นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการล่มสลายของสังคมโลก หรือการสูญพันธุ์ของมวลมนุษยชาติ แต่ปัจจุบันกลับยังมีการศึกษาเรื่องเหล่านี้น้อยมาก ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องอันตราย
แม้หายนะดังกล่าว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘จุดจบของสภาพภูมิอากาศ’ (Climate Endgame) จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่เมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนต่างๆ เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและระบบภูมิอากาศในอนาคต เราจึงไม่ควรมองข้ามสมมติฐานที่เลวร้ายที่สุด
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มีเหตุผลมากพอที่ทำให้ระแวงว่าอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอาจนำไปสู่หายนะของโลก โลกจึงจำเป็นต้องเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับความเป็นไปได้ที่สภาพภูมิอากาศจะถึงกาลอวสาน
“การวิเคราะห์กลไกการเกิดผลกระทบร้ายแรงเหล่านี้อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการ ปรับปรุงความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอน หรือปรับตัวได้เมื่อเจอการเปลี่ยนแปลง และทำให้มีข้อมูลในการจัดทำนโยบาย”
นักวิจัยกล่าวว่า การสำรวจ Nuclear Winter หรือสภาวะความหนาวเย็นของโลกอย่างรุนแรงที่เกิดหลังการใช้ระเบิดนิวเคลียร์จำนวนมากในช่วงทศวรรษ 1980 จุดชนวนให้เกิดความกังวลไปทั่ว และนำไปสู่ความพยายามในการปลดอาวุธ พร้อมเสนอวาระการวิจัย ซึ่งเรียกว่า Four Horsemen ที่นำไปสู่จุดจบของสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ความอดอยาก สภาพอากาศสุดขั้ว สงคราม และโรคภัยไข้เจ็บ
นักวิจัยกลุ่มนี้ยังเรียกร้องให้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) จัดทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งรายงานของ IPCC เกี่ยวกับผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากการที่โลกร้อนขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียส ยิ่งทำให้เกิดความกังวลเป็นวงกว้าง
“มีเหตุผลมากมายที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจกลายเป็นหายนะ แม้โลกจะร้อนขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ตาม” ดร.ลุค เคมป์ จากศูนย์การศึกษาความเสี่ยงต่อการอยู่รอด (Centre for the Study of Existential Risk) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าว “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทุกครั้งในประวัติศาสตร์โลก ทำให้อาณาจักรล่มสลายและสร้างประวัติศาสตร์ใหม่
“การเกิดภัยพิบัติไม่ได้จำกัดอยู่เพียงผลกระทบโดยตรงจากอุณหภูมิสูงอย่างเช่นเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเท่านั้น แต่ผลกระทบทางอ้อม เช่น วิกฤตการณ์ทางการเงิน ความขัดแย้ง และการระบาดของโรคใหม่ๆ อาจทำให้เกิดหายนะอื่นๆ ได้เช่นกัน”
บทวิเคราะห์ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences และได้รับการตรวจสอบโดยนักวิทยาศาสตร์หลายสิบคน อภิปรายว่า ผลกระทบจากการที่โลกร้อนขึ้นมากกว่า 3 องศาเซลเซียสนั้นยังถูกมองข้าม โดยมีการประมาณการผลกระทบทั้งหมดน้อยมาก “เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เราควรให้ความสำคัญที่สุด” เคมป์กล่าว
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียดควรพิจารณาว่า ความเสี่ยงแพร่กระจายมีปฏิกิริยาและขยายผลอย่างไร แต่การดำเนินการในเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น “นี่คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง” พวกเขากล่าว “ตัวอย่างเช่น ไซโคลนทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า ทำให้ประชากรเสี่ยงต่อคลื่นความร้อนรุนแรงที่ตามมา” นอกจากนี้ การระบาดใหญ่ของโควิดยิ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการตรวจสอบความเสี่ยงทั่วโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ยากแต่ส่งผลกระทบสูง
จุดพลิกผันที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิอากาศ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลจากป่าฝนแอมะซอนอันเนื่องมาจากภัยแล้งและไฟป่า จุดพลิกผันเหล่านี้อาจกระตุ้นหายนะอื่นๆ ตามมาเป็นลำดับ และบางส่วนยังมีการศึกษาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น การสูญเสียเมฆสตราโตคิวมูลัส (Stratocumulus หรือก้อนเมฆสีเทาหรือขาวที่ลอยติดกันเป็นแพ มักเกิดขึ้นเวลาที่อากาศไม่ดี) อย่างกะทันหัน ซึ่งอาจทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นถึง 8 องศาเซลเซียส
นักวิจัยเตือนว่า ความเสื่อมโทรมของสภาพภูมิอากาศอาจรุนแรงขึ้น หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติอื่นๆ เช่น สงครามระหว่างประเทศ หรือการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อ และทำให้จุดอ่อนที่มีอยู่เดิมอยู่แล้วย่ำแย่ลงไปอีก เช่น ความยากจน พืชผลตกต่ำ และการขาดแคลนน้ำ รายงานการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า ในวันหนึ่ง บรรดามหาอำนาจอาจจำเป็นต้องแข่งขันกันทำแผนดัดแปลงสภาพภูมิอากาศ (Geoengineering) เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ หรือสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลเพิ่มเติมที่จะต้องกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดภัยพิบัติจากสภาพอากาศโลก นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “มีคำเตือนจากประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทในการล่มสลาย หรือการเปลี่ยนแปลงของสังคมหลายครั้งหลายคราก่อนหน้านี้ รวมถึงเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทั้งห้าครั้ง (Five Mass Extinction Events) ในประวัติศาสตร์ของดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก”
แบบจำลองใหม่ในรายงานการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า ความร้อนจัด หรือการที่อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 29 องศาเซลเซียส อาจส่งผลกระทบต่อผู้คน 2 พันล้านคนภายในปี 2070 หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงดำเนินต่อไป
“ปัจจุบันอุณหภูมิดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้คนราว 30 ล้านคนในทะเลทรายซาฮาราและกัลฟ์โคสต์” จี้สวี จากมหาวิทยาลัยหนานจิง ประเทศจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมกล่าว “ภายในปี 2070 อุณหภูมิเหล่านี้ รวมถึงผลกระทบทางสังคมและการเมืองที่ตามมาจะส่งผลโดยตรงต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง และห้องปฏิบัติสูงสุดถึง 7 แห่งที่เป็นแหล่งกักกันเชื้อโรคที่อันตรายที่สุด ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบทางอ้อมร้ายแรงตามมา”
แนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันจะทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2.1-3.9 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 แต่ถ้าทุกฝ่ายทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ได้ทั้งหมด อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 1.9-3 องศาเซลเซียส
“ยิ่งเราเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของดาวเคราะห์ของเรามากเท่าไร ก็ยิ่งมีเหตุผลให้กังวลมากขึ้นเท่านั้น” ศาสตราจารย์โยฮัน ร็อกสตรอม จากสถาบันพ็อทซ์ดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ (Potsdam Institute for Climate Impact Research) ในเยอรมนี กล่าว “เราเข้าใจมากขึ้นว่าโลกของเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนและเปราะบางมากขึ้น เราต้องนำการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์มาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่อาจเกิดขึ้น”
ภาพ: ANDREW HOLBROOKE / Corbis via Getty Images
อ้างอิง: