×

สำรวจเป้าหมายการประชุมผู้นำ G7 ครั้งที่ 48 ‘โอกาสและความหวัง’ ท่ามกลางไฟสงครามและวิกฤตรอบด้าน

โดย THE STANDARD TEAM
27.06.2022
  • LOADING...
G7

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 เปิดฉากขึ้นเมื่อวานนี้ (26 มิถุนายน) ที่ปราสาทชลอสส์เอลมาว ในเทือกเขาบาวาเรียน รัฐบาวาเรีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเยอรมนี โดยมีกำหนดจัดขึ้น 3 วัน ซึ่งครั้งนี้เป็นที่จับตามอง เนื่องจากเป็นการจัดประชุมท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นรอบด้าน ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตอาหารและราคาพลังงาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคต่างๆ

 

โดยการประชุมครั้งสุดท้ายของผู้นำ G7 ที่อังกฤษ เมื่อ 12 เดือนที่แล้ว มีขึ้นท่ามกลางความคาดหวังของผู้คนทั่วโลก ในการฟื้นฟูและเอาชนะผลกระทบจากโควิด รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและรับมือปัญหาสภาพอากาศ ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศหุ้นส่วน

 

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ใหญ่และร้ายแรงมากมายเกิดขึ้นและส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะกรณีการเปิดฉากสงครามบุกยูเครนของรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่เป็น ‘ตัวเร่ง’ จุดชนวนวิกฤตอื่นๆ ตามมา ซึ่งก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าเป้าหมายของผู้นำ G7 ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมครั้งนี้จะมีแนวทางเป็นอย่างไร และจะทำได้ตามเป้าอย่างเป็นรูปธรรมจริงหรือไม่?

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน 

ประเด็นหลักของการประชุมผู้นำ G7 รอบนี้ หนีไม่พ้นกรณีการบุกยูเครนของรัสเซีย ซึ่งบทสรุปของสงครามนั้นยังยากที่จะคาดเดา

 

ช่วงก่อนที่การประชุมจะเริ่มต้นเพียงไม่นาน สหราชอาณาจักรได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าจะร่วมกับสหรัฐฯ แคนาดา และญี่ปุ่น แบนการนำเข้าทองคำจากรัสเซีย ซึ่งถือเป็นมาตรการคว่ำบาตรใหม่ เพื่อเพิ่มผลกระทบทางเศรษฐกิจของรัสเซียและตัดเงินสนับสนุนการทำสงครามของกองทัพรัสเซีย 

 

โดยสหราชอาณาจักรเผยว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา รัสเซียมีตัวเลขรายได้จากการส่งออกทองคำสูงถึง 1.55 หมื่นล้าน และตัวเลขนี้หายไปนับตั้งแต่ที่รัสเซียเผชิญการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

 

ทองคำนั้นถือเป็นทรัพย์สินสำคัญสำหรับธนาคารกลางรัสเซียและบรรดาโอลิการ์ก หรือเหล่าผู้มีอำนาจที่ใกล้ชิดผู้นำรัสเซีย ซึ่งกำลังเผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพย์สินในต่างประเทศจากผลของการคว่ำบาตร

 

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า ผลกระทบในแง่ลบจากการก่อสงครามของรัสเซียที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะเป็นหัวใจหลักในการหารือของที่ประชุม G7 รอบนี้ พร้อมยืนยันว่ากลุ่ม G7 จะยืนหยัดเคียงข้างยูเครน 

 

เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรที่ยืนยันว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะยอมถอดใจในการสนับสนุนยูเครน ซึ่งสหราชอาณาจักรจะยังคงสนับสนุนยูเครนในทุกหนทาง เพราะความมั่นคงและเสรีภาพของยูเครนก็คือความมั่นคงและเสรีภาพของสหราชอาณาจักรเช่นกัน โดยเขายังเตรียมบอกต่อที่ประชุมถึงความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนยูเครนด้วย

 

ขณะที่ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้แถลงต่อที่ประชุม G7 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยยืนยันว่าต้องการให้สงครามในยูเครนสิ้นสุดก่อนถึงฤดูหนาว และเรียกร้องให้ผู้นำ G7 เดินหน้ากดดันรัสเซีย พร้อมทั้งขอให้เพิ่มการจัดส่งอาวุธประสิทธิภาพสูง เช่นระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศให้แก่ยูเครนมากขึ้น

 

วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ทั้งภาวะขาดแคลนและราคาอาหารที่พุ่งสูง จะเป็นอีกประเด็นสำคัญที่มีการหารืออย่างจริงจังในที่ประชุม G7 รอบนี้ โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของห่วงโซ่อุปทานหลังวิกฤตการระบาดของโรคโควิด 

 

แต่อีกปัจจัยสำคัญ หนีไม่พ้นผลกระทบต่อเนื่องจากภาวะสงครามในยูเครน ซึ่งยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีและธัญพืช รายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก โดยการปิดกั้นการขนส่งทางเรือในทะเลดำของรัสเซีย ส่งผลให้ข้าวสาลีกว่า 98% และผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ ของยูเครน ไม่สามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งคณะกรรมการช่วยเหลือและกู้ภัยนานาชาติ (International Rescue Committee: IRC) เผยว่า ผลที่ตามมาจะทำให้ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 41% และประชาชนอีกกว่า 47 ล้านคนทั่วโลกจะเผชิญภาวะอดอยากในปีนี้

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของโครงการอาหารโลก (WFP) ของสหประชาชาติ พบว่า ปกติแล้วยูเครนจะส่งออกข้าวสาลีที่มีสู่ตลาดโลกกว่า 40% ขณะที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า ยูเครนส่งออกข้าวโพดคิดเป็น 16% ของการส่งออกทั่วโลก และนอกจากนี้ยังเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ ที่มีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็นกว่า 40% ของตัวเลขการส่งออกทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม G7 รอบนี้ มีการคาดหมายว่า นายกรัฐมนตรี โอลาฟ โชลซ์ ของเยอรมนี และประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ จะนำเสนอแนวทางในการรับมือผลกระทบจากราคาอาหารและน้ำมัน ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

 

แต่การบรรเทาวิกฤตการณ์นี้อาจมีความจำเป็นที่ผู้นำ G7 ต้องทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ยอมถอยในเป้าหมายการทำสงครามของเขา เช่นการยุติความขัดแย้งหรือการปล่อยให้ยูเครนควบคุมภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นดินแดนหลักของกลุ่มกบฏฝักใฝ่รัสเซียได้อีกครั้ง แน่นอนว่ายังไม่มีข้อบ่งชี้ใดที่ปูตินจะยอมดำเนินการในแนวทางเหล่านี้

 

ภัยคุกคามด้านพลังงาน สภาพอากาศ และโรคระบาด

ความมั่นคงทางพลังงานเป็นอีกประเด็นใหญ่ที่ผู้นำ G7 จะมีการหารือ โดยคาดว่าจะมีการเสนอแนวทางดำเนินการเพื่อเพิ่มซัพพลายพลังงาน และจำกัดการเพิ่มขึ้นของพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

 

ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมัน ถือเป็นอีกผลกระทบใหญ่จากสงครามในยูเครน แม้จะมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น กำลังการผลิตน้ำมันที่ไม่สอดคล้องกับอัตราการบริโภค ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่การระบาดของวิกฤตโควิดบรรเทาลง 

 

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กลุ่ม G7 จำเป็นต้องโน้มน้าวพันธมิตรในกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ที่รัสเซียร่วมอยู่ด้วย ซึ่งได้แก่ซาอุดีอาระเบียที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ให้ยอมหันหลังให้รัสเซียและเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันมากขึ้น

 

โดยประธานาธิบดีไบเดนมีแผนที่จะเดินทางเยือนนครเจดดาห์ของซาอุในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งถูกจับตามองว่าอาจมีความพยายามเพื่อขอให้ซาอุเพิ่มกำลังการผลิต แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากเนื่องจากซาอุนั้นได้รับกำไรมหาศาลจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน

 

ในส่วนของสหภาพยุโรปนั้น วันนี้ทางคณะมนตรียุโรป (European Council) ได้ประกาศกฎระเบียบใหม่ เพื่อความมั่นคงในการจัดหาพลังงานของชาติสมาชิก โดยกำหนดให้แต่ละประเทศดำเนินการให้แน่ใจในการจัดหาก๊าซสำรองก่อนถึงช่วงฤดูหนาว และให้แบ่งปันคลังสำรองก๊าซในกลุ่มชาติสมาชิก EU ด้วย

 

อีกประเด็นที่คาบเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน คือเรื่องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปีที่แล้ว กลุ่ม G7 ได้เน้นย้ำในเรื่อง Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ และการฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิดที่มุ่งเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

แต่ผลกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่พยายามถอยห่างจากน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย กำลังกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มปัญหาใหญ่สำหรับเป้าหมาย Net Zero คือการหวนกลับมาใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากถ่านหินมากขึ้น

 

โดยเยอรมนีนั้นกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากรัสเซียลดการจัดส่งก๊าซ ทำให้เตรียมหันไปพึ่งพิงพลังงานจากถ่านหินมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการกลับลำหลังจากที่เคยประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ว่าจะยกเลิกการใช้ถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ถึง 8 ปี แต่ถึงกระนั้น เยอรมนียังมีแผนเปลี่ยนผ่านพลังงานไปเป็นพลังงานหมุนเวียนแบบ 100% ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

นอกเหนือจากนี้ ผู้นำ G7 ยังมีกำหนดการหารือในประเด็นการรับมือวิกฤตโควิดที่ยังมีอยู่ ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โรคระบาดใหญ่และปรับปรุงสถาปัตยกรรมสำหรับระบบสาธารณสุขทั่วโลก เพื่อพร้อมรับมือสถานการณ์โรคระบาดที่ไม่คาดคิด

 

แรงกดดันทางเศรษฐกิจ

สำหรับเป้าหมายการประชุม G7 เมื่อปีที่แล้ว คือการ ‘สร้างกลับให้ดีขึ้น’ (Build Back Better) หรือการฟื้นฟูในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น หลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย แต่จนถึงวันนี้ชาติสมาชิก G7 ยังไม่มีวี่แววแม้แต่จะกลับไปสู่ภาวะปกติ เช่นเดียวกับในช่วงก่อนเกิดโควิด

 

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การ ‘สร้างกลับให้ดีขึ้น’ ยังไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้า มาจากสถานการณ์ความตึงเครียดของภาวะเศรษฐกิจในกลุ่ม G7 และทั่วโลกที่เผชิญทั้งเงินเฟ้อเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ ตลอดจนการปรับเพิ่มดอกเบี้ยของธนาคารกลาง โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจนั้นมีแนวโน้มจะย่ำแย่มากกว่าปีที่แล้ว และทำให้มีความหวั่นวิตกว่าเศรษฐกิจโลกอาจกลับไปสู่ช่วงตกต่ำเช่นเดียวกับในปี 2008 

 

ขณะที่การยืนหยัดในนโยบายควบคุมโควิดเป็นศูนย์ของจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ยังส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจทั่วโลก โดยการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดทำให้พนักงานในโรงงานไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งบางโรงงานถึงขั้นต้องระงับการผลิตไปชั่วคราว

 

การขยายอิทธิพลของจีน

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของผู้นำ G7 ระหว่างการประชุมสุดยอดรอบนี้ คือการต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคต่างๆ โดยล่าสุด ทางกลุ่มผู้นำ G7 ทั้งสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลี, แคนาดา, ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศรายละเอียดโครงการหุ้นส่วนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุน (PGII) ซึ่งเป็นแผนระดมเงินกองทุน 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในประเทศกำลังพัฒนา 

 

สำหรับกองทุน PGII นั้น มีการเปิดตัวครั้งแรกในการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 เมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นโครงการที่ได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นความพยายามเพื่อคานอิทธิพลของจีน โดยต้องการแข่งขันกับโครงการ Belt and Road หรือยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนในปี 2013 

 

ซึ่งจีนมุ่งปล่อยเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือให้กับประเทศเกิดใหม่ เพื่อใช้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ท่าเรือ ถนน และสะพาน แต่การดำเนินโครงการถูกวิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการทำให้หลายประเทศเกิดหนี้พอกพูนมหาศาลและตกอยู่ภายใต้การครอบงำของจีน 

 

ภาพ: Photo by Thomas Lohnes / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X