×

‘สรรพากร’ เปิดข้อสรุปเบื้องต้นภาษีคริปโต เอาผลขาดทุนจาก Exchange ไทยมาหักกำไรได้-พร้อมยกเว้นหัก ณ ที่จ่าย 15% เตรียมแจกคู่มือ 31 ม.ค. นี้

28.01.2022
  • LOADING...
ภาษีคริปโต

ช่วงบ่ายของวันนี้ (28 มกราคม) กรมสรรพากรแถลงข่าวถึงข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย หลังจากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ร่วมกับผู้แทนสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย รวมทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ จัดตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว โดยมีการจัดทำแบบสอบถามเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

 

ในการแถลง เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เริ่มต้นอธิบายว่า การประกอบธุรกิจและการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,539 ล้านบาท และมีจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนราย เป็น 1.98 ล้านราย 

 

ขณะเดียวกัน วิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ยังมีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนรวดเร็วมาก ทำให้กฎหมายของไทยที่ออกมาตั้งแต่ปี 2561 อาจไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน 

 

เพื่อทำให้กฎหมายภาษีอากรไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กรมสรรพากรจึงได้ดำเนินการในส่วนที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ และจะดำเนินการนำเสนอเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนในบางประเด็นเพื่อรองรับกับรูปแบบธุรกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ ทำให้ชัด ผ่อนปรน และมองอนาคต 

 

ทำให้ชัดในที่นี้ คือ การกำหนดรูปแบบของภาษีเงินได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบันให้มีความชัดเจน ซึ่งทางกรมสรรพากรได้กำหนดแนวทางเอาไว้ดังนี้

  1. การจัดเงินได้ให้ชัดเจน โดยระบุประเภทเงินได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกำไร/รายได้จากการโอน/ผลประโยชน์อันใดจากสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การขุดจะต้องเสียภาษีอย่างไร การทำ Yield Farming จะต้องเสียภาษีในรูปแบบใด

 

  1. วิธีการคำนวณต้นทุนจะกำหนดให้ใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง โดยสามารถทำได้ 2 วิธี คือวิธีเข้าก่อน-ออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) และสามารถเปลี่ยนวิธีคำนวณในปีถัดไปได้

 

  1. การวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา

 

ทั้งนี้รายละเอียดต่างๆ จะมีอยู่ในคู่มือการชำระภาษีของผู้มีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทางกรมสรรพากรกำลังพิจารณาร่วมกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และสมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และจะดำเนินการเผยแพร่ในวันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565

 

ในด้านการผ่อนปรน กรมสรรพากรก็ได้มีแนวทางในการดำเนินการผ่อนปรนหลายๆ ประการ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน และยังอยู่ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรที่สามารถดำเนินการได้ โดยแบ่งออกเป็นในเรื่องของภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามดังนี้

 

  1. การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมิน (กำไร) นั้น ทางกรมสรรพากรจะดำเนินการเสนอให้มีการออกกฎกระทรวง เพื่อให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น

 

  1. ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด

 

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

 

นอกจากนี้ยังมีการมองไปถึงอนาคตข้างหน้า โดยในส่วนนี้กรมสรรพากรจะพิจารณาหารือร่วมกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เชิงนโยบายในอนาคต เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม เช่น การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่านผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange เป็นผู้หักและนำส่งกรมสรรพากร 

 

รวมถึงอาจพิจารณาเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction Tax) สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมและบริบทต่างๆ โดยรอบอีกครั้ง

 

ข้อสรุปเบื้องต้นที่ออกมาต้องบอกว่าเรียกเสียงตอบรับในเชิงบวกจากทั้งฝั่งผู้ประกอบการและนักลงทุนกันไปได้ไม่มากก็น้อย

 

โดย ชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย เปิดเผยในการแถลงของกรมสรรพากรว่า สิ่งที่ชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลกังวลมาโดยตลาดในช่วงที่ผ่านมาคือการห้ามหักลบผลขาดทุน ดังนั้นเมื่อกรมสรรพากรมีความชัดเจนในเรื่องนี้ออกมา จึงทำให้ความกังวลส่วนนี้หายไป และรู้สึกถึงความเป็นธรรมมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี หากเป็นไปได้ยังอยากเสนอให้ในอนาคตมีการนำเรื่องกำไรสุทธิไปคิดเป็นภาษีแบบ Final Tax เพื่อป้องกันฐานภาษี ซึ่งอาจทำในรูปแบบใกล้เคียงกับการหัก 10% ของเงินปันในตลาดทุน โดยให้ศูนย์ซื้อขายมีหน้าที่ออกเอกสารปลายปีให้กับผู้ลงทุน

 

อัฏฐ์ ทองใหญ่ อัศวานันท์ ตัวแทนสมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่กรมสรรพากรรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน และยังร่วมกันแก้ปัญหาเป็นเปลาะๆ เพื่อทำให้ประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลไทยมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ถูกต้อง 

 

ด้านศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ระบุว่า การที่เสียงของคนในชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลไทยสามารถถูกส่งต่อมาถึงภาครัฐจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ถือเป็นเรื่องที่ดีและสำคัญมาก

 

อย่างไรก็ดี ข้อสรุปที่ออกมาในวันนี้ยังถือเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เนื่องจากคณะทำงานชุดนี้ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 เฟส คือ ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว โดยในส่วนของสมาคมฯ จะยังเดินหน้าผลักดันประเด็นทางภาษีที่อาจจะเป็นประโยชน์ในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising