×

กล้าธรรม(นัส) รังใหม่กลุ่มบ้านใหญ่ จากบ้านป่าสู่กว๊านพะเยา

โดย THE STANDARD TEAM
19.12.2024
  • LOADING...

4 เดือนหลังประกาศอิสรภาพ 1 สัปดาห์หลังถูกขับจากพรรคพลังประชารัฐตามที่ใจหวัง 20 สส. ภายใต้การนำของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า สส. พะเยา กลุ่มบ้านใหญ่เมืองล้านนาแคว้นพะเยา เปิดตัวเข้าสังกัดพรรคกล้าธรรม ที่มี นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่งเป็นหัวหน้าพรรค ในวันนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

พรรคกล้าธรรมถูกจับตามองว่าเป็นพรรคสำรองของ ร.อ. ธรรมนัส ตั้งแต่ที่รู้ครั้งแรกว่านฤมล มิตรแท้ทางการเมืองไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2 สัปดาห์ก่อนประกาศตัดความสัมพันธ์กับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

 


ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
ขณะกำลังเดินเข้าตึกสันติไมตรี
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แฟ้มภาพ: ทำเนียบรัฐบาล


 

ขณะเดียวกัน หากย้อนกลับไปในช่วงชุลมุนระหว่างตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวิตร หลังจากพรรคเพื่อไทยตัดสินใจไม่รับพรรคพลังประชารัฐร่วมรัฐบาล แต่ในเวลานั้นพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ทอดทิ้ง ร.อ. ธรรมนัส ที่ยังคงมีสถานะเป็น สส. ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งยังคาดหวังที่จะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

 

แต่ด้วยความกังวลต่อคำขู่ของแกนนำพรรคพลังประชารัฐว่า หากส่งชื่อบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐไปเป็นรัฐมนตรีจะมีการดำเนินการทางกฎหมาย นั่นอาจนำมาซึ่งอาฟเตอร์ช็อกทางการเมืองที่อาจสะเทือนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของแพทองธาร

 

ร.อ. ธรรมนัส จึงได้ตัดสินใจส่ง 3 รายชื่อโควตารัฐมนตรีคนนอก คือ นฤมล นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อัครา พรหมเผ่า น้องชายแท้ๆ ของ ร.อ. ธรรมนัส นั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อิทธิ ศิริลัทธยากร บิดาของ อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. ฉะเชิงเทรา นั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 


3 รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใน ครม. แพทองธาร

เรียงจากซ้าย: อิทธิ ศิริลัทธยากร, นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ และ อัครา พรหมเผ่า


 

จึงไม่อาจสามารถปฏิเสธได้ว่า ในเวลานี้นฤมลและ ร.อ. ธรรมนัส ต่างเป็นมิตรแท้ที่มีความสัมพันธ์อันดีมาตั้งแต่อดีตที่เคยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันที่พรรคพลังประชารัฐ ​ที่กำลังมีปัจจุบันและอนาคตร่วมกันภายใต้ชื่อพรรคกล้าธรรม

 

มาด้วยกัน ไปด้วยกัน

 

ย้อนกลับไปสถานที่แรกบนเส้นทางการเมืองที่ทำให้นฤมลและ ร.อ. ธรรมนัส รู้จักกัน คือพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 มีจุดประสงค์ที่วิญญูชนต่างทราบดีว่า ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557 พร้อมวางกลไกให้พรรคมีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และดัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในอำนาจ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยยาวนานเกือบ 9 ปี

 

ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมือง นฤมลเป็นข้าราชการประจำ มีตำแหน่งทางวิชาการถึงศาสตราจารย์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกเมื่อปี 2560 โดยช่วยงาน พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก่อนที่จะโยกไปช่วยงาน อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง รับผิดชอบงานด้านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและสินทรัพย์ดิจิทัล

 


นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ขณะดำรงตำแหน่งเป็นเหรัญญิกพรรค
ร่วมงานเปิดตัว 2 บุคคลที่จะมาร่วมทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ
ซึ่งมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค อยู่เป็นฉากหลัง


 

ต่อมาปี 2561 นฤมลเข้ามามีส่วนร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ เริ่มทำงานการเมืองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ให้ดูแลงานวิชาการของพรรค ช่วยพัฒนาข้อมูล แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นไปทำนโยบาย ทั้งนโยบายด้านสวัสดิการ เศรษฐกิจ และสังคม เป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 และเป็นผู้แทนราษฎรสมัยแรก ก่อนจะออกมารับตำแหน่งโฆษกรัฐบาล และมีตำแหน่งสูงสุดในพรรคคือเหรัญญิกพรรค ทำหน้าที่คุมถุงเงินของพรรค

 

ขณะที่ ร.อ. ธรรมนัส นักการเมืองอาชีพอีกคนของเมืองไทย เข้าสู่เส้นทางการเมืองกับพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ปี 2542 เคยลงสมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 55 ร่วมบัญชีเดียวกับยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ เมื่อปี 2557 แต่การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ ต่อมา คสช. เข้ายึดอำนาจ ซึ่งเขาก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ คสช. มีคำสั่งเรียกมารายงานตัว

 


ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
สวมแจ็กเก็ตที่มีโลโก้พรรคพลังประชารัฐ
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา


 

จากนั้นในปี 2561 ร.อ. ธรรมนัส เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค ก่อนจะลงสมัครในนาม สส. พะเยา เขต 1 และได้รับเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 โดยเอาชนะ อรุณี ชำนาญยา เจ้าของพื้นที่เดิมจากพรรคเพื่อไทย ร.อ. ธรรมนัส มีตำแหน่งสูงสุดในพรรคคือเลขาธิการพรรค และกุมเสียง สส. ภาคเหนือตอนบนอย่างน้อย 20 เสียง

 

ทั้ง ร.อ. ธรรมนัส และนฤมล ผู้เป็น สส. สมัยแรก ต่างก็ได้ตะกายดาวคว้าเก้าอี้รัฐมนตรีสมัยแรกไปพร้อมกันใน ครม. ประยุทธ์ ทั้งสิ้น ร.อ. ธรรมนัส ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใน ครม. ประยุทธ์ 2/1 ส่วนนฤมลเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานใน ครม. ประยุทธ์ 2/2

 

แต่ทั้งคู่กลับเป็นรัฐมนตรีสมัยแรกที่อยู่ไม่ครบเทอม เพราะต้องพบปรากฏการณ์ฟ้าผ่ากลางทำเนียบรัฐมนตรี เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาซึ่งลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ เผยแพร่ประกาศให้ ร.อ. ธรรมนัส และนฤมล พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีแบบไม่ทันตั้งตัว แม้เจ้าตัวจะแจ้งสื่อว่าชิงลาออกก่อนแล้วก็ตาม

 

เบื้องลึกอินไซต์หลังม่านการเมืองนั้น เกิดเหตุรอยร้าวก่อนศึกซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ ร.อ. ธรรมนัส เดินเกมรุกรวมเสียงโหวตล้ม พล.อ. ประยุทธ์ จากเก้าอี้นายกฯ ก่อนพ่ายเกมคาสภา

 

หลังถูกปลดพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี วันที่ 19 มกราคม 2565 ร.อ. ธรรมนัส พร้อม 21 สส. ก็ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ ​ไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ก่อนจะกลับมาอีกครั้งก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ส่วนนฤมลยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐจนถึงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 และได้ไปเป็นผู้แทนการค้าไทยในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

 

พรรคพลังประชารัฐ-พรรคเศรษฐกิจไทย สู่พรรคกล้าธรรม

 

พรรคกล้าธรรมก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ภายใต้ชื่อพรรคเศรษฐกิจไทย เป็นอดีตพรรคการเมืองของ ร.อ. ธรรมนัส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ตั้งไว้เป็นพรรคสำรองของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเป็นผู้ช่วยดำเนินการ ก่อนที่ ร.อ. ธรรมนัส จะย้ายเข้ามาสังกัดในช่วงเวลาหนึ่ง

 

ก่อนจะเปลี่ยนชื่อจากพรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคกล้าธรรมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 หลังจากนั้น 1 ปี ในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ก็ปรากฏชื่อนฤมลเป็นหัวหน้าพรรค

 

ปัจจุบันที่ทำการพรรคกล้าธรรมตั้งอยู่ที่อาคารปานศรี เลขที่ 130/1 ซอยรัชดาภิเษก 54 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. เดิมเป็นที่ทำการของพรรคพลังประชารัฐเมื่อปี 2562 ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่อาคารรัชดา วัน ตรงข้ามศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก โดยมีกำหนดการที่จะเปิดที่ทำการพรรคในช่วงต้นปีหน้า

 

24 สส. พรรคกล้าธรรม มีใครบ้าง

 

สส. แบบบัญชีรายชื่อ 4 คน

 

  • กฤดิทัช แสงธนโยธิน
  • เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ
  • บัญชา เดชเจริญศิริกุล
  • ปรีดา บุญเพลิง

 

สส. เขต 20 คน

 

  • ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า สส. พะเยา
  • จตุพร กมลพันธ์ทิพย์ สส. ราชบุรี
  • จำลอง ภูนวนทา สส. กาฬสินธุ์
  • จิรเดช ศรีวิราช สส. พะเยา
  • ชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว สส. สงขลา
  • ชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ สส. ราชบุรี
  • นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สส. เชียงใหม่
  • บุญยิ่ง นิติกาญจนา สส. ราชบุรี
  • ปกรณ์ จีนาคำ สส. แม่ฮ่องสอน
  • ไผ่ ลิกค์ สส. กำแพงเพชร
  • เพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ สส. กำแพงเพชร
  • ภาคภูมิ บูลย์ประมุข สส. ตาก
  • รัชนี พลซื่อ สส. ร้อยเอ็ด
  • สะถิระ เผือกประพันธุ์ สส. ชลบุรี
  • สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส. นราธิวาส
  • องอาจ วงษ์ประยูร สส. สระบุรี
  • อนุรัตน์ ตันบรรจง สส. พะเยา
  • อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. ฉะเชิงเทรา
  • อัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส. ชัยภูมิ
  • อามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส. นราธิวาส

 

เปิดใจครั้งแรกหลังสังกัดพรรคกล้าธรรม

 

ร.อ. ธรรมนัส พร้อมด้วยนฤมลและอีก 23 สส. เปิดใจครั้งแรกต่อมวลชนที่อาคารรัฐสภาว่า วันนี้เป็นวันฤกษ์ดียามดี อดีต 20 สส. ที่เคยสังกัดพรรคพลังประชารัฐซึ่งถูกขับออกจากมติของคณะกรรมการบริหารพรรคและ สส. ด้วยคะแนน 3 ใน 4 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา และได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคกล้าธรรมแล้ว

 

ทำให้ตอนนี้พรรคกล้าธรรมมีสมาชิกพรรคทั้งหมด 24 คน แบ่งเป็น สส. เก่า 4 คน และ สส. ใหม่ 20 คน พร้อมทั้งเปิดเผยอีกว่า ยังมี สส. ที่ต้องการสังกัดพรรคกล้าธรรมอีกมากกว่า 30 คน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

 


สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกล้าธรรม
ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2567
ภาพ: ฐานิส สุดโต


 

ร.อ. ธรรมนัส กล่าวอีกว่า ตนเองยึดมั่นมาตลอดเวลาว่า การจะออกจากพรรคพลังประชารัฐต้องออกโดยสันติ ไม่ทะเลาะกับใคร ทำงานให้สร้างสรรค์มากกว่าทำลายซึ่งกันและกัน มุ่งเน้นการเมืองแบบใหม่ และนับตั้งแต่ที่ตนเองแถลงข่าวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยังไม่มีการพูดคุยและดีลใดๆ กับ พล.อ. ประวิตร ทั้งสิ้น

 

และเห็นว่า 20 สส. เราทุกคนล้วนมีอุดมการณ์ที่รู้จักกันมานาน เราเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นคนในครอบครัว เป็นนักการเมืองที่เคยอยู่ร่วมกันมาก่อน และเชื่อว่ามีอุดมการณ์เดียวกับพรรคกล้าธรรมที่จะขับเคลื่อนงานการเมืองและสนับสนุนรัฐบาลแพทองธาร

 

“เมื่อมีนโยบายก็ต้องเร่งสนอง ไม่มีคัดค้าน ไม่ใช่อะไรก็ต้องคัดค้านตลอด ผมไม่ชอบหล่อคนเดียว หากพรรคไหนไม่เห็นด้วยบ่อยๆ ก็ควรจะแยกออกไป สำหรับพวกเราพรรคกล้าธรรมจะยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก เราไม่คัดค้านแล้ว และไม่เอาไปแอบอ้างอย่างเด็ดขาด เรามีหัวหน้าพรรคเป็นสุภาพสตรี พร้อมคุยกับทุกฝ่าย” ร.อ. ธรรมนัส กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising