ไวรัสโควิดสายพันธุ์ B.1.621 หรือที่รู้จักกันในชื่อสายพันธุ์ ‘มิว’ เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘สายพันธุ์ที่น่าสนใจ’ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) มาตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา พร้อมกับมีรายงานข่าวว่าองค์การอนามัยโลกกำลังจับตาดูไวรัสสายพันธุ์นี้ ท่ามกลางการพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างๆ ของโลก
ตอนนี้เรารู้อะไรเกี่ยวกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้แล้วบ้าง?
- รายงานด้านระบาดวิทยาจากองค์การอนามัยโลกประจำสัปดาห์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2021 ระบุว่า ‘มิว’ เป็นชื่อสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เชื้อสายพันธุ์ B.1.621 และเชื้อสายพันธุ์นี้ยังพบสายพันธุ์ย่อย B.1.621.1 ด้วย
- เชื้อสายพันธุ์นี้ถูกพบครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2021 ที่ประเทศโคลอมเบีย หลังจากนั้นก็มีการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ประปรายและมีรายงานการระบาดขนาดใหญ่กว่าจากประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกาใต้และยุโรป รายงานฉบับนี้ยังอ้างอิงข้อมูลของเว็บไซต์ GISAID ซึ่งเป็นความริเริ่มเพื่อการแบ่งปันข้อมูลไวรัสในโรคระบาด ที่พบว่ามีการอัปโหลดลำดับจีโนมของเชื้อสายพันธุ์นี้แล้วจาก 39 ประเทศทั่วโลก
- เชื้อสายพันธุ์มิวมีกลุ่มของการกลายพันธุ์ที่บ่งชี้สมบัติที่เป็นไปได้ในการหลบหนีภูมิคุ้มกัน และข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกนำเสนอต่อคณะทำงานด้านวิวัฒนาการของไวรัส (Virus Evolution Working Group) แสดงให้เห็นถึงการลดลงของความสามารถในการลบล้างฤทธิ์ของเซรั่มของผู้ป่วยที่หายจากโรคและผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วคล้ายกับที่พบในเชื้อสายพันธุ์เบตา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนนี้ยังต้องรอการยืนยันจากการศึกษาอื่นต่อไป
- รายงานขององค์การอนามัยโลกฉบับนี้ยังระบุว่า แม้ความชุกของเชื้อสายพันธุ์นี้ในหมู่เชื้อที่มีการถอดรหัสแล้วทั่วโลกจะลดลงและอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 0.1% แล้ว แต่ความชุกในโคลอมเบีย ซึ่งอยู่ที่ 39% และเอกวาดอร์ ซึ่งอยู่ที่ 13% มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม มีหมายเหตุว่าความชุกที่มีการรายงานนี้ควรถูกตีความด้วยการพิจารณาที่เหมาะสมต่อข้อจำกัดในการเฝ้าระวังต่างๆ ซึ่งรวมถึงความสามารถในการถอดรหัสพันธุกรรมและความ ‘ถูกเวลา’ ของการแบ่งปันข้อมูล ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีข้อจำกัดเหล่านี้ที่แตกต่างกันไป
- นอกจากนี้ รายงานยังบอกด้วยว่าลักษณะทางคลินิกและฟีโนไทป์ของเชื้อสายพันธุ์นี้ยังคงต้องมีการศึกษากันต่อ และรวมถึงยังต้องจับตาด้านระบาดวิทยาของเชื้อสายพันธุ์นี้ในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะกับการระบาดร่วมกับเชื้อสายพันธุ์เดลตาด้วย
- แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อชั้นนำของสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (2 กันยายน) ว่า ภายในสหรัฐฯ นั้นเชื้อสายพันธุ์มิวยังไม่ใช่ ‘ภัยคุกคามโดยทันทีในขณะนี้’ เขายังระบุว่า แม้รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังจับตาสายพันธุ์นี้อย่างใกล้ชิด แต่สายพันธุ์ดังกล่าวก็ยังไม่ใกล้เคียงกับการเป็นสายพันธุ์หลักภายในประเทศเลย เพราะสายพันธุ์เดลตายังคงเป็นสาเหตุของการติดเชื้อกว่าร้อยละ 99 ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุข้อมูลที่ได้จากการใช้แบบจำลองในการประมาณการสัดส่วนล่าสุดของการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ ว่า ในวันที่ 22-28 สิงหาคม เชื้อสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2 ที่ไม่รวม AY.1 และ AY.2) มีสัดส่วนการระบาดอยู่ถึงร้อยละ 99.1 ในสหรัฐฯ
- อย่างไรก็ตาม เฟาซีก็บอกว่า ข้อมูลที่ชี้ว่าเชื้อสายพันธุ์นี้สามารถหลบเลี่ยงแอนติบอดีบางชนิดนั้นส่วนใหญ่มาจากห้องปฏิบัติการ แต่ปัจจุบันเราก็ยังขาดข้อมูลทางคลินิกและงานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้คนซึ่งแสดงถึงข้อเท็จจริงนี้ แต่เขาเน้นย้ำว่าโดยทั่วไปวัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพและให้การป้องกันต่อเชื้อโควิดได้ดีที่สุด
- รายงานข่าวจาก The Washington Post เมื่อวันที่ 3 กันยายน ระบุว่า มีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอย่างบริษัท Pfizer ที่ออกมาระบุกับ The Washington Post ว่ากำลังศึกษาเชื้อสายพันธุ์นี้ และคาดว่าจะสามารถให้ข้อมูลกับวารสารทางวิชาการที่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบ (Peer Reviewed Journal) ได้ในเร็วๆ นี้
- The Washington Post ยังรายงานคำให้สัมภาษณ์ของ ปาอูล การเดนัส ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อและจีโนมิกส์จากมหาวิทยาลัย Universidad San Francisco de Quito ในเอกวาดอร์ ที่ศึกษาเชื้อสายพันธุ์นี้ และระบุว่า จากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน เชื้อสายพันธุ์นี้ดูจะแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม และระบุว่าสายพันธุ์มิวสามารถที่จะมีศักยภาพเหนือกว่าสายพันธุ์แกมมาและอัลฟาในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอกวาดอร์และโคลอมเบีย อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า ‘ยังไม่มีสัญญาณใด’ ที่แสดงว่าผู้คนควรวิตกกังวลมากขึ้นเลย สายพันธุ์เหล่านี้อุบัติขึ้นตลอดเวลาและเป็นสิ่งสำคัญที่ไวรัสเหล่านี้จะมีลักษณะเฉพาะเพื่อการติดตามอยู่แล้ว
- ขณะที่ล่าสุด ดร.มาเรีย แวน เคิร์คโฮฟ หัวหน้าทีมเทคนิคสำหรับโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก กล่าวในการตอบคำถามผ่านระบบออนไลน์ขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 7 กันยายน อธิบายถึงเชื้อสายพันธุ์นี้ว่าในบางประเทศในอเมริกาใต้พบสัดส่วนการระบาดเพิ่มขึ้น แต่ภูมิภาคอื่นๆ ของโลกพบสัดส่วนการระบาดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่สายพันธุ์เดลตาระบาดอยู่ เธอพยายามให้ความมั่นใจว่ามีคนจำนวนมากกำลังศึกษาไวรัสตัวนี้อยู่ และย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดลตา มิว หรือสายพันธุ์อื่นใดในอนาคต เราก็ยังสามารถควบคุมเกี่ยวกับการทำให้ตัวเองปลอดภัยได้ ซึ่งวัคซีนก็เป็นทางออกหนึ่ง
- และ ดร.ไมค์ ไรอัน หัวหน้าโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพของ WHO ระบุว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อุบัติขึ้นจะต้องแข่งขันกับไวรัสที่เป็น ‘อันดับที่หนึ่ง’ ซึ่งในขณะนี้คือสายพันธุ์เดลตา และเดลตาเองก็มีแนวโน้มที่จะ ‘มีศักยภาพเหนือกว่า’ สายพันธุ์อื่นๆ เช่นสายพันธุ์มิวด้วย
ภาพ: Fit Ztudio via ShutterStock
อ้างอิง:
- https://www.who.int/publications/m/item/weekly-epidemiological-update-on-covid-19—31-august-2021
- https://covid.cdc.gov/covid-data-tracker/
- https://www.youtube.com/watch?v=BDvWkdXLdrs
- https://www.reuters.com/video/watch/idOVET18DSV
- https://www.washingtonpost.com/world/2021/09/03/mu-coronavirus-variant-explained/
- https://www.cnbc.com/2021/09/07/mu-covid-variant-who-says-delta-remains-most-concerning.html