×

สรุปครบ ภาษีขายหุ้น ‘ใครได้-ใครเสีย’ นักลงทุนโดนผลกระทบอะไรบ้าง

27.12.2021
  • LOADING...
ภาษีขายหุ้น

หนึ่งในประเด็นที่ผู้คนแวดวงตลาดทุนจับตามองมากสุดในขณะนี้ หนีไม่พ้นเรื่อง การเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ หรือ Financial Transaction Tax ที่กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ พิจารณาเห็นชอบในเร็วๆ นี้ 

 

โดยตัว Financial Transaction Tax เป็นภาษีที่ถูกยกเว้นมานานกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดมานานร่วม 2 ปี ทำให้ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลเศรษฐกิจ และต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าว จึงเป็นที่มาซึ่งทำให้ภาครัฐต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ให้มีความยั่งยืน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมที่มากขึ้น

 

ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงเสนอให้กลับมาจัดเก็บภาษี Financial Transaction Tax ซึ่งตามกฎหมายเดิมถูกกำหนดไว้อยู่แล้วที่ 0.1% ของการขาย แต่การเก็บภาษีตัวนี้ คาดการณ์ว่าจะเก็บเฉพาะกรณีที่มีการซื้อขายต่อเดือนเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป โดยภาครัฐคาดว่า จะช่วยให้มีรายได้เข้ามาประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาท บนสมมติฐานว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 8 หมื่นล้านบาท

 

ประเด็นดังกล่าว ก่อให้เกิดความเห็นที่แตกต่างกันออกไปในแวดวงตลาดทุน บ้างก็เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพราะเป็นภาษีที่น่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมลงได้ แต่บางส่วนมองว่า ภาษีตัวนี้กำลังทำร้ายระบบเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยทางอ้อม เพราะจะทำให้ ‘เสน่ห์’ ของตลาดทุนลดน้อยถอยลง จนทำให้นักลงทุนไม่น้อยอาจเมินหน้าหนีตลาดหุ้นไทยได้

 

ห่วง ‘วอลุ่มหด-สภาพคล่องลด’ ทำตลาดหุ้นไทยหมดเสน่ห์

แหล่งข่าวจากแวดวงตลาดทุนไทย กล่าวว่า หากมีการนำภาษี Financial Transaction Tax มาใช้จริงอาจกระทบต่อ ‘สภาพคล่อง’ และ ‘มูลค่าการซื้อขาย’ ในตลาดหุ้นไทยได้ เพราะภาษีตัวนี้กระทบโดยตรงต่อผู้ลงทุนกลุ่ม High Frequency ที่ซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรด เพราะทำให้มีต้นทุนการลงทุนที่มากขึ้น ดังนั้นมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะลดลง ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยลดลงตามไปด้วย

 

“ประเด็นนี้รัฐอาจต้องคำนึงถึงด้วย เพราะถ้านักลงทุนกลุ่มนี้หายไป วอลุ่มเทรดลดลงเกือบครึ่ง รายได้ภาษีที่รัฐคิดเอาไว้ว่าจะเก็บได้ 1.5-2 หมื่นล้านบาท ก็อาจจะไม่ถึง กลายเป็นการทำร้ายตลาด สิ่งที่จะได้อาจไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องเสียไป”

 

นอกจากนี้ ยังอาจกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดทุนไทยด้วย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน เช่น ออปชัน หรือฟิวเจอร์ต่างๆ 

 

ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อนักลงทุนสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือกองทุนรวมต่างๆ ที่จะมีภาระในธุรกรรมการขายที่เพิ่มขึ้น เช่น เวลาที่ดัชนีต่างๆ ปรับการคำนวณดัชนี กองทุนเหล่านี้ก็ต้องทำธุรกิจทั้งซื้อและขายเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ภาษี Financial Transaction Tax ก็จะทำให้ต้นทุนของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

 

“เชื่อว่าสุดท้ายภาระตรงนี้คงถูกส่งผ่านไปยังนักลงทุนรายย่อยที่มาลงทุนผ่านกองทุนรวม อาจจะเป็นในรูปของค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น เพราะภาระตรงนี้มีค่อนข้างสูง กองทุนคงรับไม่ไหวก็ต้องส่งผ่านไปยังลูกค้า”

 

สถาบันแบกต้นทุนเพิ่มขึ้นอาจส่งผ่านสู่รายย่อย

วศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ AIMC และประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า หากมีการเก็บภาษีธุรกรรมซื้อขายหุ้นจริง คงส่งผลกระทบทางตรงต่อยอดธุรกรรมและสภาพคล่องในตลาด รวมไปถึงผลตอบแทนการลงทุนที่ลดลง เนื่องจากภาษีดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการลงทุนเพิ่มขึ้น

 

โดยผลกระทบในด้านต้นทุนนั้น จะกระทบต่อนักลงทุนสถาบัน รวมไปถึงนักลงทุนรายบุคคลที่เลือกลงทุนผ่าน บลจ. เนื่องจากต้นทุนการทำรายการของแต่ละกองทุนจะปรับเพิ่มขึ้น และท้ายสุดแล้วก็จะกระทบต่อผลตอบแทนของนักลงทุนด้วย 

 

อีกทั้งมองว่า ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการบริหารจัดการกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุนที่มีนโบยายการลงทุนแบบ Active ที่มีธุรกรรมการซื้อขายหุ้นหลายครั้ง และยอดธุรกรรมค่อนข้างมาก น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อความน่าสนใจของกองทุนไทยลดลงเมื่อเทียบกับการลงทุนในต่างประเทศ 

 

สำหรับผลกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยนั้น แม้ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าทำให้สภาพคล่องหายไปมากน้อยเพียงใด เนื่องจากต้องใช้เวลาติดตามข้อมูลอีกระยะหนึ่ง แต่ประเมินว่าส่งผลกระทบให้สภาพคล่องลดลงแน่นอน 

 

“เราเคยมีบทเรียนเรื่องการจัดเก็บภาษีซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดมาแล้วเมื่อครั้งที่มีการจัดเก็บภาษี ณ ที่จ่ายในตลาดตราสารหนี้ เมื่อราว 2 ปีก่อน ตอนนั้นสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ก็ลดลงเช่นกัน” 

 

สำหรับความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวของ AIMC ได้ส่งให้กับกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรไปเพื่อพิจารณาแล้วพร้อมๆ กับการดำเนินงานของทาง FETCO ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาเรื่องการจัดเก็บภาษีอย่างรอบคอบ 

 

‘เซียนหุ้น’ เชื่อช่วยลดแรงเก็งกำไร หนุนนักลงทุนถือยาวขึ้น 

วัชระ แก้วสว่าง หรือ เสี่ยป๋อง นักลงทุนรายใหญ่ของตลาดหุ้นไทย กล่าวว่า กรณีการเก็บภาษี Financial Transaction Tax นั้น หากมีจัดเก็บจริงน่าจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการซื้อขายโดยรวมในตลาดหุ้น เนื่องจากนักลงทุนจะมีต้นทุนในการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวอลุ่มการซื้อขายจากฝั่ง Robot หรือ AI ซึ่งน่าจะมีสัดส่วนประมาณ 30% ของมูลค่าการซื้อขายรายวันในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการทำธุรกรรมซื้อและขายค่อนข้างถี่ และในมูลค่าที่สูง

 

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมบวก คาดว่าภาษีขายหุ้นอาจส่งผลดีต่อนักลงทุนที่ถือหุ้นยาว เพราะที่ผ่านมาต้นทุนค่าคอมมิชชันถูก ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดสามารถซื้อขายหุ้นระยะสั้นได้ แต่หากเก็บภาษีขายหุ้น คาดว่าการเก็บกำไรอาจลดลง เพราะนักลงทุนอาจถือเพื่อเก็บกำไรยาวขึ้น 

 

สำหรับผลกระทบต่อภาวะตลาดหุ้นน่าจะไม่มาก เนื่องจากกระแสข่าวเรื่องการจัดเก็บภาษีธุรกรรมขายหุ้นนั้นมีมาตั้งแต่กลางปี ครั้งนี้จึงเชื่อว่าตลาดน่าจะไม่ตกใจมาก

 

“ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่ารัฐบาลจะเก็บจริงหรือไม่ ในอัตราที่เท่าไร และเริ่มเมื่อไร แต่สิ่งที่อยากบอกต่อหน่วยงานรัฐคือ ควรแจ้งล่วงหน้า และมีระเบียบปฏิบัติที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับทุกกลุ่มนักลงทุน เพื่อให้นักลงทุนในตลาดทุนเตรียมตัวในการบริหารจัดการพอร์ตของตัวเอง” วัชระกล่าว 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising