×

สรุปสปีช ไบเดน ในเวทีประชุม UN ชูนโยบายการทูตนำการทหาร พาสหรัฐฯ ฝ่าวิกฤตโลก

22.09.2021
  • LOADING...
Joe Biden

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 76 ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวานนี้ (21 กันยายน) โดยประกาศวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ในการนำพาสหรัฐฯ เข้าสุ่ยุคใหม่ของการทูตนำหน้าการทหาร เพื่อฟันฝ่าวิกฤตระดับโลก ทั้งโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด วิกฤตสภาพอากาศแปรปรวน และปมความขัดแย้งที่มีต่อจีน ซึ่งเขายืนยันว่าไม่คิดก่อสงครามเย็น แต่มุ่งเพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ

 

และนี่คือบางส่วนของเนื้อความในสุนทรพจน์ ที่บ่งบอกถึงท่าทีของไบเดน และสะท้อนเจตจำนงของเขา ในการก้าวข้ามแนวคิด ‘America First’ หรือ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ที่เป็นนโยบายของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยหันมาสนับสนุนความร่วมมือของประชาคมโลก เพื่ออนาคตที่รุ่งเรืองและสงบสุขร่วมกัน 

 

  • สุนทรพจน์ของไบเดน เริ่มต้นด้วยการหยิบยกวิกฤตและความท้าทายต่างๆ ที่โลกต้องเผชิญในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งวิกฤตโควิดและสภาพอากาศแปรปรวน ตลอดจนปัญหาสิทธิมนุษยชน พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกันทำงาน เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และต่อสู้เพื่ออนาคตที่แบ่งปันร่วมกัน ซึ่งการตัดสินใจไม่ว่าในทางใด จะส่งผลกระทบสะท้อนไปอีกหลายชั่วอายุคน

 

  • ไบเดนกล่าวว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วง ‘ทศวรรษแห่งการชี้ขาดสำหรับโลกของเรา’ ซึ่งจะกำหนดอนาคตของประชาคมโลก พร้อมประกาศว่าโลกกำลังยืนอยู่ที่ ‘จุดเปลี่ยนแห่งประวัติศาสตร์’ ซึ่งวิกฤตและความท้าทายเร่งด่วนต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่นั้น ต้องรับมือด้วยเทคโนโลยีและความร่วมมือของทั่วโลก ไม่ใช่การทำสงคราม จึงจะนำพาโลกไปสู่สันติภาพและอนาคตที่รุ่งเรือง 

 

  • ไบเดนยังประกาศว่าสหรัฐฯ กำลังก้าวไปสู่ยุคใหม่แห่งการทูตแบบไม่สิ้นสุด หลังปิดฉากสงครามที่ไม่สิ้นสุดกว่า 20 ปีในอัฟกานิสถาน ซึ่งแนวทางของนโยบายการทูตที่ว่านี้ คือการใช้พลังแห่งการช่วยเหลือด้านการพัฒนาของสหรัฐฯ เพื่อลงทุนยกระดับชีวิตผู้คนทั่วโลกด้วยวิธีต่างๆ ตลอดจนการฟื้นฟูและปกป้องระบอบประชาธิปไตย และความร่วมมือเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่กำลังเผชิญ

 

  • ขณะที่เขายืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับชาติพันธมิตรอื่นๆ และร่วมมือกันผ่านสถาบันพหุภาคี อย่างสหประชาชาติ เพื่อขยายความแข็งแกร่งของส่วนรวม ซึ่งเป็นไปตามหลักความจริงพื้นฐานของศตวรรษที่ 21 ที่ว่า ความสำเร็จของประเทศหนึ่ง จะผูกติดกับความสำเร็จของประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน 

 

  • เขามองว่า ความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง และเสรีภาพของผู้คนทั่วโลกนั้น มีความเกี่ยวเนื่องระหว่างกันในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเชื่อว่าประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อรับมือกับวิกฤตและความท้าทายต่างๆ

 

  • สำหรับวิกฤตโควิด ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่า 4.5 ล้านคน ผู้นำสหรัฐฯ ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีความร่วมมือในการดำเนินการรับมือทั้งด้านวิทยาศาสตร์และการเมือง และทำให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจนถึงตอนนี้สหรัฐฯ ได้จัดส่งวัคซีนช่วยเหลือประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้วมากกว่า 160 ล้านโดส และสนับสนุนงบประมาณกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยในการรับมือวิกฤตโควิดของทั่วโลก

 

  • ส่วนปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนนั้น ไบเดนประกาศว่า เขาเตรียมที่จะผลักดันสภาคองเกรส เพื่อเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับวิกฤตด้านสภาพอากาศเป็นสองเท่าในปี 2024 จากเดิมที่ตั้งไว้ 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็น 11,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

 

  • ส่วนประเด็นข้อขัดแย้งกับจีนนั้น ไบเดนไม่ได้กล่าวถึงจีนในฐานะภัยคุกคามอย่างชัดเจน แต่ยืนยันว่าสหรัฐฯ จะพยายามต่อต้านระบอบเผด็จการที่เพิ่มมากขึ้น และจะหลีกเลี่ยงการก่อสงครามเย็นครั้งใหม่ โดยสหรัฐฯ จะยืนหยัดเพื่อชาติพันธมิตร และคัดค้านความพยายามของประเทศที่แข็งแกร่งในการครอบงำประเทศที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังยึดครองดินแดน การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ หรือการแสวงหาประโยชน์ด้านเทคโนโลยี 

 

  • ท่าทีของไบเดนที่ประกาศใช้นโยบายการทูต และความร่วมมือแทนการใช้กำลังทหาร และการฟื้นฟูความร่วมมือกับชาติพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ เช่น การจัดตั้งพันธมิตรความมั่นคงไตรภาคี AUKUS ร่วมกับสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย เพื่อรักษาความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเขากำลังก้าวข้ามนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 

 

  • โดยไบเดนยังประกาศในสุนทรพจน์ว่า สหรัฐฯ ได้หวนคืนสู่เวทีประชุมและความร่วมมือระดับโลก ทั้งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ซึ่งทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกไปเมื่อปีที่แล้ว พร้อมระบุว่าสหรัฐฯ กำลังทำงานใกล้ชิดกับโครงการ COVAX เพื่อส่งมอบวัคซีนโควิดให้แก่ทั่วโลก นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส เพื่อรับมือวิกฤตสภาพอากาศแปรปรวนด้วย

 

  • อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไบเดนจะเน้นย้ำแนวทางการทูตเพื่อรับมือวิกฤตและความท้าทายต่างๆ แต่เขายืนยันว่าสหรัฐฯ จะยังป้องกันตนเองและชาติพันธมิตร ตลอดจนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ จากการโจมตีต่างๆ รวมถึงการก่อการร้าย ซึ่งสหรัฐฯ ยังพร้อมใช้กำลังทหารหากจำเป็น แต่การใช้กำลังทหารจะเป็นเครื่องมือสุดท้ายของสหรัฐฯ ซึ่งเขายืนยันว่ามันไม่ควรเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาต่างๆของโลก

 

ภาพ: Photo by Eduardo Munoz-Pool/Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X