×

เตือนภัยโควิดระดับ 4 หมายถึงอะไร ทำไมมาตรการสีพื้นที่ถึงเหมือนเดิม

24.02.2022
  • LOADING...
Covid alert level 4

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวเตือนภัยจากโรคโควิดเป็น ‘ระดับ 4’ ทั่วประเทศ หลังจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งมีทั้ง ‘งด-จำกัด’ กิจกรรมการรวมกลุ่มและ ‘ชะลอ’ การเดินทาง ทำให้มีผู้สงสัยว่าจะสามารถทำอะไรได้/ไม่ได้บ้าง กิจกรรมที่วางแผนไว้จะต้องยกเลิกหรือเปล่า

 

ส่วนวานนี้ (23 กุมภาพันธ์) มีการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งหลายฝ่ายเฝ้ารอความชัดเจนว่ารัฐบาลจะปรับมาตรการเพื่อควบคุมการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่ แต่ปรากฏว่ามาตรการระดับพื้นที่สถานการณ์ (สีพื้นที่) ยังคงเหมือนเดิม โดยเป็นจังหวัดสีส้ม 44 จังหวัด สีเหลือง 25 จังหวัด และสีฟ้า 8 จังหวัด อีกทั้งยังผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศด้วย

 

การบริหารสถานการณ์โควิดของภาครัฐกำลังดำเนินไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ แล้วประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน

 

สธ. เตือนภัยโควิดระดับ 4

การเตือนภัยจากโรคโควิดของกระทรวงสาธารณสุขแบ่งเป็นทั้งหมด 5 ระดับ ยิ่งเลขมากยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้นเท่านั้น กล่าวคือ

  • ระดับ 1 New Normal (ใช้ชีวิตได้ปกติ)
  • ระดับ 2 Alert (เร่งเฝ้าระวัง คัดกรอง)
  • ระดับ 3 Activated (จำกัดรวมกลุ่ม)
  • ระดับ 4 Considerable (ปิดสถานที่เสี่ยง)
  • ระดับ 5 Restricted (จำกัดการเดินทาง)

 

เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ก่อนเทศกาลปีใหม่ ช่วงนั้นเพิ่งเริ่มพบการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนภายในประเทศ จึงเริ่มต้นที่ระดับ 3 มาตรการที่กำหนดมีทั้งระดับบุคคล (ประชาชน) และระดับองค์กร (สถานประกอบการ) แต่ทั้งหมดเป็นเพียงการขอความร่วมมือหรือ ‘คำแนะนำ’ เท่านั้น ไม่ใช่ ‘คำสั่ง’ ทางกฎหมาย

 

คล้ายกับการออกประกาศเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หรือฝนตกหนัก คลื่นลมแรง ‘เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง’ ของกรมอุตุนิยมวิทยา

 

ขณะเดียวกัน สธ. ก็มีแนวคิดปรับโควิดเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ (Endemic) การเตือนภัยนี้จึงเป็นความพยายามให้ประชาชนปรับการใช้ชีวิตตามระดับความเสี่ยง โดย ‘ระดับความเสี่ยง’ จะพิจารณาจาก 3 ปัจจัยคือ สถานการณ์โควิด (อัตราป่วยและอัตราครองเตียงเหลือง-แดง) ความครอบคลุมของวัคซีนครบ 2 เข็ม กลุ่ม 607 และศักยภาพการควบคุมโรค

 

Covid alert level 4

 

คำแนะนำประชาชนและสถานประกอบการในแต่ละระดับจะแบ่งเป็น 4 ประเด็นตามปัจจัยเสี่ยงของการระบาด สำหรับการเตือนภัยระดับ 4 มีดังนี้

  • สถานที่เสี่ยง: ทุกคนงดไปรับประทานอาหารร่วม-ดื่มสุราในร้าน งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก: ทุกคน*เลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด: ทุกคน*งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภทโดยไม่จำเป็น
  • การเดินทางเข้า-ออกประเทศ: ทุกคน*งดไปต่างประเทศ เข้าประเทศต้องกักตัว

 

*ถ้าเป็นระดับ 3 จะแนะนำเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608/ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ และจะเป็นคำว่า ‘เลี่ยง’ แทน ‘งด’ (งด แปลว่าหยุดหรือเว้น เช่น งดอาหารและน้ำตามแพทย์สั่ง งดเหล้าเข้าพรรษา ส่วน เลี่ยง แปลว่าเบี่ยงไปจากแนวเดิม เช่น เลี่ยงภาษี เลี่ยงบาลี น่าสนใจว่าถ้าเป็นกฎหมาย 2 คำนี้มีความแตกต่างกันหรือไม่ เพราะสุดท้ายก็คือ ‘ไม่ทำ’ เหมือนกัน)

 

และทุกระดับให้ปฏิบัติตามมาตรการ VUCA (Vaccine-วัคซีน, Universal Prevention หรือ UP-การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล, COVID Free Setting-มาตรการปลอดภัยระดับองค์กร, ATK-การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK) โดยเฉพาะมาตรการ UP เน้นสวมหน้ากาก 100% ซึ่งเป็นมาตรการที่มีการรณรงค์เป็นประจำมาก่อนหน้านี้แล้ว

 

Covid alert level 4

 

นอกจากนั้น สธ. ยังกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรค (ระดับจังหวัด) ต่อระดับการเตือนภัย ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางสำหรับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ในการพิจารณาออกคำสั่งเพิ่มเติมสำหรับจังหวัดนั้นๆ ซึ่งอาจเข้มกว่าที่ ศบค. กำหนดได้ โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นตามปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน สำหรับการเตือนภัยระดับ 4 มีดังนี้

  • สถานที่เสี่ยง: เปิดเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก: เกณฑ์จำนวนคนให้รวมกลุ่มได้ตามระดับความเสี่ยงต่อการระบาดของโรครายจังหวัด
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด: การทำงานที่บ้าน (WFH) ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่
  • การเดินทางเข้า-ออกประเทศ: Quarantine (ลดวันกักตัว)

 

Covid alert level 4

 

ทั้งนี้ หลายคนน่าจะพอทราบมาก่อนว่า สธ. ยกระดับการเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 มาตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 แต่สังเกตว่าคำแนะนำดังกล่าวไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เช่น งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภทโดยไม่จำเป็น (ส่วนใหญ่จำเป็นต้องโดยสารรถเมล์หรือรถไฟฟ้าไปทำงาน) ชะลอการเดินทาง รวมถึงจำกัดการรวมกลุ่ม เพราะหลายกิจการ/กิจกรรมกลับมาดำเนินการตามปกติแล้ว

 

ศบค. ชุดใหญ่เอง เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ปรับมาตรการเพียงยกระดับพื้นที่สีเหลืองเป็นพื้นที่สีส้มรวม 69 จังหวัด ซึ่งไม่ได้ปิดสถานที่เสี่ยงเพิ่มเติมหรือจำกัดการเดินทาง แต่ขยายระยะเวลาการทำงานที่บ้าน (WFH) ไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคม และปรับลดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากจาก 1,000 คน เหลือ 500 คน อีกทั้งยังผ่อนคลายมาตรการในวันที่ 20 มกราคมด้วย

 

ประชาชนจึงไม่ได้ปฏิบัติตามการเตือนภัยโควิดระดับ 4 จนจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นหลังเทศกาลตรุษจีน หรือแม้กระทั่งลืมไปแล้วว่า สธ. เคยยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับที่ 4 มาตั้งแต่หลังปีใหม่ “ที่เราออกมาเน้นย้ำ เนื่องจากที่เราเคยประกาศนั้นนานมาแล้ว ประชาชนอาจจะหลงลืมว่าเรายังอยู่ในการเตือนภัยระดับ 4 อยู่ เหมือนที่หมอให้คนป่วยควบคุมอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม 

 

“แต่พอกลับมาติดตามอาการอีกครั้งพบว่าสุขภาพยังไม่ดีขึ้น เราก็ต้องเน้นย้ำให้ลดหวาน มัน เค็ม เข้าไปอีก เป็นต้น” นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565

 

มาตรการสีพื้นที่ของ ศบค.

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน หลังจาก สธ. ย้ำการเตือนภัยโควิดระดับ 4 เมื่อวันจันทร์ วานนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2565) ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ไม่ได้ปรับมาตรการสีพื้นที่ โดยยังคงเป็นจังหวัดสีส้ม 44 จังหวัด สีเหลือง 25 จังหวัด (ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคกลาง) และสีฟ้า 8 จังหวัด (เช่น กทม. ภูเก็ต ชลบุรี และบางพื้นที่ใน 18 จังหวัด) คงเดิมจากการผ่อนคลายรอบปลายเดือนมกราคม

 

มาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิดแบบบูรณาการตามระดับพื้นที่สถานการณ์นี้เริ่มใช้มาตั้งแต่การระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร แบ่งเป็น 5 สี ได้แก่ สีแดงเข้ม แดง ส้ม เหลือง เขียว แต่รายละเอียดมาตรการมีการปรับเปลี่ยนมาตลอดจนถึงล่าสุดเป็นฉบับพฤศจิกายน 2564 ซึ่งเพิ่มสีฟ้าแทนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว และแบ่งเป็น 10-12 ประเด็นหลักตามกิจการ/กิจกรรม

 

สำหรับพื้นที่สีส้ม (พื้นที่ควบคุม) มีมาตรการดังนี้

  • การห้ามออกนอกเคหสถาน: ไม่มีการห้ามออกนอกเคหสถาน
  • การทำงานที่บ้าน (WFH): ดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ยกเว้น กทม. และปริมณฑล ดำเนินการเหมือนพื้นที่สีแดงเข้ม (เต็มศักยภาพโดยไม่กระทบกับการบริการประชาชน)
  • การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม: ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 500 คน
  • สถานศึกษา: จัดการเรียนการสอนตามปกติภายใต้มาตรการที่ราชการกำหนด
  • ร้านอาหาร: บริโภคในร้านได้ ห้ามดื่มสุราในร้าน
  • ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ตลาดนัด: เปิดบริการได้ตามปกติ
  • ห้างสรรพสินค้า: เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ เปิดสวนสนุก/สวนน้ำเฉพาะพื้นที่เปิดโล่ง
  • ศูนย์แสดงสินค้า/ประชุม: จัดประชุม/มหกรรมด้านกีฬา/แสดงสินค้า (ชิมอาหารได้) ไม่เกิน 1,000 คน
  • ร้านเสริมสวย: เปิดบริการได้ตามปกติ แต่ไม่เกิน 24.00 น.
  • สถานบริการเพื่อสุขภาพ นวด สปา: เปิดบริการได้ตามปกติ แต่ไม่เกิน 24.00 น.

 

และทุกพื้นที่ต้องเน้นย้ำมาตรการ UP, COVID Free Setting และมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ส่วนพื้นที่สีฟ้าใช้มาตรการเดียวกับพื้นที่สีเขียว ซึ่งทุกกิจการ/กิจกรรมสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ ดังนั้นทิศทางการบริหารสถานการณ์โควิดของ ศบค. กับการควบคุมและป้องกันโรคของ สธ. กำลังสวนทางกันอย่างชัดเจน

 

สุดท้ายประชาชนและสถานประกอบการกลับเป็นฝ่ายต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะปฏิบัติตาม สธ. หรือ ศบค. ซึ่งคำแนะนำของฝั่งสาธารณสุขมีต้นทุนสูง และยิ่งไม่มีผลทางกฎหมาย จึงมีโอกาสได้รับความร่วมมือต่ำ ในทางกลับกัน แนวทางของ ศบค. ให้ความสำคัญกับฝั่งเศรษฐกิจมากกว่า ขณะเดียวกันก็ใกล้เคียงกับแผนปรับโควิดให้เป็น ‘โรคประจำถิ่น’ มากกว่าด้วยซ้ำ

 

เพียงแต่ว่าถ้าประเมินสถานการณ์พลาด จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความครอบคลุมของวัคซีนในกลุ่ม ‘ผู้สูงอายุ’ เข็มที่ 2 เท่ากับ 78.0% ซึ่งบางส่วนได้รับมานานแล้วจนระดับภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง และเข็มที่ 3 เพียง 27.7% อาจทำให้ผู้ป่วยสีเหลือง-แดงมากขึ้นจนเกินศักยภาพของ รพ. และผู้เสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร

สถานการณ์โควิดของไทยในขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นคาดการณ์ของกรมควบคุมโรคเมื่อปลายปีที่แล้ว กราฟจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ (เฉพาะที่ทราบผล RT-PCR) สูงขึ้นทะลุเส้นสีส้มไปแล้ว และเมื่อเทียบกับ 2 สัปดาห์ก่อน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นประมาณ 50% เป็น 796 ราย และ 202 รายตามลำดับ

 

Covid alert level 4

 

วัคซีนเข็มที่ 3 เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะลดความสูญเสียและทำให้เราอยู่ร่วมกับโควิดได้ สายพันธุ์โอมิครอน ‘รุนแรงน้อยกว่า’ เดลตา แต่ไม่ใช่ ‘ไม่รุนแรง’ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน

 

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคตั้งแต่ต้นปี 2565 มีผู้เสียชีวิตที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุจำนวน 666 ราย (คิดเป็น 82% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด) ครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน และอีก 1 ใน 3 ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ดังนั้นจึงควรเร่งรัดการฉีดวัคซีน ยิ่งมีโรคประจำตัว ยิ่งควรได้รับวัคซีน เพราะถึงแม้จะป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่ยังลดความรุนแรงของโรคได้ 

 

หากท่านหรือคนในครอบครัวยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีน 2 เข็มมาเกิน 3-6 เดือน ควรรีบติดต่อโรงพยาบาลหรือศูนย์ฉีดวัคซีนใกล้บ้าน หากวางแผนรวมญาติหรือท่องเที่ยวช่วงเทศกาล ‘สงกรานต์’ การฉีดวัคซีน 2 เข็มแรก ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงสุดช่วงนั้นพอดี ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้น ภูมิคุ้มกันจะยังอยู่ในระดับสูงถึงช่วงนั้นเช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน หน่วยงานสาธารณสุขและมหาดไทยแต่ละจังหวัดควรร่วมกันค้นหากลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน/เข็มกระตุ้น ‘เคาะประตู’ และบริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาล เพื่อให้ฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากที่สุด

 

ลดการรวมตัวกัน การอยู่ร่วมกับโควิดเหมือนการโต้คลื่น ในช่วงที่คลื่นผู้ป่วยสีเหลือง-แดงในจังหวัดสูงขึ้นก็ต้องลดการรวมตัวกันเพื่อชะลอการระบาด งดงานเลี้ยงสังสรรค์ กิจกรรมรวมตัวกันของคนจำนวนมากควรเลื่อนออกไปก่อน หรือควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม/การบริหารจัดการ เช่น จัดในพื้นที่โล่ง จำกัดจำนวนคน คัดกรอง ATK ก่อนร่วมงาน สวมหน้ากากเคร่งครัด

 

แน่นอนว่า ‘ไม่ติดคือดีที่สุด’ เพราะในด้านสุขภาพกาย การติดเชื้อโควิดอาจมีอาการรุนแรงและภาวะลองโควิด ในด้านจิตใจทำให้เกิดความกังวล ในด้านสังคมอาจแพร่เชื้อต่อให้คนในครอบครัว ต้องหยุดเรียน หยุดงาน ดังนั้นจึงต้องป้องกันตนเอง สวมหน้ากากเมื่อเข้าไปในสถานที่แออัด/อากาศไม่ถ่ายเท ส่วนการเรียน การทำงาน รวมถึงการเดินทางยังทำได้ปกติ

 

แต่เมื่อกลับมาที่บ้านควรเว้นระยะห่างจากผู้สูงอายุเพื่อลดการแพร่เชื้อต่อ กระทั่งคลื่นผู้ป่วยสีเหลือง-แดงลดลง ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถรวมตัวกันได้ สุดท้ายขอย้ำว่าการฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกและเข็มกระตุ้น นอกจากลดความกังวลของ ‘แต่ละคน’ ว่าอาการของฉันจะรุนแรงหรือไม่แล้ว ยังลดความกังวลของ ‘ระบบสาธารณสุข’ ว่าจะรับมือไหวหรือเปล่าด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X