อิสราเอลเผชิญการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นสงครามในฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว โดยประชาชนในหลายเมืองทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทลอาวีฟและนครเยรูซาเล็ม พากันออกมาชุมนุมบนท้องถนนด้วยความโกรธแค้น หลังทราบข่าวทหารกู้ร่างไร้วิญญาณของตัวประกันชาวอิสราเอล 6 ราย ที่ถูกกลุ่มฮามาสกักขังไว้ในกาซา
กองทัพอิสราเอลเผยว่า ตัวประกันเหล่านี้เพิ่งถูกสังหารได้ไม่นานก่อนที่ทหารอิสราเอลจะเข้าไปถึง โดยประชาชนส่วนใหญ่มองสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นผลจากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ‘ไม่ทำอะไรมากพอ’ อีกทั้งยังล้มเหลวที่จะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงและแลกเปลี่ยนตัวประกัน ซึ่งดูจะเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยชีวิตตัวประกันที่เหลืออยู่ให้ได้มีโอกาสกลับบ้าน
ขณะที่สถานการณ์ประท้วงนอกจากมีการชุมนุมปิดถนนและเกิดเหตุวุ่นวาย รวมถึงการปะทะกับตำรวจ ยังบานปลายเป็นการรวมตัวหยุดงานครั้งใหญ่ ที่เรียกได้ว่าแทบจะ ‘ชัตดาวน์’ หน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจจำนวนมาก
เกิดอะไรขึ้น?
เมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (1 กันยายน) ตามเวลาท้องถิ่น ประชาชนราวครึ่งล้านในหลายเมืองออกมาชุมนุมปิดถนนหลายสาย พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลยอมเปลี่ยนแนวทางดำเนินการเพื่อช่วยเหลือตัวประกันที่ยังเหลืออยู่ในกาซา ซึ่งคาดว่ามีอีกราว 100 คน
การประท้วงในบางจุดเช่นที่กรุงเทลอาวีฟ มีผู้เข้าร่วมจำนวนนับแสนคน และเกิดการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับตำรวจที่พยายามสลายการปิดถนน โดยมีผู้ชุมนุมหลายคนถูกจับกุม
ขณะที่แถลงการณ์ของ Hostages and Missing Families Forum ระบุว่า กลุ่มผู้ประท้วงวางแผนที่จะปิดถนนและทางแยกสำคัญ รวมทั้งทางเข้าของสำนักงานรัฐบาลและสำนักงานภูมิภาคหลายแห่ง
อย่างไรก็ตาม เช้าวานนี้ (2 กันยายน) Histadrut สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของอิสราเอล ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานประมาณ 8 แสนคน เรียกร้องให้มีการหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 1 วัน โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายบริษัทผู้ผลิตและผู้ประกอบธุรกิจท้องถิ่นรายใหญ่ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของอิสราเอลต้องหยุดชะงักลงเป็นเวลาหลายชั่วโมง ก่อนที่ศาลแรงงานจะสั่งให้ยุติการหยุดงานประท้วง และให้บรรดาแรงงานกลับไปทำงานในเวลา 14.30 น. วานนี้ ตามเวลาท้องถิ่น
ใครเข้าร่วมประท้วงบ้าง?
พนักงานสนามบินนานาชาติเบน กูเรียน ซึ่งเป็นสนามบินหลักของอิสราเอล พากันหยุดงาน จนส่งผลให้สนามบินต้องปิดให้บริการตั้งแต่ 08.00 น. วานนี้ ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้งหลังจากที่บรรดาแรงงานยอมกลับมาทำงานตามคำสั่งศาล
Israel Business Forum ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานภาคเอกชนส่วนใหญ่จากบริษัทใหญ่ที่สุดของประเทศ 200 แห่ง ได้เข้าร่วมการหยุดงานประท้วง เช่นเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของอิสราเอลอีกหลายบริษัท
ด้านสมาคมผู้ผลิตสินค้าของอิสราเอลก็ร่วมประท้วงและกล่าวหารัฐบาลว่าล้มเหลวในการนำนักโทษกลับมาแบบมีชีวิต เช่นเดียวกับผู้อำนวยการสมาคมเนติบัณฑิตอิสราเอล ที่เรียกร้องให้ทนายความทุกคนหยุดงานประท้วง
ขณะที่โรงพยาบาลและคลินิกสุขภาพยังเปิดให้บริการแต่ลดเจ้าหน้าที่และจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ เช่นเดียวกับบริษัทไฟฟ้าและน้ำประปาที่ยังคงดำเนินการแต่ลดจำนวนพนักงานลง
ด้านหน่วยงานรัฐบาลและเทศบาลหลายแห่งปิดทำการวานนี้ ส่วนโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงเกรด 12 เปิดแค่ครึ่งวัน ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มีพนักงานหยุดงานประท้วงเช่นกัน
นอกจากนี้บริษัทขนส่งชั้นนำหลายแห่งต่างก็ร่วมหยุดงานประท้วง เช่นเดียวกับพนักงานที่ให้บริการรถไฟรางเบาและรถไฟใต้ดินในเทลอาวีฟที่ร่วมหยุดงานประท้วง จนส่งผลให้บริการรถไฟในหลายเส้นทางต้องเลื่อนออกไป
ท่าทีเนทันยาฮู
นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูตกเป็นเป้าโจมตีในการประท้วงใหญ่ครั้งนี้ และถูกกล่าวหาจากกลุ่มญาติและผู้สนับสนุนตัวประกันว่าพยายามยื้อการเจรจาข้อตกลงไม่ให้สำเร็จ
ในการแถลงข่าวเย็นวานนี้ เขาได้ขอให้ประชาชนให้อภัยต่อความล้มเหลวในการนำ 6 ตัวประกันที่พบกลับมาแบบมีชีวิต แต่ยังแสดงท่าทีท้าทาย โดยปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ รวมถึงจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า “อิสราเอลไม่ได้ทำอะไรมากพอที่จะบรรลุข้อตกลงหยุดยิง”
ซึ่งเนทันยาฮูยืนกรานว่าฮามาสต้องเป็นฝ่าย ‘ยอมรับข้อเสนอ’ ของอิสราเอล และประกาศว่าจะตอบโต้และทำให้ฮามาสต้องชดใช้อย่างสาสมต่อการสังหารตัวประกันทั้ง 6 ราย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮามาสออกมาแสดงท่าทีซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเติมเชื้อไฟมากขึ้น โดยเตือนว่าตัวประกันจำนวนมากที่ถูกควบคุมตัวไว้ในฉนวนกาซา จะได้กลับไป ‘ในโลงศพ’ หากอิสราเอลพยายามใช้กำลังทหารเพื่อปลดปล่อยพวกเขา
แรงกดดันนานาชาติกับโอกาสหยุดยิง
ด้านประธานาธิบดีไบเดน และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ได้พบกับทีมเจรจาและหารือถึงข้อเสนอในข้อตกลงหยุดยิง โดยไบเดนยืนยันต่อผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมแพ้และจะผลักดันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ได้ข้อตกลงหยุดยิง
สำหรับการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงรอบล่าสุดในกาตาร์และอียิปต์ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมายังคงไร้ความคืบหน้า ท่ามกลางวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลงในฉนวนกาซา
โดยอุปสรรคสำคัญ รวมถึงท่าทีของเนทันยาฮูที่ยืนกรานจะไม่ถอนกำลังทหารจากเขตฟิลาเดลฟี (Philadelphi Corridor) ซึ่งเป็นพรมแดนทางใต้ของกาซาที่ติดกับอียิปต์ และเขตเน็ตซาริม (Netzarim Corridor) ซึ่งเป็นเส้นทางเคลื่อนทัพของอิสราเอลที่แบ่งฉนวนกาซาออกเป็นสองส่วน
ทั้งนี้ อิสราเอลยังคงเดินหน้าปฏิบัติการโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยมีรายงานชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วมากกว่า 40,000 คน
ส่วนท่าทีของประเทศอื่นๆ ต่อสถานการณ์ในกาซา เดวิด แลมมี (David Lammy) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ เผยว่า อังกฤษจะระงับใบอนุญาตส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ 30 รายการ จากทั้งหมด 350 รายการ ที่ส่งให้กับอิสราเอล อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงชิ้นส่วนเครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ และโดรน
โดยแลมมีระบุเหตุผลว่า เนื่องจากพบความเสี่ยงอย่างชัดเจนว่าอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้อาจถูกนำไปใช้ในการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง แต่ยืนยันว่าอังกฤษยังคงสนับสนุนสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเอง และการตัดสินใจครั้งนี้ไม่ถือเป็นการคว่ำบาตรอาวุธ
ด้าน อิสราเอล แคทซ์ (Israel Katz) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล ตอบโต้การตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษ โดยยืนยันว่าอิสราเอลมีการดำเนินการต่างๆ ที่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะที่ อามิไช ชิคลี (Amichai Chikli) รัฐมนตรีกระทรวงกิจการพลัดถิ่นของอิสราเอล มองว่า การตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาละเอียดอ่อน หลังมีการพบศพ 6 ตัวประกันอิสราเอลในอุโมงค์ใต้ดินของฮามาส ซึ่งเขามองว่าภัยคุกคามที่อิสราเอลเผชิญอยู่คือภัยก่อการร้ายและเป็นภัยคุกคามเดียวกับที่อังกฤษและชาติตะวันตกเผชิญอยู่เช่นกัน
“ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องร่วมกันต่อสู้กับการก่อการร้าย การต่อสู้กับกลุ่มไอเอส อัลกออิดะห์ และฮามาส เป็นสงครามเดียวกันระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอิสลามหัวรุนแรง ภัยคุกคามที่มาจากฮามาสยังเป็นภัยคุกคามภายในที่คุณกำลังเผชิญอยู่บนท้องถนนในสหราชอาณาจักร” เขากล่าว
ภาพ: Florion Goga / Reuters
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2024/9/2/what-are-israels-protests-and-general-strike-about-and-how-big-are
- https://edition.cnn.com/2024/09/02/middleeast/israel-general-strike-hostage-deal-intl-hnk/index.html
- https://www.bbc.com/news/articles/cn02pz4wnyro
- https://www.bbc.com/news/articles/cm2np7p1yr7o