×

กต. แย้ม ‘ไบเดน’ ไม่มาไทย ร่วมประชุม APEC มีนัยอะไร? และไทยควรทำอย่างไรต่อ?

29.09.2022
  • LOADING...

รายการ THE STANDARD NOW โดย อ๊อฟ ชัยนนท์ วานนี้ (28 กันยายน) มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญจากทางกระทรวงการต่างประเทศ หลังปรากฏข่าวว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไม่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ที่มีกำหนดจัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากติดภารกิจเข้าร่วมพิธีแต่งงานของหลานสาวคือ นาโอมิ ไบเดน ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ในขณะที่ไบเดน และผู้นำมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการร่วมประชุมสุดยอด G20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย ในวันที่ 15-16 พฤศจิกายน ซึ่งก่อให้เกิดข้อเปรียบเทียบต่อความสำคัญของการประชุม APEC ในไทย

 

ทางการไทยมีท่าทีอย่างไรบ้างต่อข่าวที่ปรากฏ และการมาหรือไม่มาร่วมประชุม APEC ของผู้นำสหรัฐฯ หรือมหาอำนาจอื่นๆ ส่งผลสำคัญหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน?

 

‘ไบเดน’ อาจไม่มาประชุม APEC แต่ไทยยังประสานต่อ

 

ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการ THE STANDARD NOW วานนี้ (28 กันยายน) โดยตอบในเชิงแบ่งรับแบ่งสู้ว่า จากข้อมูลที่ได้รับ ณ เวลานี้ ประธานาธิบดีไบเดนจะไม่เดินทางมาร่วมการประชุมผู้นำ APEC 2022 ในกรุงเทพมหานคร แต่ชี้ว่าในส่วนของไทยเองก็ยังคงประสานงานทางการทูตต่อไป ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการทูตปกติ ที่ประเทศเจ้าภาพหรือประธานในการประชุมใหญ่ๆ จะต้องการให้เชิญผู้นำระดับสูงสุดเข้าร่วมประชุม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกำหนดการและภารกิจที่สำคัญในประเทศนั้นๆ 

 

รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า จริงๆ แล้วอาจจะไม่จำเป็นที่ต้องเน้นในเรื่องของตัวบุคคลที่เดินทางมาร่วมประชุม APEC เนื่องจากสิ่งที่สำคัญกว่าคือ แต่ละประเทศส่งผู้แทนมาร่วมประชุมหรือไม่ และในการมาร่วมประชุมได้ยกประเด็นใดที่สำคัญ หรือสนับสนุนวาระการประชุมมากน้อยแค่ไหน

 

สำหรับคำถามที่ว่า ไบเดนจะไม่เดินทางมาร่วมการประชุม APEC ในไทย เนื่องจากติดภารกิจร่วมพิธีแต่งงานของหลานสาว ทางณัฐภาณุเปิดเผยว่ามีการแจ้งมาเช่นกัน โดยชี้แจงว่า “จริงๆ แล้วผู้นำทุกท่านก็ต้องมีภารกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ความสำคัญต่อการประชุม APEC ที่จัดในไทยครั้งนี้ พร้อมเน้นย้ำว่าไทยและสหรัฐฯ ยังประสานงานกันอยู่ และสิ่งที่ปรากฏในข่าวอาจจะไม่ได้เป็น ‘คำตอบสุดท้าย’ เสมอไป และโดยมารยาททางการทูตทั่วไปจะไม่ถึงกับเปิดเผยว่าใครจะมาร่วมประชุมหรือไม่มา เนื่องจากทุกคนต่างมีภารกิจ และสิ่งสำคัญกว่าคือบทบาทบนเวทีประชุม

 

“อาจจะไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งมา อาจจะเป็นเบอร์สองมา แต่ว่าเขาสนับสนุนวาระการประชุมที่ไทยเราผลักดันหรือเจ้าภาพการประชุมผลักดัน อันนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า” ณัฐภาณุกล่าว และยืนยันว่า ณ วันนี้ ข้อมูลที่ทางการไทยได้รับคือ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงของสหรัฐฯ จะเป็นผู้เดินทางมาร่วมการประชุม APEC

 

ไบเดนไม่มา APEC แต่ไป G20 ไทยไม่สำคัญ?

 

สำหรับประเด็นที่มองว่า การที่ไบเดนไม่มาร่วมประชุม APEC แต่ไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย และเกิดการเปรียบเทียบว่า APEC ของไทยไม่สำคัญหรือไม่ ทางรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า ไม่คิดว่าเป็นการไม่ให้ความสำคัญ โดยมองว่ายังมีโอกาสในการให้การสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ เช่นกัน ขณะที่ทางไทยยังประสานงานกันอยู่ ดังนั้นข่าวที่ปรากฏ ณ วันนี้อาจจะยังไม่เป็นการยืนยัน 100% และอาจจะยังมีโอกาสอื่นที่ไทยและสหรัฐฯ กำลังเตรียมการคุยกันภายในอยู่ เพราะสหรัฐฯ ก็เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยและมีบทบาทในภูมิภาค และปีหน้าสหรัฐฯ เองก็เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2023 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐฯ จะไม่ให้ความสำคัญต่อการประชุม APEC ในไทยครั้งนี้

 

สำหรับผู้นำประเทศอื่นๆ ที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าจะเดินทางมาร่วมการประชุม APEC รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ยังคงทยอยได้รับข้อมูลมาเรื่อยๆ แต่อาจจะยังไม่ประกาศทันทีตามมารยาททางการทูต ซึ่งเท่าที่ทราบมาก็มีจากเขตเศรษฐกิจ เช่น ฮ่องกง และจีนไทเป (ไต้หวัน) และเมื่อวานนี้ได้พบปะหารือกับเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ ก็ให้ข้อบ่งชี้ว่าผู้นำของทั้ง 2 ประเทศน่าจะเดินทางมาร่วมประชุม

 

ส่วนโอกาสที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำ 2 มหาอำนาจสำคัญอย่างจีนและรัสเซีย จะมาร่วมการประชุม APEC ในไทย ณัฐภาณุระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่ชี้ว่ามีโอกาสแน่นอน โดยทั้ง 2 ประเทศให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางกรอบเศรษฐกิจต่างๆ และเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังประสานงานอยู่ในทุกทาง

 

สำหรับทางรัฐบาลยังฝากถึงประชาชนคนไทยว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่หลังจากรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC ต่อจากนิวซีแลนด์เมื่อปีที่แล้ว และขอให้ประชาชนไทยเป็นเจ้าภาพที่ดี เนื่องจากการประชุมครั้งนี้ถือเป็นจังหวะที่สำคัญมาก เพราะเป็นการประชุมที่บรรดาผู้นำและผู้แทนเดินทางมาร่วมประชุมซึ่งหน้าครั้งแรกในภูมิภาคนี้ หลังเผชิญสถานการณ์โควิด และเป็นโอกาสที่ไทยจะฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ โดยคาดว่าตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงการประชุมผู้นำในปลายปี จะมีผู้แทนประเทศต่างๆ มาร่วมประชุมในไทยรวมแล้วนับหมื่นคน และสื่อมวลชนทั่วโลกที่ลงทะเบียนมาร่วมการประชุมอีกราว 2,000-3,000 คน

 

“คิดว่าจะเป็นโอกาสที่จะฟื้นฟูความเชื่อมโยงกันต่างๆ และเรื่องการท่องเที่ยวตามธีมของ APEC Thailand ที่มีไว้แล้ว คือ Open. Connect. Balance. หรือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” 

 

ประชุมต่อเนื่อง 2 เวที ผู้นำอาจออกนอกประเทศนานเกินไป

 

ทางด้าน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการไม่มาร่วมประชุม APEC ของไบเดนอาจมีนัยสำคัญ เนื่องจาก APEC เป็นโอกาสระหว่างประเทศที่ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและเป็นความหวัง หากมองสถานการณ์โลกในยุคหลังโควิด ที่ไทยแทบไม่เคยเป็นเจ้าภาพเวทีประชุมใหญ่ๆ 

 

ศ.ดร.สุรชาติชี้ว่า การเปิดประชุม APEC เหมือนการเปิดประเทศไทยยุคหลังโควิด ดังนั้นในบริบทเช่นนี้จึงมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวไม่ได้ เพราะโลกสมัยใหม่มีมิติภายนอกที่จะเข้ามาสู่ประเทศเยอะ ซึ่งหากมองทั้งในการประชุม APEC และ G20 ยังเห็นภาพในมุมบทบาทของมหาอำนาจที่มีอะไรทั้ง ‘ซ้อน’ และ ‘ซ่อน’ และนอกจาก 2 เวทีประชุมดังกล่าวแล้ว ยังมีการประชุมผู้นำอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ของกัมพูชา ในวันที่ 10-13 พฤศจิกายนด้วย

 

ขณะที่ ศ.ดร.สุรชาติ มองเหตุผลที่ไบเดนจะเดินทางไปร่วมประชุม G20 ที่บาหลี แต่ไม่เดินทางมาร่วมประชุม APEC ในไทยต่อ โดยชี้ว่า ในส่วนของผู้ที่กำหนดตารางเวลาอาจมองว่าเป็นความสะดวกที่เข้าร่วมประชุมที่บาหลีเสร็จแล้วจึงเดินทางมาไทย แต่หากดูในช่วงเวลานี้จะเห็นว่าไม่มีผู้นำประเทศไหนที่ออกจากประเทศเป็นระยะเวลานานหลายวัน เพราะตารางเดินทางของผู้นำระดับโลกนั้นไม่ง่าย ซึ่งการเดินทางไปร่วมประชุม G20 และต่อด้วย APEC หากอยู่เฉพาะวันประชุม จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15-19 พฤศจิกายน ไม่นับรวมวันเดินทางไป-กลับ ซึ่งถือว่าค่อนข้างยาว

 

และถึงแม้จะสลับตารางให้ G20 จัดขึ้นในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน หลังจาก APEC แต่ ศ.ดร.สุรชาติ มองว่าไบเดนก็ยังคงติดภารกิจส่วนตัวคือการไปร่วมพิธีแต่งงานของหลานสาวในวันที่ 19 พฤศจิกายนเช่นเดิม

 

รัฐประหาร 2 รอบ ทำให้ไทยไม่อยากเป็นเป้าความสนใจ?

 

สำหรับประเด็นที่มองว่าประเทศมหาอำนาจให้ความสำคัญกับประเทศอื่นมากกว่าไทย ศ.ดร.สุรชาติชี้ว่า ไทยไม่อาจเรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจหันมาสนใจแต่เพียงฝ่ายเดียว และอาจจะต้องถามว่า ไทยได้ทำตัวให้น่าสนใจบนเวทีโลกไหม เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากมองจากมิติการเมืองภายนอก ไทยเหมือนกับส่งสัญญาณว่าไม่อยากอยู่ใน ‘สปอตไลต์’ หรืออยู่ในจุดที่เป็นเป้าความสนใจของการเมืองโลก และอาจต้องการเพียงอยู่ในบางมุมบางจุด และการรัฐประหาร 2 ครั้งนั้นทำให้ไทยอยากที่จะอยู่เงียบๆ มากกว่า

 

“หากพูดตรงๆ คือ รัฐประหาร 2 ครั้ง เป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยอยากอยู่ในบางมุมบางจุดที่ไม่มี ‘สปอตไลต์’ จับเรา” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว พร้อมชี้ว่า การรัฐประหารเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการยึดอำนาจในกรอบระยะเวลา 10 ปีมีเพียงไม่กี่ประเทศในยุคปัจจุบัน

 

“เราติดในสถิติที่ไม่เป็นบวกเท่าไร แล้วเวลาโลกภายนอกมองรัฐประหาร เขาตีความชัด ผลพวงการเมืองหลังรัฐประหาร คำตอบชัด คือความไร้เสถียรภาพ ไม่มีใครมองว่ารัฐประหารเป็นปัจจัยที่สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ขณะเดียวกันไม่มีใครมองบนเวทีโลกว่ารัฐประหารเป็นปัจจัยที่จะดึงดูด ที่ทำให้โลกภายนอกมาลงทุนทางเศรษฐกิจในบ้านเรา เพราะคำตอบคือความไร้เสถียรภาพหลังรัฐประหาร”

 

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า ในความเป็นจริงไทยไม่ได้อยู่เงียบ แต่ตัดสินใจไปยืนกับมหาอำนาจอีกฝั่ง โดยหลังการรัฐประหารในปี 2557 เห็นการปรับนโยบายมุ่งไปทางตะวันออก และความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนมีนัยสำคัญมากขึ้น แล้วมีท่าทีที่จะเหมือนกับไปบดบังความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

 

เพราะไทยไม่แสดงบทบาทต่อรัฐประหารเมียนมา-สงครามยูเครน?

 

ศ.ดร.สุรชาติให้ความเห็นว่า กรณีการรัฐประหารในเมียนมาที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วนั้น ไทยไม่แสดงบทบาทให้ทั่วโลกรู้สึกว่าไทยมีค่า ซึ่งในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 77 ที่ผ่านมา มาเลเซียได้แสดงออกบนเวทีประชุม เรียกร้องให้ UN เข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ในเมียนมา เพราะอาเซียนแบกไม่ไหว ในขณะที่ไทยไม่เคยแสดงบทบาทเช่นนี้

 

“เราไม่เคยเห็นภาพผู้แทนไทยพูดบนเวที UN ว่าอยากให้เกิดอะไรหรือเข้าไปจัดการอะไรในเมียนมา ทั้งๆ ที่ไทยเป็นรัฐที่มีชายแดนติดเมียนมากว่า 2,400 กิโลเมตร แปลว่าไทยเราสามารถแสดงบทบาทได้หลายอย่าง ทั้งทางสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม เราเล่นบทพระเอกได้ แต่พอเราไม่คิดว่าจะเล่น มันทำให้บทของไทยหาย”

 

ส่วนกรณีของสถานการณ์ในยูเครน ศ.ดร.สุรชาติชี้ว่า ไทยมีบทบาทช่วงแรกในการโหวตประณามการทำสงครามของรัสเซีย แต่ก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียงครั้งใหญ่จากประชาชน โดยฝ่ายอนุรักษนิยมที่ประกาศว่าไทยต้องเป็นกลาง หรืองดออกเสียง แต่บนเวทีโลกนั้นการงดออกเสียงไม่ใช่การเป็นกลาง 

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ล่าสุดคือกรณีที่โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ขอส่งคลิปวิดีโอถ้อยแถลงไปพูดบนเวที UN และมีการเปิดให้ลงมติว่า UN จะสามารถอนุญาตได้หรือไม่ แต่ปรากฏว่าไทยโหวตงดออกเสียง ทั้งที่ไม่ใช่ญัตติใหญ่ ซึ่ง ศ.ดร.สุรชาติมองว่า “ไทยไม่กล้าที่จะแสดงจุดยืน” ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทางด้าน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ก็ได้ส่งคลิปบันทึกวิดีโอถ้อยแถลงที่พูดเรื่องการศึกษาของไทยไปเปิดบนเวที UN เช่นกัน

 

จะเกิดอะไรหากผู้นำสหรัฐฯ จีน รัสเซีย ไป G20 แต่ไม่มา APEC?

 

สำหรับคำถามที่ว่า หากเกิดกรณีที่ไบเดน สี และปูติน หรืออาจจะรวมถึงเซเลนสกี ตัดสินใจไปร่วมการประชุม G20 ที่บาหลี แต่ไม่มาร่วมประชุม APEC ในไทย ศ.ดร.สุรชาติชี้ว่า การพูดคุยในประเด็นใหญ่ๆ ของผู้นำเหล่านี้น่าจะเสร็จสิ้นในวงประชุม G20 ที่กินเวลา 2 วัน และไม่มีแนวโน้มที่จะมาพูดคุยในประเด็นใดต่อที่กรุงเทพฯ

 

ส่วนบทบาทของเจ้าภาพ G20 อย่างอินโดนีเซียนั้นถือเป็นประเทศใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งหากมองในมุมเศรษฐกิจก็ถือเป็นตลาดใหญ่ และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจนำหน้าไทย ขณะที่ในมุมการเมือง อินโดนีเซียก็มีบทบาทและท่าทีชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการรัฐประหาร ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดถึงการรัฐประหารอีก หลังจากการล่มสลายของยุครัฐบาลเผด็จการซูฮาร์โต ในขณะที่ไทยเองจนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงพูดถึงประเด็นรัฐประหารอยู่

 

ภาพ: Nathan Posner / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising