×

‘โกดังพลุระเบิด’ จากมูโนะถึงสุพรรณบุรี บทเรียนที่ไม่เคยจำ

โดย THE STANDARD TEAM
19.01.2024
  • LOADING...
มูโนะ ถึง สุพรรณบุรี Key Messages

ข่าวโรงงานพลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วอย่างน้อย 23 ราย กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวที่อยู่ในความสนใจของสังคม เพราะก่อนหน้านี้เพียง 5 เดือน เมื่อปี 2566 เหตุการณ์โกดังพลุที่ตั้งอยู่ในตลาดมูโนะ จังหวัดนราธิวาส เกิดระเบิดและส่งผลให้เสียหายเป็นวงกว้างมาแล้วครั้งหนึ่ง

 

เหตุการณ์ในลักษณะนี้ถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ทั้งคนที่ทำงานในสถานที่นั้นๆ และคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อาจจะได้รับผลกระทบหากเกิดเหตุการณ์

 

THE STANDARD ชวนย้อน 2 เหตุการณ์โกดังหรือโรงงานพลุระเบิดภายในเวลาระยะเวลาห่างกันเพียง 5 เดือน

 

โกดังพลุระเบิดกลางชุมชนตลาดมูโนะ จังหวัดนราธิวาส

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. เกิดเหตุมีเสียงระเบิดดังสนั่นในพื้นที่ตลาดมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและร้านค้าในพื้นที่เป็นบริเวณกว้างทันที

 

ต่อมาจึงทราบว่าเสียงดังสนั่นที่มาพร้อมกับความเสียหายในวงกว้างนั้นคือการระเบิดของโรงงานพลุและดอกไม้ไฟ รวมถึงประทัดที่ตั้งอยู่กลางชุมชนตลาดมูโนะ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทันทีอย่างน้อย 9 ราย และบาดเจ็บอีกนับร้อย บ้านเรือนเสียหายวงกว้างเป็นร้อยหลัง และบางหลังที่อยู่ใกล้กับโรงงานดังกล่าวบ้านแทบจะหายไปทั้งหลังในพริบตา

 

ตำรวจออกหมายจับ 2 สามีภรรยาที่เป็นเจ้าของโกดังพลุดังกล่าว ซึ่งถือเป็นโกดังที่ไม่ได้รับอนุญาต ขณะนั้นทั้ง 2 คนอยู่ต่างประเทศ ก่อนเดินทางกลับมามอบตัวเข้าสู่กระบวนการทางคดี

 

นอกจากนี้ จากการสืบสวนพบว่าเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการนำเข้า จำหน่าย และเก็บรักษาดอกไม้ไฟ บางรายมีการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย จึงได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐอีก 16 ราย

 

ผ่านไปนานหลายเดือน ขณะนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และอาชีพที่ทำมาหากิน ยังไม่สามารถเยียวยาชดเชยได้ครบถ้วน

 

‘โกดังพลุระเบิดตลาดมูโนะ’ กับคำถามที่ชาวบ้านคาใจ

 

THE STANDARD เผยแพร่บทความของ รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรื่อง ‘โกดังพลุระเบิดตลาดมูโนะ’ กับคำถามที่ชาวบ้านคาใจ โดยตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ข้อ ดังนี้

 

ทำไมมีโกดังพลุในชุมชน

 

หมู่บ้านมูโนะเป็นหมู่บ้านที่ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย มีเพียงแม่น้ำเล็กๆ กั้นระหว่างเขตแดนไทยและมาเลเซีย ตลาดมูโนะคือตลาดสำคัญของผู้คนในหมู่บ้านมูโนะ เป็นพื้นที่ของการซื้อขายสินค้า ไม่ว่าจะมาจากประเทศมาเลเซียหรือไทย ถือว่าเป็นตลาดสำคัญของผู้คนในพื้นที่แถวนั้น

 

การมีโกดังสินค้าประเภทพลุหลังตลาด ชาวบ้านแถวนั้นรู้ว่ามีโกดังเก็บสินค้า แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีใครทราบรายละเอียดมากนัก มีแต่เพียงข้อมูลว่าโกดังดังกล่าวเป็นของคนนอกพื้นที่

 

“คำถามจึงมีอยู่ว่าใครเป็นผู้อนุญาต การจัดจำหน่ายพลุ ประทัด ฯลฯ ถือว่าต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยเจ้าหน้าที่รับผิดชอบคือนายทะเบียนท้องที่ ที่ต้องกำกับดูแล อนุญาต ตรวจสอบ ในการจัดจำหน่ายพลุ” รศ.เอกรินทร์ระบุ

 

“คำถามที่สำคัญจากคนในพื้นที่ ทำไมโรงงานโกดังพลุจึงตั้งอยู่ท้ายตลาดของหมู่บ้าน มาตรการความปลอดภัยอยู่ตรงไหน? หากนับรวมถึงความสงสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ เช่น ใครเป็นเจ้าของ ใครจะรับผิดชอบ สินค้ามาได้อย่างไร ใครหรือหน่วยงานใดเป็นองค์กรตรวจสอบ เจ้าหน้าที่รัฐอยู่เต็มพื้นที่แต่ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยได้”

 

สิ่งที่ร้ายแรงสุดคืออุบัติเหตุครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปไม่ต่ำกว่า 10 คน บาดเจ็บเป็นร้อย ไม่นับรวมทรัพย์สินที่ต้องเสียหายจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านรู้ดีว่าพื้นที่แห่งนี้ยากที่ความยุติธรรมจะเข้าถึง

 

การสืบสวนข้อเท็จและการเยียวยา

 

“การสืบสวนข้อเท็จจริงให้รอบด้านถึงสาเหตุที่เกิดเหตุการณ์โกดังพลุระเบิดที่มูโนะ จังหวัดนราธิวาสในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ”

 

โดยคณะกรรมการในการสืบสวนข้อเท็จจริงต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง ไม่ใช่แค่เพียงหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่รัฐโดยตำแหน่งแต่เพียงอย่างเดียว พร้อมกับดำเนินการเยียวยาประชาชนที่ได้ความเดือดร้อนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 200 ครัวเรือน ที่ต้องประสบกับปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ

 

“มาตรการทั้งสองอย่างจะช่วยให้ประชาชนมีความไว้วางใจและความหวังต่อการทำงานของภาครัฐ ท่ามกลางคำถามจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐปล่อยให้โกดังพลุอยู่ในหมู่บ้านได้อย่างไร”

 

โรงงานพลุสุพรรณบุรีระเบิด

 

อีกเพียง 5 เดือนต่อมา วันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา เวลาประมาณ 16.00 น. เกิดเหตุโรงงานพลุในเขตพื้นที่ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ระเบิด ซึ่งคนงานที่อยู่ในโรงงานอย่างน้อย 23 รายเสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย

 

ผ่านไป 2 วันหลังเกิดเหตุ อธิบดีกรมการปกครองยืนยันว่าโรงงานได้ใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2564 และต่อใบอนุญาตทุกปี โดยผ่านการอนุมัติจากนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรีหลังผ่านหลักเกณฑ์ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้โรงงานแห่งนี้ระเบิด

 

ขณะที่นายกสภาทนายความได้ส่งกรรมการบริหารสภาทนายความภาค 7 และประธานสภาทนายความจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมทนายความอาสาจังหวัดสุพรรณบุรี ลงพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย เพื่อเตรียมการให้การช่วยเหลือประชาชนทุกคนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว

 

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ระบุว่า เหตุการณ์ลักษณะทำนองเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายนับร้อยหลังคาเรือน ประชาชนจำนวน 564 ครอบครัวได้ร้องขอให้สภาทนายความเข้าช่วยเหลือดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าของโรงงานเก็บพลุและผู้ก่อเหตุ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดนราธิวาส

 

แม้ในครั้งนี้จะไม่ได้ก่อความเสียหายไปถึงชุมชนรอบข้าง แต่ยังคงมีคำถามอยู่ดีว่าอะไรคือมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานหรือโกดังประเภทนี้ และจะมีมาตรการการควบคุมอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้อีก

 

เพราะหลายครั้งที่สังคมไทยเจอเหตุการณ์ที่มีความสูญเสียก็มักจะถอดบทเรียน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ในหลายเหตุการณ์ที่ยังคงเกิดซ้ำๆ บทเรียนที่กลายเป็นบทลืม บทเรียนที่ยังคงเป็นบทเรียนไม่รู้จบ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising