×

เด็กไม่ควรบริโภคกัญชา ทำไมการจำหน่ายกัญชาถึงต้องจำกัดอายุ

11.06.2022
  • LOADING...
เด็กไม่ควรบริโภคกัญชา

เด็กและเยาวชนเข้าถึงกัญชาได้ง่ายขึ้น เป็นประเด็นที่แพทย์หลายสาขากังวลอยู่ในขณะนี้ เพราะถึงแม้กัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติดตามกฎหมาย แต่โดยธรรมชาติกัญชามีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ในขณะที่การปลดล็อกกัญชาส่งเสริมให้ปลูกกัญชาได้อย่างเสรี โดยยังไม่มีกฎหมายควบคุมการจำหน่ายและการนำมาใช้ในเชิงนันทนาการ

 

ความเห็นของแพทย์หลายสาขา

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีองค์กรแพทย์อย่างน้อย 3 องค์กรที่ออกมาแสดงความกังวลเรื่องการใช้กัญชาในเด็กและเยาวชน และเสนอให้รัฐรีบออกมาตรการควบคุมการใช้กัญชา ดังนี้

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จัดทำคำแนะนำต่อการอนุญาตให้มีการใช้ ปลูก หรือผลิตกัญชาในประเทศไทย ระบุตอนหนึ่งว่า “มีความห่วงใยและอยากเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างการจำกัดการเข้าถึงกัญชาของกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ ในฐานะที่จิตแพทย์เป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ได้พบ ตรวจ และรักษาผู้ที่มีอาการทางจิตจากการใช้กัญชา

 

“ทั้งที่สามารถรักษาให้หายและไม่หายจากการใช้กัญชาเป็นประจำ เป็นจำนวนที่มากตั้งแต่กัญชายังอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ และได้เห็นผลในด้านลบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากการใช้กัญชาต่อผู้ที่ใช้และครอบครัว”

 

ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จัดทำข้อเสนอเรื่องกัญชา โดยเห็นว่าเมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ “จะทำให้ทุกคนในประเทศไทย รวมถึงประชาชนกลุ่มเปราะบางในการใช้กัญชา เช่น เด็ก เยาวชน และหญิงมีครรภ์ สามารถเข้าถึงกัญชาได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ 

 

“ซึ่งเป็นลักษณะเสรีที่มากกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีกฎหมายให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ” จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาให้มีมาตรการทางกฎหมาย อาทิ พ.ร.ก.ควบคุมกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชา ให้ทันต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข และให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้มีการบริโภคกัญชาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

 

และเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์จุดยืน เรื่องผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่นว่า “เด็กและวัยรุ่นสามารถเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา รวมถึงการนำกัญชา ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้เสพติดมาใช้เพื่อนันทนาการ”

 

จึงมีคำแนะนำว่า “เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปีไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ และกัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อสมองเด็กในระยะยาว ดังนั้นเด็กจึงไม่ควรได้รับ THC ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์ เช่น ประกอบการรักษาประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคลมชักรักษายาก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด”

 

กัญชามีผลอย่างไรต่อเด็กและเยาวชน

ข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ระบุว่า ในพืชกัญชามีสารแคนนาบินอยด์หลายชนิด แบ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่สำคัญ ได้แก่ THC และสารไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่สำคัญ ได้แก่ แคนนาบินอยด์ หรือ CBD ซึ่งในทางการแพทย์มีการนำมาใช้รักษาโรคลมชักชนิดดื้อยากันชัก สำหรับ THC มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์เช่นกัน เช่น ในการรักษาประคับประคองของมะเร็งระยะสุดท้าย 

 

แต่หากมีการนำกัญชาหรือสารสกัดกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร หรือการแปรรูปต่างๆ หรือให้มีการใช้กัญชาได้อย่างเสรีโดยไม่มีกฎหมายควบคุม ประชาชนก็จะมีโอกาสได้รับสารแคนนาบินอยด์เหล่านั้นเข้าไป จนอาจจะมีผลกระทบที่รุนแรง โดยเฉพาะอาจส่งผลต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น 

  • พัฒนาการล่าช้า 
  • ปัญหาพฤติกรรม 
  • เชาวน์ปัญญาลดลง

 

และส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น 

  • มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท 
  • เสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ 

 

รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย ทั้งในระยะสั้นและยาว

 

สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ว่าผู้ใช้กัญชา 3 ใน 10 คนป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับการใช้กัญชา และจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากเริ่มใช้กัญชาก่อนอายุ 18 ปี เนื่องจากกัญชามีผลโดยตรงต่อสมอง โดยเฉพาะส่วนความจำ การเรียนรู้ การตัดสินใจ อารมณ์ และเวลาปฏิกิริยาตอบสนอง เด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่สมองกำลังพัฒนา จึงเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อการใช้กัญชา

 

อายุเท่าไรถึงใช้กัญชาได้

เมื่อกันยายน 2562 แพทยสภาจัดทำคำแนะนำสำหรับแพทย์ การใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยทบทวนงานวิจัยและกฎหมายเกี่ยวกับการใช้กัญชาในต่างประเทศในประเด็น ‘อายุเท่าไรดีถึงใช้กัญชาได้?’ ดังนี้ 

 

แคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่อนุมัติให้ใช้กัญชาได้เสรี แนะนำว่าอายุที่น้อยที่สุดที่ใช้กัญชาคือ 25 ปี เพราะเป็นวัยที่มีความคิดความอ่าน มีความรู้ และมีความรับผิดชอบได้เต็มที่สมบูรณ์ และเซลล์สมองเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว 

 

ส่วนประเทศที่อนุมัติให้ใช้กัญชาได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นวัยที่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย ส่วนสมรรถนะในการตัดสินใจได้เองอย่างผู้ที่มีประสบการณ์และรอบคอบ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีประสิทธิภาพในวัยนี้หรือไม่

 

ในมลรัฐโคโลราโด สหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้กัญชาสำหรับนันทนาการได้ อายุต่ำสุดที่อนุมัติให้ซื้อได้คือ 21 ปี หากมีโรคที่ต้องใช้กัญชาและมีอายุอยู่ระหว่าง 18-21 ปี ต้องแสดงบัตรทางการแพทย์ในเวลาซื้อ ส่วนผู้ที่ขับรถ หากตรวจเลือดพบระดับสาร THC มากกว่า 5 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร จะถูกจับข้อหาขับรถขณะมึนเมา เพราะสมรรถนะของการตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินจะบกพร่อง ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ

 

แพทยสภาจึงสรุปว่า หากมีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ชัดเจน เช่น ใช้ในการรักษาโรคลมชักที่ดื้อยา ผู้ป่วยมีอายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถใช้กัญชารักษาได้ หากเป็นโรคที่ยังไม่มีข้อบ่งใช้ของกัญชาและมียาขนานอื่นใช้ได้ดีอยู่แล้ว ไม่แนะนำให้ใช้ โดยเฉพาะการใช้กัญชาแบบต่อเนื่อง และโดยทั่วไปอายุที่เหมาะสมที่แพทย์หรือผู้ป่วยจะตัดสินใช้กัญชาทางการแพทย์ได้จะเป็น 25 ปีบริบูรณ์

 

กฎหมายในประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันกฎหมายหลักในการควบคุมการใช้กัญชายังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งคือร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่พรรคภูมิใจไทยเสนอ กฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติห้ามขายกัญชาเพื่อนำไปบริโภคแก่บุคคล 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เท่ากับว่าในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มดังกล่าว

 

ส่วนการนำกัญชามาผลิตเป็นอาหาร มีกฎหมายที่สำคัญ 2 ฉบับคือ 

  • ผู้ผลิต ‘ผลิตภัณฑ์อาหาร’ ต้องติดคำเตือน ‘เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน’ ไว้บนฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 
  • ร้านอาหารที่มี ‘เมนูใบกัญชา’ ต้องแสดงคำแนะนำว่า ‘เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน’ ตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 

 

นอกจากนี้ยังอาจต้องควบคุมชนิดผลิตภัณฑ์อาหารที่เด็กบริโภคเพิ่มเติม เช่น ขนมขบเคี้ยว (ขณะนี้มี 4 ประเภทที่ควบคุมอยู่ ได้แก่ อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก, นมดัดแปลงสำหรับทารกและนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก, อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน) รวมถึงควบคุมการโฆษณาและออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วย

 

อ้างอิง:

  • แถลงการณ์จุดยืนของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่อง ผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น https://www.thaipediatrics.org/?p=1606 
  • คำแนะนำสำหรับแพทย์การใช้กัญชาทางการแพทย์ https://tmc.or.th/pdf/fact/guideline_cannabis_101062.pdf 
  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/168/T_0022.PDF 
  • Marijuana and Public Health https://www.cdc.gov/marijuana/data-statistics.htm
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising