การที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว สืบเนื่องมาจากการยื่นคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาในกรณีคลิปเสียงสนทนาระหว่างแพทองธารกับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยมีเนื้อหาพาดพิงถึงแม่ทัพภาคที่ 2 และอาจถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมกระทบต่ออธิปไตยของไทย
คำสั่งนี้นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาท และขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยว่า ศาลมีอำนาจดำเนินการเช่นนี้ เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย และระบบถ่วงดุลอำนาจหรือไม่
ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่มีบทบาทมากขึ้นในการตัดสินชี้ปัญหาการเมืองระดับประเทศ และส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งของผู้นำรัฐบาลโดยตรง การตีความและการใช้อำนาจของศาลไม่ใช่เรื่องทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่กระทบต่อความไว้วางใจในระบบประชาธิปไตยโดยรวมด้วย
รศ. ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แฟ้มภาพ: THE STANDARD
THE STANDARD สนทนากับ รศ. ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านกฎหมาย และผู้บ่มเพาะนักนิติศาสตร์รุ่นใหม่ ถึงคำถามสำคัญของสังคมไทยในวันนี้ว่า ขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และการที่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญกว้างไกลเกินไปนั้น จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อหลักการประชาธิปไตย
รศ. ดร.มุนินทร์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรสำคัญ มีหน้าที่ระงับข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ และตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และองค์กรอื่นๆ เพื่อคุ้มครองหลักการประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีอยู่ใน 2 รูปแบบหลัก คือ
- ศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะ (Dedicated Constitutional Court) เช่น เยอรมนี ซึ่งแยกเป็นองค์กรเฉพาะที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐธรรมนูญ
- ศาลยุติธรรมทั่วไป (Ordinary Courts) เช่น อังกฤษ และญี่ปุ่น ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะ แต่ใช้ศาลยุติธรรมทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาทรัฐธรรมนูญ
ขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไทย
สำหรับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไทยใช้โมเดลเดียวกับเยอรมนี แต่มีความแตกต่างกัน 2-3 ประเด็น โดยที่ระบบเยอรมนีมีกลไกจำกัดอำนาจของศาล เช่น มีวัฒนธรรมทางกฎหมาย ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ให้ใช้อำนาจไปส่งผลกระทบต่อกลไกของระบอบประชาธิปไตยมากเกินไป
ที่สำคัญ คือ มีศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบว่า องค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยในรัฐสมาชิก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี หรือแม้แต่รัฐบาลเยอรมนี ใช้อำนาจสอดคล้องหรือขัดแย้งกับประกาศสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปหรือไม่
ดังนั้นคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีอาจถูกตรวจสอบโดยศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้ด้วย แม้จะมีอำนาจกว้างขวาง แต่ก็ยังมีองค์กรอื่นทำหน้าที่ตรวจสอบ และมีกลไกในการถ่วงดุลอำนาจอย่างชัดเจน
นักข่าว และสื่อมวลชน ปักหลักทำข่าว
บริเวณด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญ
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
ขณะที่ ศาลรัฐธรรมนูญไทยนั้น ไม่มีองค์กรที่เหนือกว่ามาตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ในอดีตรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มีกลไกในการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจนั้น ต้องใช้ดุลยพินิจ ต้องมีความรับผิดชอบ หากตัดสินใจตามอำเภอใจก็อาจถูกถอดถอนได้
แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กลไกเหล่านี้กลับถูกตัดออกไป ทำให้ไม่มีองค์กรใดสามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง แม้จะสามารถดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 157 ได้ หากมีการใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่กระบวนการนั้นก็เป็นกระบวนการปกติทั่วไป ไม่ใช่กลไกเฉพาะสำหรับการควบคุมศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงพูดได้ว่า ปัจจุบันไม่มีระบบในการควบคุมตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้สร้างวัฒนธรรมในการจำกัดอำนาจตัวเอง เวลาศาลใช้อำนาจวินิจฉัย ก็มักจะไม่ตีความในทางจำกัดอำนาจตัวเอง แต่ขยายอำนาจออกไป เช่น คดีล่าสุดที่มีการร้องเรียนรัฐมนตรี ความเป็นรัฐมนตรีของภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ภูมิธรรมไม่ต้องหยุด แต่ให้ทวีหยุดเฉพาะบางหน้าที่ ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพียงว่า ‘ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี’ ซึ่งหมายถึงหยุดทั้งหมด แต่ศาลกลับตีความให้หยุดบางภารกิจได้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามขยายอำนาจตัวเอง
เมื่อศาลไม่มีวัฒนธรรมของการจำกัดอำนาจตัวเอง จึงนำไปสู่แนวโน้มที่ศาลจะมีบทบาทเข้าไปในพรมแดนของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารได้ง่าย ทั้งที่ในระบอบประชาธิปไตยควรมีการจำกัดอำนาจของแต่ละองค์กรให้ชัดเจน ซึ่งการใช้อำนาจข้ามพรมแดนไม่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเป็นระบบที่ให้องค์กรต่างๆ มีอำนาจจำกัดเฉพาะภารกิจ และมีการถ่วงดุลในระดับที่ไม่ทำให้องค์กรใดมีอำนาจมากเกินไป
การขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ฝ่ายนิติบัญญัติเกิดความปั่นป่วน เช่น การยุบพรรคการเมือง การสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ พ้นจากตำแหน่ง ล้วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสร้างความผั นผวนทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
หากจะกล่าวถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่สำคัญมี 3 เรื่องหลัก ที่เข้าไปมีในพรมแดนขององค์กรอื่น ได้แก่
- อำนาจในการวินิจฉัยกฎหมาย เป็นอำนาจปกติของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การวินิจฉัยว่ากฎหมาย หรือร่างกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
- อำนาจในการยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธินักการเมือง เช่น ตัดสิทธิผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น การใช้อำนาจตามมาตรา 160 (4) (5) ที่กล่าวถึงความสุจริตหรือการกระทำอย่างร้ายแรง ซึ่งคำเหล่านี้คลุมเครือและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ประเทศอื่นๆ แทบไม่มีการใช้มาตรฐานคลุมเครือเช่นนี้ ยกเว้นประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่มีแนวโน้มเผด็จการ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย
- อำนาจในระบบร้องทุกข์ตามมาตรา 213 บุคคลสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง หากเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของตนถูกละเมิดโดยหน่วยงานรัฐ โดยศาลจะวินิจฉัยว่า การกระทำนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
เช่น คดีโฮปเวลล์ กระทรวงคมนาคมไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า มติของศาลปกครองสูงสุดที่ให้กระทรวงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โฮปเวลล์ละเมิดสิทธิของกระทรวง โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้กระทรวงคมนาคมชนะ ต่อมาก็เกิดปัญหาอีก กระทรวงคมนาคมไม่ใช่บุคคลธรรมดา แต่เป็นหน่วยงานรัฐ ไม่ควรมีสิทธิเสรีภาพในฐานะบุคคล แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับตีความให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้เสียหายตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด
การตีความกฎหมายและการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ทำให้ศาลมีอำนาจแผ่ขยายเข้าไปในทุกพรมแดนของรัฐ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และแม้กระทั่งฝ่ายตุลาการ จนอาจกล่าวได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจกว้างขวางอย่างไร้ขีดจำกัด
ปัญหา คือ ประเทศไทยยังไม่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง หน่วยงานของรัฐโดยทั่วไปก็ไม่ได้ส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน ขณะที่ประชาชนเองก็อาจยังไม่ได้ตระหนักหรือให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากนัก
เมื่อไม่มีระบบการตรวจสอบและการถ่วงดุลที่เข้มข้นเพียงพอ จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะองค์กรเดียวถือครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ โดยไม่มีองค์กรอื่นที่สามารถตรวจสอบหรือคานอำนาจได้ในระดับที่ทัดเทียมกัน
“มีเจตนาเกิน 100% ทำเพื่อประเทศชาติและรักษาไว้ซึ่งอธิปไตย”
แพทองธารแถลง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568
ภาพ: ฐานิส สุดโต
สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่-ถอดถอนนายกฯ ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ?
รศ. ดร.มุนินทร์กล่าวว่า การสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้กระทั่งการถอดถอนจากตำแหน่ง ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เพราะนายกรัฐมนตรีในระบอบรัฐสภานั้น มีที่มาจากประชาชน ผ่านการคัดเลือกโดยผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง จึงมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ดังนั้น การจะถอดถอนหรือปลดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง จำเป็นต้องมีเหตุอันร้ายแรง และต้องดำเนินการผ่านกระบวนการตรวจสอบ การพิจารณาอย่างเข้มงวด รอบคอบ และเป็นธรรมโดยหลักทั่วไป นายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งได้จากกรณี
- การลาออก เพื่อรับผิดชอบทางการเมือง
- การถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ
- ผ่านกระบวนการทางกฎหมายตามศาลยุติธรรม ตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (ใช้อำนาจโดยมิชอบ)
แต่ปัญหาของระบบในปัจจุบันคือ กระบวนการถอดถอนหรือสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้นใช้กฎหมายที่มีถ้อยคำคลุมเครือ และเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจ อย่างกว้างเกินไป
1. ความคลุมเครือของกฎหมาย กฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการถอดถอนหรือสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เช่น กรณีที่ระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่ง “ขาดความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์” หรือ “มีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศไทยอย่างร้ายแรง” ล้วนเป็นถ้อยคำที่ไม่มีนิยามชัดเจน เปิดให้ผู้วินิจฉัยตีความตามความรู้สึกหรือทัศนะของตนเอง
ความไม่ชัดเจนนี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่นายกรัฐมนตรีอาจถูกปลดออกจากตำแหน่งได้โดยง่าย โดยอาศัยเกณฑ์ที่ขาดความแน่นอน และอาจขาดความสมเหตุสมผลในทางนิติรัฐ
2. ความไม่สมดุลของอำนาจ ในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนย่อมมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมีที่มาจากเจตจำนงของประชาชนโดยตรงหรือโดยอ้อม
แต่ในระบบการเมืองไทย กลับเปิดช่องให้ผู้พิพากษาเพียง 9 คน มีอำนาจถอดถอนผู้นำรัฐบาลออกจากตำแหน่ง โดยอาศัยบทบัญญัติทางกฎหมายที่คลุมเครือ ซึ่งถือเป็นความไม่สมเหตุสมผลอย่างร้ายแรงในทางกฎหมาย และส่งผลต่อประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยที่แท้จริงคือระบบที่การเมืองถูกกำหนดโดยประชาชน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยผ่านตัวแทน เช่น สส. ระบบถ่วงดุลอำนาจสามารถมีได้ แต่ต้องมีความสมเหตุสมผล และสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนกระทบต่อรากฐานของระบอบประชาธิปไตย
จริยธรรมทางการเมือง ควรมีกลไกเฉพาะ ป้องกันไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือ?
รศ. ดร.มุนินทร์ อธิบายว่า การตรวจสอบจริยธรรมของนักการเมือง ยังเป็น ‘สิ่งจำเป็น’ และ ‘ยังต้องมี’ สิ่งที่ตนเองไม่เห็นด้วยคือ การให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ตรวจสอบเรื่องจริยธรรม โดยเฉพาะเมื่อบทบัญญัติที่ใช้อ้างอิงยังเขียนไว้อย่างคลุมเครือ จึงเห็นว่า เราควรกลับมานั่งทบทวนกันใหม่ว่า กระบวนการตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรจะออกแบบอย่างไร หรือควรต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และควรกำหนดว่าอะไรคือพฤติการณ์ที่ถือว่าผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง
รัฐธรรมนูญ 2540 ถึงฉบับปัจจุบัน อำนาจที่ขยายตัวของศาลรัฐธรรมนูญ?
รศ. ดร.มุนินทร์ ชี้ว่า เห็นได้ชัดว่าอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่การจัดตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งแม้ในช่วงแรกจะยังไม่มีปัญหาเด่นชัด แต่ก็ถือเป็นองค์กรที่มีอำนาจกว้างขวางพอสมควรตั้งแต่ต้น
ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญยิ่งชัดเจนขึ้น โดยศาลได้รับอำนาจในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีกขั้น โดยมีสองประเด็นหลักที่น่าสังเกต:
1. การตัดกลไกถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตัดช่องทางในการถอดถอนหรือควบคุมตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกไปโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ศาลสามารถใช้อำนาจวินิจฉัยได้อย่างเต็มที่ แต่กลับไม่มีระบบตรวจสอบหรือกลไกเอาผิดที่ชัดเจน หากเกิดข้อผิดพลาดหรือการใช้อำนาจเกินขอบเขต
2. การเพิ่มระบบร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของตนตามรัฐธรรมนูญถูกละเมิด ส่งผลให้ศาลสามารถใช้อำนาจวินิจฉัยต่อหน่วยงานรัฐทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหน หรือเจ้าหน้าที่รัฐคนใด หากการใช้อำนาจนั้นส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ดังนั้น หากมองในภาพรวมจะเห็นว่า อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขยายตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งในแง่ของขอบเขตการวินิจฉัย และการขาดกลไกในการตรวจสอบหรือถ่วงดุลจากภายนอก เหมือนเช่นในอดีต
ภูมิธรรม เวชยชัย
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี
แฟ้มภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
รักษาการนายกฯ มีอำนาจยุบสภาหรือไม่?
รศ. ดร.มุนินทร์กล่าวว่า หากพูดตามหลักการทั่วไป รักษาการนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเหมือนนายกรัฐมนตรีทุกประการ แต่อำนาจยุบสภาเป็นอำนาจพิเศษในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ให้นายกฯใช้ในการถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะนี้ความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย แบ่งเป็นฝ่ายแรก ยืนยันว่า รักษาการนายกรัฐมนตรี สามารถยุบสภาได้
แต่อีกฝ่ายมองว่าเป็นอำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตัวจริง เมื่อเห็นว่าเป็นอำนาจพิเศษ ก็ไม่ควรมีอำนาจโดยรักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งความคิดเห็นของทั้ง 2 ฝ่ายล้วนมีเหตุมีผล
รศ. ดร.มุนินทร์ อธิบายต่อว่า แม้ในหลักการทั่วไป รักษาการนายกรัฐมนตรีจะไม่มีอำนาจยุบสภา แต่ก็มีความเห็นอีกด้านหนึ่งที่มองว่า การตีความให้รักษาการสามารถยุบสภาได้ อาจเป็นแนวทางที่เป็นคุณกับประชาธิปไตยมากกว่า
“เพื่อเปิดทางเลือกให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤตทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ การตีความว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาได้ จึงมีเหตุผลรองรับอย่างมากในการส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย”
ส่วนความเห็นที่ว่า “รักษาการนายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน การที่จะไปยุบสภาของคนที่มาจากประชาชน อาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่” นั้น
รศ. ดร.มุนินทร์ กล่าวย้ำว่า ในหลักการทั่วไป อำนาจการยุบสภาเป็นอำนาจพิเศษที่รัฐธรรมนูญมอบให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยผู้แทนราษฎรโดยตรง เพื่อใช้ถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติ
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดทางตันทางการเมือง หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ และยุบสภาไม่ได้ ก็อาจทำให้ระบบการเมืองหยุดชะงัก การให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ จึงเป็นทางออกที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยที่สุด ดังนั้น ในความเห็นของผมรักษาการนายกรัฐมนตรีจึงสามารถยุบสภาได้
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ภาพ: ฐานิส สุดโต
รัฐธรรมนูญปี 2560 ควรแก้ไขหรือไม่
รศ. ดร.มุนินทร์ ตอบว่า เราควรพาสังคมไทยกลับไปสู่ระบบการเมืองในรูปแบบประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่สุด โดยย้อนกลับไปก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์กรอิสระจำนวนมากในระบบการเมืองไทย
แม้รัฐธรรมนูญปี 2540 จะเป็นต้นแบบที่สำคัญ แต่ในความเห็นของผม ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรอิสระในจำนวนมากเท่าที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ควรได้รับการทบทวนว่าควรมีอยู่หรือไม่ และควรกำหนดขอบเขตอำนาจอย่างไร รวมถึงองค์กรอื่นๆ ด้วย
ระบบการเมืองควรทำให้ง่ายและเรียบง่ายที่สุด โดยสภาผู้แทนราษฎรควรเป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง และประชาชนควรมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
ในยามวิกฤตทางการเมือง ควรเปิดโอกาสให้สามารถยุบสภาได้ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์เข้ามาตัดสินใจใหม่ผ่านการเลือกตั้ง โดยที่ไม่เห็นด้วยกับการที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะถูกกำหนดโดยองค์กรอิสระที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชน
“สำคัญที่สุด การแก้ไขวิกฤตและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ควรเป็นอำนาจของรัฐสภาและประชาชนเท่านั้น” รศ. ดร.มุนินทร์ กล่าวทิ้งท้าย