×

สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 รุนแรงขึ้นหรือไม่ ข้อมูลในไทยบอกอะไรบ้าง

15.07.2022
  • LOADING...
สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5

สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน กลายพันธุ์ต่อจาก BA.1 และ BA.2 ที่ทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งคู่มียีนหนาม (Spike Protein) หรือรหัสพันธุกรรมที่ใช้สังเคราะห์โปรตีนหนามเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่การกลายพันธุ์ในบริเวณอื่นของจีโนม

 

เนื่องจากโปรตีนหนามเป็นส่วนที่ใช้เกาะกับเซลล์ของคน ทั้งคู่จึงน่าจะระบาดใกล้เคียงกัน แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบัน BA.5 ระบาดมากกว่า คิดเป็น 50% ของสายพันธุ์ทั้งหมด ส่วน BA.4 มีสัดส่วนเพียง 14% เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ยังเป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ต้องหาคำตอบต่อไป

 

นักวิทยาศาสตร์แยกทั้งคู่ออกจาก BA.2 ด้วยตำแหน่งที่กลายพันธุ์ L452R, F486V และการตรวจไม่พบยีนหนาม (S-Gene Target Failure) แต่ตำแหน่งที่ถูกเพ่งเล็งคือ L452R เพราะเคยพบในสายพันธุ์เดลตามาก่อน ทำให้คาดว่าอาจจับกับเซลล์ปอดได้ดีขึ้น และหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น

 

ข้อมูลในห้องทดลองพบว่า BA.4 และ BA.5 แบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดของคนได้มากกว่า BA.2 และการทดลองในหนูแฮมสเตอร์บ่งชี้ว่าน่าจะทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่า นั่นคือการระบาดของทั้งคู่อาจทำให้พบผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้น และผู้ที่เคยติดเชื้อสามารถติดเชื้อนี้ซ้ำได้ 

 

แต่ความจริงแล้ว 2 สายพันธุ์นี้รุนแรงขึ้นหรือไม่ ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันบอกอะไรกับเราบ้าง

 

ข้อมูลในต่างประเทศ

BA.4 และ BA.5 พบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้เมื่อเดือนมกราคม 2022 และต่อมาทำให้เกิดการระบาดระลอกที่ 5 ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าจะเปรียบเทียบความรุนแรงของทั้งคู่กับสายพันธุ์อื่นๆ ก็น่าจะต้องเริ่มจากผลการศึกษาที่แอฟริกาใต้

 

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ก่อนการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ (Preprint) ศึกษาความรุนแรงของการระบาดระลอก BA.4 และ BA.5 ในจังหวัดเวสเทิร์นเคป (Western Cape) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ พบว่าอัตราการนอนโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิต ‘ไม่แตกต่าง’ จาก BA.1

 

หมายความว่าระลอก BA.1 เป็นอย่างไร ระลอก BA.4 และ BA.5 ก็เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้ามกับระลอกเบตาและเดลตาที่รุนแรงกว่า BA.1 เท่ากับ 1.3 และ 1.4 เท่าตามลำดับ โดยควบคุมอิทธิพลของเพศ อายุ โรคประจำตัว การได้รับวัคซีน และประวัติเคยติดเชื้อมาก่อนแล้ว

 

นอกจากนี้หากมองอย่างหยาบๆ กราฟผู้เสียชีวิตที่แอฟริกาใต้ในระลอก BA.4 และ BA.5 ต่ำกว่าระลอกก่อนหน้าอย่างชัดเจน จุดสูงสุดพบผู้เสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 40 รายต่อวัน ในขณะที่ระลอก BA.1 พบผู้เสียชีวิต 240 รายต่อวัน และอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มค่อนข้างต่ำเพียง 32.2%

 

โปรตุเกสเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์ใหม่ เพราะเป็นประเทศแรกในยุโรปที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับสัดส่วนของ BA.5 ที่เพิ่มขึ้นแทนที่ BA.2 จนปัจจุบันกลายเป็นสายพันธุ์หลัก (BA.5.1 = 76%, BA.5 = 3%)

 

ข้อมูลจากการติดตามของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (ECDC) ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2022 พบว่า อัตราการนอนโรงพยาบาลและการรักษาในไอซียู ‘เพิ่มขึ้น’ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ยังต่ำกว่าจุดสูงสุดของระลอกโอมิครอนก่อนหน้า จึงยังไม่มีหลักฐานว่า BA.5 รุนแรงกว่า 

 

คำอธิบายที่เป็นไปได้คือ ถึงแม้ความรุนแรงจะไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลหรือรักษาในไอซียูจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

สาเหตุที่จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้น คาดว่าเป็นผลมาจาก ‘ไวรัส’ หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ข้อมูลในห้องทดลองพบว่า ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเข็มกระตุ้นและภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้า ยับยั้ง BA.4 และ BA.5 ลดลง 3.3 และ 2.9 เท่าตามลำดับ เมื่อเทียบกับ BA.1

 

และระดับภูมิคุ้มกันของ ‘คน’ ที่ลดลงตามระยะเวลาหลังฉีดวัคซีนเข็มล่าสุด ข้อมูลเบื้องต้นจากสหราชอาณาจักรพบว่า ประสิทธิผลของวัคซีนต่อ BA.4 และ BA.5 ‘ไม่แตกต่าง’ จาก BA.2 แต่การป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจะลดลงต่ำกว่า 50% เมื่อผ่านไปประมาณ 4 เดือนหลังฉีดเข็มกระตุ้น

 

ข้อมูลในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2022 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์ว่า สัดส่วน BA.4 และ BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งพบครั้งแรกเมื่อพฤษภาคม 2022 และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนช่วงกลางเดือนมิถุนายน ปัจจุบันคิดเป็น 72.3%

 

ส่วนต่างจังหวัดระบาดต่อจากกรุงเทพฯ พบครั้งแรกกลางเดือนมิถุนายน ปัจจุบันคิดเป็น 34.7% โดยเขตสุขภาพที่ 11 พบสัดส่วนมากที่สุดเท่ากับ 69.6% รองลงมาเป็นเขตที่ 6 เท่ากับ 48.7% (สังเกตว่าทั้ง 2 เขตมีจังหวัดท่องเที่ยว โดยภูเก็ตอยู่ในเขตที่ 11 และชลบุรีอยู่ในเขตที่ 6)

 

“ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงมากกว่า BA.1 และ BA.2 แต่จำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจยังมีจำนวนไม่มากพอที่จะสรุป จึงต้องเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจเพิ่มเติมต่อไป” เป็นข้อสรุปของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากข้อมูลระหว่างวันที่ 2-8 กรกฎาคม 2022 

 

  • ในกรุงเทพฯ กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต 10 ราย จากทั้งหมด 13 ราย (76.9%) ตรวจพบเป็นสายพันธุ์ BA.4 หรือ BA.5 ในขณะที่กลุ่มอาการไม่รุนแรงตรวจพบ 72.0% 
  • ส่วนในต่างจังหวัดซึ่งยังพบการระบาดของทั้งคู่ไม่มาก แต่ตรวจพบในกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตมากถึง 46.7% ในขณะที่กลุ่มอาการไม่รุนแรงตรวจพบ 33.0%

 

สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5

 

หากนำข้อมูลข้างต้นมาวิเคราะห์ทางสถิติ ถือว่าความรุนแรงของ BA.4 หรือ BA.5 ‘ไม่แตกต่าง’ จาก BA.2 ดังนั้นในทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในต่างประเทศหรือของประเทศไทย จึง ‘ยังสรุปไม่ได้ว่า BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น’

 

แต่ตัวเลขที่บอกสถานการณ์ปัจจุบันของไทยได้ชัดเจนคือจำนวนผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง-สีแดง (ผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ) มีแนวโน้ม ‘เพิ่มขึ้น’ มากกว่า 20% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้นประชาชนโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจึงต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น 

 

สำหรับผู้ที่ครบกำหนดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3 หลังเข็มล่าสุด 3 เดือน และเข็มที่ 4 หลังเข็มล่าสุด 4 เดือน) โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ควรรีบติดต่อศูนย์ฉีดวัคซีนใกล้บ้าน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising