×

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ที่แอฟริกาใต้

26.11.2021
  • LOADING...
โควิดสายพันธุ์ใหม่

ประเทศแอฟริกาใต้ผ่านการระบาดของโควิดมาแล้วสามระลอก คือระลอกสายพันธุ์ดั้งเดิมช่วงกลางปี 2563 ต่อมาถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์เบตา (B.1.351) ในช่วงปลายปี 2563 และสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) ที่สามารถเอาชนะสายพันธุ์เบตาได้ตั้งแต่กลางปี 2564 เป็นต้นมา ส่วนสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7) ที่เคยระบาดหนักในยุโรปก็เคยตรวจพบในแอฟริกาใต้ แต่สู้สองสายพันธุ์ข้างต้นไม่ได้

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันราย ในขณะที่มีผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ไม่ถึง 25% แอฟริกาใต้อาจเกิดการระบาดระลอกที่ 4 จากสายพันธุ์ใหม่คือ B.1.1.529 ซึ่งยังไม่มีชื่อเป็นตัวอักษรกรีก แต่คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) จะประชุมหารือกันในวันนี้ (26 พฤศจิกายน) เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์นี้

 

  1. สายพันธุ์ B.1.1.529 ไม่ใช่สายพันธุ์เดลตาพลัสหรือสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ต่อมาจากสายพันธุ์เดลตาซึ่งระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมา ตรวจพบจากตัวอย่างที่เก็บจากผู้ป่วยระหว่างวันที่ 12-20 พฤศจิกายน 2564 ในจังหวัดกาวเต็ง ประเทศแอฟริกาใต้ (จำนวน 77 ตัวอย่าง) ประเทศบอตสวานา (จำนวน 4 ตัวอย่าง) และฮ่องกง (จำนวน 1 ตัวอย่างในผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้)

 

  1. สายพันธุ์ B.1.1.529 มีการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามมากถึง 32 ตำแหน่ง ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่า อาจทำให้คุณสมบัติของไวรัสเปลี่ยนไป แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่ H655Y, N679K และ P681H ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส (Furin cleavage site) จึงอาจทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้เร็วขึ้น 

 

โดยเป็นครั้งแรกที่พบการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง P681H (พบในสายพันธุ์อัลฟา มิว และแกมมาบางสายพันธุ์) ร่วมกับ N679K ในสายพันธุ์เดียวกัน ตำแหน่ง E484A อาจทำให้หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น (คล้ายสายพันธุ์เบตาที่พบ E484K) ส่วนตำแหน่งอื่นที่พบเหมือนกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ เช่น N501Y (พบในสายพันธุ์อัลฟา เบตา และแกมมา ทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม)

 

  1. สายพันธุ์ B.1.1.529 ตรวจพบเป็น ‘สัดส่วน’ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแอฟริกาใต้เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น โดยใช้เวลาเพียงไม่ถึง 25 วันก็เพิ่มจาก 1% เป็น 80% ของสายพันธุ์ทั้งหมด ในขณะที่สายพันธุ์เดลตาใช้เวลามากกว่า 100 วัน และสายพันธุ์เบตาใช้เวลานานกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ‘จำนวน’ ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้และผู้ติดเชื้อทั้งหมดในแอฟริกาใต้ยังมีจำนวนน้อยอยู่เมื่อเทียบกับระลอกที่ผ่านมา

 

  1. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ดร.มาเรีย แวน เคิร์คโฮฟ นักระบาดวิทยาโรคติดเชื้อประจำ WHO ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีสายพันธุ์ B.1.1.529 ที่ได้รับการถอดรหัสพันธุ์กรรมไม่ถึง 100 ตัวอย่าง เรายังไม่ทราบเกี่ยวกับสายพันธุ์นี้มากนัก สิ่งที่เรารู้คือสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ส่งผลให้พฤติกรรมของไวรัสเปลี่ยนไป ในแง่ดีคือเราตรวจจับพวกมันได้ ซึ่งหมายความว่าระบบเฝ้าระวังยังมีประสิทธิภาพอยู่

 

  1. อาจต้องใช้เวลาอีกเป็นสัปดาห์ถึงจะทราบผลกระทบที่แท้จริงของสายพันธุ์นี้ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจตรงกันคือ ยิ่งการระบาดของโควิดยังอยู่ โอกาสที่ไวรัสจะกลายพันธุ์ยิ่งเพิ่มขึ้น ทุกคนมีส่วนช่วยในการลดการระบาดลงด้วยการป้องกันตนเองจากอาการรุนแรงและเสียชีวิตด้วยการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising