×

นักเรียนไม่มีปัญหา คนมีปัญหาไม่ใช่นักเรียน สรุปประเด็นปมหลักสูตรสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

07.02.2022
  • LOADING...
หลักสูตรสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากกรณีมีผู้กังวลต่อหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าจะกระทบต่อขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม กระทั่งเรื่องไปถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบหลังเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจ

 

ปรากฏว่าเมื่อสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปรายงานบรรยากาศจากโรงเรียน รวมถึงได้สัมภาษณ์ครูและนักเรียน กลับพบว่า แก่นของเนื้อหาการเรียนการสอนไม่ได้หายไป แต่พบวิธีการใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

 

THE STANDARD สรุปเรื่องราวและประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ผู้อ่านได้ติดตาม ดังต่อไปนี้

 

  • วันที่ 24 มกราคม: อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anuchat Poungsomlee ว่า “ขอขอบคุณ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ที่มาเยี่ยมชมห้องเรียน ดูการสอน และเล่าสรุปรายงานการศึกษา ‘แนวทางการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์’ ให้กับทีมครูโรงเรียนสาธิตฯ ธรรมศาสตร์ ในวันนี้ครับ ระยะต่อไปเราวางแผนจัดทำเอกสารคู่มือ/แนวทาง พร้อมกับออกแบบการเรียนการสอนจริง เพื่อเผยแพร่และจัดอบรมให้กับคุณครูในระดับมัธยมทั่วประเทศต่อไปครับ รอคอยและติดตามกันนะครับ ตื่นเต้นๆ #TSS” 

 

  • วันที่ 31 มกราคม: อนุชาติ พวงสำลี ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ mappa หัวข้อ ‘การศึกษาต้องไม่เป็นทุกข์ของแผ่นดิน’ โดยเนื้อหาตอนหนึ่งมีว่า “เราไม่มีวิชาลูกเสือเนตรนารี เราไม่สอนวิชาชื่อพระพุทธศาสนา เด็กไม่ต้องมายืนเคารพธงชาติตอนเช้า ไม่มีสวดมนต์ตอนเช้า แต่เรามีคำตอบในการอธิบายสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด”

 

  • วันที่ 1 กุมภาพันธ์: อัษฎางค์ ยมนาค โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลและหน่วยงานราชการจะรอให้เขาล้างสมองเด็กทั้งชาติสำเร็จ จนเด็กเติบโตออกมาปฏิวัติล้มล้างขนบธรรมเนียมประเพณี ล้มล้างสถาบันฯ ล้มล้างการปกครอง ล้มล้างชาติ หรืออย่างไร จะรอให้ถึงวันนั้นก่อนจริงๆ หรือ คุณไม่ทำอะไรหรือทำอย่างช้าๆ เพราะ… คุณมันไร้น้ำยาหรือคุณเป็นพวกเดียวกันกับเขา? เราอยากรู้!”

 

  • วันที่ 4 กุมภาพันธ์: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า กำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูกรณีที่มีข้อห่วงใยหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบัน โดยได้มีการสั่งการและกำหนดนโยบายไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ มาโดยตลอด ทั้งหลักสูตร การศึกษา การสอนของครู และการเพิ่มสมรรถนะ ทั้งหมดมีอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องปรับกลไกบางตัวให้ทันสมัยขึ้น และองคาพยพเหล่านั้นต้องทำตามนี้ พัฒนาตนเอง

 

  • วันที่ 4 กุมภาพันธ์: อัษฎางค์ ยมนาค โพสต์ข้อความอีกครั้งในหัวข้อ ‘โรงเรียนทางเลือกหรือสถาบันล้างสมองเยาวชน’

 

  • วันที่ 6 กุมภาพันธ์: โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณชน 3 ข้อ โดยระบุว่า “โรงเรียนตระหนักดีว่าการบุกเบิกสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา มีข้อจำกัดต่างๆ มากมายในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ โรงเรียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจตนารมณ์ในการสร้างและพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนจะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนให้สามารถขยายผลได้ต่อไป”

 

  • วันที่ 6 กุมภาพันธ์: อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย สำนักข่าว The Reporters โดยกล่าวว่า ทางโรงเรียนได้ศึกษาหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการและหลักสูตรในต่างประเทศ อยากเห็นหลักสูตรของคนไทยที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง สำหรับเนื้อหาของมัธยมต้นและมัธยมปลายยอมรับว่ามีความจำเป็นต้องลดทอนเนื้อหาบางส่วนที่ไม่จำเป็น ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ไม่สอดคล้องกับวิธีการเรียนของเด็ก แต่ยังคงทำให้เข้าถึงแก่นของเนื้อหาสาระที่ครบถ้วน ส่วนการไม่แต่งเครื่องแบบ ไม่เคร่งครัดทรงผม ไม่เรียนวิชาลูกเสือเนตรนารี แก่นของเรื่องคือ แต่งกายอย่างไรให้เหมาะสมและรักษาความสะอาด

 

ถ้าสอนแบบท่องจำอย่างในอดีต เด็กจะไม่สามารถปรับตัว จึงให้เครื่องมือในการค้นคว้า สำหรับวิชาประวัติศาสตร์กับศาสนามีเนื้อหาไม่ได้ขาดตกบกพร่อง แต่จะทำให้เรียนอย่างสนุก มีวิชาเรียนใช้ชื่อ ‘วิถีศรัทธา’ เรียนพุทธและศาสนาความเชื่ออื่นๆ เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ เรียนทุกสำนักคิด ใช้ตำราสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พอสมควร ส่วนข่าวที่มีการเชิญนักวิชาการเข้ามา ก็เพื่อทำอย่างไรให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วสนุก ได้การคิดวิเคราะห์ อยากอ่านตำราประวัติศาสตร์ให้ได้ เรายืนยันว่าเชิญมาในมุมการศึกษา ไม่เกี่ยวกับวิธีคิดทางการเมือง

 

กรณีโรงเรียนนานาชาติซึ่งมีเด็กไทยเรียนด้วยก็ไม่ได้เรียนลูกเสือเนตรนารีหรือยืนเคารพธงชาติเช่นกัน โรงเรียนเราอยากให้มีคุณภาพทัดเทียมโรงเรียนนานาชาติ หัวใจสำคัญอยากได้นวัตกรรมสร้างการเรียนรู้ ยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคนิคการสอนดีๆ ไปช่วยคุณครูในต่างจังหวัดด้วย  

 

  • วันที่ 7 กุมภาพันธ์: อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย สำนักข่าว The Reporters กรณีไม่ยืนเคารพธงชาติว่า ได้สืบสาวที่มาการยืนเคารพธงชาติ ทราบว่ามาจากวัฒนธรรมทหาร แต่จริงๆ แล้วการมีวินัยสามารถบ่มเพาะได้ในหลายๆ มิติ แล้วการไม่ยืนเคารพธงชาติตอนเช้าไม่ได้แปลว่าเราไม่รักชาติ บางโรงเรียนใช้การยืนเคารพธงชาติเป็นพื้นที่ในการประกาศข่าวให้เด็กทราบหรือครูมาให้โอวาท แต่สิ่งนี้เราทำได้ในห้องโฮมรูม ธงชาติในโรงเรียนก็มี แต่เรารู้สึกว่าการมายืนเข้าแถวตากแดดตอนเช้าครึ่งชั่วโมงหรือเกือบชั่วโมง บางทีไม่ได้ตอบโจทย์การเรียนรู้ที่เราอยากจะเห็น นอกจากนั้นมีคำถามด้วยว่ายืนเคารพธงชาติเพื่ออะไร 

 

การเรียนประวัติศาสตร์ เรียนทั้งประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศ แต่ไม่ได้เรียนให้ท่องจำ เพราะถึงจำในห้องเรียน พอออกไปก็ลืม ไม่เกิดประโยชน์ จึงให้เรียนตั้งคำถามหาเหตุผล ทำไมเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนนั้น มีปัจจัยอะไรแวดล้อม และถ้าเขาเป็นคนในเหตุการณ์จะคิดและตัดสินใจอย่างไร เพื่อจะให้เด็กมีมุมมิติการมองเห็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างเชื่อมโยง เรียนทั้งของไทยและต่างประเทศ เพราะเป็นพลเมืองโลก ต้องเข้าใจที่อื่นๆ ในโลกมีความคิดความเชื่ออย่างไร มีมุมมองกว้างขึ้น โรงเรียนไม่ได้สุดโต่ง เราเข้าใจว่าต้องอยู่ร่วมกันกับระบบเดิม 

 

ขณะที่นักเรียนในโรงเรียนได้ให้สัมภาษณ์ The Reporters ด้วยว่า มาเรียนเพราะคุณแม่เห็นความแปลกใหม่ของหลักสูตร พอมาเรียนแล้วก็ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ได้ทำกิจกรรมที่อยากทำ การไม่ใส่ชุดนักเรียนไม่ส่งผลกระทบกับการเรียน ไม่ได้รู้สึกแตกแยก ไม่มีการเหยียดเรื่องเสื้อผ้า ไม่มีการมองว่าชุดใครหรูกว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีความเรียบร้อย มีการให้เกียรติสถานที่ ส่วนทรงผมถ้าไม่กระทบกับการเรียนก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร 

 

สำหรับการไม่ต้องยืนเข้าแถวเคารพธงชาติไม่ได้ทำให้ขาดวินัย เพราะเวลา 08.00 น. จะเป็นการโฮมรูม ถึงอย่างไรก็ต้องมาให้ทันเข้าโฮมรูม แล้วนำเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งเสริมด้านการเรียน เรามีหลายวิธีที่แสดงถึงความรักชาติได้ 

 

โรงเรียนมีกิจกรรมเรียนรู้เรื่อง LGBT เรื่องเพศวิถี เรียนรู้การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างที่เขาเป็นตัวเขา ใครจะแต่งตัวอย่างไร ทำผมทรงไหน ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มั่นใจในสิ่งที่ทำ

 

ถ้าเราจะรักชาติไม่จำเป็นต้องไปยืนตากแดดร้อนๆ ทำให้เราเสียสุขภาพ ส่วนการสวดมนต์ก็ไม่จำเป็นต้องทำกลางแดด สำหรับการเรียนวิชาศาสนา เรียนเพื่อเข้าใจความเชื่อแต่ละศาสนา แต่ละความเชื่อ

 

ส่วนการที่โรงเรียนมีหลักสูตรเป็นแนวใหม่ อาจจะถูกตั้งคำถาม แต่อยากให้ทุกคนเปิดใจ 

 

  • วันที่ 7 กุมภาพันธ์: พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอีกครั้งว่า การตรวจสอบเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบว่ามีการเรียนการสอนอย่างไร ไม่ใช่เรื่องไปบังคับเขา แต่ไปดูที่สาระ หลังจากมีข่าวออกมาก็ให้ไปตรวจสอบเท่านั้นเอง

 

  • วันที่ 7 กุมภาพันธ์: อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้ยินข่าวแล้วรู้สึกตกใจและเสียใจเล็กน้อย ยืนยันว่าโรงเรียนไม่ได้บิดเบือนประวัติศาสตร์ใดๆ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X