อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ซีอีโอของ Tesla, SpaceX และเจ้าของ X โซเชียลมีเดียยอดนิยม กลายเป็นผู้จุดชนวนความปั่นป่วนทางการเมืองในยุโรปช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่เขาออกมาแสดงท่าที ทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ในสหราชอาณาจักร แสดงการสนับสนุนพรรคขวาจัดของเยอรมนี และกล่าวโจมตีคณะกรรมาธิการยุโรป จนทำให้ผู้นำรัฐบาลของประเทศยุโรปที่ตกเป็นเป้าแสดงความไม่พอใจ และมองว่าเขากำลังท้าทายสถาบันประชาธิปไตย
การที่มัสก์ทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในฐานะพันธมิตรของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 47 และยังมีเครื่องมืออย่างโซเชียลมีเดียอยู่ในมือ ส่งผลให้ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสนใจท่าทีของเขา
แต่จุดยืนของมัสก์ที่สนับสนุนฝ่ายขวาจัดในยุโรป และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสายกลาง กำลังทำให้ผู้นำยุโรปกังวลว่าจะรับมือกับเขาอย่างไร
และนี่คือท่าทีบางส่วนของมัสก์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่แน่ว่าอาจส่งผลถึงขั้นชี้นำทิศทางการเมืองของหลายประเทศยุโรป
ต่อต้านสตาร์เมอร์ หนุนพรรคปฏิรูป UK
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 มกราคม มัสก์โพสต์ข้อความผ่าน X โดยระบุอย่างชัดเจนว่า เคียร์ สตาร์เมอร์ ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร พร้อมกล่าวหาว่า สตาร์เมอร์มีส่วนรู้เห็นในคดีร้ายแรงเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่กระทำโดยชายเชื้อสายปากีสถาน ซึ่งทางการปกปิดเรื่องนี้ไว้ในช่วงที่สตาร์เมอร์ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของอังกฤษและเวลส์
“สตาร์เมอร์มีส่วนรู้เห็นในคดีข่มขืนในอังกฤษ เมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าอัยการสูงสุดเป็นเวลา 6 ปี
“สตาร์เมอร์ต้องออกจากตำแหน่ง และต้องเผชิญข้อกล่าวหาว่า มีส่วนรู้เห็นในคดีอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ”
มัสก์แสดงความคิดเห็นและโพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา จนทำให้ เวส สตรีติง รัฐมนตรีสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ต้องออกมาตอบโต้ว่า ข้อกล่าวหาของมัสก์นั้นเป็นเท็จและไม่มีมูลความจริง
ท่าทีของมัสก์มีขึ้นในขณะที่เขาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ในสหราชอาณาจักร ภายหลังจากที่เพิ่งมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา และเป็นพรรคฝ่ายกลางซ้ายอย่างพรรคเลเบอร์ที่ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย
“การเลือกตั้งใหม่มีความจำเป็น” มัสก์กล่าว พร้อมเรียกร้องให้สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีคำสั่งยุบสภา
ขณะที่มัสก์ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัว ทอมมี โรบินสัน นักเคลื่อนไหวขวาจัดที่มีชื่อเสียงในสหราชอาณาจักร และแสดงการสนับสนุนพรรค Reform หรือพรรคปฏิรูป ซึ่งมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ
ก่อนหน้านี้ไม่นานมัสก์ยังพบกับ ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรค Reform ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังแคมเปญ Brexit หรือการนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป แม้ว่าล่าสุดมัสก์จะแสดงท่าทีเรียกร้องให้ฟาราจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ตาม โดยมองว่าฟาราจนั้นไม่มีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะท่าทีของฟาราจที่ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับมัสก์เรื่องการปล่อยตัวโรบินสัน
ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อต่อสู้กับการแพร่กระจายข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดีย และมัสก์เปรียบเทียบความพยายามเหล่านี้กับการกระทำของระบอบเผด็จการรัสเซียโซเวียต
หนุนพรรคขวาจัดเยอรมนี
ในเยอรมนีที่กำลังจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มัสก์แสดงท่าทีสนับสนุนพรรคขวาจัดอย่างพรรค AfD (Alternative for Germany) หรือพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี ผ่านบทความแสดงความคิดเห็นที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ WELT AM SONNTAG
โดยมัสก์อ้างว่า พรรค AfD เป็นพรรคการเมืองเดียวที่สามารถ ‘กอบกู้’ เยอรมนีได้ ขณะที่มัสก์ยังกำหนดตารางการไลฟ์พูดคุยกับ อลิซ ไวเดิล หัวหน้าพรรค AfD ผ่านทาง X ด้วย
นอกจากนี้ มัสก์ยังเรียกร้องให้ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีลาออก หลังจากเกิดเหตุรถพุ่งใส่ฝูงชนที่ตลาดคริสต์มาสในเมืองมัคเดอบวร์คเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และยังโพสต์ข้อความล้อเลียนโชลซ์ว่า “Oaf Schitz” ซึ่ง Oaf หมายความว่าคนโง่ และ Schitz นั้นเป็นการเล่นคำจากคำว่า Shit ที่แปลว่าห่วย
ขณะที่โชลซ์ตอบโต้ในการส่งข้อความปีใหม่ถึงประชาชน โดยชี้ว่า “พลเมืองเยอรมนีต้องเป็นคนตัดสินว่าจะเกิดอะไรขึ้นในเยอรมนี ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าของโซเชียลมีเดีย”
ทั้งนี้โชลซ์ชี้ว่า “สิ่งที่น่ากังวลกว่าการดูหมิ่นของมัสก์คือความจริงที่ว่า มัสก์สนับสนุนพรรค AfD ที่สนับสนุนการสร้างความปรองดองกับรัสเซียของ วลาดิเมียร์ ปูติน และพยายามทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกอ่อนแอลง
“มีคนจำนวนมากบนโซเชียลมีเดียที่พยายามเรียกร้องความสนใจผ่านวาทกรรมที่รุนแรง ผมไม่เชื่อว่าเราควรไล่ตามมัสก์ และผมก็ยินดีที่จะปล่อยให้คนอื่นทำ กฎคืออย่าไปสนับสนุนพวกขี้โกง” โชลซ์กล่าวเสริม
ขณะที่รัฐบาลเยอรมนีกล่าวหาว่า ท่าทีของมัสก์เป็นการแทรกแซงการเลือกตั้ง ในขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านเยอรมนีก็วิพากษ์วิจารณ์มัสก์เช่นกัน
โจมตีคณะกรรมาธิการยุโรป
มัสก์ยังแสดงท่าทีต่อคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป โดยเรียกร้องให้รัฐสภายุโรปมีอำนาจมากขึ้น และชี้ว่าคณะกรรมาธิการเป็นองค์กรที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
ท่าทีของมัสก์มีขึ้นในขณะที่ EU กำลังพยายามควบคุมการแพร่กระจายข้อมูลเท็จบนโซเชียลมีเดีย และบังคับใช้กฎระเบียบที่ควบคุมเนื้อหาบน X
โดยในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักวิจัยจากสภายุโรปว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (European Council on Foreign Relations) เตือนว่า มัสก์อาจใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของเขา เพื่อ “ระดมพลเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด เพื่อพยายามเพิ่มต้นทุนทางการเมืองสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจในบรัสเซลส์ ที่มีเป้าหมายควบคุมเนื้อหาบน X”
ด้าน เวรา จูโรวา อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านค่านิยมและความโปร่งใส ที่เคยประสานงานกับหลายบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก ในด้านความเป็นส่วนตัว ข้อมูลบิดเบือน และการควบคุมเนื้อหา กล่าวถึงมัสก์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่าเป็น ‘ผู้ส่งเสริมความชั่วร้าย’
“เราเริ่มมองว่าความชั่วร้ายเป็นเรื่องเล็กน้อย และเขาก็ช่วยเหลือมันอย่างจริงจัง เขาเป็นผู้ส่งเสริมความชั่วร้าย” เธอกล่าว และชี้ว่า X นั้นเป็น “ศูนย์กลางหลักในการแพร่กระจายลัทธิต่อต้านชาวยิวในปัจจุบัน”
ขณะที่จูโรวายังชี้ว่า บรรดาบริษัทเทคยักษ์ใหญ่นั้นมี “อำนาจมหาศาลอยู่ในมือของพวกเขา” และเธอ “กลัวมากที่แพลตฟอร์มดิจิทัลจะอยู่ในมือของคนไม่ดี”
ภาพ: Chesnot / Getty Images
อ้างอิง: