ผู้ติดโควิดส่วนใหญ่จะไม่แพร่เชื้อหลังจากเริ่มมีอาการ 10 วัน และปัจจุบันบางประเทศลดวันแยกกักตัวอยู่บ้านเหลือ 5 วัน แต่ข้อมูลก่อนการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนพบว่า ผู้ติดเชื้อประมาณ 1 ใน 4 ราย มีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือน และ 1 ใน 10 ราย ยังคงมีอาการไม่สบาย เช่น อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ไอ นอนไม่หลับ หลังจากผ่านไป 3 เดือน หรือที่เรียกว่า ‘Long COVID’
นานแค่ไหนถึงเรียกว่า ‘Long’
คำว่า Long COVID ถ้าแปลตรงตัวคือ อาการโควิดที่เป็น ‘นาน’ (Long) ซึ่งปกติผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายในสัปดาห์แรกและไม่แพร่เชื้อหลังจากเริ่มมีอาการ 10 วัน โดยผู้ติดเชื้อประมาณ 1 ใน 2 ราย จะยังตรวจ ATK พบผลบวกหลังในช่วง 5-9 วัน (การตรวจ ATK พบผลบวกสัมพันธ์กับระยะแพร่เชื้อ) แต่บางอาการอาจหลงเหลืออยู่หลังจากนั้น แล้วเป็นยาวนานแค่ไหนถึงเรียกว่า ‘Long’
ระยะพักฟื้นหลังจากติดเชื้อโควิดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- การติดเชื้อโควิดเฉียบพลัน (Acute COVID-19) หลังจากเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยอาจมีอาการต่อเนื่องนานถึง 4 สัปดาห์ ซึ่งคล้ายกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและไม่มีไข้แล้ว แต่อาจมีอาการอ่อนเพลียหรือไออยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู
- Long COVID หรืออาการผิดปกติหลังการป่วยเป็นโควิด (Post-COVID Condition) เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่อง ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือนหลังการติดเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการดังกล่าวไม่สามารถอธิบายด้วยสาเหตุอื่น
ภาวะ Long COVID มีทั้งอาการทางร่างกายและจิตใจ โดยอาการทางร่างกายที่พบบ่อย ได้แก่
- อ่อนเพลีย 15-87% ประมาณ 3 เดือนหรือนานกว่า
- หอบเหนื่อย 10-71% ประมาณ 2-3 เดือนหรือนานกว่า
- แน่นหน้าอก 12-44% ประมาณ 2-3 เดือน
- ไอ 17-34% ประมาณ 2-3 เดือนหรือนานกว่า
- ไม่ได้กลิ่น 10-13% ประมาณ 1 เดือน
อาการทางร่างกายที่พบไม่บ่อย ได้แก่ ปวดข้อ, ปวดศีรษะ, ตาแห้ง, ปากแห้ง, จมูกอักเสบ, ลิ้นไม่รับรส, เบื่ออาหาร, เวียนศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อ, นอนไม่หลับ, ผมร่วง, เหงื่อออก และถ่ายเหลว พบน้อยกว่า 10%
ส่วนอาการทางจิตใจ ซึ่งอาจพบนานหลายสัปดาห์-เดือน ได้แก่
- ภาวะเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) 7-24%
- ความจำลดลง 18-21%
- สมาธิลดลง 16%
- ความวิตกกังวล / ซึมเศร้า 22-23%
อาการเหล่านี้อาจดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาตัวในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) อาจมี ‘กลุ่มอาการหลังเข้ารักษาในหอผู้ป่วยหนัก’ (Post-Intensive Care Syndrome: PICS) ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทั้งร่างกายและจิตใจต่อมาถึงระยะพักฟื้น เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง การรู้คิดเปลี่ยนแปลง ทำให้มีคุณภาพชีวิตลดลงได้
ทำไมถึงเกิด ‘Long COVID’
ภาวะ Long COVID ถูกพูดถึงมามากกว่า 1 ปี แต่ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกการเกิดที่แน่ชัด มีเพียงสมมติฐานว่าอาจเกิดจากโปรตีนของไวรัสที่หลงเหลืออยู่ (Viral Persistence) ซึ่งไม่ส่งผลต่อการติดเชื้อแล้ว แต่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบต่อเนื่อง (Persistent Inflammation) และภาวะภูมิต้านตนเอง (Autoimmunity) ส่งผลให้เนื้อเยื่อปอด หัวใจ และสมอง มีความเสียหายในระยะยาว
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะ Long COVID ยังไม่ทราบแน่ชัดเช่นกัน มีเพียงข้อสังเกตว่ามีปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะนี้ ได้แก่ เพศหญิง อายุมาก (ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบภาวะ Long COVID มากที่สุดในช่วงอายุ 35-69 ปี) โรคประจำตัว อาการมากกว่า 5 อาการในช่วงสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย ปริมาณไวรัส การติดเชื้อไวรัสกลุ่มเฮอร์ปีส์ เช่น EBV มาก่อน ทำให้อาการกำเริบ
การรักษาภาวะ Long COVID
ในระยะพักฟื้น ผู้ป่วยโควิดสามารถทำกิจวัตรและกิจกรรมประจำวันได้ หากมีอาการผิดปกติภายหลังจากป่วยเป็นโควิดควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะประเมินอาการด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เนื่องจากภาวะ Long COVID มีความหลากหลายและแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์จะวางแผนและให้การรักษาตามกลุ่มอาการที่พบ เช่น
- การฝึกการหายใจ เพื่อรักษาอาการหายใจลำบาก / หอบเหนื่อย
- การฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น การทำกายภาพบำบัด การฝึกพูดและภาษา
- การจัดการความเครียด เช่น การลดการติดตามข่าวสาร การฝึกสมาธิ การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การออกกำลังกาย การนอนหลับให้เพียงพอ การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) การพูดคุยเพื่อระบายความรู้สึก
Long COVID ป้องกันได้หรือไม่
การป้องกันภาวะ Long COVID ที่ดีที่สุดคือ การป้องกันการติดเชื้อ ผู้มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด วัคซีนลดการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับหนึ่ง (ถึงแม้จะไม่สูงเท่ากับสายพันธุ์ก่อนหน้า) ลดอาการรุนแรงได้มากกว่า 90% งานวิจัยในสหราชอาณาจักรพบว่า การฉีดวัคซีนลดอาการในช่วง 1 เดือนแรกได้ประมาณ 50% และที่สำคัญวัคซีนลดภาวะ Long COVID ได้
การสวมหน้ากากที่กระชับใบหน้า การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและบริเวณภายในอาคารที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก การตรวจหาเชื้อเมื่อมีความเสี่ยง การเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรจากผู้อื่น (ไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมกัน) และล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์เจล ยังเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อที่ใช้ได้กับไวรัสโควิดทุกสายพันธุ์ รวมถึงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นด้วย
อ้างอิง:
- การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข: https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25650126100932AM_%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%20Long%20COVID%20v.2.4.pdf
- COVID-19: Evaluation and management of adults following acute viral illness: https://www.uptodate.com/contents/covid-19-evaluation-and-management-of-adults-following-acute-viral-illness
- Post-COVID Conditions: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/long-term-effects/index.html
- Caring for People with Post-COVID Conditions: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/long-term-effects/care-post-covid.html
- A clinical case definition of post COVID-19 condition by a Delphi consensus, 6 October 2021: https://www.who.int/publications/i/item/WHO-2019-nCoV-Post_COVID-19_condition-Clinical_case_definition-2021.1
- In the wake of the pandemic: preparing for Long COVID (2021): https://www.euro.who.int/en/health-topics/health-emergencies/coronavirus-covid-19/publications-and-technical-guidance/2021/in-the-wake-of-the-pandemic-preparing-for-long-covid-2021
- Long COVID or post-COVID-19 syndrome: putative pathophysiology, risk factors, and treatments: https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/23744235.2021.1924397
- Pathological sequelae of long-haul COVID: https://www.nature.com/articles/s41590-021-01104-y
- Nine factors that could boost your risk of Long COVID: https://www.gavi.org/vaccineswork/nine-factors-could-boost-your-risk-long-covid
- Early clues regarding the pathogenesis of long-COVID: https://www.cell.com/trends/immunology/fulltext/S1471-4906(22)00047-3
- Covid-19: Vaccinated people are less likely to get long covid, review finds: https://www.bmj.com/content/376/bmj.o407