×

มองชะตากรรมเมียนมา หลังครบ 1 ปีรัฐประหาร หวั่นไฟความขัดแย้งพาประเทศสู่สงครามกลางเมือง

01.02.2022
  • LOADING...
Myanmar

ครบรอบ 1 ปีนับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมาตัดสินใจก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ชะตากรรมของประชาชนเมียนมาทั่วประเทศยังคงตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตการเมืองและความขัดแย้งแทบทุกวัน 

 

ความพยายามของกองทัพในการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มต่อต้านอย่างรุนแรง นอกจากจะไม่ประสบผลสำเร็จ กลับเผชิญการต่อต้านที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ภายในประเทศย่ำแย่ ภาวะเศรษฐกิจดิ่งเหว เกิดการประท้วงและหยุดงานต่อเนื่องหลายต่อหลายครั้ง จนหลายฝ่ายกังวลว่าไฟแห่งความขัดแย้งจากการรัฐประหารครั้งนี้อาจพาเมียนมาไถลไปสู่ ‘สงครามกลางเมือง’ ในท้ายที่สุด

 

ชะตากรรมเมียนมา หลังครบ 1 ปีรัฐประหาร 

 

  • ชะตากรรมของเมียนมานับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังพลเรือนติดอาวุธและชนกลุ่มน้อย ที่แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค 

 

  • ข้อมูลจากสื่อท้องถิ่นประเมินว่า การปราบปรามกลุ่มต่อต้านและการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตไปมากกว่า 12,000 คน ซึ่งแน่นอนว่ายังเป็นตัวเลขที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลจากทางการ 

 

  • ข่าวสลดใจจากการกระทำของกองทัพเมียนมาปรากฏบ่อยครั้งตลอดปีที่ผ่านมา ช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้เกิดทั้งกรณีรถบรรทุกกองทัพพุ่งเข้าชนกลุ่มผู้ประท้วงอย่างสันติในย่างกุ้ง จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไปหลายคน ตลอดจนการล้อมปราบสังหารหมู่ชาวกะเหรี่ยงกว่า 35 คนในรัฐกะยา รวมทั้งเด็กและผู้หญิง ด้วยการจับมัดและเผาทั้งเป็น ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงก่อนวันคริสต์มาสที่ผ่านมา

 

  • องค์การสหประชาชาติเผยว่า มีประชาชนมากกว่า 400,000 คน ที่ต้องอพยพหนีภัยการสู้รบนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร โดยจำนวนไม่น้อยพยายามหลบหนีข้ามชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งอินเดียและไทย หรือหนีเข้าไปหลบซ่อนตัวในป่า

 

  • การเดินขบวนประท้วงและชูป้ายต่อต้านกองทัพในช่วงแรกนั้นเกิดขึ้นแทบทุกวัน ก่อนที่กองทัพเมียนมาจะยกระดับความรุนแรงในการปราบปรามผู้ประท้วง และขู่ตั้งข้อหาก่อการร้ายและยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ ส่งผลให้ช่วงหลัง รวมถึงในวันครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหารในวันนี้ (1 กุมภาพันธ์) แกนนำประท้วงในพื้นที่ต่างๆ ต้องหันมาใช้วิธี ‘ประท้วงเงียบ’ ด้วยการเรียกร้องให้ประชาชนหยุดงานและอยู่บ้าน ปิดร้านค้าและธุรกิจ รวมถึงงดทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน

 

  • นอกจากการใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมากองทัพเมียนมายังพยายามปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยรายงานจาก Top10VPN กลุ่มวิจัยด้านความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัลและความมั่นคงจากอังกฤษ เปิดเผยว่าการสั่งปิดระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อสกัดกั้นข้อมูลการประท้วงทั่วประเทศในเมียนมาเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดของโลก 

 

  • ขณะที่สถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อมวลชนในเมียนมาก็เลวร้ายลงอย่างมากนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร โดยมีนักข่าวและผู้ที่ทำงานด้านสื่อถูกจับกุมอย่างน้อย 120 คน และเสียชีวิต 1 คน และจนถึงตอนนี้ยังถูกคุมขังอยู่ 46 คน ในจำนวนนี้กว่า 40 คน ถูกตั้งข้อหาคดีอาญาฐานทำให้สมาชิกรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามหน้าที่

 

  • ส่วนชะตากรรมของนักการเมืองเมียนมา โดยเฉพาะออง ซาน ซูจี และอดีตนักการเมืองในรัฐบาลพลเรือน พบว่าหลายคนยังถูกกักตัวในสถานที่ไม่เปิดเผยและถูกดำเนินคดีในหลายข้อหาที่แตกต่างกัน 

 

  • โดยซูจีถูกตั้งข้อหารวมกันแล้วอย่างน้อย 11 ข้อหา มีโทษจำคุกรวมสูงสุดถึง 160 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึงข้อหาล่าสุดที่ศาลประกาศเมื่อวานนี้ (31 มกราคม) คือฉ้อโกงการเลือกตั้ง ขณะที่มี 2 คดี ซึ่งศาลตัดสินโทษจำคุกแล้ว 4 ปี คือ คดีละเมิดกฎหมายนำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสารโดยไม่มีใบอนุญาต และคดีละเมิดกฎหมายป้องกันโควิด จากการหาเสียงเลือกตั้ง 

 

‘รัฐประหารที่ล้มเหลว’

 

  • The Irrawaddy สำนักข่าวภาษาอังกฤษของเมียนมา เผยแพร่บทความชี้ว่า การก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมาครั้งนี้ประสบความ ‘ล้มเหลว’ โดยรัฐบาลทหารนั้นกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถรวมอำนาจหรือควบคุมกองกำลังพลเรือนติดอาวุธที่ต่อต้านกองทัพได้

 

  • ขณะที่ The Irrawaddy และสื่อต่างประเทศหลายสำนัก เช่น BBC, Al Jazeera รายงานว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลทหารในการควบคุมสถานการณ์ภายการหลังรัฐประหาร กำลังนำพาเมียนมาไปสู่ ‘สงครามกลางเมือง’ ระหว่างกองทัพกับกองกำลังพลเรือนติดอาวุธและชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศที่ทำสงครามแบบกองโจร

 

  • และเพื่อปราบปรามกลุ่มต่อต้าน กองทัพยังคงใช้วิธีจับกุม กักขัง และทรมานประชาชน รวมถึงขยายการใช้ความรุนแรง ทั้งเผาทำลายหมู่บ้าน และส่งเครื่องบินรบโจมตีทางอากาศ ซึ่งผลที่ตามมายิ่งก่อให้เกิดความไม่มั่นคงและเกิดผลกระทบด้านมนุษยธรรม รวมถึงวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยสงครามทั่วประเทศที่เลวร้ายมากขึ้น

 

  • ขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังการรัฐประหารเข้าขั้นตกต่ำอย่างหนัก และเกิดการพังทลายของระบบบริการสาธารณะ เนื่องจากแพทย์ พยาบาล และครูหลายพันคนทั่วประเทศ พร้อมใจกันเข้าร่วมการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนด้วยการไม่ทำงานให้รัฐบาลทหาร

 

  • ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนเมียนมาตกงานและชีวิตความเป็นอยู่เลวร้ายลงหลายล้านคน โดยการรัฐประหารที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตแพร่ระบาดของโควิด ยิ่งส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจเมียนมา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในอาเซียน ทรุดหนักมากขึ้นอีก 

 

โลกทำอะไรบ้าง นอกจากนั่งดู?

 

  • หลังการรัฐประหารตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกแสดงท่าทีต่อการรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มต่อต้านในเมียนมา ทั้งการประณาม คว่ำบาตร และการเพิ่มความพยายามแก้ไขปัญหาทางการทูตผ่านการพูดคุยและเจรจา

 

  • โดยอาเซียน ซึ่งเป็นสมาคมประชาชาติหลักของเมียนมา ถูกตั้งความหวังในช่วงแรกว่าอาจมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา ซึ่งในเดือนเมษายนปีที่แล้ว สมาชิกอาเซียนสามารถบรรลุข้อตกลงตามแผนฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมา ซึ่งรวมถึงการยุติความรุนแรงทันที และเปิดการพูดคุยหาทางออกกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้มีการแต่งตั้งทูตพิเศษอาเซียนเพื่อดูแลในเรื่องนี้และเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวเมียนมา

 

  • แต่หลังผ่านมา 9 เดือน อาเซียนยังคงไม่มีความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนฉันทามติ 5 ข้อดังกล่าว และมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ความพยายามหาทางออกแก่วิกฤตในเมียนมานั้นล้มเหลว โดยสาเหตุหลักมี 5 ข้อ ได้แก่

 

  1. รัฐบาลทหารเมียนมาแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่สนใจพูดคุยหาทางออก หากไม่สามารถควบคุมกระบวนการทั้งหมดในการพูดคุย 

 

  1. กลุ่มอาเซียนเสียเวลาไปกับการโต้แย้งกันเรื่องกฎเกณฑ์และขั้นตอนภายใน เช่น การแต่งตั้งทูตพิเศษ ในขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมาก็ยื้อเวลาและไม่ยอมรับเงื่อนไขของทูตพิเศษในการไปเยือนเมียนมาครั้งแรก ซึ่งรวมถึงเงื่อนไขการขอเข้าพบซูจี 

 

ขณะที่อาเซียนยังมีความแตกแยกภายใน เห็นได้จากท่าทีของกัมพูชาซึ่งรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้ โดยสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เดินทางไปเยือนกรุงเนปิดอว์ของเมียนมาเมื่อต้นเดือนมกราคม สนับสนุนให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมอาเซียน ซึ่งถือเป็นท่าทีที่ขัดแย้งกับความเห็นของหลายชาติสมาชิก เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วอาเซียนปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ผู้แทนรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุม เพื่อตอบโต้จากการไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามแผนฉันทามติ 5 ข้อ

 

  1. สมาชิกประชาคมระหว่างประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่ออกหน้าและหลบอยู่หลังอาเซียน แม้จะให้การสนับสนุนอาเซียนในความพยายามแก้ปัญหาในเมียนมา แต่ก็มีความขัดแย้งภายในที่ส่งผลขัดขวางความคืบหน้าของกระบวนการแก้ปัญหา

 

  1. ความสนใจต่อวิกฤตในเมียนมาที่ลดลง เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์สำคัญอื่นๆ เช่นในอัฟกานิสถาน เอธิโอเปีย หรือยูเครน

 

  1. การขาดการตอบสนองจากนานาชาติที่แข็งแกร่งต่อวิกฤตในเมียนมา ทำให้ความเชื่อมั่นในประชาคมโลกลดลงทีละน้อย

 

  • ด้านสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ที่ผ่านมามีการดำเนินการคว่ำบาตรผู้นำกองทัพเมียนมาและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนกองทัพ โดยล่าสุดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และแคนาดา ได้ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายตุลาการของเมียนมาหลายคน รวมทั้งอัยการสูงสุดและผู้พิพากษาศาลฎีกา เพื่อตอบโต้การดำเนินคดีต่อซูจี ซึ่งเชื่อว่าเป็นไปภายใต้แรงจูงใจทางการเมือง 

 

  • อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงาของเมียนมาที่จัดตั้งโดยฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร เปิดเผยต่อ Al Jazeera โดยระบุว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกนั้น “ไม่ได้ทำอะไรนอกจากนั่งดู” วิกฤตการณ์ในเมียนมา ทั้งที่เกิดการใช้ความรุนแรงและการปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างโหดร้ายและป่าเถื่อน

 

  • ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch ระบุว่า การกระทำของรัฐบาลทหารเมียนมาในการปราบปรามกลุ่มต่อต้านอย่างโหดเหี้ยมนั้น เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

ภาพ: Photo by Stringer/Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising