×

โรคประจำถิ่นหมายความว่าอย่างไร และโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่

14.01.2022
  • LOADING...
endemic disease

โรคประจำถิ่น (Endemic) เป็นคำที่ได้ยินบ่อยขึ้น ทั้งในประเทศ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวคาดว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนแล้วค่อยลดลง น่าจะเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ได้ภายในปีนี้ และต่างประเทศ เช่น เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปนกล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ว่า เราต้องประเมินพัฒนาการของโควิดเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ หลังจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

 

คำนี้หมายความว่าอย่างไร และโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่

 

Epidemic – Pandemic – Endemic

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำ 3-4 คำที่ใช้อธิบายการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ การระบาด (Outbreak หรือ Epidemic) การระบาดใหญ่ (Pandemic) และโรคประจำถิ่น (Endemic) โดย ‘การระบาด’ หมายถึง การเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อสุขภาพมากผิดปกติ เช่น พบผู้ป่วยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไปในระยะเวลาอันสั้นหลังร่วมกิจกรรมกัน พบผู้ป่วยมากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลังในพื้นที่และช่วงเวลาเดียวกัน หรือพบผู้ป่วยโรคที่ไม่เคยพบในพื้นที่นั้นมาก่อนเพียง 1 ราย

 

ในทางวิชาการคำว่า Outbreak และ Epidemic มีความหมายเดียวกัน ใช้แทนกันได้ แต่บางครั้งคำว่า Epidemic จะหมายถึงการระบาดที่มีขอบเขตของพื้นที่ใหญ่กว่า เช่น ประเทศ หรือหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ส่วน ‘การระบาดใหญ่’ หมายถึง การระบาดทั่วโลก ซึ่งกว่าองค์การอนามัยโลกจะประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 โควิดแพร่ระบาดไปแล้ว 114 ประเทศใน 4 ทวีป และต่อมามีผู้คาดการณ์ว่าในท้ายที่สุดโควิดอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น

 

สำหรับ ‘โรคประจำถิ่น’ ตามพจนานุกรมหมายถึง ‘โรค ความผิดปกติ หรือเชื้อก่อโรคที่เกิดขึ้นคงที่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์หรือกลุ่มประชากร’ ไม่ได้มีเกณฑ์ชัดเจนว่า ‘คงที่’ (Constant) ต้องเป็นเท่าไร แต่ปกติจะหมายถึงโรคที่เกิดขึ้นประจำในระดับที่คาดการณ์ได้ว่าส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ใด ฤดูไหน จำนวนมากน้อยเท่าไร เช่น ไข้เลือดออกในประเทศไทย ซึ่งพบผู้ป่วยมากขึ้นในฤดูฝน (คาดการณ์ได้) แต่บางปีจะพบการระบาด (ผู้ป่วยมากผิดปกติ) ในบางพื้นที่ที่เว้นช่วงการระบาดมาหลายปี 

 

ดังนั้นการคาดการณ์ว่าโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นก็น่าจะหมายถึงกรณีที่โควิดจะไม่หายไปไหน แต่จะกลายเป็นโรคติดเชื้อตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ ส่วนจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อใด หน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือองค์การอนามัยโลกจะต้องกำหนดเกณฑ์ขึ้นมาก่อน แต่ถ้าอ้างอิงจากไข้หวัดใหญ่ การลดระดับเป็น ‘ระยะหลังการระบาดใหญ่’ (Post-pandemic) ประเทศส่วนใหญ่ต้องมีผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่าจุดสูงสุด และไวรัสที่ระบาดต้องมีคุณสมบัติเหมือนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

 

ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Influenza) เป็นไวรัสทางเดินหายใจที่แพร่กระจายทั่วโลก มี 3 สายพันธุ์หลักที่ก่อโรคในคน แต่สายพันธุ์ที่ทำให้เกิด ‘การระบาดตามฤดูกาล’ (Seasonal Epidemic) คือ A และ B ความเป็นฤดูกาลนี้จะแตกต่างกันตามภูมิภาค โดยในเขตอบอุ่น เช่น สหรัฐอเมริกา การระบาดมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว (จุดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์) ในขณะที่เขตร้อน เช่น ไทย การระบาดอาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่มักพบการระบาดในฤดูฝน (สิงหาคม-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม)

 

อัตราติดเชื้อของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลระบุได้ยาก เนื่องจากประชากรทุกกลุ่มอายุมีโอกาสติดเชื้อ และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้ไปพบแพทย์จึงไม่ได้รับการวินิจฉัย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ (CDC) คาดว่าในแต่ละปีมีอัตราติดเชื้อประมาณ 8% (ระหว่าง 3-11%) และในการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน พบอัตราติดเชื้อประมาณ 1 ใน 5 ของเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน และ 1 ใน 10 ของผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยเป็นผู้ติดเชื้อแบบมีอาการประมาณครึ่งหนึ่ง

 

ในฤดูกาลระบาดของปี 2562-2563 (ก่อนโควิด) CDC ประเมินความรุนแรงของโรคว่าในผู้ติดเชื้อแบบมีอาการจะมีอัตรารักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 1% และอัตราป่วยตาย (Case-Fatality Rate) 0.1%  แต่กลุ่มอายุที่มีความรุนแรงคือกลุ่มเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ กล่าวคือ

 

  • อายุ 0-4 ปี อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล 0.7% อัตราป่วยตาย 0.007%
  • อายุ 5-17 ปี อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล 0.3% อัตราป่วยตาย 0.002%
  • อายุ 18-49 ปี อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล 0.6% อัตราป่วยตาย 0.016%
  • อายุ 50-64 ปี อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล 1.1% อัตราป่วยตาย 0.061%
  • อายุ 65 ปีขึ้นไป อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล 9.1% อัตราป่วยตาย 0.946%

 

ส่วนประเทศไทย จากรายงานประจำปีของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคพบว่า ในปี 2552 ที่มีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีรายงานผู้ป่วย 120,400 ราย (อัตราป่วย 0.2%) เสียชีวิต 231 ราย (อัตราป่วยตาย 0.19%) และระบาดต่อเนื่องในปีถัดมาด้วยอัตราป่วยใกล้เคียงกัน หลังจากนั้นมีแนวโน้มลดลงจนถึงปี 2557 กลับมาสูงขึ้นและสูงสุดในปี 2562 ซึ่งมีรายงานผู้ป่วย 396,363 ราย (อัตราป่วย 0.6%) ซึ่งมากกว่าปี 2552 แต่มีผู้เสียชีวิตเพียง 30 ราย (อัตราป่วยตาย 0.01%)

 

ในผู้เสียชีวิต 30 ราย อายุต่ำสุด 11 เดือน และสูงสุด 93 ปี อายุเฉลี่ย 47 ปี อัตราป่วยตายสูงสุดในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป 0.07% รองลงมาเป็นกลุ่ม 55-64 ปี 0.03% และกลุ่มอายุ 0-4 ปี 25-34 ปี และ 35-44 ปี เรียงตามลำดับประมาณ 0.01% เนื่องจากข้อมูลนี้มาจากระบบเฝ้าระวังโรค ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการตรวจับการระบาดและติดตามการเปลี่ยแปลงของการเกิดโรค จึงสะท้อนการกระจายของโรคมากกว่าขนาดของปัญหา และถึงแม้อัตราป่วยตายจะต่ำกว่าในสหรัฐฯ แต่กลุ่มเสี่ยงยังตรงกัน

 

โควิดสายพันธุ์โอมิครอน

โควิดยังมีความไม่แน่นอนสูง สายพันธุ์โอมิครอนมีอัตราติดเชื้อสูงมาก แพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดลตา 2-3 เท่า (ค่าการระบาดหรือ Reproductive Number ของเดลตาเท่ากับ 5-8) เนื่องจากระยะฟักตัวสั้น 1-3 วัน แบ่งตัวในหลอดลมได้เร็วกว่าเดลตา 70 เท่า หลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และยังมีโอกาสกลายพันธุ์ต่อได้ ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์การระบาดในระยะยาวได้ อย่างน้อยน่าจะต้องรอช่วงฤดูใบไม้ผลิในสหรัฐฯ หรือฤดูร้อนในไทยว่าจะยังพบการระบาดนอกฤดูกาลมากน้อยเพียงใด

 

ส่วนความรุนแรง สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) รายงานเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ว่าโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา โดยอัตรารักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง 60% โดยงานวิจัยนี้ได้ปรับอิทธิพลของปัจจัยอื่น เช่น อายุ ประวัติการติดเชื้อ และการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ด้วยอัตราติดเชื้อที่สูง ทำให้ปัจจุบัน (12 มกราคม 2565) มีจำนวนผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 20,000 รายใกล้เคียงกับการระบาดระลอกแรกเมื่อปี 2563 และมากกว่าระลอกเดลตาถึง 3 เท่า

 

อัตราป่วยตายในภาพรวมของทั้งโลกลดลงจาก 7.3% (เมษายน 2563) เหลือ 1.8% ส่วนประเทศไทยลดลงจาก 1.8% เหลือ 1.0% นอกจากนี้เว็บไซต์ Our World in Data คำนวณอัตราตายเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving-Average Case Fatality Rate) จากจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังหารด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังในช่วง 10 วันก่อนหน้า (เพื่อชดเชยระยะเวลาการดำเนินโรคระหว่างการตรวจพบเชื้อถึงการเสียชีวิต) พบว่า ปัจจุบันทั้งโลกมีแนวโน้มลดลงเท่ากับ 0.5%

 

  • สหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงเท่ากับ 0.4%
  • สหราชอาณาจักร มีแนวโน้มลดลงเท่ากับ 0.2%
  • ไทย ยังมีแนวโน้มคงที่เท่ากับ 0.7%

 

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะไทยอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างการระบาดของเดลตาและโอมิครอน หรือจำนวนผู้ติดเชื้อจริง (ตัวหาร) อาจมากกว่านี้ เพราะยอดผู้ติดเชื้อของไทยไม่ได้รวมผู้ที่ตรวจพบผลบวกจากชุดตรวจ ATK อย่างไรก็ตามในภาพรวมทั่วโลกโอมิครอนมีความรุนแรงลดลง แต่ยังไม่ต่ำกว่าหรือเท่ากับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และด้วยค่าการระบาดที่สูงกว่าหลายเท่า (ค่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ไม่เกิน 2) จึงอาจทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากที่จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลอยู่

 

แนวคิดโรคประจำถิ่นของกรมควบคุมโรค

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงแนวคิดปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น (Moving to COVID-19 Endemic) และเมื่อวันที่ 11 มกราคม กล่าวถึงการปรับตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อที่เริ่มนับยอดใหม่เป็นตั้งแต่ 1 มกราคมเป็นต้นมาว่า เป็นทิศทางที่กำลังจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น โดย “เราพยายามปรับเป็นโรคประจำถิ่น จะเน้นเรื่องผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นหลัก” เช่น ขณะนี้มีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 110 ราย คิดเป็น 2 ในพันราย และอัตราเสียชีวิตน้อยกว่า 1%

 

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น นพ.โอภาสอธิบายโดยใช้แนวคิดปัจจัยสามทางระบาดวิทยา (Epidemiologic Triad) ว่าโรคประจำถิ่นจะเกิดจากความสมดุลระหว่าง 3 ปัจจัย ได้แก่ เชื้อโรค (Agent) คน (Host) และสิ่งแวดล้อม (Environment) กล่าวคือ

 

  • เชื้อโรคมีความรุนแรงลดลง ไม่ทำให้คนป่วยหนักหรือเสียชีวิต 
  • คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 
  • สิ่งแวดล้อมเหมาะสม โดยมีการจัดการความเสี่ยง และเตรียมระบบสาธารณสุขและยารองรับ

 

สังเกตว่านโยบายที่ตามมาหลังจากการแถลงแนวคิดนี้คือมาตรการ ATK First หรือการตรวจหาเชื้อด้วยตนเองด้วยชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) เป็นลำดับแรก ในรายที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการไม่ต้องตรวจยืนยันซ้ำด้วยวิธี RT-PCR และนำมาสู่มาตรการใช้การดูแลที่บ้านหรือชุมชน (Home Isolation/Community Isolation: HI/CI) ซึ่งใกล้เคียงกับการรักษาไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมากขึ้น เพราะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่พักรักษาตัวและรับประทานยาที่บ้าน

 

แต่มาตรการที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบเกิน 3 เดือน และการฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้มีความครอบคลุมของวัคซีนมากที่สุด (เป้าหมายขององค์การอนามัยโลกคือ 70%) เพราะข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันอาการป่วยจากโอมิครอนได้เพิ่มขึ้น และยังป้องกันอาการหนักได้มากกว่า 90% ยิ่งไปกว่านั้นหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปแล้ว เพราะการระบาดของโอมิครอนพบสัดส่วนผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้น

 

โดยสรุป ‘โรคประจำถิ่น’ หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นคงที่และคาดการณ์ได้ในพื้นที่หนึ่ง ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์สำหรับโควิด แต่ถ้าอ้างอิงจากไข้หวัดใหญ่ ประเทศส่วนใหญ่ต้องมีผู้ติดเชื้อลดลง และไวรัสต้องมีคุณสมบัติเหมือนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยมีความรุนแรงของโรคลดลง (ไข้หวัดใหญ่มีอัตราป่วยตาย 0.1%) และระบาดตามฤดูกาล ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์รูปแบบการระบาดได้ แต่ถ้าหากคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อโควิด อย่างน้อยวัคซีนน่าจะต้องเข็ม 3 ขึ้นไป 

 

ผมก็มีความคาดหวังว่าเราอาจอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) โดยไม่ต้องมีมาตรการทางสังคมเข้มข้นได้ก่อนที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (COVID Endemic)

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X