หนึ่งในประเด็นร้อนทางเศรษฐกิจช่วงเช้าวันนี้ (18 สิงหาคม) คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการยื่นล้มละลายของบริษัท China Evergrande Group ภายใต้กฎหมายล้มละลาย มาตรา 15 ต่อศาลในนิวยอร์ก ทำให้ปัญหาวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันมากขึ้นอีกครั้ง
Evergrande เป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลกถึง 3.4 แสนล้านดอลลาร์ และตลอด 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้รายงานผลขาดทุนมากถึง 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Evergrande บริษัทอสังหาที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลกถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาที่ดำเนินต่อเนื่องมาประมาณ 2 ปีหลังจากการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้
‘ยื่นล้มละลาย’ ส่วนหนึ่งของแผนปรับโครงสร้างหนี้
ข่าวการยื่นล้มละลายของ Evergrande ไม่ได้เป็นประเด็นนอกเหนือความคาดหมายมากนัก เพราะเป็นหนึ่งในกระบวนการที่บริษัทต้องดำเนินการเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยการยื่นล้มละลายในครั้งนี้เป็นการทำเพื่อให้ได้รับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จากศาล เพื่อคุ้มครองสินทรัพย์ของบริษัทในสหรัฐฯ ขณะที่สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การปรับโครงสร้างหนี้ที่อยู่ในสกุลเงินต่างประเทศของ Evergrande คิดเป็นมูลค่า 3.17 หมื่นล้านดอลลาร์
“การยื่นล้มละลายของ Evergrande ในสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้กังวลกับประเด็นนี้มากนัก สิ่งที่น่ากังวลคือบริษัทอสังหาอื่นๆ รวมถึงธุรกิจในภาคการเงินที่เกี่ยวข้องอย่าง Shadow Banking และการใช้จ่ายที่ชะลอตัวมากกว่า” ณัฐ ตรีพูนสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ความเห็นต่อประเด็น Evergrande
ปัญหาที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ บริษัทอื่นๆ ในจีนที่อาจขาดสภาพคล่อง รวมทั้งธุรกิจธนาคารเงา (Shadow Banking) ที่นำเงินเข้าไปลงทุนในภาคอสังหาและได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากตัวเลขเศรษฐกิจบางส่วนที่กำลังสะท้อนถึงการบริโภคที่ซบเซาในจีน
วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 ซึ่งมีการใช้อัตราทด (Leverage) หลายชั้น แต่ความเสี่ยงที่สำคัญคือ เศรษฐกิจจีนอาจเข้าสู่ภาวะ Lost Decade เหมือนกับญี่ปุ่น ก็เป็นได้
“ตัวเลขการนำเข้าที่ลดลงของจีนกำลังบ่งบอกว่า ชาวจีนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำก็เป็นสิ่งที่ยืนยันประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ตัวเลขการบริโภคก็ชะลอตัวลงเช่นกัน”
การแก้ปัญหาโควิดด้วยการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีนทำให้คนจีนบางส่วน (โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง) ตัดสินใจที่จะย้ายประเทศหรือลงทุนนอกประเทศมากกว่า ขณะที่คนในประเทศก็ไม่กล้าใช้เงิน นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติก็ลดลงเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
“หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่หลายฝ่ายคาดหวังคือ การออกมาตรการกระตุ้นอย่างหนัก แต่คำถามคือทำไมรัฐบาลจีนถึงยังไม่ออกนโยบายกระตุ้นที่รุนแรงและจริงจังออกมา แต่ขณะเดียวกันก็เลือกที่จะปิดกั้นข้อมูลบางส่วน เช่น การประกาศว่าจะไม่เปิดเผยอัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่”
วิกฤตอสังหาริมทรัพย์จีนเสี่ยงแค่ไหนต่อการลุกลาม
นอกจากปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นกับบริษัทอย่าง Evergrande และ Country Garden ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีนแล้ว บริษัทอื่นๆ ที่นำเงินไปลงทุนในภาคอสังหา เช่น Zhongrong กองทรัสต์ที่เป็นบริษัทลูกของ Zhongzhi ก็มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม Citigroup ระบุผ่านรายงานว่า วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอาจทำให้มีกองทรัสต์อื่นๆ ประสบปัญหามากขึ้น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่นำไปสู่วิกฤตที่รุนแรงขนาดที่เกิดขึ้นกับ Lehman Brothers ในปี 2008
“เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาไม่ใช่เรื่องใหม่และถูกเปิดเผยออกมาให้เห็นมาหลายปีแล้ว เราคิดว่านักลงทุนได้เตรียมใจสำหรับเรื่องการผิดนัดชำระหนี้เช่นนี้ไว้แล้ว”
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วใช่ว่าจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเศรษฐกิจจีน เพราะปัจจุบันภาคอสังหาของจีนคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของ GDP ขณะที่ Morgan Stanley ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีนจาก 5% มาเหลือ 4.7%
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี มองว่า ปัญหาจาก Evergrande ไม่น่าจะลุกลามกระทบกับเศรษฐกิจไปมากกว่านี้ หลังจากที่ปัญหาเกิดขึ้นมานานพอสมควร แต่ Sentiment เชิงลบน่าจะยังมีให้เห็นต่อเนื่อง
“วิกฤตอสังหาจีนคงไม่รุนแรงเท่ากับวิกฤตอสังหาในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ไทยในอดีต เพราะไม่ได้มีแรงเก็งกำไรจากต่างชาติเข้ามา สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือนโยบายของรัฐบาลต่อภาคอสังหา ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมออกมายังประเทศอื่นๆ ได้ หากรัฐบาลออกนโยบายจำกัดการลงทุนต่างประเทศหรือจูงใจให้คนจีนลงทุนในประเทศมากกว่า”
นอกจากวิกฤตอสังหา เศรษฐกิจจีนน่าจะเผชิญกับปัญหา 3 เรื่องหลัก ได้แก่
- การจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัวลงและแรงต่อต้านจากประชาชนที่เพิ่มขึ้น
- การส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก
- สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจช้ากว่าที่คาด
ขณะที่ ณัฏฐะ มหัทธนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย ซึ่งมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การยื่นล้มละลายของ Evergrande ล่าสุดไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ที่น่ากังวล แต่ความกังวลจะอยู่ที่การลุกลามต่อไปยังบริษัทอสังหาที่เป็นรัฐวิสาหกิจ
“ความเชื่อมั่นต่อภาคอสังหาและเศรษฐกิจจีนที่ลดลง ทำให้สมมติฐานการเติบโตของเศรษฐกิจจีนไม่น่าจะเป็นไปได้ตามนั้น ตอนนี้จีนอัดฉีดสภาพคล่องแต่ละวันเกือบแสนล้านหยวน แต่นโยบายการเงินเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่น ยังจำเป็นต้องมีน้ำมันเชื้อเพลิงคือนโยบายการคลัง เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตต่อได้”
อ้างอิง:
- Evergrande seeks US court nod for $32 bln debt overhaul as China economic fears mount | Reuters
- Chinese developer Evergrande files for US bankruptcy protection | Financial Times (ft.com)
- https://www.reuters.com/markets/asia/chinese-asset-manager-zhongzhi-says-it-is-liquidity-crisis-meeting-video-2023-08-17/