×

วิกฤตเงินกีบใน สปป.ลาว เกิดเพราะกู้เงินจีนมากเกินไปใช่หรือไม่

09.08.2024
  • LOADING...

รายการ GLOBAL FOCUS สัมภาษณ์ รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงวิกฤตเงินเฟ้อและค่าเงินกีบอ่อนค่าใน สปป.ลาว รวมถึงหาคำตอบว่า ต้นตอของปัญหาเหล่านี้เกิดจากการกู้ยืมเงินต่างประเทศมากเกินไปหรือไม่ เพื่อนำเงินมาลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงและเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ รวมถึงไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านจะได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

 

เราสรุปมุมมองสำคัญของ รศ. ดร.ปิติ จากบทสัมภาษณ์ที่ดำเนินรายการโดย วีณารัตน์ เลาหภคกุล ดังนี้

 

  • สปป.ลาว กู้เงินเยอะ แต่ไม่ได้กู้จากจีนประเทศเดียว ยังกู้จากแหล่งอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น, ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รวมถึงไทย

 

  • พูดถึงหนี้ คนมักโยงถึง ‘กับดักหนี้’ (Debt Trap) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geoeconomics) ที่ประเทศหนึ่งต้องการจะทำลายอีกประเทศหนึ่งด้วยเครื่องมือทางการเงิน เช่น การให้กู้เงินเยอะในโครงการที่ไม่มีอนาคต เพื่อที่จะได้มีอำนาจเหนือลูกหนี้ แต่ในกรณี สปป.ลาว รศ. ดร.ปิติ เชื่อว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น

 

  • ถ้าย้อนดูสถานะทางเศรษฐกิจและการเงินของ สปป.ลาว ตั้งแต่ที่มีนโยบายจินตนาการใหม่ (New Economic Mechanism: NEM) ช่วงทศวรรษ 1980 ทำให้ทศวรรษต่อๆ มา (1990-2019 ก่อนโควิด) สปป.ลาว พัฒนาและโตขึ้นอย่างมาก อัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 69% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่รับได้

 

  • ปัญหาคือ เมื่อมีโควิด เศรษฐกิจทั่วโลกชัตดาวน์ แต่ละประเทศค้าขายได้น้อยลงอย่างมาก ประกอบกับ สปป.ลาว มีภาวะพึ่งพิงสูง เพราะไม่มีภาคการผลิต ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ใน สปป.ลาว ยังคงต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเหมือนเดิม ทำให้รายจ่ายเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งนโยบายพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อให้ดอกเบี้ยลด คนจะได้กู้เงินมาลงทุนมาบริโภค ก็ไม่ได้ผล เพราะคนลาวไม่ใช้เงินกีบ ส่งผลให้ซัพพลายเงินกีบล้น ค่าเงินอ่อน และเกิดเงินเฟ้อ

 

  • เครื่องมือเดียวที่ สปป.ลาว ใช้ได้ในปี 2020-2023 คือการก่อหนี้จากต่างประเทศเพื่อนำเงินมาหมุนในระบบ ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งไปอยู่ที่ 108% และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจนเหลือใช้ไม่ถึง 2 เดือน

 

  • รศ. ดร.ปิติ ระบุว่า คนมักเข้าใจผิดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน ซึ่งมีมูลค่ารถไฟพร้อมระบบอยู่ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้นตอสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน สปป.ลาว โดยดูเหมือนจะมีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของหนี้สาธารณะของ สปป.ลาว ซึ่งอยู่ที่ 13,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

  • แต่ความจริงแล้วโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้เป็น ‘บริษัทร่วมทุน’ ที่รัฐวิสาหกิจ สปป.ลาว-จีน ถือหุ้นร่วมกัน จีน 70% และ สปป.ลาว 30% โดย รศ. ดร.ปิติ อธิบายว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนออก 70% สปป.ลาว ออก 30% ส่วนหนึ่งก่อหนี้ อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินจากงบประมาณแผ่นดิน ทำให้สถานะหนี้ที่ สปป.ลาว ต้องรับผิดชอบในโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้อยู่ที่ราว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงจากเกือบครึ่งหนึ่งของหนี้สาธารณะ เหลือเพียงแค่ราว 10% ของหนี้สาธารณะเท่านั้น

 

  • รศ. ดร.ปิติ มองว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ ‘ไม่ใช่’ กับดักหนี้ เพราะจีนถือหุ้นด้วย ถ้าโครงการเจ๊ง จีนก็เจ็บด้วย

 

  • รายได้สำคัญจากรถไฟไม่ได้มาจากการขนส่งคน แต่มาจากการขนส่งสินค้า โดยมีการตั้ง ‘จุดคุ้มทุน’ (Break-Even Point) ซึ่งจะต้องขนสินค้าให้ได้ 2 ล้านตันต่อปี แต่ในปี 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนเศรษฐกิจถดถอย สามารถขนสินค้าได้มากถึง 5 ล้านตัน

 

  • เส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) จะช่วยส่งเสริมและรองรับภาคการผลิตที่ขาดหายไปของ สปป.ลาว

 

  • รศ. ดร.ปิติ ชี้ว่าต้นตอปัญหาจริงๆ คือการกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในช่วงที่เศรษฐกิจชะงักงัน

 

  • ข้อกังวลที่ว่ามีการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบริเวณแถบแม่น้ำโขงมากเกินไปหรือไม่ รศ. ดร.ปิติ แสดงความเห็นว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นส่งขายได้ อีกทั้งหลายประเทศตะวันตกมีนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาด แต่สิ่งที่น่ากังวลจริงๆ คือโครงการเหล่านี้อาจกระทบกับความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในแม่น้ำโขง และส่งผลกระทบกับประเทศที่อยู่ปลายน้ำ

 

  • ช่วงเปลี่ยนผ่านจากราชอาณาจักรลาวมาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำในพรรคคอมมิวนิสต์ลาวและจีนใกล้ชิดกันอย่างมาก ขนาดที่ว่าเคยเรียนโรงเรียนประถมศึกษาด้วยกัน ซึ่งอาจทำให้การยกหนี้ ปรับลดดอกเบี้ย หรือผ่อนผันการชำระหนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้

 

  • ทำไมคนลาวไม่ใช้เงินกีบ รศ. ดร.ปิติ อธิบายว่า เป็นเรื่องของปมประวัติศาสตร์ในช่วงก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประกอบกับช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 ต่อครั้งที่ 3 ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจาก ‘สงครามกลางเมือง’ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มีรัฐประหารบ่อยครั้ง เงินตราก็เปลี่ยน ไม่นิ่ง ไม่มีเสถียรภาพนานหลายสิบปี คนในช่วงเวลานั้นเลยหันไปใช้เงินสกุลต่างประเทศ เช่น บาท หรือดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงทองคำ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนระยะยาว

 

  • รศ. ดร.ปิติ ระบุว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้จะต้องทำให้คนลาวหันกลับมาใช้เงินกีบ แต่การจะใช้เงินกีบได้จะต้องไว้วางใจในเงินกีบ สิ่งที่ สปป.ลาว ควรทำมากที่สุดคือ ‘การเปลี่ยนระบบปริวรรตเงินตรา’ จากเดิมที่ใช้ระบบแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแต่บริหารจัดการ (Crawling Peg) เปลี่ยนมาใช้ระบบปริวรรตเงินตราแบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate System) แล้วแบ็กอัพค่าเงิน 100% แบบที่เรียกว่า ‘Currency Board’ โดยเงินตราที่จะนำมาแบ็กอัพจะใช้สกุลเดียวหรือหลายสกุลก็ได้ แต่ต้องมากกว่าเงินที่หมุนเวียนในระบบ ซึ่งแปลว่า สปป.ลาว จะต้องหาทุนสำรองให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

 

  • หนึ่งในทางออกที่หลายประเทศนิยมทำคือการกู้เงิน IMF ซึ่งอาจถูกบังคับให้ต้องทำนโยบายการเงินและการคลังที่ไม่ถูกจริตกับภาวะวิกฤต โดย รศ. ดร.ปิติ เสนอแนะว่า สปป.ลาว เป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือ ASEAN+3 ซึ่งมีกลไกที่เรียกว่า ‘ความริเริ่มเชียงใหม่’(Chiang Mai Initiative: CMI) ซึ่งก่อตั้งไว้ตั้งแต่ปี 1997 โดยมีการลงขันกันไว้ในกองทุนหนึ่งซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้ สปป.ลาว มีเงินที่หมุนเวียนในระบบราว 204,500 ล้านกีบ หรือคิดเป็นราว 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าจะให้ สปป.ลาว กู้ยืมเงินอาจไม่ใช่เรื่องยาก อีกทั้งปีนี้ สปป.ลาว ก็เป็นประธานอาเซียน

 

  • สปป.ลาว จะหาเงินเข้าประเทศได้อย่างไร รศ. ดร.ปิติ อธิบายว่า คนมักบอกให้เร่ง ‘ส่งเสริมการท่องเที่ยว’ ใน สปป.ลาว เพื่อให้เงินไหลเข้าประเทศมากยิ่งขึ้น แต่เม็ดเงินอาจไม่ได้เพิ่มเร็วขึ้นอย่างที่คิด เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวใน สปป.ลาว ไม่รู้จะใช้จ่ายกับอะไร สินค้าส่วนใหญ่ก็นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

  • รศ. ดร.ปิติ จึงเสนอว่า ถ้าจะทำให้เม็ดเงินไหลเข้า สปป.ลาว ได้อย่างยั่งยืน ต้องเร่งโปรโมต ‘เรื่องไฟฟ้า’ โดยใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าในอาเซียน (ASEAN Power Grid) รวมถึงผลักดันให้เกิดตลาดกลางในการซื้อขายพลังงานในภูมิภาค อีกทั้ง สปป.ลาว มีศักยภาพสูงคือ ‘เรื่องสินค้าเกษตร’ การปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตที่ให้ความสำคัญกับ ‘สินค้าออร์แกนิก’ มากยิ่งขึ้น อาจช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้อีกช่องทางหนึ่ง

 

  • การที่ไทยเป็นหนึ่งในผู้ให้กู้ และมีคนไทยไปร่วมถือหุ้นหรือร่วมลงทุนทำธุรกิจใน สปป.ลาว อาจทำให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเงินเฟ้อและเงินกีบอ่อนค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

  • รศ. ดร.ปิติ กล่าวว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยมีทัศนคติเชิงลบต่อประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยัง ‘ติดกับดัก’ ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีต เราอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและสนับสนุนแนวทางที่จะพัฒนาหรือก้าวเดินไปข้างหน้าร่วมกัน

 

  • การสร้างและเชื่อมต่อขยาย ‘สถานีหนองคาย’ กับเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นระยะทางราว 20 กว่ากิโลเมตร จะช่วยส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถของระบบโลจิสติกส์ไทยให้สามารถส่งสินค้าไปถึงยุโรปได้ผ่านเส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน

 

  • รศ. ดร.ปิติ ระบุว่า ปัจจุบันอิทธิพลจีนขยายตัวอย่างมาก หลายประเทศก็เลือกข้างแล้ว โดยทุกประเทศมีสิทธิที่จะออกแบบนโยบายเพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของตัวเอง ไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมหาอำนาจ ต้องรู้จักรักษาระยะห่าง ดำรงจุดยืนให้ได้ แต่ขณะเดียวก็ต้องรักษาสมดุลให้ดี สิ่งนี้เรียกว่า ‘Bamboo Diplomacy’ หรือบางครั้งไทยก็รู้จักที่จะปรับตัวก่อนที่กระแสลมจะมา (Bend Before the Wind)

 

  • รศ. ดร.ปิติ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่าสนใจถ้าใครจะบอกว่านโยบายแบบนี้ ‘ไม่มีกระดูกสันหลัง’ เพราะในความเป็นจริงกระดูกสันหลัง ‘ไม่ได้’ เป็นกระดูกชิ้นเดียวที่แข็งทื่อ แต่เป็นกระดูกหลายชิ้นที่ล็อกต่อเข้ากันที่สามารถปรับเอนได้ โดยไทยแสดงบทบาทนำในอาเซียนเพื่อช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ไทยบนเวทีโลกได้

 

สามารถชมคลิปเต็มของรายการได้ที่นี่: https://www.youtube.com/watch?v=0InJnX-DqEk&t=1143s

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising