คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน จัดเสวนาเรื่อง ‘กฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน: เหตุผล ความจริง ความต้องการ’ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่สำนักงาน บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ แจ้งวัฒนะ (TOT เดิม) ห้องประชุม 9 (เธียเตอร์) ชั้น 8 อาคาร 3 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย
- รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม หัวหน้าทีมยกร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน
- ธีระวุฒิ เต็มสิริวัฒนกุล ทีมยกร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน
- สมบุญ ศรีคำดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
- ธนพล ดอกแก้ว สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
- ประภาพร ผลอินทร์ สหภาพไรเดอร์
- สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน
ดำเนินรายการโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
อากาศสะอาดต้องแก้ที่โครงสร้างกฎหมาย
วรรณสิงห์กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด ต้องแก้ที่โครงสร้าง แก้ที่กฎหมาย ซึ่งมีหลายท่านพยายามผลักดันจนมาถึงจุดที่สภาผู้แทนราษฎรรับร่างกฎหมายอากาศสะอาด แปลว่าอีกไม่นานจะมีกฎหมายนี้ขึ้นมาในไทย แต่ยังต้องติดตามเรื่องนอกสภาด้วย เนื่องจากมีการเสนอร่างกฎหมายนี้ถึง 7 ร่าง จาก 5 พรรคการเมืองและภาคประชาชน
ต้องสร้างระบบเป็นกองทุนที่ไม่พึ่งพางบประมาณแผ่นดิน
รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม หัวหน้าทีมยกร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน กล่าวว่า เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทยเริ่มต้นมา 7-10 ปี ใช้เวลายาวนาน โดยหากกฎหมายอากาศสะอาดออกมาได้แต่ไม่มีเงิน ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ ส่วนที่มาของเงินนั้นจะมาจากไหน ต้องไม่ใช่กองทุนสิ่งแวดล้อม เพราะกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนที่ใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชน ดังนั้นต้องสร้างระบบเป็นกองทุนที่ไม่พึ่งพางบประมาณแผ่นดิน จึงกำหนดให้มีกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพในร่างกฎหมาย โดยจะต้องเก็บเงินจากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อมลพิษ ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภคหรือผู้จ่ายภาษี
เก็บเงินจากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อมลพิษ
ธีระวุฒิ เต็มสิริวัฒนกุล ทีมยกร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน กล่าวว่า ร่างฉบับนี้เป็นฉบับเดียวที่เสนอเรื่องการใช้เงิน โดยกองทุนอากาศสะอาดที่จะจัดตั้งขึ้นจะเก็บเงินจากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อมลพิษ เพื่อไม่ก่อมลพิษต่อคนส่วนใหญ่ กองทุนจะไม่พึ่งพาภาษีจากรัฐบาล จะเก็บจากผู้ก่อมลพิษมาไว้ในกองทุน เน้นเก็บเงินผู้เป็นสาเหตุทำให้อากาศไม่สะอาด เพื่อที่กองทุนจะไม่เป็นภาระทางการเงินของรัฐ โดยมีคณะกรรมการที่คำนวณในทางเศรษฐศาสตร์ว่าใครจะต้องเสียเงินเท่าไร รับผิดชอบต่อประชาชนเท่าไร คาดว่าจะเป็นเงินหลักพันล้านบาทต่อปี เพื่อมาเยียวยากลุ่มเปราะบาง ผู้ได้รับผลกระทบ เน้นเก็บเงินจากสิ่งที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ โรงงาน หรือโรงไฟฟ้า ต้องตรวจสอบฝุ่น ต้องมีค่าธรรมเนียมบำบัดอากาศสะอาดเข้ากองทุนแต่ละปี มิเช่นนั้นก็ต้องใช้เทคโนโลยีที่อากาศสะอาด ไม่ก่อมลพิษ และไม่ต้องเสียค่าบำบัดอากาศสะอาด
ไม่ปล่อยให้โรงงานรวยแต่คนจนต้องมารับเคราะห์
สมบุญ ศรีคำดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้รับผลกระทบปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายจากการทำงานสิ่งทอ ได้ร่วมกับเพื่อนต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิจากนายจ้าง ฟ้องศาล 15 ปี ปรากฏว่า ค่าใช้จ่ายจากการต่อสู้มีจำนวนมากกว่าเงินที่ได้จากการตัดสินของศาล ซึ่งหลายคนกลายเป็นกลุ่มเปราะบางเนื่องจากการทำงาน ส่วนตัวมีความหวังกับกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายฉบับนี้ต้องบังคับใช้กับโรงงานที่ปล่อยสารพิษ ต้องเก็บเงินจากโรงงานมาเข้ากองทุน ไม่ปล่อยให้โรงงานรวยแต่คนจนต้องมารับเคราะห์จากสภาพอากาศ ถ้าโรงงานไม่อยากเสียเงิน ก็ต้องรับผิดชอบเรื่องอากาศไม่สร้างมลพิษ ถ้ามีกองทุนแล้วอยากให้ผู้ผลักดันเข้าไปนั่งในกองทุนด้วย เพราะประชาชนต้องเบิกจากกองทุน
มีผู้ได้กำไร แต่ประชาชนต้องมารับผลกระทบ
ธนพล ดอกแก้ว สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมเขาจะปล่อยควันจากการผลิตตอนกลางคืน ขณะที่ภาครัฐไปตรวจสอบตอนกลางวัน เราต้องช่วยกันสอดส่อง เพราะมีโรคจำนวนมากที่เกิดจากฝุ่นละออง ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่ามีการทุจริตหรือไม่ เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้อากาศไม่สะอาด ขณะที่มีผู้ได้กำไรแต่ประชาชนต้องมารับผลกระทบ ดังนั้นต้องการให้มีกฎหมายควบคุม กฎหมายอากาศสะอาดต้องมีกองทุนสนับสนุนเฉพาะเพื่อดูแลอากาศสะอาด เพื่อให้มีเงินสำหรับจัดการดำเนินการตามกฎหมายให้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่มีเพียงกองทุนสิ่งแวดล้อม
ควรจะป้องกันตั้งแต่ต้นทาง
ประภาพร ผลอินทร์ สหภาพไรเดอร์ กล่าวว่า อาชีพไรเดอร์เจอฝุ่นและควันรถตลอดเวลา เช่นเดียวกับวินมอเตอร์ไซค์และเมสเซนเจอร์ ทั้งฝุ่นควันใหญ่และฝุ่นเล็กๆ อย่าง PM2.5 ต้องใส่โม่ง ใช้แมสก์ เป็นของมีราคา ซึ่งไรเดอร์ต้องรับภาระเอง บางครั้งไปขอแมสก์จากโรงพยาบาลมาแจกกันเอง โรคที่เป็นกันเยอะคือแน่นหน้าอก มองว่า เราควรจะป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบเข้ามาเห็นจริงๆ เพื่อจะหยุดผลักภาระให้คนบนท้องถนน สำหรับกองทุนก็มีความสำคัญ ผู้ประกอบการที่ทำให้อากาศเสียต้องรับผิดชอบ ต้องเสียเงินให้มากขึ้นให้กับกองทุน
ถ้าไม่มีเครื่องมือ ก็ทำให้กระบวนการจัดการให้อากาศสะอาดเป็นไปได้ยาก
สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน กล่าวว่า เครื่องมือที่จะจัดการให้อากาศสะอาดเป็นสิ่งจำเป็น จึงต้องสร้างกฎหมายจากการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ในที่สุดร่างกฎหมายฉบับนี้มีกองทุนที่จะจัดการอากาศสะอาดด้วย เพราะถ้าไม่มีเครื่องมือ ก็ทำให้กระบวนการจัดการให้อากาศสะอาดเป็นไปได้ยาก ขณะนี้รัฐสภารับหลักการ 7 ร่างกฎหมายแล้ว เรื่องนี้มีผลกระทบกับทุกคน เราปล่อยให้กระบวนการร่างกฎหมายเดินในสภาอย่างลำพังไม่ได้ โดยเฉพาะร่างของเราซึ่งเกี่ยวข้องกับการเงิน เกี่ยวข้องทั้งการรณรงค์ ป้องกัน และฟื้นฟู เพื่อให้อากาศสะอาด เราถือว่าเป็นสิทธิของทุกคน กระบวนการนอกสภาคือการแสดงเจตจำนง แสดงความต้องการ ก็มีความสำคัญ ที่ผ่านมาไม่ง่ายนักที่กฎหมายภาคประชาชนจะเข้าถึงสภาได้ขนาดนี้ ต้องไม่ปล่อยให้ผู้เกี่ยวข้องทำงานลำพัง จึงต้องคงหลักการของเราไว้ เวทีนี้เป็นเวทีแรกนับตั้งแต่ร่างกฎหมายเข้าสู่สภา และคาดว่าจะมีเวทีต่อๆ ไป เป็นเวทีนอกสภาที่พร้อมขับเคลื่อน
เปิดแถลงการณ์ฉบับเต็ม ‘กองทุนอากาศสะอาด’
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายตัวแทนแต่ละองค์กรที่เข้าร่วมงานร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ โดยมีการอ่านแถลงการณ์ ดังนี้
แถลงการณ์คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน ฉบับที่ 1
เรื่อง การบรรจุกองทุนอากาศสะอาดไว้ในกฎหมายอากาศสะอาด
ตามที่ปัจจุบันนี้มีข้อมูลพบว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ป่วยหรือเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจโดยไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ อีกทั้งยังมีข้อมูลทางวิชาการจำนวนไม่น้อยระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดหรือโรคระบบทางเดินหายใจกับปัญหาหมอกควันพิษ โดยเฉพาะ PM2.5 และ PM10 ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่มีความเข้มข้นเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำอย่างมาก
ที่ผ่านมาคณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชนได้ร่วมกันขับเคลื่อนด้านองค์ความรู้และเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยการผลักดัน ‘ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….’ เพื่อรับรองและคุ้มครอง ‘สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด’ ของประชาชนในประเทศไทย จนกระทั่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการรับหลักการในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรอย่างท่วมท้น และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ในวาระที่ 2
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในชั้นรัฐสภา ยังมีหนทางอีกยาวไกลและอาจต้องพบอุปสรรคระหว่างทาง โดยเฉพาะความรู้ ความเข้าใจ ของผู้พิจารณาร่างกฎหมายถึงต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมาจากระบบและกลไกที่มีอยู่เดิม รวมทั้งการจัดการทรัพยากรและงบประมาณที่ไม่เหมาะสมกับขนาดของปัญหาหมอกควันพิษที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชนจึงขอออกแถลงการณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจและเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ดังต่อไปนี้
1. ที่ผ่านมาการจัดการปัญหาหมอกควันพิษด้วยการใช้บทลงโทษทางกฎหมายแต่เพียงประการเดียวเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้จากโทษทางอาญาของการกระทำความผิดบางอย่าง ที่แม้ว่าโทษจะสูงเพียงใด แต่ก็ยังพบผู้กระทำความผิด ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายอยู่ดี ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาปากท้อง ความยากจน หรือต้นทุนทางธุรกิจ ดังนั้นการนำเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาหมอกควันพิษ เพื่อลดพฤติกรรมการก่อมลพิษและจูงใจให้เลือกใช้วิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาหมอกควันพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่อาจนำมาใช้ได้ เช่น
(1) มาตรการทางภาษี โดยจัดเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษและสุขภาพ และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(2) ค่าธรรมเนียมบำบัดอากาศสะอาด โดยจัดเก็บจากผู้ก่อมลพิษ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมหรือผู้ใช้รถยนต์สันดาป เป็นต้น
(3) มาตรการฝากไว้ได้คืน เช่น ขวดน้ำ หากนำไปเผาจะก่อให้เกิดมลพิษ ดังนั้นจึงต้องจูงใจให้ประชาชนนำขวดน้ำมาแลกกับเงินด้วยการเก็บเงินค่าขวดน้ำไว้กับรัฐ เมื่อประชาชนนำขวดน้ำมาคืนจะได้รับเงินที่เก็บไว้กลับคืนไป
(4) การซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยมลพิษ โดยการให้โควตาปล่อยมลพิษแก่ผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการที่ได้รับโควตาสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ปล่อยมลพิษได้ลดลง ก็สามารถนำโควตาที่ตนได้รับไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการอื่นได้ อันเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เทคโนโลยีที่สะอาดมากขึ้น
(5) มาตรการอุดหนุนและส่งเสริม เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำเงินที่ได้รับจาก (1) และ (2) มาใช้ในการอุดหนุนเทคโนโลยีที่สะอาดและส่งเสริมให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจเฝ้าระวัง อุดหนุน และส่งเสริม รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษด้วย
(6) การวางเงินประกันความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมสำหรับกิจกรรมที่มีความเสี่ยง อาทิ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
2. สาเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดการปัญหาหมอกควันพิษไม่ประสบผลสำเร็จคือ การขาดงบประมาณและทรัพยากรที่นำไปใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องนำเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ตามข้อ 1. มาใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่งบประมาณประจำปีของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการปัญหาหมอกควันพิษมีน้อยมาก ทั้งๆ ที่ปัญหาหมอกควันพิษในปัจจุบันทวีความรุนแรงและเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้การนำเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการ ก็ยังมีข้อจำกัดด้านรายจ่ายที่ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายได้อย่างหลากหลายและครอบคลุมกับปัญหาหมอกควันพิษที่เกิดขึ้น และยังขัดกับหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายตามหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ กองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีรายรับจากเงินของภาษีประชาชนเป็นหลัก ไม่ได้มาจากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อมลพิษ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งกองทุนที่ใช้เฉพาะสำหรับการจัดการปัญหาหมอกควันพิษที่มีงบประมาณมากเพียงพอ ต่อเนื่อง ทันสถานการณ์ และยั่งยืน ทั้งนี้ แหล่งที่มาของกองทุนต้องมาจากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อมลพิษทางอากาศเป็นหลัก
ลักษณะของกองทุนที่ใช้เฉพาะสำหรับการจัดการปัญหาหมอกควันพิษที่จะเกิดขึ้นนั้น ควรเป็นกองทุนนอกงบประมาณแผ่นดินที่มีรายได้เป็นของตนเอง ไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน และไม่เป็นภาระทางการเงินและการคลังแก่รัฐ ซึ่งรายได้หลักของกองทุน ได้แก่ เงินเก็บเพิ่มจากภาษีสรรพสามิตเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น รถยนต์ น้ำมัน สุรา บุหรี่ และเครื่องจักร ฯลฯ ค่าธรรมเนียมบำบัดหมอกควันพิษ หรือเงินชดเชยความเสียหายที่ได้รับจากการฟ้องร้องคดีก่อมลพิษข้ามแดน เป็นต้น
ส่วนรายจ่ายของกองทุนจะนำเงินที่ได้รับไปใช้จ่ายอย่างหลากหลายและครอบคลุมการแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษในหลายมิติ ได้แก่ การเยียวยาผลกระทบจากหมอกควันพิษ เช่น การดับไฟป่า การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น เพิ่มสถานีตรวจวัดอากาศ ติดเครื่องฟอกอากาศในห้องเรียน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ให้ประชาชนตื่นรู้ถึงความร่วมมือในการลดการก่อมลพิษ การนำไปอุดหนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องจักรช่วยเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว การนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องดำเนินคดี เช่น ฟ้องหน่วยงานรัฐ ฟ้องคดีมลพิษข้ามแดน การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอากาศสะอาดและสุขภาพ การประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อความร่วมมือในการจัดการมลพิษ เป็นต้น
3. กองทุนอากาศสะอาดที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้มีความสำคัญอย่างมาก หากไม่มีกองทุนจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษได้อย่างเพียงพอ ต่อเนื่อง ทันการณ์ และยั่งยืน ดังนั้นกฎหมายอากาศสะอาดจึงต้องกำหนดเป็นข้อยกเว้น ไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังมาใช้บังคับกับการจัดตั้งกองทุน รวมถึงรายรับและรายจ่ายของกองทุน
คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. บรรจุบทบัญญัติดังต่อไปนี้ในร่างกฎหมายอากาศสะอาด
- บทบัญญัติเกี่ยวกับการนำเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาหมอกควันพิษ เพื่อลดพฤติกรรมการก่อหมอกควันพิษ และจูงใจให้เลือกใช้วิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดหมอกควันพิษ
- บทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ เพื่อใช้สำหรับการบริหารจัดการอากาศสะอาด โดยเก็บมาจากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อหมอกควันพิษเป็นหลัก
- บทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้น ไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังมาใช้บังคับกับการจัดตั้งกองทุน รวมถึงรายรับและรายจ่ายของกองทุน