×

ก้าวไกลเสนอแก้ ม.112 ใช้อำนาจนิติบัญญัติ vs. ล้มล้างการปกครอง?

โดย THE STANDARD TEAM
31.01.2024
  • LOADING...

กลางปี 2566 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ วัย 49 ปี และยังเคยเป็นทนายความให้กับ สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ อดีตแกนนำ กปปส. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

 

คำร้องจำนวน 18 หน้าได้ยกพฤติการณ์ของพรรคก้าวไกลและพิธาระหว่างการหาเสียงบนเวทีดีเบต เวทีหาเสียงต่างๆ รวมถึงการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา 112 มาใช้ประกอบคำร้อง

 

อีกทั้งคำร้องดังกล่าวได้อ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 กรณี ณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำที่ขัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 และให้ยุติการกระทำตามวรรคสอง

 

การกระทำที่ว่านั้นคือ การเสนอ 10 ข้อปฏิรูปสถาบันฯ​ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีผู้ถูกร้อง 3 คนคือ อานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1, ภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 และสั่งให้ยุติการกระทำดังกล่าว

 

และ 1 ใน 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ คือให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

อย่างไรก็ตาม คำร้องดังกล่าวขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกร้องยุติการกระทำ แต่ไม่ได้ขอให้ศาลยุบพรรคผู้ถูกร้องแต่อย่างใด

 

THE STANDARD ชวนย้อนเส้นทางคดีนี้จากจุดเริ่มต้นถึงวันนัดฟังคำวินิจฉัย

 

เส้นทางคดีจากวันเริ่มต้นถึงวันชี้ชะตา

 

 

  • 10 กุมภาพันธ์ 2564: พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อประธานรัฐสภา

 

  • 30 พฤษภาคม 2566: ธีรยุทธ สุวรรณเกษร (อดีตทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ) ร้องอัยการสูงสุดว่าการกระทำของพิธา (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) อาจเข้าข่ายปฏิปักษ์ต่อการปกครอง

 

  • 16 มิถุนายน 2566: ธีรยุทธร้องศาลรัฐธรรมนูญให้พิธาและพรรคก้าวไกลเลิกการกระทำที่อาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง

 

  • 12 กรกฎาคม 2566: ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องธีรยุทธ ให้พิธาและพรรคก้าวไกลชี้แจงภายใน 15 วัน

 

  • 14 กรกฎาคม 2566: รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 มีการเปิดอภิปรายก่อนลงมติ ข้อหาหลักที่พิธาถูกคัดค้านคือการที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

  • 25 ธันวาคม 2566: ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนเรียกพยานบุคคลให้ถ้อยคำ

 

  • 26 มกราคม 2567: พิธาตอบสื่อถึงการผลักดันแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าขณะนี้ยังทำอะไรไม่ได้ ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จ

 

  • 27 มกราคม 2567: ปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่เห็นด้วยกับแผนงานของพรรคก้าวไกลปี 2567 เสนอร่างกฎหมาย 47 ฉบับ แต่ไม่มีร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 / พรรคก้าวไกลปล่อยคลิปพร้อมข้อความ ‘แก้ไข ม.112 ไม่เท่ากับล้มล้างสถาบันฯ แต่คือหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา’

 

  • 28 มกราคม 2567: ธีรยุทธให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ ระบุว่าไม่ได้ขอให้ยุบพรรคก้าวไกล แต่ขอให้ศาลสั่งหยุดนำนโยบายแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาหาเสียง และหยุดแสดงความเห็น

 

  • 31 มกราคม 2567: ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 14.00 น. 

 

พรรคก้าวไกลแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร

 

แกนนำพรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่สามารถนำไปสู่การกระทำที่เรียกว่าเป็นการ ‘ล้มล้างการปกครอง’ ได้

 

ก่อนถึงวันตัดสินคดีไม่กี่วัน พรรคก้าวไกลได้เผยแพร่คลิปวิดีโอชุดหนึ่งซึ่งใช้หัวข้อว่า ‘ปฏิรูป ต้องไม่เท่ากับล้มล้าง’ โดยยืนยันจุดยืนเดิมคือการแก้กฎหมายดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบของรัฐหรือระบอบการปกครอง 

 

เนื้อหาในวิดีโอชุดดังกล่าวบอกเล่าถึงการทำรัฐประหาร ซึ่งผิดทั้งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอาญา มาตรา 113 แต่ในท้ายที่สุดกลับได้ดิบได้ดี ไม่ถูกดำเนินคดี ขณะที่มีพรรคการเมืองซึ่งหมายถึงพรรคก้าวไกลที่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว แต่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าวาระการประชุมสภา เนื่องจากชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ระบุว่ามีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6

 

คลิปวิดีโอดังกล่าวได้อธิบายถึงหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีอำนาจอธิปไตยผ่าน 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ดังนั้นรัฐสภาถือเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยคืออำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งมีหน้าที่ออกกฎหมาย แก้กฎหมาย ในคลิปวิดีโอดังกล่าวจึงตั้งคำถามว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะกลายเป็นการล้มล้างการปกครองได้อย่างไร

 

แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าในร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลจะมีการยกเว้นความผิดให้กับ 3 กรณี คือ รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะทำให้ถูกมองว่าการยกเว้นแบบนี้เท่ากับทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ตามรัฐธรรมนูญ

 

พรรคก้าวไกลยังได้ยกตัวอย่างสมัยรัชกาลที่ 5 กฎหมายลักษณะหมิ่นประมาท ร.ศ.118 ที่กำหนดว่า ถ้าเป็นการติชมพระมหากษัตริย์โดยสุจริต เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่มีความผิด มาจนกระทั่งการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เมื่อปี 2478 ที่กำหนดว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หากเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะและเพื่อความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าไม่ผิด

 

ส่วนอีกข้อโต้แย้งคือการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยการลดโทษ ลดการคุ้มครองสถาบันฯ พรรคก้าวไกลระบุว่า ในยุคการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ ร.ศ.118 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี, ร.ศ. 127 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี กระทั่งเปลี่ยนระบอบการปกครองมาถึงยุคปี 2499 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี แต่เพิ่งมีการแก้โทษจำคุกให้สูงสุดถึง 15 ปี หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ดังนั้นการเพิ่มหรือลดโทษในกฎหมายลักษณะนี้มีอยู่ตลอด พรรคก้าวไกลยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด

 

“พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นไปเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริธำรงอยู่คู่สังคมประชาธิปไตย โดยสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองประมุขกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน คุ้มครองไม่ให้มีเหลือบลิ้นไรแอบแฝงแสวงหาผลประโยชน์ ผูกขาดความจงรักภักดีไว้ปกป้องตัวเองและนำมาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง การวางสถาบันฯ ไว้ในที่สูง ไม่ได้ใช้การกำหนดกฎหมายที่รุนแรงและโทษสูง แต่คือการธำรงสถานะของพระมหากษัตริย์ไว้บนฐานของเหตุผล สติปัญญา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน”

 

แบบไหนคือ ‘ล้มล้างการปกครอง’

 

 

THE STANDARD สรุปความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรา 49 ว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยวางหลักไว้ว่าอย่างไร และการกระทำแบบไหนที่เรียกว่า ‘ล้มล้างการปกครอง’

 

มาตรา 49 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 วางหลักไว้ว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ 

 

“ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้”

 

 จุดเริ่มต้นคดี

 

ผู้มีสิทธิริเริ่ม: ประชาชน

 

ยื่นเมื่อใด: เมื่อทราบว่ามีการกระทำเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

 

ยื่นที่ไหน: ยื่นอัยการสูงสุดก่อน จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญทันทีไม่ได้  

 

แบบไหนเรียกว่า ‘ล้มล้างการปกครอง’

 

ล้มล้างการปกครอง: การกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564)

 

  1. เป็นการกระทำที่ไม่ห่างไกลจนเกินเหตุตามสภาพการณ์สังคม
  2. ต้องกำลังดำเนินอยู่และยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น

 

หมายเหตุ: กฎหมายมาตรานี้เป็นมาตรการในการป้องกันไว้ล่วงหน้า (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2563, คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 39/2555, ที่ 71/2555)

 

ผลของคำวินิจฉัยและสภาพบังคับ

 

หากเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ศาลสั่งเลิกการกระทำ และสั่งให้เลิกการกระทำที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต  

(คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564) 

 

บรรทัดฐานคดีชุมนุม 10 สิงหาคม 2563

 

ในคำร้องของคดีนี้มีการอ้างอิงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่วินิจฉัยให้การกระทำในการชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมเปิดปราศรัย 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ เป็นการล้มล้างการปกครอง โดย 1 ใน 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ คือให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

คำวินิจฉัยที่ถูกอ้างถึงคือคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า กรณีการชุมนุมปราศรัยของอานนท์, ภาณุพงศ์ และปนัสยา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แม้การชุมนุมจะเลิกไปแล้ว แต่ยังมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง กระทำผิดซ้ำ และขอให้เลิกการกระทำในอนาคต

 

ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1, 2 และ 3 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะเครือข่าย อภิปราย ปลุกเร้า ทำให้เกิดความวุ่นวาย แตกแยกในสังคม มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ในการชุมนุมหลายครั้ง มีการลบแถบสีน้ำเงินในธงชาติ เป็นการละเมิดมาตรา 6 ตามรัฐธรรมนูญ

 

ศาลยังระบุในคำวินิจฉัยครั้งนั้นอีกว่า พระมหากษัตริย์จะดำรงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป และอยู่ในสถานะเคารพสักการะ จะถูกละเมิดมิได้ เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ขณะที่ประวัติศาสตร์การปกครอง อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และราชอาณาจักรไทยได้ธำรงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาโดยตลอด

 

วิเคราะห์ฉากทัศน์คำวินิจฉัยคดีนี้ 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

ฉากทัศน์ของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้มี 3 แนวทางที่อาจเป็นไปได้ ดังนี้

 

แนวทางที่ 1: เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และให้ยกเลิกการกระทำ

 

แนวทางที่ 2: ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง แต่มีคำแนะนำที่เป็นกรอบการกระทำ

 

แนวทางที่ 3: ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ยกคำร้อง

 

คดีนี้เป็นการร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ซึ่งศาลสามารถวินิจฉัยว่า ในกรณีที่ผู้พบการกระทำที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สามารถร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ แต่ในมาตราดังกล่าวไม่ได้ระบุโทษอื่นๆ รวมถึงการสั่งยุบพรรคในขั้นนี้

 

อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และให้ยกเลิกการกระทำ อาจจะมีการใช้คำวินิจฉัยนี้เพื่อนำไปร้องต่อตามรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ หรือบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีโทษแก่ผู้ถูกร้องเพิ่มเติม

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising