“หากใครนอนหลับไปตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 แล้วตื่นลืมตาขึ้นมาอีกทีวันนี้ (24 มีนาคม) คงได้แต่แปลกใจว่าทำไมทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลจากคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้”
ส่วนหนึ่งของการกล่าวเปิดญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีของ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เสมือนการลั่นกลองรบให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเดินทัพ ใช้กลไกการตรวจสอบเปิดโปงความบกพร่องล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลภายใต้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เสมือนหุ่นเชิดให้ ‘บุคคลในครอบครัว’ ชี้นำชักใย
อย่างไรก็ตาม ทั้งด้วยกรอบเวลา 2 วันที่ค่อนข้างจำกัดกับยุทธศาสตร์ของฝ่ายค้านที่บีบเป้าหมายให้แคบเหลือเพียงนายกรัฐมนตรีคนเดียว ช่วยไม่ได้ที่บางห้วงบางตอนที่ฝ่ายค้านอภิปรายจะไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้เก้าอี้ของนายกรัฐมนตรีมากนัก ส่วนมากเป็นโวหารจิกกัด หรือ ‘แซะ’ ให้พอแสบคัน ซ้ำร้ายยังถูก ‘กี้กี้’ คำพูดติดตลก ซึ่งเชื่อได้ว่าจะกลายเป็นวาทะแห่งปีของรัฐสภา มาบดบังแย่งชิงพื้นที่สื่อไปจากข้อกล่าวหาต่างๆ ที่พุ่งมายังรัฐบาลด้วย
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ภาพ: ฐานิส สุดโต
บรรดาคอการเมืองที่ตามติดขอบสนามบางราย ถึงขั้นก่ายหน้าผาก เนื่องจากคาดหวังมาตรฐานดั้งเดิมของขุนพลพรรคส้ม ตั้งแต่สมัยอนาคตใหม่ ก้าวไกล จนปัจจุบัน ที่เคยเขย่างบประมาณกองทัพ ขบวนการค้ามนุษย์ ตลอดจนตำนาน ‘ตั๋วช้าง’ แต่มาบัดนี้กลับวนเวียนอยู่กับกิจการในครอบครัวชินวัตรอันมั่งคั่ง และความจริงหลังหน้าต่างโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ที่ยังไม่ได้คำตอบ ท้ายสุด ‘กี้กี้’ กลับเป็นสิ่งเดียวที่ติดอยู่ในสมองคนหมู่มาก
ถึงกระนั้นเอง ความเดือดดาลก็พุ่งสูงขึ้น เมื่อ ชยพล สท้อนดี สส. กทม. พรรคประชาชน เปิดเผยข้อมูลลับเรื่องปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพ หรือ IO ที่เติบโตขึ้นอย่างมาก และยังมีการจับตาเป้าหมายหลายคนที่มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ตลอดจนบุคคลทางการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร, ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า และ อนุทิน ชาญวีรกูล การลุกขึ้นประท้วงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนเกือบถึงขั้นที่ประธานซึ่งคุมการประชุมขณะนั้น จะสั่งยุติการอภิปราย และห้ามเปิดเผยข้อมูลบนจอในห้องประชุม
ถึงแม้ข้อกล่าวหาเรื่องการทำนิติกรรมอำพรางของนายกรัฐมนตรีและที่ดินเสี่ยงผิดกฎหมาย Thames Valley น่าจะเป็นส่วนสำคัญในยุทธการโรยเกลือที่ฝ่ายค้านสามารถเดินหน้าขยายผลเอาผิดทางอาญาและจริยธรรมต่อนายกรัฐมนตรีได้ แต่ข้อเท็จจริงก็ฟ้องว่าเรื่องที่ ‘แตะไม่ได้’ จริงๆ ของรัฐบาลนี้ จนถึงขั้นเกือบเซ็นเซอร์กันนั้นคือปัญหาภายในพื้นที่สนธยาของกองทัพ ที่ สส. พรรคประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่าเข้มข้นเสียยิ่งกว่าสมัยรัฐบาลทหารเสียอีก
ปรากฏการณ์ของเวทีซักฟอกนี้จึงเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า ‘ดีลแลกประเทศ’ นั้นไปไกลเกินกว่าคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีหรือการชักใยโดยบุคคลนอกระบบแล้ว แต่เป็นแลกอำนาจบริหารประเทศไปกับการจำยอมถูกบงการโดยระบอบอำนาจเก่าที่เอารัฐบาลพลเรือนมาเป็นฉากหน้ากางกั้น และแม้แต่คนสำคัญในรัฐบาลก็ยังตกเป็นเป้าหมายเสียเอง
ชยพล สท้อนดี, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล
แถลงข่าวแสดงความไม่เห็นด้วยที่รองประธานสภาเกือบวินิจฉัยให้หยุดการอภิปราย
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
นายกฯ Gen Y ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ไฟต์เพื่อพ่อเต็มที่
ตลอดการอภิปราย 2 วัน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงเพียง 5 ครั้ง พร้อมปฏิเสธไม่เป็นความจริงในทุกๆ เรื่อง
ทั้งการเลี่ยงจ่ายภาษี ใช้ตั๋ว P/N โอนหุ้นจากเครือญาติ ยืนยันไม่มีหลบเลี่ยง, การซื้อที่ดินอัลไพน์, การครอบครองที่ดินโรงแรม Thames Valley Khao Yai ของตระกูลชินวัตร, การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า, การพักรักษาตัวของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงการดีลกับปีศาจเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่าทุกเรื่องที่ซักฟอกมาไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
แต่ไฮไลต์สำคัญที่ทำให้ถูกวิจารณ์ความเป็นนายกฯ Gen Y คือคำที่ใช้โต้กลับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่แฝงน้ำเสียงเหน็บแนม ยอกย้อน เช่น “ที่สมาชิกอาวุโสพูดมาไม่เป็นความจริง”, “แม้ดิฉันจะอายุน้อยกว่าท่าน แต่มั่นใจว่าเสียภาษีให้รัฐบาลมากกว่าท่านแน่นอน” จนถึง “อย่างน้อยท่านจะได้รู้ว่าการถูกเข้าใจผิดเป็นอย่างไร”
แม้จะดูหลักแหลมและสร้างสีสัน แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้มุ่งเน้นจะหักล้างข้อกล่าวหาด้วยข้อเท็จจริงที่ครอบคลุมทั่วถึง หรืออย่างน้อยแสดงความจริงใจต่อการชี้แจง ตรงกันข้ามกลับเป็นการตอบโต้ระหว่างกันมากกว่า
แพทองธาร ชินวัตร เดินทางกลับ
หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
นอกจากนี้เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ทำให้แพทองธาร ลุกขึ้นชี้แจงส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับทักษิณ ทั้งดีลข้ามประเทศและการครอบงำที่ย้ำว่าเป็นเพียงคำที่ถูกกล่าวหา
“ที่จริงไม่ใช่แค่ดิฉันที่ถูกกล่าวหาเรื่องการถูกครอบงำ ท่านเองก็ถูกกล่าวหาว่าถูกครอบงำเช่นกัน ต่างกันตรงที่ตนถูกกล่าวหาถูกครอบงำโดยคุณพ่อ แต่ท่านถูกครอบงำโดยคนที่ไม่ใช่พ่อ”
แม้จะผ่านศึกซักฟอกด้วยเสียงไว้วางใจ 319 ต่อ 162 แบบชิลๆ มีพรรคร่วมยกมือให้อย่างท่วมท้น มี สส.งูเห่าโหวตให้อีก 10 เสียง แต่แพทองธารย้ำว่า ไม่ขอพึ่งเสียงจาก สส. งูเห่า และหากใครวิ่งเต้นไปหาทักษิณขอให้ดูว่าวิ่งทางไหนแล้วจะเป็นผล เพราะได้คุยกับทักษิณแล้วว่าจะไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเวลานี้
ซักฟอกครั้งแรกในชีวิตของประวิตร
อีกหนึ่งในไฮไลต์ที่ถูกจับจากคนไทยทั้งประเทศ สื่อทุกแขนงจับตามองตั้งแต่เปิดตัวว่าจะร่วมซักฟอกนายกรัฐมนตรีไข่ในหินของศัตรูหมาย 1 ทักษิณ ชินวัตร คือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ สส. แบบบัญชีรายชื่อ เพียงหนึ่งเดียวของพรรคพลังประชารัฐในรอบ 1 ปี 8 เดือน และร่วมอภิปรายฯ ครั้งแรกในชีวิต
หลังจากที่มีกระแสข่าวก่อนหน้าว่ามีการพูดคุยหลังบ้าน และเตรียมสร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์ด้วยการมอบเวลาโควตาของพลังประชารัฐให้ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซักฟอกนายกฯ แทน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปรากฏตัวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เตรียมอภิปราย
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
แต่สุดท้าย พล.อ. ประวิตร ใช้เวลาในการอภิปรายเองและใช้เวลาทั้งสิ้น 10 นาที เช่น การบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว, นโยบายต่างประเทศและความมั่นคง เช่น เรื่อง MOU 44, ร่างกฎหมายประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) และนายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทำนิติกรรมอำพรางหลีกเลี่ยงภาษี ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
“จึงเห็นใจนายกรัฐมนตรีที่ต้องมาเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์ ประเทศชาติไม่ใช่เวทีให้มือสมัครเล่นมาซ้อมมือได้”
ทั้งนี้ เมื่อลงมติแล้วนั้นพบว่าพรรคพลังประชารัฐ 19 เสียงโหวตไม่ไว้วางใจ และมีงูเห่าโหวตไว้วางใจ 1 คน คือ กาญจนา จังหวะ สส. ชัยภูมิ ที่ตัวยังอยู่กับลุง แต่ใจนั้นอยู่ที่อื่นตั้งนานแล้ว
กลุ่มนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้านทักทายซึ่งกันและกันบนบัลลังก์คณะรัฐมนตรี หลังจบการลงมติไม่ไว้วางใจ
ภาพ: ฐานิส สุดโต