×

‘วิกฤตอาหาร’ ส่อลากยาว บีบเงินเฟ้อพุ่งแรงซ้ำเติมค่าครองชีพ เตือนภาครัฐเร่งรับมือปุ๋ยขาดแคลน

06.06.2022
  • LOADING...
วิกฤตอาหาร

HIGHLIGHTS

  • วิกฤตอาหารโลกมีแนวโน้มลากยาวหลัง EU ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ โดยจำนวนประเทศที่ห้ามส่งออกอาหารมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นใน 3 เดือนข้างหน้า
  • แม้การห้ามส่งออกอาหารในหลายประเทศจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดของไทย แต่ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้บริโภคในประเทศต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
  • ผู้เชี่ยวชาญแนะจับตาสถานการณ์ปุ๋ย หากขาดแคลนอาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไทยลดลง 50% สร้างแรงกดดันให้ไทยต้องจำกัดการส่งออกอาหารตามชาติอื่นได้
  • คนไทย 1 ใน 3 อาจได้ประโยชน์จากวิกฤตอาหารในครั้งนี้ หากภาครัฐช่วยเตรียมการเรื่องปุ๋ยล่วงหน้าโดยอาศัยกรอบความร่วมมือพิเศษที่ทำไว้กับประเทศต่างๆ

สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยืดเยื้อส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรของโลกในภาพรวมปรับตัวลดลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาอาหารโลกที่ในเดือน เมษายนที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นถึง 29.8% ทำให้หลายประเทศเริ่มเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร โดยปัจจุบันมีกว่า 20 ประเทศแล้วที่ประกาศใช้มาตรการห้ามส่งออกอาหารบางประเภท

 

การที่หลายประเทศตัดสินใจระงับการส่งออกอาหารทำให้เริ่มมีการมองว่า นี่อาจเป็นโอกาสของไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารในการขยายการส่งออกสินค้าเข้าไปสู่ตลาดใหม่ๆ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างมองตรงกันว่าประโยชน์ที่ไทยจะได้รับในครั้งนี้อาจไม่ได้มากอย่างที่หลายคนคิด และไทยเองก็มีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับวิกฤตในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

 

ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารพุ่ง

 

เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากพิจารณาจากดัชนีอาหารโลก 5 ชนิดของ FAO ที่ประกอบด้วย ธัญพืช, น้ำมันประกอบอาหาร, ปศุสัตว์, นม และน้ำตาล ในเวลานี้ไทยยังมีปริมาณสินค้าอาหารเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และอาจมีสินค้าบางประเภทที่เหลือจนส่งออกได้ด้วย

 

“ไทยคงไม่เจอกับภาวะขาดแคลนอาหารเพราะเราเป็นผู้ผลิตอาหารหลายๆ ตัว การที่หลายประเทศห้ามส่งออกอาหารก็อาจเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าบางประเภทได้มากขึ้น เช่น ข้าว น้ำตาล และไก่” เกวลินกล่าว

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจะพบว่า ไทยเองก็พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหาร เช่น ปุ๋ยและอาหารสัตว์ ในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน ดังนั้นประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากวิกฤตอาหารในครั้งนี้จะต้องนำปัจจัยเรื่องนี้มาคำนวณด้วย

 

“ข้าวต้องใช้ปุ๋ย น้ำตาลก็ต้องปลูกอ้อยซึ่งใช้ปุ๋ยเช่นกัน ไก่ก็ต้องใช้อาหารสัตว์ ซึ่งปัจจัยการผลิตเหล่านี้เราพึ่งพาการนำเข้า การที่ราคาในตลาดโลกของสินค้าเหล่านี้สูงขึ้นย่อมหมายถึงต้นทุนการผลิตของไทยที่สูงขึ้นเช่นกัน” เกวลินกล่าว

 

เกวลินระบุว่า แม้ว่าผู้ส่งออกบางส่วนอาจได้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผู้บริโภคในประเทศของไทยจะต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตเช่นกัน โดยการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความยืดเยื้อของสงครามในยูเครน

 

“ถ้าเปรียบเทียบดัชนี PPI และ CPI ของไทยในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า ดัชนี PPI ปรับขึ้นสูงกว่า CPI ซึ่งสะท้อนว่าฝั่งผลิตกำลังแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ หากสงครามยังลากยาวต่อไปก็จะยิ่งสร้างแรงกดดันให้ผู้ผลิตต้องส่งผ่านต้นทุนมายังผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ” เกวลินกล่าว

 

ไทยเสี่ยงต้องจำกัดส่งออกอาหารหากปุ๋ยขาดแคลน

 

อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้ปัจจุบันไทยจะยังมีความเสี่ยงน้อยที่จะเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร เนื่องจากไทยถือเป็นผู้ผลิตข้าว ผลไม้ และมันสำปะหลังรายใหญ่ แต่สิ่งที่ไทยจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อในหมวดอาหาร

 

“ปัจจัยการผลิตที่เราต้องนำเข้าคือปุ๋ยและอาหารสัตว์ ปุ๋ยเรานำเข้าเกือบ 100% ส่วนอาหารสัตว์เราผลิตถั่วเหลืองได้น้อย ต้องนำเข้าเกือบ 100% ข้าวโพดก็ผลิตได้ไม่เพียงพอความต้องการที่ปีละ 8 ล้านตัน โดยเราผลิตได้แค่ 5 ล้านตัน ส่วนข้าวสาลีก็ต้องนำเข้าทั้งหมด” อัทธ์กล่าว

 

อัทธ์กล่าวว่า หนึ่งในประเด็นที่ต้องจับตาในเวลานี้คือความเพียงพอของปุ๋ยในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากปุ๋ยที่อยู่ในสต๊อกเวลานี้เริ่มมีปริมาณลดลงและอาจอยู่ได้ถึงแค่เพียงกลางปี ซึ่งหากปุ๋ยล็อตนี้หมดลงก็จะต้องนำเข้ามาใหม่ในราคาที่สูงขึ้น และยังไม่แน่ใจว่าจะมีประเทศที่จำกัดการส่งออกเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่

 

“เชื่อว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้า จำนวนประเทศที่จำกัดการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นเพราะทุกคนจะโฟกัสไปที่การดูแลเงินเฟ้อและความมั่นคงทางอาหารของตัวเองก่อน ถ้าไทยมีปุ๋ยไม่พอหรือนำเข้าไม่ได้ ผลผลิตจะลดลงถึง 50% ซึ่งหากรวมความเสี่ยงเรื่องภาวะโลกร้อนเข้าไปด้วยก็มีความเป็นไปได้ที่ไทยอาจต้องจำกัดการส่งออกอาหารเองด้วยเช่นกัน” อัทธ์กล่าว

 

อัทธ์ระบุว่า 3 สิ่งที่ไทยควรเร่งทำเพื่อรับมือความเสี่ยงในขณะนี้ คือ 

 

  1. สำรวจตัวเลขความต้องการสินค้าอาหารประเภทต่างๆ ภายในประเทศให้ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศก่อนส่งออก เพราะปัจจุบันตัวเลขระหว่างภาครัฐและเอกชนยังไม่ตรงกัน

 

  1. เมื่อได้ข้อมูลและทราบแล้วว่ามีสินค้าประเภทใดที่เหลือสำหรับส่งออกได้ ควรใช้โอกาสนี้เร่งเข้าไปขยายตลาด

 

  1. เร่งนำเข้าสินค้าที่เราไม่สามารถผลิตได้เอง เช่น ปุ๋ยและอาหารสัตว์ ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยจุดนี้ภาครัฐอาจต้องอาศัยกรอบความร่วมมือพิเศษที่ทำไว้กับประเทศต่างๆ ในการเจรจา

 

วอนรัฐเร่งดูแลเกษตรกรหลังวิกฤตส่อลากยาว

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยจากการที่หลายประเทศจำกัดการส่งออกปุ๋ยและวัตถุดิบสำหรับทำอาหารสัตว์ คือต้นทุนการผลิตของเกษตรกรจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้รายได้และกำไรของเกษตรกรปรับลดต่ำลง โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็น Contract Farming

 

“แม้ว่าเราจะไม่ขาดแคลนอาหารและมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น แต่คนที่ได้รับประโยชน์คือผู้ส่งออก ไม่ใช่เกษตรกรที่ต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น กำไรของเขาอาจจะลดลงต่ำกว่าเดิมได้ ซึ่งหากดูจากท่าทีล่าสุดของ EU ที่แบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่ม โอกาสที่ปัญหาวิกฤตอาหารโลกจะลากยาวก็มีค่อนข้างสูง” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพระบุว่า เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนของเกษตรกรให้ดีขึ้น เร่งส่งเสริมผู้ประกอบการหาช่องทางกระจายสินค้าเกษตรและเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทย รวมถึงกระจายรายได้ให้มีความเหมาะสม

 

ไทยอาจได้ประโยชน์หากจัดการเรื่องปุ๋ยได้

 

ด้าน กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัววิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ จะนำมาซึ่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาอาหารโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

โดยการที่สหภาพยุโรปประกาศคว่ำบาตรรอบใหม่ ห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย (ทางเรือ) และจะลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไป 90% ในช่วงปลายปี จะกระทบต่อราคาพลังงานโลกให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

 

ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตร เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยยูเรียอันดับหนึ่งของโลกที่ประมาณ 13-14% ของตลาด และรัสเซียกับเบลารุส (รวมกัน) เป็นผู้ส่งออกโปแตชอันดับหนึ่งของโลกที่ประมาณ 40-41% ของตลาด 

 

กอบศักดิ์ระบุว่า เมื่อราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรสูงยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ จะไม่จบง่าย ซ้ำยังเพิ่มดีกรีความรุนแรงให้กับ ‘สงครามกับเงินเฟ้อ’ ของ Fed และธนาคารกลางประเทศต่างๆ ไปอีกระดับ เพราะสิ่งที่สำคัญกับธนาคารกลางเหล่านี้ไม่ใช่แค่เงินเฟ้อ Peak แล้วจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่เงินเฟ้อต้องลงมาและต้องลงมาที่เป้าหมาย 2% หรือ 3% แล้วแต่ประเทศ ซึ่งมีนัยว่า ดอกเบี้ยนโยบายต้องขึ้นไปสูงพอสมควรและอาจสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ 

 

อย่างไรก็ดี กอบศักดิ์มองว่า ภายใต้วิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นก็ยังมีโอกาสให้ประเทศไทยได้หยิบฉวยเช่นกัน เพราะราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้ จะช่วยคนไทยในภาคเกษตรประมาณ 20 ล้านคน แต่สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งช่วยคือ การเตรียมการเรื่องปุ๋ยที่ราคาแพงและอาจขาดแคลนในอนาคต ซึ่งหากทำได้ คนไทย 1 ใน 3 ของประเทศก็จะได้ประโยชน์จากวิกฤตในครั้งนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X