×

เมื่อ ‘สมรสเท่าเทียม’ กำลังจะมา ประเทศไทยพร้อมหรือไม่ ที่จะ ‘เข้าใจ’ และ ‘เปลี่ยนแปลง’?

20.09.2024
  • LOADING...

หลายสำนักข่าวรายงานตรงกันว่า เมื่อวานนี้ (19 กันยายน) สถานะของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ แสดงผลว่า ‘พ้น 90 วัน พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้ง’ ในเว็บไซต์ระบบสารสนเทศของรัฐสภา เป็น ‘ความผิดพลาดของเว็บไซต์ที่อ่านค่าผิด’

 

ก่อนที่ต่อมาในวันเดียวกัน เว็บไซต์ได้เปลี่ยนแปลงสถานะของร่าง พ.ร.บ. เป็น ‘ส่งร่าง พ.ร.บ. ให้คณะรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย’

 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมหันกลับมาสนใจความคืบหน้าของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกครั้ง ที่แม้ว่าหลังวุฒิสภาให้ความเห็นชอบไปเมื่อ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ประชาชนต่างร่วมยินดีกับความก้าวหน้าในมิติทางกฎหมายของไทย ทว่าในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะยังไม่มีผลบังคับใช้ อย่างเร็วก็จนกระทั่งวันที่ 30 มกราคม 2568 ที่กระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว

 

ไม่ใช่เพียงเรื่องของระยะเวลาเท่านั้น คำถามสำคัญอีกประการคือ ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทยมีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ ที่จะตามมากับกฎหมายฉบับนี้แล้วหรือไม่

 

THE STANDARD ชวนหาคำตอบในเวทีเสวนา ‘เตรียมประเทศไทยสู่กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ของ ‘บางกอกไพรด์’ ที่ร่วมสนทนากับตัวแทนภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลอดจนตัวแทนจากวงการบันเทิง เพื่อทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน

 


 

 

เวทีเสวนา ‘เตรียมประเทศไทยสู่กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 


 

ไม่ได้จบแค่กฎหมายฉบับเดียว

 

วาดดาว-อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง ‘นฤมิตรไพรด์’ และหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สัดส่วนภาคประชาชน เป็นผู้นำการเสวนา พร้อมอธิบายถึงความคืบหน้าและขั้นตอนก่อนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าหากพิจารณาตามกรอบเวลาที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 2 ตุลาคม 2567 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 มกราคม 2568

 

จากนั้น นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) และอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สัดส่วนภาคประชาชน ชวนให้ประชาชนมองถึงผลที่ตามมาหลังจากจดทะเบียนแล้ว คือสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสตามกฎหมาย ที่กำหนดว่าคู่สมรสต้องอุปการะซึ่งกันและกัน

 

รวมถึงทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรสครึ่งหนึ่งจะต้องเป็นของคู่สมรสด้วย หรือที่เรียกว่า ‘สินสมรส’ ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจจดทะเบียนสมรสกัน ควรรับทราบข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ด้วย

 

นัยนายังกล่าวว่า หนึ่งในคำถามที่พบมากเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ คือ หากคู่สมรสเป็นคนต่างชาติ จะสามารถจดทะเบียนกันได้ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องสัญชาติ แต่ปัญหาอยู่ที่ ‘เงื่อนไขในการได้มาซึ่งสัญชาติ’ ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ซึ่งยังมีร่องรอยของการเลือกปฏิบัติทางเพศอยู่ เช่น การกำหนดให้ผู้หญิงต่างสัญชาติต้องสามารถพูดภาษาไทยได้ แต่หากเป็นผู้ชายต่างสัญชาติกลับไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว

 

นอกจากนี้ นัยนาระบุว่า ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับมาก ที่ควรต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงภายหลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ ทั้งเรื่องการรับบุตรบุญธรรม คำนำหน้า คำที่เป็นกลางเพศซึ่งยังไม่มีในกฎหมาย และอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้จัดทำข้อสังเกตส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม

 


 

วาดดาว

 

วาดดาว-อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้งนฤมิตรไพรด์ และอดีตกรรมาธิการสมรสเท่าเทียมฯ

 


 

ภาครัฐยืนยันความพร้อมจดทะเบียน

 

ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัวแทนภาครัฐ เผยว่า กรุงเทพมหานครร่วมกับภาคีในมุมของงานท้องถิ่น ก็คือการจดทะเบียนสมรส กรุงเทพมหานครมีความพร้อมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมามีการซักซ้อมแล้ว คือให้จดแจ้งสมรสเท่าเทียม แต่ตอนนั้นยังจดทะเบียนไม่ได้เพราะกฎหมายยังไม่ผ่าน จึงให้จดแจ้งไว้ก่อน มีทั้งหมด 164 คู่ หากอนาคตกฎหมายผ่านทุกอย่างก็พร้อม

 

ทั้งนี้ คาดว่าประมาณเดือนตุลาคม 2567 ทั้ง 164 คู่จะได้มาจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม เพื่อที่จะได้สิทธิทุกอย่างตามกฎหมาย ดังนั้น ในมิติที่เกี่ยวกับท้องถิ่น กรุงเทพมหานครมีความพร้อมมากที่จะสนับสนุนเรื่องนี้

 

“ยืนยันว่าทุกสำนักงานเขตในกรุงเทพฯ พร้อมจดทะเบียนทันที และพร้อมจดในวันพรุ่งนี้ด้วยซ้ำ หากกฎหมายผ่านบังคับใช้” ศานนท์กล่าวในช่วงหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม ศานนท์ยังกล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญกับการอบรมเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ไขกฎหมาย โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับกฎการไว้ทรงผมและการแต่งกายของนักเรียน ที่ทำให้เกิดกรณีนักเรียนมีปัญหาขัดแย้งกับครอบครัวหรือสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ด้วยความเข้าใจและการปลูกฝังทัศนคติ

 


 

ศานนท์

 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ร่วมเสวนาในฐานะตัวแทนภาครัฐ

 


 

ภาคธุรกิจและวงการบันเทิง เน้นเพิ่มพื้นที่ของความเข้าใจ

 

สรัญญา เจริญศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน เชื่อว่าภาคเอกชนมีความพร้อมมาก หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน อัตราการแต่งงานของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในไทย จะช่วยส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ทั้งช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว ตลอดจนธุรกิจด้านสาธารณสุขทั่วทั้งประเทศไทย

 

ขณะที่ศูนย์การค้า MBK Center เอง ได้วางบทบาทเป็นศูนย์การค้าซึ่งกลุ่ม LGBTQIA+ จะมีความสบายใจในการมาใช้บริการ ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่ช่วงเดือนมิถุนายน หรือ Pride Month เท่านั้น แต่จะมีกิจกรรมตลอดทั้งปีเพื่อสนับสนุนการแสดงออกของผู้ใช้บริการ และให้การสนับสนุนทางด้านธุรกิจและด้านจิตใจ

 

นอกจากนี้ ต๋อง-ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา นักแสดงและศิลปิน ให้ความเห็นว่า สำหรับวงการบันเทิงเองมีความพร้อมมานานแล้ว และมองว่าวงการบันเทิงควรเป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความหลากหลายทางเพศ และเผยแผ่ความเข้าใจนั้นไปสู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในด้านของผู้ผลิตเอง เช่น นักเขียนนิยายแนว LGBTQIA+ ที่มียอดขายดีมาก

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีผลงานบางส่วนที่สร้างขึ้นมา โดยผู้สร้างมีเจตนาที่ดี แต่บางครั้งก็มีภาพจำที่ยังไม่ถูกต้อง และยังแสดงออกถึงความไม่เท่าเทียมอยู่บ้าง เช่น นิยายที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคู่รักเพศเดียวกัน แต่ก็ต้องมีฝ่ายที่มีความเป็นชาย (Masculinity) มากกว่าอีกฝ่าย จึงควรมีการพูดคุยกันในกลุ่มผู้ผลิตเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และสอดแทรกวาระสำคัญๆ เข้าไปในผลงาน

 


 

 

ต๋อง-ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา นักแสดง และผู้ร่วมเสวนาในฐานะตัวแทนจากวงการบันเทิง

 


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising