“เราไม่ติดใจเลยถ้ากองทัพสำรองไฟไว้ใช้แค่กิจการภายในและอยู่ในพื้นที่ความมั่นคง ซึ่งควรแบ่งให้ชัดเจน เช่น พื้นที่ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ พื้นที่การรบ แต่พื้นที่ที่อยู่นอกเหนืออย่างรีสอร์ต พื้นที่ทางเศรษฐกิจ กองทัพเรือยังมีความจำเป็นต้องเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าหรือไม่”
ประโยคดังกล่าวคือการให้สัมภาษณ์ของ เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม ภายใต้กรอบเวลา 60 วัน
เป้าหมายหลักของคณะกรรมาธิการชุดนี้คือการศึกษาทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การบริหารของกองทัพที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ เพราะหลายเสียงมองว่ามีหลายภารกิจของกองทัพไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ เช่น สนามกอล์ฟ สนามมวย ปั๊มน้ำมัน โรงแรม ธุรกิจสื่อ และศูนย์ประชุมต่างๆ
คณะกรรมาธิการฯ จึงจำเป็นต้องตั้งคำถาม ขอรายละเอียดกิจการต่างๆ รวมถึงตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาเฉพาะไปยังธุรกิจแต่ละประเภท เพื่อดูว่ามีอะไรที่สามารถถ่ายโอนกลับไปยังกระทรวงการคลังหรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ ได้บ้าง เพื่อให้รัฐหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจนั้นๆ สามารถจัดสรรและบริหารต่อเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน
สส. เบญจา ระบุว่า การประชุมทำให้ได้พบข้อมูลน่าสนใจหลายอย่าง บางเรื่องเป็นข้อมูลที่หลายคนไม่เคยทราบมาก่อน อย่างการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ขายไฟให้กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี แล้วกิจการไฟฟ้าฯ ก็ขายไฟให้ประชาชนในราคาที่สูงกว่าปกติ จาก 4 บาทกว่าต่อหน่วย เป็น 6 บาทกว่าต่อหน่วย ส่วนมิเตอร์ไฟชั่วคราวมีราคาขายสูงถึง 8-10 บาทต่อหน่วย
สส. เบญจา ระบุว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่การประชุมในประเด็นดังกล่าวไม่สามารถถ่ายทอดสดได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้กรรมาธิการสัดส่วนพรรคก้าวไกลเคยขอเสนอให้มีการถ่ายทอดสด เพราะกิจการทหารเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ แต่มติที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่รวมถึง จิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ และโฆษกกระทรวงกลาโหม มีข้อกังวลเรื่องการพาดพิงรวมถึงด้านความมั่นคงของรัฐ จึงขอให้ถ่ายทอดสดได้เพียงบางครั้งเท่านั้น
เธอเล่าว่าตัวแทนกองทัพเรือที่เป็นผู้ชี้แจงไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนนัก ตอบเพียงแค่ว่าอัตราค่าไฟของกิจการไฟฟ้าฯ อยู่ในเกณฑ์เดียวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แต่อาจมีส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมา เป็นผลมาจากค่า Ft ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าบริการอื่นๆ และเป็นมิเตอร์ไฟฟ้าชั่วคราวเท่านั้น
ข้อมูลที่กองทัพชี้แจงไม่ตรงกับข้อมูลที่ สส. เบญจา ได้มา เพราะเธอมีบิลค่าไฟจากประชาชนยืนยันว่ากองทัพเรือขายไฟแพงกว่า กฟภ. และไม่ใช่มิเตอร์ไฟฟ้าชั่วคราวตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นมิเตอร์แบบถาวร โดยยกตัวอย่างว่า หากบ้านที่ใช้ไฟแบบปกติจ่ายค่าไฟประมาณ 2,000 บาท ประชาชนที่ซื้อไฟจากกองทัพในหน่วยไฟฟ้าเท่ากันจะต้องจ่ายค่าไฟประมาณ 6,000 บาท เมื่อรวมกับภาษีอื่นๆ เท่ากับจ่ายค่าไฟสูงกว่าความเป็นจริงเกือบ 3 เท่าตัว
เธอยังแสดงความกังวลอีกว่า นอกจากค่าไฟที่แพงกว่าปกติ คุณภาพไฟฟ้าของคนที่ต้องซื้อไฟจากกองทัพเรือก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะหลายครั้งไฟมาแบบติดๆ ดับๆ ส่งผลให้อุปกรณ์ไฟฟ้าของประชาชนเสียหาย และถ้าไปดูในเพจกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือก็จะเห็นคอมเมนต์ตำหนิถึงประเด็นนี้เสมอ
ด้วยเหตุผลที่เพียงพอ ทำให้คณะกรรมาธิการฯ จะต้องพิจารณาว่าสามารถถ่ายโอนธุรกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กฟภ. เข้ามาดูแลได้อย่างไรบ้าง
ทางด้านของจิรายุชี้แจงเพิ่มเติมต่อสื่อมวลชนว่า สวัสดิการไฟฟ้าสัตหีบเป็นไปตามกฎหมายที่บังคับใช้มาก่อนหลายสิบปี โดยประกาศให้ 5 ตำบลของอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นอำเภอของกองทัพเรือ เมื่อเวลาผ่านไปยังไม่มีการแก้กฎหมายชัดเจน กองทัพเรือที่เป็นเขตความมั่นคง มีอาวุธยุทโธปกรณ์ในการป้องกันตัวเองจำนวนมาก มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟมหาศาล หากใช้ไฟฟ้าทั้งหมดจากส่วนภูมิภาคคงไม่พอ และเมื่อมีไฟฟ้าใช้งานจึงนำมาให้บริการแก่ประชาชนด้วย
ตอนนี้ประเด็นกิจการไฟฟ้าฯ เข้าสู่ชั้นกรรมาธิการฯ แล้ว ก็จะเร่งหาข้อสรุปว่ากองทัพจะคืนส่วนใดให้ กฟภ. บ้าง และหากไม่คืนจะมีผลด้านใดตามมา
อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือแจ้งในที่ประชุมว่าเหลือใบอนุญาตที่ได้จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้จำหน่ายไฟได้อีกประมาณ 25 ปี จึงต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำไปชำระค่าสัมปทานที่กองทัพเรือชำระให้ กกพ. หรือที่กองทัพเรือได้ลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าไปแล้ว เพื่อส่งมอบหรือโอนธุรกิจนี้ให้ กฟภ. ที่มีความพร้อมในเรื่องนี้เป็นผู้ดูแล รวมถึงย้ำว่าพื้นที่ที่มีการจำหน่ายไฟเป็นพื้นที่ความมั่นคง
ในที่ประชุมยังตั้งคำถามถึงรายได้ของกิจการไฟฟ้าฯ มูลค่ากว่า 1,800-2,000 ล้านบาทต่อปี กองทัพเรือชี้แจงว่า กำไรส่วนหนึ่งที่มาจากรายได้ถูกนำไปเป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการและทหารชั้นผู้น้อย ซึ่ง สส. เบญจา มองว่าเป็นคำตอบที่ไม่ชัดเจน คณะกรรมาธิการฯ จึงได้ขอรายละเอียดการจัดสรรรายได้และกำไรที่ว่ามาทั้งแบบรายเดือนและรายปีเพื่อประกอบการพิจารณาการถ่ายโอน แต่ผู้ชี้แจงไม่ได้นำเอกสารที่คณะกรรมาธิการฯ ขอไปมาให้ โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างการอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือพูดง่ายๆ ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังไม่เซ็นอนุมัติ ที่ทำให้เธอตั้งข้อสังเกตว่ากองทัพเรือกำลังถ่วงเวลาเรื่องการโอนย้ายกิจการไฟฟ้าให้เป็นภาระของรัฐมนตรีหรือไม่
กรณีแบบนี้ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะในปี 2537 กองทัพเรือในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ก็ได้ถ่ายโอนธุรกิจให้ กฟภ. เป็นผู้ดูแล ทำให้คณะกรรมาธิการชุดนี้จะใช้เคสดังกล่าวมาเป็นต้นแบบในศึกษาต่อไป