×

ผ่าดีล Glasgow Climate Pact ข้อตกลงที่นานาชาติบรรลุในช่วง ‘ต่อเวลาพิเศษ’ ประชุม COP26

14.11.2021
  • LOADING...
Glasgow Climate Pact

ปิดฉากลงไปแล้วกับการประชุมโลกร้อน หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26’ (COP26) ซึ่งปีนี้จัดที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ และตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถกำหนดเกณฑ์ให้ทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในปี 2030 และปล่อยก๊าซสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เพื่อไปสู่เป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

อย่างไรก็ตาม การเจรจาล่วงเลยเดดไลน์ (12 พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นกำหนดการประชุมวันสุดท้าย จนต้อง ‘ต่อเวลาพิเศษ’ ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 พฤศจิกายน) ก่อนที่ประเทศที่เข้าร่วมเกือบ 200 ประเทศจะบรรลุข้อตกลงที่เรียกว่า Glasgow Climate Pact ได้สำเร็จ 

 

ไปดูกันว่าข้อตกลง Glasgow Climate Pact มีเนื้อหาสำคัญอะไรบ้าง

 

  • ลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและเลิกสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล

ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการลดการใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลลงในข้อตกลง COP โดยข้อตกลงนี้ขอให้ประเทศต่างๆ เร่งความพยายามในการลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งครอบคลุมโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา

 

นอกจากนี้ ข้อตกลงยังเรียกร้องให้นานาชาติยุตินโยบายอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใด ทว่าในเนื้อหามีการระบุถึงความจำเป็นในการสนับสนุนให้แรงงานในเซกเตอร์เหล่านั้นหางานใหม่ทดแทน

 

อย่างไรก็ดี เนื้อหาในย่อหน้านี้ส่งผลให้การเจรจาลากยาวยืดเยื้อไปถึงค่ำคืนวันเสาร์ เนื่องจากจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นสองประเทศที่พึ่งพาถ่านหินมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ต้องการเปลี่ยนถ้อยคำจากคำว่า ‘เลิก’ เป็น ‘ลด’ แทน ซึ่งหลังจากแก้ไขแล้ว ทำให้ที่ประชุมสามารถคลอดข้อตกลงได้ในท้ายที่สุด

  • บรรเทาความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ประเทศต่างๆ ต้องการการสนับสนุนด้านงบประมาณจำนวนมากเพื่อช่วยให้พวกเขารับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กำลังประสบอยู่ ขณะที่การประชุมรอบนี้ได้เริ่มการพูดคุยเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนให้องค์กรใหม่เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเหล่านี้

 

โดยหน่วยงานดังกล่าวภายใต้สหประชาชาติ (UN) จะคอยให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศที่มีความเสี่ยง เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขผลกระทบที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้

 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการให้จัดตั้งกองทุนที่ช่วยชดเชยความสูญเสียและความเสียหายโดยเฉพาะนั้นถูกปฏิเสธโดยบรรดาประเทศร่ำรวย ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และออสเตรเลีย

  • ระดมทุนช่วยประเทศกำลังพัฒนา 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ข้อตกลงระบุถึง ‘ความเสียใจอย่างสุดซึ้ง’ ที่บรรดาชาติร่ำรวยทำไม่ได้ตามเป้าหมายในปี 2020 ในการจัดหาเงินทุนช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมให้คำมั่นว่าจะระดมเงินทุนให้ได้อย่างน้อยจำนวนดังกล่าวต่อปีไปจนถึงปี 2025

  • ช่วยเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาโลกร้อน

ข้อตกลงขอให้ประเทศร่ำรวยเพิ่มการสนับสนุน ‘อย่างน้อยเท่าตัว’ ในด้านมาตรการปรับตัว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศภายในปี 2025 เมื่อเทียบกับระดับความช่วยเหลือในปี 2019 ซึ่งหมายความว่าเงินทุนช่วยในการปรับตัวจะเพิ่มเป็นราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากเดิม 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019

  • เดินหน้าสร้างตลาดคาร์บอน

ข้อตกลงเห็นชอบในกฎเกณฑ์ที่จะสร้างตลาดสำหรับหน่วยที่เป็นตัวแทนของผลการลดการปล่อยคาร์บอนที่ประเทศต่างๆ สามารถซื้อขายได้ ภายใต้มาตรา 6 ของความตกลงปารีสที่จัดทำขึ้นในปี 2015 และประเทศภาคีให้สัตยาบันครบในปี 2016

  • เพิ่มเป้าหมายด้านสภาพอากาศของแต่ละประเทศ เพื่อไปสู่จุดหมายใหญ่ของข้อตกลงปารีส

ภายในสิ้นปีหน้า ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเพิ่มเป้าหมายด้านสภาพอากาศสำหรับปี 2030 โดยปัจจุบันโลกยังอยู่ในเส้นทางการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิระหว่าง 2.5-2.7 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายของความตกลงปารีสปี 2015 ซึ่งกำหนดเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสเป็นอย่างน้อย หรือเป้าหมายในอุดมคติที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

ภาพ: Jeff J Mitchell / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising