุ่มเสี่ยง 608 มีอาการผิดปกติควรรีบตรวจหาเชื้อและได้รับยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิผลโดยเร็ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising